ที่กล่าวถึงเรื่องของโลภเจตสิก หรือสราคจิตมาก เป็นเพราะเหตุว่าท่านที่ได้ฟังเรื่องของอริยสัจธรรมบ่อยๆ ว่า อริยสัจธรรมมี ๔ คือ ทุกขอริยสัจจะ ๑ ทุกขสมุทยสัจจะ ๑ ทุกขนิโรธ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๑ สภาพที่เป็นทุกข์ คือ สภาพที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้ท่านไปทุกข์ๆ โศกๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปฝืน หรือไปแสร้งเปลี่ยนแปลงจากตัวจริงๆ ของท่าน นี่เป็น ทุกขอริยสัจจะ
แต่สำหรับสมุทยสัจจะ คือ โลภะ ที่ละเอียดมากและเหนียวแน่น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หนทางเดียวที่จะละได้ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นความยินดีพอใจ เป็นสราคจิตเกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของความยินดีพอใจทันทีว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปบังคับ ไปเปลี่ยนแปลงตัวของท่านให้เป็นอีกบุคคลหนึ่ง
บางท่านอาจจะคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ดูเหมือนท่านไม่ได้ละอะไรเลย ท่านเคยมีความยินดีพอใจเป็นอัธยาศัยของท่านที่สะสมมา บางท่านก็ทางตา บางท่านก็ทางหู เป็นตัวของท่านจริงๆ แต่ว่าสติระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อยๆ และก็ละความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 142