ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๒]
โดย เมตตา  7 ก.พ. 2558
หัวข้อหมายเลข 26152

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

.........น้อมรำลึก บูชาคุณ ท่านอาจารย์.........

ด้วยการ...

"ทำดี และ ศึกษาพระธรรม"

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 185
๑๐. อธิปไตยสูตร
ว่าด้วยอธิปไตย ๓

[๔๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ นี้ ๓ คืออะไร คืออัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธรรมาธิปไตย. ก็อัตตาธิปไตย เป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดีอยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ก็เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มิใช่เพื่อจีวร มิใช่เพื่อบิณฑบาต มิใช่เพื่อเสนาสนะเป็นเหตุมิใช่เพื่อความมีและไม่มีอย่างนั้น ที่แท้ เราเป็นผู้อันความเกิดความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกายความเสียใจ ความคับแค้นใจครอบงำแล้ว ตกอยู่ในกองทุกข์ มีความทุกข์ท่วมทับแล้ว คิดว่า (ด้วยการบวชนี้) ลางทีความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้ ก็แลเราละทิ้งกามอย่างใด ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จะมาแสวงหากามอย่างนั้นหรือกามที่เลวยิ่งกว่านั้น นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุนั้นจึงตกลงอย่างนี้ว่า ความเพียร เราต้องทำไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่ายจิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่ ดังนี้ เธอทำตนเองให้เป็นอธิปไตย ละอกุศลบำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดได้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า อัตตาธิปไตย. ก็โลกาธิปไตย เป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี ฯลฯ คิดว่า (ด้วยการบวชนี้) ลางทีความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้ ก็แลเราบวชอยู่อย่างนี้. จะมาตรึกกามวิตก พยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตก โลกสันนิวาสนี้ใหญ่นะ ก็ในโลกสันนิวาสอันใหญ่นี้ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มีทิพยจักษุรู้จิตคนอื่นได้ มีอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นไปได้ไกลด้วย ท่านเข้ามาใกล้ก็ไม่เห็นตัว ท่านรู้จิต (ของผู้อื่น) ด้วยจิต (ของท่าน) ด้วย ท่านเหล่านั้นจะพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ดูกุลบุตรผู้นี้ชิ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เขาลุกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแล้วยังวุ่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศลอยู่ แม้เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุรู้จิตผู้อื่นได้ก็มี เทวดาเหล่านั้น เห็นไปได้ไกลด้วย เข้ามาใกล้ก็ไม่เห็นตัวด้วย รู้จิต (ของผู้อื่น) ด้วยจิต (ของตน) ด้วย แม้เทวดาเหล่านั้น ก็จะ พึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ดูกุลบุตรผู้นี้ซิ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แล้วยังวุ่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศลอยู่ภิกษุนั้นจึงตกลงใจอย่างนี้ว่า ความเพียร เราต้องทำไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่ดังนี้ เธอทำโลก (คือผู้อื่น) นั่นแลให้เป็นอธิปไตย ละอกุศลบำเพ็ญกุศลละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดได้ นี่ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า โลกาธิปไตย.

ก็ธรรมาธิปไตย เป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี ฯลฯ คิดว่า (ด้วยการบวชนี้) ลางทีความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏได้ (สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) พระธรรมอันพระผู้มีพระ-ภาคเจ้าตรัสดีแล้ว (สนฺทิฏฐิโก) อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง (อกาลิโก) ไม่ประกอบด้วยกาล (เอหิปสฺสิโก) ควรเรียกให้มาดู (โอปนยิโก) ควรน้อมเข้ามา (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ) อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตนเพื่อนสพรหมจารีผู้รู้ผู้เห็น (พระธรรมนั้น) อยู่ก็มี ก็แลเราบวชในพระ-ธรรมวินัยนี้อันเป็นสวากขาตะอย่างนี้แล้ว จะมาเกียจคร้านประมาทเสีย นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุนั้นจึงตกลงใจอย่างนี้ว่า ความเพียร เราต้องทำไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่ ดังนี้ เธอทำธรรมนั่นแลให้เป็นอธิปไตย ละอกุศลบำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดได้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ธรรมาธิปไตย.นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ ชื่อว่าความลับ ย่อมไม่มีในโลก สำหรับผู้ทำการบาป แน่ะบุรุษ ตัวของ ท่านย่อมรู้ว่าจริงหรือเปล่า ผู้เจริญ ท่านดู หมิ่นตัวเอง ซึ่งเป็นพยานอย่างดีเสียแล้ว เมื่อบาปมีอยู่ในตัว ไฉนท่านจะปิดซ่อนมัน (ไม่ให้ตัวเองรู้) ได้ เทวดาทั้งหลายและตถาคตทั้งหลาย ย่อมเห็นคนเขลาที่ประพฤติไม่สมควรอยู่ ในโลก เพราะเหตุนั้นแหละ บุคคลควร ประพฤติเป็นผู้มีตนเป็นใหญ่ควรมีสติเป็น ผู้มีโลกเป็นใหญ่ควรมีปัญญารักษาตน มี ความพินิจ เป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่ ควร ประพฤติตามธรรม พระมุนีผู้บากบั่นจริง ย่อมไม่เสื่อม ผู้ใดมีความเพียร กำราบมารลามกเสียได้ ถึงธรรมที่สิ้นชาติแล้ว ผู้เช่นนั้นนั่นเป็น พระมุนี รู้แจ้งโลกมีปัญญาดี ไม่มีความ ทะเยอทะยานในธรรมทั้งปวง. จบอธิปไตยสูตรที่ ๑๐

..........................................................................

ขณะนี้ศึกษาธรรมเพื่ออะไร?

เพื่อปรารถตนเป็นใหญ่ เพื่อปรารถผู้อื่นเป็นใหญ่ หรือเพื่อปรารถธรรมเป็นใหญ่

ชาวต่างชาติได้สนทนาธรรมถึงเรือง โคจร ๓ ซึ่งได้แก่ อุปนิสสยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธโคจร

โคจร หมายถึง การเที่ยวไป เที่ยวไปของจิต และเจตสิก การเกิดขึ้นของจิตและเจตสิกที่ไปรู้อารมณ์ต่างๆ ไม่พ้นจากขณะนี้ จิตเห็น จิตได้ยิน... และจิตที่คิดนึก ขณะนี้ที่กำลังฟังธรรมสะสมความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ก็เพราะเคยสะสมการฟังมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม เป็นขณะนี้หรือเปล่า อุปนิสสยโคจร กำลังมีเสียงพระธรรมเป็นอารมณ์ที่โคจร เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะอบรมเจริญปัญญา ย่อมรักษาจิตให้พ้นจากอกุศล มีเพียงพระธรรมเท่านั้นที่ผู้ศึกษาฟัง พิจารณาด้วยความรอบคอบ เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ย่อมสามารถดับกิเลสได้ ไม่มีทางอื่นแต่ด้วยความเข้าใจคือ ปัญญาที่ค่อยๆ อบรมขึ้นเท่านั้น ขณะที่ฟังเข้าใจขึ้นๆ พระธรรมย่อมรักษาจิตไม่ให้เป็นไปกับอกุศลซึ่ง ก็คือ อารักขโคจร เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจนกว่าจะถึงอุปนิพันธโคจรระลึกรู้สิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ผูกจิตไว้กับสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 66

มิคชาลวรรคที่ ๒

๑. ปฐมมิคชาลสูตร ว่าด้วยผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว

[๖๖] กรุงสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระมิคชาละเข้าไปเฝ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์

ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่เดียว ผู้มีปกติอยู่เดียวฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร

พระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่ามีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุ

จึงชื่อว่าอยู่ด้วยเพื่อน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมิคชาละ รูปที่จะ

พึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่

ที่ตั้งความกำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่

เมื่อเธอยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน

เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มี

ความเกี่ยวข้อง ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุประกอบด้วยความเพลิดเพลินและ

ความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่าผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อน ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้

แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่

ที่ตั้งความกำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์

นั้นอยู่ เมื่อเธอยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ ย่อมเกิด

ความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความ

กำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความ

เพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อน ดูก่อน

มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่าไม้และป่าหญ้า เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากกลิ่นอาย ควรเป็น

ที่ประกอบงานลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้น

ก็ยังเรียกว่ามีปกติอยู่ด้วยเพื่อน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหา

เป็นเพื่อน เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อน.

[๖๗] ดูก่อนมิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา

น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ที่ตั้งความกำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ

ไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้น เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่กล่าว

สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ความเพลิดเพลินย่อมดับ เมื่อไม่มีความ

เพลิดเพลิน ก็ไม่มีความกำหนัด เมื่อไม่มีความกำหนัด ก็ไม่มีความเกี่ยวข้อง

ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง

เราเรียกว่ามีปกติอยู่ผู้เดียว ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้ง

ด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่

ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น

ธรรมารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น

ธรรมารมณ์นั้น ความเพลิดเพลินก็ดับ เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ก็ไม่มี

ความกำหนัดกล้า เมื่อไม่มีความกำหนัดกล้า ก็ไม่มีความเกี่ยวข้อง ดูก่อน

มิคชาละ ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เรา

เรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้

แม้จะอยู่ปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์

ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในละแวกบ้านก็จริง ถึงอย่าง

นั้น ก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว ดูก่อนมิคชาละ เราเรียกผู้มีปกติอยู่

ด้วยอาการอย่างนี้ว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตัณหา

ซึ่งเป็นเพื่อน เธอละได้แล้ว เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่ามีปกติอยู่ผู้เดียว.

จบ ปฐมมิคชาลสูตรที่ ๑

[๗๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระมิคชาละยินดีอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำ

ประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล ท่านพระมิคชาละหลีกออกจากหมู่

อยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ทำให้แจ้งซึ่งที่สุด

แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็น

บรรพชิตต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติ

สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ

เป็นอย่างนี้มิได้มี และท่านพระมิคชาละได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนี้แล.

จบ ทุติยมิคชาลสูตรที่ ๒

..................................................................................

จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเป็นไป...อยู่ผู้เดียว เห็น เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วดับไป... อยู่ผู้เดียว ได้ยิน เกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วดับไป... อยู่ผู้เดียว เห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่ปัญญาเกิด สติระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง ขณะนั้น อยู่ผู้เดียว สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ปัญญาสามารถรู้ได้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา โกรธเกิดขึ้น ความติดข้องเกิดขึ้น ความสำคัญตน ความริษยา ความสงสัย เป็นธรรม ไม่ใช่เรา อบรมเจริญความเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏจนกว่าทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ชีวิตดำรงอยู่ได้เพราะลมหายใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา ชีวิตที่คิดว่าสำคัญมีความเยื่อใย ความรักความชัง ก็ต่อเมื่อยังมีลมหายใจอยู่ เมื่อหมดลมหายใจ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเหลือ มีเพียงในความคิดนึกเท่านั้นเมื่อยังมีลมหายใจอยู่

.............................................................................

ปิยรูปสาตรูป ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นที่รัก ที่พอใจ เป็นอารมณ์ของโลภได้ทั้งหมดไม่ได้หมายถึงรูปธรรมเท่านั้น เป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม คุณนีน่าได้ติดข้องในความคิดถึงความช่วยเหลือ เกื้อกูลของคุณซาร่า และคุณโจนาธานที่มีต่อเธอ ครั้นที่ท่านสูญเสียสามีไป และเมื่อเดินทางมาที่กรุงเทพ บางครั้งก็จะคิดถึงสามี อันเป็นที่รัก คุณซาร่าและคุณโจนาธานซึ่งพักอยู่ที่โรงแรมเดียวกัน จะให้ธรรมเตือนใจ คอยดูแล และให้กำลังใจเสมอ

Khun Nena was attached to the idea of..........

มีศรัทธาที่จะไม่หันหลังให้ เห็น ขณะนี้ เห็น ไม่ใช่เรา เห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัย สำหรับลมหายใจซึ่งเกิดจากจิตนั้น มี ๘ รูป ขณะนี้ยังไม่ปรากฏ ต้องเป็นปัญญาของผู้ที่มีปัญญามากที่ได้สะสมมา เป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก เป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เท่านั้น คำของพระพุทธองค์นำไปสู่ความจริง แต่คำของคนอื่นนำไปสู่ความติดข้อง

มีศรัทธาที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม

.............................................................

เรื่องเหตุให้เกิดศรัทธา

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

ข้อความบางตอนจาก ตัณหาสูตร
............................... แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

..........................................................................

ขณะพักสนทนาธรรม คุณน้าจิ๊ดคอยจัดอาหารว่างให้ทานกัน

พี่แอ๊ว (ฟองจันทร์บรรจงชงกาแฟสด ชา น้ำสมุนไพร คอยบริการพวกเราทุกคน)

เมื่อถึงเวลาที่วันรุ่งขึ้นต้องเดินทางกลับแล้ว ท่านอาจารย์ดวงเดือนต้องเก็บบ้าน ดังนั้น ท่านอาจารย์สุจินต์จึงให้มีการสนทนาธรรมที่พักของพวกเราที่รีสอร์ท ค่ำนั้นชาวเวียดนามจึงได้เชิญพวกเรามาปาร์ตี้กันที่พักของเขา คุณTam บอกว่ามาสนทนาธรรมกันตลอด ไม่มีเวลาคุยกัน ค่ำนั้นจึงเป็นค่ำที่สนุกสนานมากค่ะ ชาวเวียดนามทำอาหารว่างคอยบริการ ยังมีน้ำสมุนไพรด้วย

เช้าวันที่ ๒๒ ม.ค เมื่อจบการสนทนาธรรมเช้า คุณนภา จันทรางศุ (แอ๊ว) ได้เรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านน้าจิ๊ด ท่านอาจารย์ดวงเดือน และพวกเราทั้งหมดไปทานอาหารเที่ยงที่บ้านพักตากอากาศชะอำ ซึ่งเดินทางไปไม่ไกลนักจากแก่งกระจาน คุณนภา และเพื่อนๆ หลายท่านได้เจริญกุศล อาหารช่างประณีต รวมอาหารหวานอีกมากมาย ขอกราบขอบพระคุณ และอนุโมทนาในกุศลจิตของ น้องนภา (แอ๊ว) และทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

ภาพคุณนภา จันทรางศุ จัดเลี้ยงอาหาร กลุ่มสนทนาธรรม DSG ที่ ชะอำ ๒๒ ม.ค. ๕๘

ภาพคุณนภา จันทรางศุ เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ท่านอาจารย์และกลุ่มสนทนาธรรมต่างชาติ DSG หลังจากจบการสนทนาธรรมที่แก่งกระจานเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่บ้านพักตากอากาศ อิสระวิลเลจ ชะอำ เพชรบุรี มีคุณขจีรัตน์ แก้วทานัง (คุณตู่) เจ้าของร้านขนมหวานที่หัวหิน นำขนมไทยนานาชนิดมาร่วมเจิญกุศลด้วย

(วันเสาร์บ่ายที่ ๒๔ ม.ค.๕๘ คณะชาวต่างชาติมาร่วมสนทนาธรรมที่ มศพ

และได้ถ่ายภาพร่วมกัน)

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ...



ความคิดเห็น 1    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 9 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย ธุลีพุทธบาท  วันที่ 12 ก.พ. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณป้าเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ.


ความคิดเห็น 3    โดย Jarunee.A  วันที่ 29 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ