๓. อัญญตราอุตตมาเถรีคาถา
โดย บ้านธัมมะ  21 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40714

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 83

เถรีคาถา ติกนิบาต

๓. อัญญตราอุตตมาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 83

๓. อัญญตราอุตตมาเถรีคาถา

    [๔๓๒] โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้ เป็นบรรดาแห่งการบรรลุพระนิพพาน ข้าพเจ้าเจริญแล้วทั้งหมดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ข้าพเจ้าได้สุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติ ตามปรารถนา ข้าพเจ้าเป็นธิดาเกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า ยินดียิ่งแล้วในพระนิพพานทุกเมื่อ กามทั้งปวงทั้งเป็นของทิพย์และของมนุษย์ ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว ชาติสงสารขาดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี.

    จบ อัญญตราอุตตมาเถรีคาถา


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 84

๓. อรรถกถาอัญญตราอุตตมาเถรีคาถา

    คาถาว่า เย อิเม สตฺต โพชฺฌงฺคา เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่ออุตตมาอีกองค์หนึ่ง.

    แม้พระเถรีชื่ออุตตมาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนานว่าวิปัสสี บังเกิดเป็นกุลทาสี ในพระนครพันธุมดี วันหนึ่งกุลทาสีนั้นเห็นพระเถระขีณาสพองค์หนึ่ง ผู้เป็นสาวกของพระศาสดาเที่ยวบิณฑบาตอยู่ มีใจเลื่อมใสได้ถวายขนมต้ม ๓ ชิ้น ด้วยบุญกรรมนั้น นางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปปาทกาลนี้เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลตระกูลหนึ่งในโกศลชนบท รู้ความแล้วฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาผู้เสด็จจาริกไปในชนบท ได้ศรัทธา บวชไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า (๑)

    ข้าพเจ้าเป็น กุมภทาสี อยู่ในพระนคร พันธุมดีข้าพเจ้าถือเอาขนมต้มส่วนของข้าพเจ้าไปที่ท่าน้ำ ได้พบสมณะผู้มีจิตสงบ มีใจเป็นสมาธิที่หนทาง มีจิตเลื่อมใส ดีใจ ได้ถวายขนมต้ม ๓ ชิ้น เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ข้าพเจ้าไม่ได้ไปสู่วินิบาตเลยตลอดเวลา ๒๙ กัป ข้าพเจ้าทำสมบัติแล้วได้เสวยสมบัตินั้นทุกอย่าง ข้าพเจ้าถวาย


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๕๓ โมทกทายิกาเถรีอปทาน.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 85

ขนมต้ม ๓ ชิ้นแล้วได้บรรลุอจลบท ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาการปฏิบัติของตน ได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

    โพฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้เป็นบรรดาแห่งการบรรลุพระนิพพาน ข้าพเจ้าเจริญแล้วทั้งหมด ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ข้าพเจ้าได้สุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติตามปรารถนา ข้าพเจ้าเป็นธิดาเกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า ยินดียิ่งแล้วในพระนิพพานทุกเมื่อ กามทั้งปวงทั้งเป็นของทิพย์และของมนุษย์ ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว ชาติสงสารขาดสิ้นแล้วบัดนี้ภพใหม่มิได้มี.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุญฺญตสฺสานิมิตฺตสฺส ลาภินีหํยทิจฺฉกํ ความว่า ข้าพเจ้าได้สุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติ ดังที่ปรารถนาอธิบายในข้อนั้นว่า ข้าพเจ้าปรารถนาจะเข้าสมาบัติใดๆ ในที่ใดๆ ข้าพเจ้าย่อมเข้าสมาบัตินั้นๆ ในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ อยู่ แม้ถึงจะเกิดผลทั้งสามมีสุญญตะเป็นต้นของมรรคใดมรรคหนึ่งที่มีชื่อว่าสุญญตะและอัปปณิหิตะเป็นต้นก็จริง ถึงอย่างนั้น พระเถรีองค์นี้ก็เข้าสุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติเท่านั้นเพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สุญฺญตสฺสานิมิตฺตสฺส ลาภินีหํ ยทิจฺฉกํ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 86

ดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง คำนี้ท่านกล่าวตามที่เป็นไปโดยมาก อาจารย์บางท่านกล่าวว่า นั่นเป็นเพียงชี้แจง.

    บทว่า เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ความว่า วัตถุกามทั้งที่นับเนื่องในเทวโลกทั้งที่นับเนื่องในมนุษยโลกเหล่านั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าตัดขาดโดยชอบทีเดียว ด้วยการละฉันทราคะที่เกี่ยวเกาะวัตถุกามนั้น คือทำให้ไม่ควรบริโภค ดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส ภิกษุขีณาสพไม่ควรบริโภคกามทั้งหลาย เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว.

    จบ อรรถกถาอัญญตราอุตตมาเถรีคาถา