จิตเห็น
โดย papon  11 เม.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 24707

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"จิตเห็น" อาจารย์ทั้งสองท่านครับ กระผมขอความเข้าใจในอรรถของคำนี้หน่อยครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 11 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า " จิต " ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง สภาพรู้ อาการรู้ลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และคำว่า จิตนี้ยังมีชื่อที่ใช้แทนคำว่าจิตในบางแห่งอีกมาก เช่น ใจ มโน มานัส ปัณฑระ หทัย วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น

จิตเห็น ก็คือ จักขุวิญญาณในภาษาบาลี จักขุวิญญาณ หรือ จิตเห็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ทางตา หมายถึง อเหตุกวิบากจิต ๒ ดวง ซึ่งเกิดที่จักขุวัตถุ (จักขุปสาท) ทำทัสสนกิจ (เห็น) คือ รับรู้รูปารมณ์ที่กระทบทางตา (เห็น) เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง รับรู้สีที่ดี เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง รับรู้สีที่ไม่ดี จักขุวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาทั้ง ๒ ดวง

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีทั้งหมด 7 เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คือ

๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์

๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้

๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์

ขอเชิญอ่านข้อความจากท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ถาม สงสัยว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินก็คนละอย่างกัน แต่เมื่อดิฉันเห็นอาจารย์พูด แล้วก็ได้ยินเสียงด้วย แล้วก็เห็นหน้าด้วย ก็พร้อมกันนี่คะ แล้วทำไมถึงจะแยกได้อย่างไร แล้วจะแยกมันแยกไม่ถูกหรอก

สุ. คือถ้าจะแยกโดยวิธีอื่น จะไม่ถูกแน่นอน ต้องอาศัยการฟังเทียบเคียงอย่างเหตุที่จะให้เกิดการเห็น คือ จักขุวิญญาณ ภาษาบาลีนะคะ กับเหตุที่จะให้เกิดโสตวิญญาณคือ จิตที่ได้ยิน ต่างกันแล้ว เมื่อต่างกันที่เหตุ ผลก็ต้องต่างกัน เพราะเหตุว่า จิตเห็นต้องเห็นที่จักขุปสาทรูป ตรงกลางตาเลย แล้วก็จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินที่โสตปสาทรูป คือตรงหูจริงๆ ซึ่งรูปในขณะนี้เกิดดับเร็วมาก เราคิดว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าเรียนเรื่องวิถีจิต หมายความถึงการเห็นวาระหนึ่งแล้วก็การได้ยินวาระหนึ่ง ที่ใช้วาระหนึ่ง เพราะเหตุว่าจิตเห็น จะต้องมีจิตเกิดก่อนและจิตเกิดหลังก่อนที่รูปๆ หนึ่งจะดับไป แสดงว่ารูปๆ หนึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

เพราะฉะนั้นในขณะที่เราคิดว่าเห็น แล้วได้ยิน ความจริงจิตเกิดดับไปแล้วมากกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปก็ดับไป โดยที่เราไม่ทันรู้เลยในขณะนี้ แล้วก็ถ้าคิดถึงจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตากับโสตปสาทรูปที่อยู่กลางหู แล้วพิจารณาจริงๆ มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ เพราะเหตุว่ามีกลุ่มของรูปเล็กๆ มากมายจากกลางตาไปถึงหู

เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นเพียงอาศัยรูปที่มีอายุสั้นมาก ที่ยังไม่ดับ กระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งมีอายุที่สั้นมากที่ยังไม่ดับ แล้วก็มีวิถีจิตหลายขณะเกิดขึ้นเป็นวาระหนึ่งของการเห็นครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะรู้เรื่องรู้ราว แล้วก็รูปก็ดับไปตั้งเยอะ แล้วก็อาศัยโสตปสาทรูปทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเป็นของที่แน่นอนที่สุดว่า จักขุวิญญาณ จิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ให้เกิดก็ต่างกัน สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตก็ต่างกันด้วย เพราะเหตุว่าจิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินเสียง

เพราะฉะนั้นเสียงไมใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จะมีจิตพร้อมกัน ในขณะเดียวกันที่ไปทั้งเห็น ทั้งได้ยิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นสภาพรู้ โดยสภาวะจริงๆ เป็นอย่างนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจปริยัติคือ การศึกษาเกื้อกูลทำให้สติเกิดระลึกทีละอย่าง ถ้าระลึกทีละอย่าง จะทำให้ค่อยๆ เห็นความแยกกันในขณะที่กำลังได้ยินเสียง แล้วก็สติกำลังระลึก จะเป็นระลึกที่ลักษณะอาการที่รู้เสียง หรือสภาพของเสียงก็ตาม ในขณะนั้นไม่ใช่ว่าโลกมืดไปหมด ก็ยังมีแสงสว่างเป็นปกติธรรมดา แต่จะรู้ได้ว่าสติช่างสั้น แล้วก็สิ่งที่สติระลึกรู้ก็เล็กน้อยเหลือเกิน ตรงกับภาษาธรรมที่ใช้คำว่า “ปริตตารมณ์” คือเป็นสภาพธรรมที่แสนจะเล็กน้อย ทั้งสติ ทั้งสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสติก็ดับด้วย

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานทีละเล็กทีละน้อย ตามปกติ ถ้าไม่ตามปกติแล้ว ก็จะปรากฏอาการของสมาธิซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 11 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ เห็น กล่าวในภาษาไทยธรรมดาๆ คือ "เห็น" ก็เข้าใจธรรมในภาษาของคนไทย เห็น เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เราที่เห็น เมื่อเห็นเกิดขึ้นก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น จะไปเห็นอย่างอื่นไม่ได้ จะไปเห็น เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้ นี้คือ ความเป็นจริงของ เห็น และเห็นจะเกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่ได้ เห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีกรรมเป็นปัจจัย จึงทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น นอกจากนั้น ก็ต้องมีเจตสิกธรรม เกิดร่วมด้วย มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ และมีที่เกิดของ จิตเห็น คือ จักขุปสาทะ ด้วย เมื่อค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรม "เห็น" เลย เพราะเห็นเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ความเข้าใจ ก็จะต้องค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 11 เม.ย. 2557

จิตเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรมไม่ใช่เรา ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Thanapolb  วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเห็น เป็นวิบากจิต มีกรรมเป็นปัจจัยให้ได้เห็น

ขอเรียนถาม ว่าทุกขณะที่เห็น ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ขณะที่ลืมตาก็เห็น ขณะเดินทางเห็นแบบผ่านๆ ไปอย่างรวดเร็ว ผลของกรรมที่ให้ได้เห็นมากมาย เพราะเคยมีความติดข้องมากมายอย่างนั้นใช่ไหมครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอเชิญคลิกฟังได้ค่ะ...

ปัจจัยของจิตเห็น

จักขุวิญญาณ หรือ จิตเห็น


ความคิดเห็น 6    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 16 เม.ย. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย peem  วันที่ 23 ต.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย เจียมจิต  วันที่ 23 ต.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ