เมื่อเป็นชาวพุทธมีหน้าที่อะไร และควรปฏิบัติตนอย่างไร
หน้าที่ของอุบาสกและอุบาสิกา ก็คือ การเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนตามสมควรแก่ฐานะของตน ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกพระศาสนา เชื่อกรรม
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 336
อุบาสกนั้นมีศีลเป็นอย่างไร มีอาชีพเป็นอย่างไร มีวิบัติเป็นอย่างไร มีสมบัติเป็นอย่างไร ที่ว่า มีสมบัติเป็นอย่างไร ได้แก่ ความถึงพร้อมด้วยศีลและความถึงพร้อมด้วยอาชีวะของอุบาสกนั้นชื่อว่า สมบัติ
อนึ่ง ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นต้นของอุบาสกนั้นเหล่าใด ธรรม ๕ ประการเหล่านั้นชื่อว่า สมบัติ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสกดอกปทุม และเป็นอุบาสกดอกบุณฑริก
ธรรม ๕ อย่าง เป็นอุบาสกดอกปทุมและเป็นอุบาสกดอกบุณฑริก ธรรม ๕ อย่าง มีอะไรบ้าง (คือ)
เป็นผู้มีศรัทธา (ในพระรัตนตรัย) ๑
เป็นผู้มีศีล ๑
เป็นคนไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ๑
ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพุทธศาสนานี้ ๑
บำเพ็ญกุศลในพุทธศาสนานี้ ๑.
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 373
๕. จัณฑาลสูตร
ว่าด้วยธรรมสำหรับอุบาสกดีและอุบาสกชั่ว
[๑๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด
ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ
อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
เป็นผู้ทุศีล ๑
เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม ๑
แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ทำการสนับสนุนในศาสนานั้น ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ๑
เป็นผู้มีศีล ๑
เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ๑
ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ทำการสนับสนุนในศาสนานี้ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก.
จบจัณฑาลสูตรที่ ๕
การฟังพระธรรมที่ถูกต้องและเข้าใจพระธรรมและหนทางที่ถูกต้องย่อมทำให้เป็นอุบาสกที่ดีครับ
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 80
๙. หานิสูตร
[๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก ๗ ประการ เป็นไฉน คือ
อุบาสกขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑
ละเลยการฟังธรรม ๑
ไม่ศึกษาในอธิศีล ๑
ไม่มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ทั้งปานกลาง ๑
ตั้งจิตติเตียนคอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑
แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก ๗ ประการ เป็นไฉน คือ
อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑
ไม่ละเลยการฟังธรรม ๑
ศึกษาในอธิศีล ๑
มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระทั้งเป็นผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง ๑
ไม่ตั้งจิตติเตียน ไม่คอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑
ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอก ๑
กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
หน้าที่ของอุบาสกและอุบาสิกา
หน้าที่ต่อตนเอง
เลี้ยงชีพด้วยอาชีพสุจริต เว้นอาชีพดังต่อไปนี้ คือ วณิชชา ๕ (การค้าขาย ๕ อย่าง ในที่นี้หมายถึง การค้าขายที่เป็นอกรณียะสำหรับอุบาสก คือ อุบาสกไม่ควรประกอบ
๑. สัตถวณิชชา (ค้าขายอาวุธ)
๒. สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์)
๓. มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์ อรรถกถาแก้ว่า เลี้ยงสัตว์ไว้ขาย)
๔. มัชชวณิชชา (ค้าขายน้ำเมา)
๕. วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ)
เจริญกุศล (ทาน ศีล และภาวนา) และเว้นอกุศลเพื่อเป็นที่พึ่งของตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า ศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจถูกต้องเพื่อใช้ธรรมเป็นแนวทางดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง
หน้าที่ต่อพระศาสนา ศึกษาพระธรรมคำสอนและพระวินัยให้เข้าใจถูกต้อง เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ทั้งการประพฤติปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์ให้รู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรปฏิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์ จะได้ช่วยสอดส่องดูแลเมื่อเห็นพระภิกษุประพฤติผิดพระธรรมวินัยที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียของพระศาสนาจะได้ตอบข้อสงสัยหรือชี้แจงได้เมื่อมีผู้เข้าใจผิดหรือจาบจ้วงพระศาสนา ทำนุบำรุงพระสงฆ์ ด้วยการใส่บาตร บำรุงซ่อมแซมวัด เพื่อรักษาสถาบันสงฆ์ให้คงอยู่ เพราะท่านเป็นผู้รักษาและสืบทอดพระศาสนาโดยตรงและเป็นเนื้อนาบุญของโลก
ขออนุโมทนากับข้อมูล
การทำหน้าที่อุบาสก นั้นไม่มีใครประเมิน ดังนั้นเจ้าตัวเองต้องมีจิตตั้งมั่นและทำหน้าที่เองคอยตรวจสอบตนเองเนืองๆ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ