- คำว่าศีลเป็นปกติ แปลว่าอะไรคะ
- แล้วคำว่าศีลบริสุทธิ์ ต้องรักษาและระวังศีลในขั้นไหนคะถึงจะเรียกว่าบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ฆ่าหรือทำลายด้วยกาย แต่ใจเราก็ยังมีความคิดว่าอยากจะฆ่าอยากจะทำลาย (ยุงค่ะ) เพราะมันเจ็บเวลาโดนกัด พอรู้สึกเจ็บ จิตมันก็ไหลไปกับความเคือง แต่ก็ยั้งมือไม่ฆ่า แต่เคืองมาก แบบนี้เรียกว่าผิดศีลมั้ยคะ ...
กราบขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
- คำว่าศีลเป็นปกติ แปลว่าอะไรคะ
ศีล มีหลากหลายนัย ครับ
ศีล โดยทั่วไป หมายถึง ความประพฤติเป็นไปทางกายและวาจา ซึ่ง ศีล ที่เป็น ปกติศีล ก็มี ก่อนอื่น ก็เข้าใจคำว่า ปกติศีล ครับว่า ปกติศีล ก็คือ ความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลกทั้งหมดที่เป็นปกติ มีอะไรบ้าง ซึ่งความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลกที่เป็น ปกติ ก็มีทั้งที่เป็นกุศล เรียกว่า กุศลศีล มีทั้ง อกุศล ก็เป็นอกุศลศีล และ อัพยากตศีล ที่ไม่ใช่อกุศล และ กุศล
กุศลศีล เช่น ขณะที่ทำกุศล มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ขณะนั้น ก็เป็นกุศลศีล เป็นความประพฤติเป็นไปของสัตว์ที่เป็นปกติ ในขณะนั้น ที่เป็นกุศล
อกุศลศีล เช่น ขณะที่ทำบาป มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีล ที่เป็นความประพฤติเป็นไปปกติในขณะนั้น ที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลศีล
อัพยากตศีล คือ ขณะที่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็งดเว้นจากบาป เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ จิตท่านไม่เป็นกุศล อกุศลแล้ว แต่ก็มีจิตที่ดีงาม แต่เป็นกิริยาจิต เป็นอัพยากต ความประพฤติเป็นไปของท่าน เป็นปกติ คือ อัพยากตศีล ครับ
สรุปได้ว่า ปกติศีล คือ การแบ่ง ความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลกทั้งหมด ว่า มีทั้งความประพฤติที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากต ก็เป็นกุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 589
ในการแก้ปัญหาว่า กติ สีลานิ - ศีลมีเท่าไร เพราะปกติของศีลมีเท่าไร เพราะ ปกติของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ ในโลก ท่านกล่าวว่า สีลํ ไว้ในบทนี้ว่า
กุสลสีลํ - กุศลเป็นศีล
อกุสลสีลํ - อกุศลเป็นศีล
อพฺยากตสีลํ - อัพยากฤตเป็นศีล
จากคำถามที่ว่า
- แล้วคำว่าศีลบริสุทธิ์ ต้องรักษาและระวังศีลในขั้นไหนคะ ถึงจะเรียกว่าบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ฆ่าหรือทำลายด้วยกาย แต่ใจเราก็ยังมีความคิดว่าอยากจะฆ่า อยากจะทำลาย (ยุงค่ะ) เพราะมันเจ็บเวลาโดนกัด พอรู้สึกเจ็บ จิตมันก็ไหลไปกับความเคือง แต่ก็ยั้งมือไม่ฆ่า แต่เคืองมาก แบบนี้เรียกว่าผิดศีลมั้ยคะ.
ศีลมีหลากหลายนัย ศีลจะถึงความบริสุทธิ์จริงๆ ที่เป็น ศีล ๕ สมบูรณ์ คือ เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ที่สำคัญ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับว่า ศีลจะบริสุทธิ์ได้ เพราะอาศัยปัญญา หากไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่ถึงความบริสุทธิ์ได้เลย เพราะ ศาสนาอื่นก็มีการงดเว้นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม ไม่รู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา อันจะไปถึง ความบริสุทธิ์แห่งศีลจริงๆ ที่เป็นการบริสุทธิ์เพราะไม่ก้าวล่วงอีก และบริสุทธิ์เพราะปัญญาเจริญขึ้น ครับ
ซึ่ง ขณะที่ใจเป็นอกุศล แม้จะไม่ล่วงออกมาทางกาย วาจา ก็ชื่อว่า ศีลด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะอกุศล ที่เกิดขึ้น ชื่อว่า บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ครับ แต่เมื่อยังไม่ได้ฆ่ายุง ก็ไม่ครบกรรมบถที่เป็นปาณาติบาติ มีการฆ่าสัตว์ ไม่ผิดศีล ข้อที่ ๑ ครับ เพียงแต่ศีลไม่บริสุทธิ์เพราะเป็นอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขนาดล่วงศีล ครับ
หนทางการถึงความบริสุทธิ์แห่งศีล คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ทำให้กาย วาจาดีขึ้น ตามกำลังปัญญาที่เจริญขึ้น และเมื่อปัญญาถึงที่สุด ก็สามารถบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลจริงๆ ที่จะไม่ก้าวล่วงศีลอีกเลย ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตของแต่ละบุคคลที่กำลังดำรงอยู่ และดำเนินไปในแต่ละวันนั้น คือ ศีล เพราะเหตุว่า ศีล เป็นความประพฤติที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา ถ้ากาย วาจา เป็นไปในทางอกุศล ขณะนั้น เป็นอกุศลศีล แต่ขณะใดที่กาย วาจา เป็นไปทางฝ่ายกุศล ขณะนั้น ก็เป็นกุศลศีล ศีล จึงมีความหมายที่กว้างขวางมาก แต่ที่เข้าใจกันโดยปกติทั่วไป คือ เป็นความประพฤติเป็นไป ทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม เป็นการรักษากาย วาจาให้เป็นปกติเรียบร้อย ผู้ที่มีศีล คือ ผู้ที่มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น
ในชีวิตประจำวัน โดยปกติของปุถุชน จะเห็นได้ว่า มีทั้งความติดข้อง ยินดีพอใจ มีทั้งความโกรธขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นปกติธรรมดา แต่ถ้าถึงขั้นที่จะล่วงศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้น แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมาก ศีล จึงเป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลส
เพราะฉะนั้น จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย คงจะไม่มีผู้ใดรับประกันได้ว่าแม้ศีล ๕ ของตน สมบูรณ์ไม่บกพร่องเลย เพราะเหตุว่าผู้ที่จะสมบูรณ์ในศีล ๕ ได้ คือ พระอริยบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน เนื่องจากว่าดับกิเลสอย่างหยาบที่เป็นเหตุให้ล่วงศีลได้หมดแล้ว ด้วยปัญญา ดังนั้น พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้พุทธบริษัทเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม เกิดกุศลจิตทุกระดับขั้น เริ่มตั้งแต่ความดีขั้นต้นในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ศีลมี ๒ อย่าง
๑. วารีตศีล คือ ศีลที่ต้องงดเว้น เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ
๒. จารีตศีล คือ ศีลที่ควรประพฤติ เช่น เลี้ยงดูพ่อ แม่ สงเคราะห์ญาติ ช่วยเหลือผู้ใหญ่ คนชรา ช่วยคนอื่นยกของ ช่วยเหลือการกุศลทุกอย่างที่ทำได้ และ ขณะที่งดเว้นไม่ฆ่าสัตว์ เป็นวารีตศีล กุศลจิตเกิดสลับกับอกุศลจิตได้เป็นธรรมดาปุถุชน ถ้าเราศึกษาพระธรรมสม่ำเสมอ ทำให้เรามีปัญญามากขึ้น ศีลก็ค่อยๆ ดีขึ้น ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ ครับ