พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 386
อิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๒ ๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ว่าด้วยเรื่องทำบุญ ๓ ประการ
[๒๓๘] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ ๑ สีลมัยบุญกิริยาวัตถุ ๑ ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษา บุญนั่นแล อันให้ผลเลิศต่อไป ซึ่งมีสุข เป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน ๑ ความประพฤติเสมอ ๑ เมตตาจิต ๑ บัณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการอันเป็นเหตุให้ เกิดความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันไม่มีความเบียดเบียน. เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล. จบปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ อรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร
พึงทราบวินิจฉัยใน ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถูนิ ความว่า กุศลทั้งหลายที่ให้เกิดผลในภพที่ควรบูชา หรือชำระสันดานของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญ บุญเหล่านั้น ด้วยชื่อว่า เป็นกิริยา เพราะต้องทำด้วยเหตุด้วยปัจจัยทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุญกิริยา. และบุญกิริยานั่นเอง ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุเพราะความเป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ . บทว่า ทานมยํ ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องบริจาคไทยธรรมของตนแก่ผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการอนุเคราะห์ หรือด้วยสามารถแห่งการบูชาของผู้ที่ตัดราก คือ ภพยังไม่ขาด. ชื่อว่าทาน เพราะเป็นเหตุให้เขาให้. ทานนั่นเองชื่อว่า ทานมัย. เจตนาที่เป็นไปแล้ว โดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลทั้ง ๓ คือ ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น ตั้งแต่การให้ปัจจัย ๔ เหล่านั้นเกิดขึ้น ๑ ในเวลาบริจาค ๑ ในการโสมนัสจิตระลึกถึงในภายหลัง (จากที่ให้แล้ว) ๑ ของผู้ให้สิ่งนั้นๆ ในบรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น หรือในบรรดาทานวัตถุ ๑๐ อย่างมีข้าวเป็นต้น หรือบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยการให้ทาน. ฯลฯ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ