ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๙๗
โดย khampan.a  30 มิ.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 23108

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาต แบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๙๗]

พระผู้มีพระภาคทรงรังเกียจอกุศลทุกประเภท ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ท่านผู้ฟัง

รังเกียจโลภะบ้างไหม? สภาพที่เพลิดเพลินยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสในโผฏฐัพพะ

ในธัมมารมณ์ ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นสมุทัยที่จะให้มีการเกิดอีก เห็นอีก ได้ยินอีก ได้กลิ่นอีก

รู้รสอีก รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง โผฏฐัพพะอีก ไม่เบื่อ เมื่อวานนี้ก็เห็น ก็ยังอยากจะเห็น

อย่างนั้นอย่างนี้อีก เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ก็จะเห็นต่อไปอีก ภพชาติต่อๆ ไปก็ไม่พ้นจากการ

ที่มีความติดข้อง ยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ถ้าแสดงธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว อะไร จะแพร่หลาย?

พระธรรมย่อมแพร่หลาย ผู้ที่ได้ฟังธรรมมีโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรมโดยตรงมาก

ยิ่งขึ้น มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เอง

มากขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ จะแพร่หลาย

พระธรรมสอดคล้องกันหมด เพราะเป็นจริงโดยตลอด

พระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงอุปการะเกื้อกูล ตลอด ๔๕ พรรษา

เพื่อให้มีปัญญา เห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม จนสามารถดับการ

ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนได้ ไม่เหลือเลย

ท่านจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของท่าน เป็นการปฏิบัติ

ด้วยกุศลจิต ที่ประกอบด้วยเมตตา หรือว่าเป็นไปด้วยอกุศลจิต ถ้าท่านต้องการที่จะ

ขัดเกลากิเลส ท่านก็ควรที่จะให้จิตน้อมไปในการที่จะปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ด้วยเมตตา

ด้วยกุศลจิต เท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้

ธรรมที่เป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยนั้นเป็นอย่างไร คือ ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรม

ทั้งหลาย เพื่อที่จะได้พิจารณาตนเองว่า ท่านเป็นคนถ่อยบ้างหรือเปล่า และถ้ายังคงเป็น

อยู่ ก็อบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลที่จะดับความเป็นคนถ่อยเสีย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลส

จะต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลามาก

ชาติตระกูลก็ไม่สามารถที่จะห้ามกันคนที่มีกิเลสให้พ้นจากทุคติได้ ถ้าเป็นผู้ที่เกิด

ในตระกูลสูง แต่ว่ามีกรรมที่เป็นอกุศล ชาติตระกูลก็จะห้ามบุคคลนั้นให้พ้นจากทุคติ

ไม่ได้ และชาติตระกูลก็ไม่สามารถที่จะห้ามกันคนที่เจริญกุศลไม่ให้ไปสู่สุคติได้

คนที่พูดคำสัตย์ ก็เป็นคนกล้าที่จะพูดคำจริง เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ตัวของท่าน

เป็นคนกล้ามากน้อยแค่ไหน เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน เป็นอกุศลมากน้อยแค่ไหน

เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ สำหรับคำนินทาและสรรเสริญ เมื่อเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างนี้ ใครเสียเวลาเร่าร้อนใจ หวั่นไหว ก็เป็นผู้ไม่ฉลาดเลย เพราะเหตุว่าไม่รู้

สภาพธรรมที่เป็นธรรมดาของโลก

อะไรจะเกิดขึ้นแม้ในขณะต่อไป ใครจะไปรู้ได้ ยกตัวอย่างบุคคลคนหนึ่ง

เดินไปตลาด ไปซื้อของตามปกติ สุนัขตัวหนึ่งวิ่งออกจากกรง มากัดเขา แล้วก็

วิ่งกลับเข้ากรงเหมือนเดิม

กายก็ไม่ควรที่จะให้ประพฤติทุจริต พร้อมกันนั้นก็ควรประพฤติสุจริตด้วย วาจาก็ไม่

ควรที่จะให้ล่วงไปเป็นวจีทุจริต และควรที่จะประพฤติสุจริตด้วยวาจา แม้ทางใจก็พึงรักษา

ความกำเริบทางใจ ขณะใดที่หวั่นไหวไปด้วยกิเลส ทางเดียวที่จะรักษาความกำเริบทางใจ

ในขณะนั้นได้ ก็คือสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียง

นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

ถ้าบุคคลนั้นกระทำกายทุจริตหรือวจีทุจริตก็ตาม ทำไมเราจะต้องโกรธ ในเมื่อที่จริง

แล้ว บุคคลนั้นน่าสงสารที่สุด ที่ว่าเขาจะต้องได้รับผลของกรรม ถ้านึกถึงภาพของบุคคล

นั้น ที่จะต้องอยู่ในนรก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จะเกิดความกรุณาในผู้กระทำ

กายทุจริตและวจีทุจริต ในขณะนั้น ท่านก็จะไม่โกรธเหมือนกัน เพราะรู้สึกเห็นใจ สงสาร

จริงๆ ในอกุศลกรรมที่กระทำ

เริ่มเห็นใจคนที่กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมได้แล้ว เพราะเขาได้สร้างเหตุที่ไม่ดี

ไว้ และในที่สุด อกุศลกรรมที่เขาทำ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เขาได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า

ถ้าใครทำกุศลกรรม ถึงคนอื่นจะไปขอร้อง ไม่ให้กุศลกรรมให้ผล ก็เป็นไปไม่ได้

หรือว่า ถ้าใครทำอกุศลกรรม ถึงใครจะไปช่วยกันอ้อนวอน ขอร้อง อย่าให้บุคคลนั้น

ได้รับผลของอกุศลกรรม ก็เป็นไปไม่ได้เลยเหมือนกัน

ที่เกิดของหมู่สัตว์หลากหลาย ก็เพราะมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง

ปัญญาจะเกิดมีได้ ก็โดยอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

สนทนา พิจารณาไตร่ตรอง เพื่อเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

ขณะนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นแหละ เป็นโลก เห็นเป็นโลกอย่างหนึ่ง ได้ยิน

เป็นโลกอย่างหนึ่ง เป็นต้น เพราะโลก คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา

ควรอย่างยิ่ง ที่พุทธศาสนิกชน จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะเป็นการช่วยกัน

รักษาพระพุทธศาสนามิให้เสื่อมสูญ และเป็นการปกป้องมิให้ใครมาบิดเบือนพระธรรม

คำสอน เพราะเหตุว่า พระพุทธศาสนาจะเจริญก็อยู่ที่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น คือ จะเจริญ

ด้วยการศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความจริงใจของพุทธศาสนิกชนนั่นเอง

ไม่ได้อยู่ที่สิ่งอื่นเลย

การไม่ขาดการฟังพระธรรม ก็เพราะมีการระลึกถึง ที่จะไม่ขาดการฟังพระธรรม

ความเข้าใจถูกเห็นถูก มี ณ ที่ใด ที่นั้น ก็มีการดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๙๖ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๙๖...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่งและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 30 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ

- จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก

ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละความไม่รู้ แม้ในเรื่องของการเจริญกุศล ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลส กุศลเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ควรที่จะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเบาสบาย ผ่องใส ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง

- ชีวิตนี้แสนสั้น แต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะจิตที่เป็นอกุศลบ้าง กุศลบ้าง

ยิ่งเกิดดับรวดเร็วกว่านั้นจนไม่สามารถนับได้ถ้วน พึงเป็นผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความ

ไม่ประมาท เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตน พึงอยู่ด้วยการฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดจาก

การฟังศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกและเป็นปัญญาจริงๆ เพื่อการค่อยๆ ละ

ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสอกุศลของตนเอง เพราะไม่มีใครสามารถจะไปละอกุศลของ

คนอื่นได้

- พระไตรปิฎก คือ พระธรรมที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงอันเกิดจากพระปัญญา

ของ พระพุทธเจ้า อันลึกซึ้ง สุดประมาณ ดังนั้น การศึกษาพระไตรปิฎก คือ

ศึกษา คำสอนของพระปัญญาพระพุทธเจ้าจึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้รู้ อ่านเอง

คิดเองไม่ได้ครับ เหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่เข้าใจเพราะพระธรรมละเอียดลึกซึ้ง

หากแต่ว่าพระไตรปิฎกก็คือ การแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยนัย

ต่างๆ อันสมควรแก่อุปนิสัยของสัตว์โลก ดังนั้น เมื่อศึกษาพระไตรปิฎกก็คือเพื่อ

เข้าใจสภาพธรรมที่มีในขณะนี้และขัดเกลากิเลสทุกๆ ประการ นี่คือจุดประสงค์ที่

ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็จำได้แต่ไม่เป็นไปเพื่อการน้อมประพฤติปฏิบัติคือเพื่อเข้าใจ

สิ่งที่มีในขณะนี้และเป็นไปเพื่อการละทั้งหมด

- ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจเพราะเป็นธรรม และไม่มีตัวตนที่จะทำให้

เข้าใจ สะสมกิเลสและความไม่รู้มามาก สะสมปัญญามาน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็น

เรื่องธรรมดาที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่อบรมได้ ความท้อไม่ใช่เหตุให้เกิดปัญญา

แต่ความเข้าใจทีละเล็กละน้อยและด้วยความอดทนที่จะฟังต่อไป ซึ่งคงเป็นเวลา

ยาวนาน นั่นคือเหตุปัจจัยที่ให้เกิดปัญญา จำไว้เสมอว่าความท้อไม่ใช่เหตุให้

เกิดปัญญาและที่ท้อก็ถูกโลภะหลอกล่อจึงท้อเพราะไม่เข้าใจ

- การเจริญขึ้นของปัญญาหรือความเข้าใจพระธรรมนั้น ต้องอาศัยกาลเวลา

จะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาในอดีตและปัจจัยที่เหมาะสมทั้งหลายเปรียบ

เสมือนการเติบโตของต้นไม้ ขอให้เราเป็นผู้ตรง เข้าใจการสะสมของตัวเองตาม

ความเป็นจริง และเจริญเหตุทั้งหลายให้ถึงพร้อม ผลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นเองโดย

ไม่ต้องหวังเลย

- น่าสงสารสำหรับคนที่ทำบาป มากกว่าคนที่ได้รับวิบากเสียอีกเพราะคนที่

ทำบาปจะต้องประสบทุกข์เพราะทำบาปนั้น ส่วนคนที่ได้รับผลของกรรม ก็ใช้

หนี้คืออกุศลที่ทำไว้แล้วเท่านั้น ดังนั้นเห็นตามความเป็นจริงและเข้าใจว่าเป็น

ธรรมและเป็นธรรมดา

- ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ก็ย่อมมีอกุศลเป็นธรรมดา แม้แต่ อคติ ความลำเอียง

ก็ยังไม่สามารถดับได้ เพราะ ยังไม่ใช่พระโสดาบัน แต่ เมื่อได้มีการศึกษาพระธรรม

จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น พร้อมกับการเห็นโทษของ

ความลำเอียงว่า ควรหรือไม่ที่จะประพฤติในชีวิตประจำวัน เพราะ แสดงถึงความ

ไม่ตรงในชีวิตประจำวัน แม้เพียงเล็กน้อย ในการตัดสินปัญหา และ ในการดำเนิน

ชีวิตในเรื่องต่างๆ ด้วยความลำเอียง เพราะ รัก และเพราะชัง ประโยชน์ที่ได้จาก

ความลำเอียงย่อมไม่มี มีแต่ เพิ่มความเป็นผู้ไม่ตรง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ศึกษา

พระธรรม ปัญญาเจริญขึ้น ย่อมเป็นผู้ว่าง่าย น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยการละ

ความคด คือ การลำเอียง ในชีวิตประจำวัน เห็นโทษภัย เพราะ หนทางการดับกิเลส

เป็นหนทางที่ตรง ไม่ใช่หนทางที่คด

- เห็นประโยชน์ของพระธรรม (ปัญญา) ก็มั่นคงในการฟังพระธรรม และเข้าใจ

หนทางที่ถูก การตั้งเป้าหมายไม่ได้หมายความว่า เมื่อตั้งแล้วจะทำให้เข้าใจ

หนทางที่ถูก ความอยาก ไม่ได้ทำให้เข้าใจถูก แต่การฟังเพื่อเข้าใจในสิ่งที่

ฟังขณะนั้น และเกิดความเข้าใจขึ้น ความเข้าใจที่เกิดจากการฟังในขณะนั้นต่าง

หากจะทำให้ เข้าใจหนทางดับกิเลสได้ถูกและบรรลุได้โดยไม่ต้องตั้งเป้าหมายหรือ

อยาก อย่างไรเลย

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย เมตตา  วันที่ 30 มิ.ย. 2556

ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยค่ะ

- สัตว์โลก เป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป ทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้

เกิดมาจากกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว แต่ละคนแตกต่างหลากหลายกันมาก... ไม่ว่าตา

หู จมูก แขน ขา ผิวพรรณ... ซึ่งเป็นผลของกรรม ที่ได้กระทำไว้แล้ว แตกต่างกัน

ทำให้เกิดเป็นบุคคลที่แตกต่างกัน เห็นขณะนี้ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม หลัง

จากที่เห็นแล้วก็กระทำบุญ และบาป ใครทำอกุศลกรรม เห็นใจไหม? เริ่มเห็นใจ

เพราะว่า สักวันเขาต้องได้รับผลของกรรม สิ่งที่เขาได้ทำไว้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย...

ใครทำอกุศลกรรม โกรธเขาไหม? แม้โกรธเขา โกรธก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ บังคับไม่

ให้โกรธก็ไม่ได้ โกรธก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาเท่านั้นที่จะดับสิ่งที่ไม่ดีได้

ศึกษาธรรมต้องละเอียด กุศลเป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ไม่ได้ ทุกอย่างที่กำลังปรากฏเป็นธรรม ไม่ใช่ใครเลย อะไรจะเกิดกับญาติ พี่น้อง

ก็แล้วแต่กรรมของเขาที่ทำให้ต้องพบวิบากตามกรรมของเขา บังคับบัญชาไม่ได้แล้ว

แต่กรรมที่เขาได้ทำไว้แล้ว ไม่มีใครจะบังคับไม่ให้วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม เกิดได้

จะช่วยคนอื่นให้พ้นจากสิ่งที่เขาได้กระทำไว้แล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ สัตว์โลกเป็นที่ดู

บุญและบาป และเป็นที่ดูผลของกรรม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียด ถ้าไม่มีคำสอนของพระ

อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ได้เลย

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.เผดิม และทุกท่านค่ะ...


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 30 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย pornchai.s  วันที่ 30 มิ.ย. 2556

มรดกล้ำค่ากว่าสิ่งใดที่พุทธองค์มอบให้พุทธบริษัท

คือความเข้าใจถูกตามความเป็นจริงในสิ่งที่กำลังปรากฏ...ขณะนี้

Line id : pornchaise


ความคิดเห็น 5    โดย เข้าใจ  วันที่ 1 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขอกราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Boonyavee  วันที่ 1 ก.ค. 2556

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพสูงสุด

และขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 1 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย kinder  วันที่ 1 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย bsomsuda  วันที่ 1 ก.ค. 2556

คนที่พูดคำสัตย์ ก็เป็นคนกล้าที่จะพูดคำจริง เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ตัวของท่านเป็นคนกล้ามากน้อยแค่ไหน เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน เป็นอกุศลมากน้อยแค่ไหน

การไม่ขาดการฟังพระธรรม ก็เพราะมีการระลึกถึง ที่จะไม่ขาดการฟังพระธรรม

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย pat_jesty  วันที่ 2 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย jaturong  วันที่ 2 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 12    โดย rrebs10576  วันที่ 5 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 13    โดย rrebs10576  วันที่ 5 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา