นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๒
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ปรมัฏฐกสูตร *
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๗๓๒
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
(ว่าด้วยเรื่องทิฏฐิของคน)
[๔๑๒] บุคคลในโลกยึดถือในทิฏฐิ ทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ย่อมกระทำ ศาสดาเป็นต้น ของตน ให้เป็นผู้ประเสริฐ กล่าวผู้อื่นนอกจากศาสดาเป็นต้น ของตนนั้น ว่า เลวทั้งหมด เพราะเหตุนั้น บุคลนั้น จึงไม่ล่วงพ้นความวิวาทไปได้
บุคคลนั้นเห็นอานิสงส์อันใดในตน กล่าวคือ ทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นในสิ่งเหล่านี้ คือ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง ศีล พรต หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ บุคคลนั้น ยืดมั่น อานิสงส์ในทิฏฐิของตนนั้นแล ว่า ประเสริฐ ที่สุด เห็นศาสดาอื่นทั้งหมดโดยความเป็น คนเลว
อนึ่ง บุคคลผู้อาศัยศาสดาของตน แล้ว เห็นศาสดาอื่นเป็นคนเลว เพราะความ เห็นอันใด ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวความ เห็นนั้นว่า เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุไม่พึงยึดมั่นรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ หรือศีลและพรต แม้ทิฏฐิก็ไม่พึงกำหนด ด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและพรตในโลก ไม่พึงนำตน เข้าไปเปรียบว่า เป็นผู้เสมอเขา ไม่พึง สำคัญว่า เป็นผู้เลวกว่าเขา หรือว่าเป็นผู้ วิเศษกว่าเขา ภิกษุนั้น ละความเห็นว่าเป็นตนได้แล้ว ไม่ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่กระทำนิสัย (ตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย) แม้ในญาณ ไม่เป็นผู้แล่นไปเข้าพวกในสัตว์ทั้งหลาย ผู้แตกต่างกันด้วยอำนาจทิฏฐิต่างๆ ย่อมไม่กลับมาแม้สู่ทิฏฐิอะไรๆ
พราหมณ์ในโลกนี้ไม่มีตัณหาในส่วน สุดทั้ง ๒ มีผัสสะเป็นต้น เพื่อความเกิดบ่อยๆ ในโลกนี้หรือในโลกอื่น ไม่มีความยึดมั่น อะไรๆ ไม่มีสัญญาอันปัจจัยกำหนดแล้ว แม้แต่น้อย ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง หรือในอารมณ์ที่ได้ทราบ ในโลกนี้ เพราะได้ตัดสินธรรมที่ตนยึดถือแล้วในธรรม ทั้งหลาย ใครๆ จะพึงกำหนดพราหมณ์นั้น ผู้ไม่ถือมั่นทิฏฐิ ด้วยการกำหนดด้วยตัณหา หรือด้วยการกำหนดด้วยทิฏฐิอะไรๆ ในโลกนี้
พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนดด้วย ตัณหาหรือทิฏฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและ ทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นก็มิได้ปกปิดไว้ พราหมณ์ผู้อันใครๆ จะพึงนำไปด้วยศีล และพรต ไม่ได้ ถึงฝั่ง คือ นิพพานแล้ว เป็นผู้คงที่ ย่อมไม่กลับมาหากิเลสทั้งหลายอีก ฉะนั้นแล
จบปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
อรรถกถาปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
ปรมัฏฐกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ปรมนฺติ ทิฏฺฐีสุ ในทิฏฐิทั้งหลายว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ดังนี้
พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร ? ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี
พวกเดียรถีย์ต่างๆ ประชุมกันแสดงทิฏฐิของตนๆ ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง เกิดโต้เถียงกันแล้วพากันไปกราบทูลพระราชา. พระราชาให้ประชุมคนตาบอดแต่กำเนิดเป็นอันมากแล้วรับสั่งว่า พวกเจ้าจงแสดงช้างเหล่านี้ ดังนี้ พวกราชบุรุษประชุมคนตาบอดแล้วให้ช้างนอนข้างหน้ากล่าวว่า พวกท่านจงดูซิ. คนตาบอดเหล่านั้นคลำอวัยวะส่วนหนึ่งๆ ของช้างแล้ว พระราชาตรัสถามว่า นี่แน่ะเจ้าช้างเหมือนอะไร? ผู้ที่คลำงวงก็ทูลว่า เหมือนงอนไถพระเจ้าข้า พวกที่คลำงาเป็นต้นต่างก็บริภาษอีกพวกหนึ่งว่า นี่แน่ะเจ้า อย่าทูลเท็จต่อพระพักตร์พระราชานะ แล้วกราบทูลว่าเหมือนขอติดข้างฝาพระเจ้าข้า พระราชาทรงสดับทั้งหมดแล้ว จึงทรงส่งพวกเดียรถีย์กลับไปด้วยพระดำรัสว่า ลัทธิของพวกท่าน ก็เหมือนเช่นนี้แหละ ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง รู้เรื่องราวนั้นแล้ว จึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเรื่องนั้นเป็นเหตุจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนตาบอดแต่กำเนิด ไม่รู้จักช้าง ต่างก็คลำอวัยวะส่วนนั้นๆ ของช้างแล้วก็เถียงกัน ฉันใด พวกเดียรถีย์ก็ฉันนั้น ไม่รู้จักธรรมอันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ ลูบคลำทิฏฐินั้นๆ แล้วก็เถียงกัน เพื่อทรงแสดงธรรมนั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้
ในบทเหล่านั้นบทว่า ปรมนฺติ ทิฏฺฐีสุ ปริพฺพสาโน บุคคลยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง คือ ยึดอยู่ในทิฏฐิของตนๆ ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง
บทว่า ยทุตฺตรึ กุรุเต ย่อมกระทำให้ยิ่งคือย่อมกระทำศาสดาเป็นต้นของตนให้เป็นผู้ประเสริฐ
บทว่า หีนาติ อญฺเญ ตโต สพฺพมาห กล่าวผู้อื่นเว้นศาสดาเป็นต้นของตนว่าพวกนี้เลวทั้งหมด
บทว่า ตสฺมา วิวาทานิ อวีตวตฺโต คือ เพราะเหตุนั้นบุคคลนั้นจึงไม่ล่วงพ้นความวิวาทไปได้เป็นแน่
พึงทราบความแห่งคาถาที่สองต่อไปนี้ .- ก็ไม่ล่วงพ้นไปได้อย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นเห็นอานิสงส์อันใดดังกล่าวแล้วในก่อนในตน กล่าวคือทิฏฐิอันเกิดขึ้นในสิ่งเหล่านี้คือ ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในศีลและพรต ในอารมณ์ที่ได้รู้ บุคคลนั้นยืดมั่นอานิสงส์ในทิฏฐิของตนนั้นว่า สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด เห็นศาสดาอื่นทั้งหมดมีศาสดาของคนอื่นเป็นต้น โดยความเป็นคนเลว
พึงทราบความแห่งคาถาที่สามต่อไปนี้ .- เมื่อเห็นอย่างนี้ บุคคลผู้อาศัยศาสดาเป็นต้นของตนเห็นศาสดาของคนอื่นเป็นต้น เป็นคนเลว เพราะความเห็นอันใด ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวความเห็นอันนั้นว่า เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด อธิบายว่า เป็นเครื่องผูกมัด. ท่านอธิบายว่า เพราะฉะนั้นแลภิกษุไม่พึงยึดมั่นในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ หรือศีลและพรต
พึงทราบความแห่งคาถาที่สี่ต่อไป มิใช่ไม่พึงยึดถือรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟังเป็นต้นอย่างเดียว อันที่จริงไม่พึงกำหนดแม้ทิฏฐิยิ่งๆ ขึ้นไปที่ยังไม่เป็นในโลก. ท่านอธิบายว่า ไม่พึงให้เกิด เช่นไร? ไม่พึงกำหนดทิฏฐิที่กำหนดด้วยญาณหรือแม้ศีลและพรต หรือด้วยญาณมีสมาบัติญาณเป็นต้น หรือด้วยศีลและพรต. อนึ่งมิใช่พึงกำหนดทิฏฐิอย่างเดียว อันที่จริงไม่พึงสำคัญว่าเป็นผู้เลวกว่าเขา หรือเป็นผู้วิเศษ กว่าเขา
พึงทราบความแห่คาถาที่ห้าต่อไป ก็เมื่อไม่กำหนดคือไม่สำคัญทิฏฐิอย่างนี้ ภิกษุละความเห็นว่าเป็นตนได้แล้ว ไม่ถือมั่นอยู่ คือละสิ่งที่ตนถือมาก่อน แล้วไม่ถือสิ่งอื่น ย่อมไม่กระทำนิสัย ๒ อย่าง (ตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย) ในญาณมีประการดังกล่าวแล้วแม้นั้น ก็เมื่อไม่กระทำ ภิกษุนั้นแล ไม่เป็นผู้แล่นไปเข้าพวก ในสัตว์ทั้งหลายผู้แตกต่างกันด้วยอำนาจทิฏฐิต่างๆ เป็นผู้ไม่ไปด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น ย่อมไม่กลับมาสู่ทิฏฐิแม้อะไรๆ ในทิฏฐิ ๖๒
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถา ๓ คาถา มีอาทิว่า ยสฺสูภยนฺเต ดังนี้ เพื่อกล่าวสรรเสริญพระขีณาสพ ดังได้กล่าวแล้วในคาถานี้
ในบทเหล่านั้น บทว่า อุภยนฺเต ในส่วนสุดท้องสอง คือผัสสะเป็นต้น ดังได้กล่าวไว้แล้วในก่อน. ปณิธิ ได่แก่ ตัณหา
บทว่า ภวาภวาย คือเพื่อความเกิดบ่อยๆ
บทว่า อิธ วา หุรํ วา ในโลกนี้หรือในโลกอื่น คือ ในโลกนี้มีอัตภาพของตนเป็นต้น หรือในโลกอื่นมีอัตภาพของผู้อื่น เป็นต้น
บทว่า ทิฏฺเฐ วา ในรูปที่ได้เห็น คือในความบริสุทธิ์ของรูปที่ได้เห็น. ในเสียงที่ได้ฟังก็มีนัยนี้
บทว่า สญฺญา ได้แก่ ทิฏฐิอันเกิดแต่สัญญา
บทว่า ธมฺมาปิ เตสํ น ปฏิจฺฉิตาเส แม้ธรรมทั้งหลายพราหมณ์เหล่านั้นก็มิได้ปกปิดไว้ คือแม้ธรรมคือทิฏฐิ ๖๒ พราหมณ์เหล่านั้นมิได้ปกปิดไว้ อย่างนี้ว่านี้เท่านั้นเป็นของจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ดังนี้
บทว่า ปารํ คโต น ปจฺเจติ ตาที ผู้ถึงฝั่งแล้วเป็นผู้คงที่ไม่กลับมาอีก คือ ผู้ถึงฝั่งคือนิพพานแล้วเป็นผู้คงที่ด้วยอาการ ๕ ย่อมไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้ด้วยมรรคนั้นๆ อีก. บทที่เหลือชัดแล้วทั้งนั้น
จบอรรถกถาปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
* หมายเหตุ ปรมัฏฐกะ แปลว่า อย่างยิ่ง อย่างยอดเยี่ยม หรือ อย่างสูงสุด
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปรมัฏฐกสูตร
(ว่าด้วยเรื่องทิฏฐิของคน)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ เพราะทรงปรารภเรื่องที่พวกเดียรถีย์ทั้งหลาย ยึดมั่นในทิฏฐิ (ความเห็น) ของตนเอง ต่างโต้เถียงกันว่าความเห็นของตนเองยอดเยี่ยมที่สุด ถูกต้องที่สุด ความเห็นอื่นทั้งหมด เลว ความเห็นอื่นทั้งหมด ไม่ถูกต้อง
พวกเดียรถีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักธรรมอันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ ลูบคลำยึดถือทิฏฐินั้นๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน เหมือนคนตาบอดคลำช้าง ต่างก็โต้เถียงกันว่าช้างมีรูปร่างเหมือนกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่ตนเองลูบคลำถูกแล้วยืดถือเอาอย่างนั้น
ส่วนภิกษุผู้ไม่ยึดมั่นในทิฏฐิ เป็นผู้ปราศจากความสำคัญตน เป็นผู้ไม่มีตัณหา ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน แล้วไม่ต้องกลับมาสู่กิเลสที่ดับได้แล้วอีก
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
มิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของธรรม
โอฆะ...?
อยากทราบว่า คำที่ใช้ ทิฏฐิ
พระอรหันต์ชื่อว่าผู้คงที่ ด้วยอาการ ๕ ... ขุททกนิกาย มหานิทเทส
คลิปธรรมเตือนใจ ... คำจริงไม่วิวาท (คลิกชมที่ยูทูปด้านล่างนี้)
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น