เมื่อจุติจิตเกิด ทำให้เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ และจำเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นบุคคลนี้ไม่ได้อีกต่อไป คำถามคือปัญญาเจตสิก ที่ได้จากการฟังพระธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะหายไปด้วย หรือสามารถติดตามข้ามภพข้ามชาติ ติดตามไปได้ครับ
จิตดวงหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงหนึ่งเกิดสืบต่อ การสะสมปัญญาไม่สูญหายไปไหน เก็บสะสมเป็นปัจจัยให้เกิดอีก เหมือนเราสะสมความโกรธ ความโกรธก็ไม่สูญหายไป มีเหตุมีปัจจัยก็ให้โกรธอีก และค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถ้าไม่พบพระธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ก็เป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิค่ะ
จิตเกิดขึ้น กระทำกิจแล้วก็ดับไป จิตดวงใหม่เกิดต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น ที่เราสมมติกันว่าคนตาย คนเกิด ชาติที่แล้วหรือชาติหน้า แท้จริงเป็นการเกิดขึ้นทำกิจของจิตและเจตสิก ที่เกิดขึ้นทำกิจและดับไปอย่างรวดเร็ว การกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเนื่องด้วยกุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญาหรือกุศลจิต ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือด้วยอกุศลจิตย่อมสืบต่อและสะสมอยู่ในจิต เหมือนเซฟที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีใครสามารถขโมยไปได้ จึงสะสมและสืบต่ออยู่ในจิตไม่หายไปไหนเลย
ปัจจัยที่ ๕ อุปนิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้น แต่อุปนิสสยปัจจัยนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน อุปนิสสยปัจจัย มี ๓ คือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๑ อนันตรูปนิสสยปัจจัย ๑ ปกตูปนิสสยปัจจัย ๑
ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้กระทำ คือสะสมไว้เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ โลภมูลจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับแล้ว สภาพธรรมที่เกิดกับ โลภมูลจิตที่ดับไปแล้วนั้น สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เคยคิดอย่างนั้น เคยเห็นอย่างนั้น เคยกระทำ ไว้อย่างนั้น ก็สะสมมีกำลังที่จะทำให้โลภมูลจิตอย่างนั้นเกิดอีก นอกจากโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ก็จะเห็นได้จากชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า แต่ละท่านนั้นมีความพอใจหรือมีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ในสิ่งที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู ในกลิ่นต่างๆ ในรสต่างๆ ในเสื้อ ผ้า ในวัตถุ ในเครื่องใช้ ในเรื่องราวต่างๆ ที่สนใจ แม้แต่การละเล่นที่สนุกสนาน ก็เพราะได้เคยพอใจอย่างนั้น เคยชอบสะสมมาอย่างนั้น กระทำอย่างนั้นมาแล้วจึงเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้เคยกระทำสะสมไว้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดก คือ เรื่องในอดีตที่ได้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ มาแล้ว และการสะสมของบุคคลนั้นๆ ในอดีตนานแสนนาน แต่ละท่านนั้นไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำ จะชอบ จะไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ไม่ใช่ เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แต่ต้องเคยคิด เคยทำ เคยพูด เคยชอบ เคยไม่ชอบ อย่างนั้นๆ มาแล้วในอดีต จนกระทั่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดคิด พูด หรือทำอย่างนั้นๆ อีก ไม่ว่าจะด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะโดยการสั่งสมการกระทำที่เคยได้กระทำมาแล้วเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย กุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ก็สะสมโดยปัจจัยนี้เช่นเดียวกับโลภมูลจิตครับ
จากหนังสือ ปัจจัยสังเขป
โดยท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขอขอบพระคุณในความเมตตา กรุณาและกุศลจิตของท่านที่ช่วยตอบปัญหาครับขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ