เอกายนมรรค ซึ่งเป็นทางเดียว ไม่เป็นทางสองแพร่ง
โดย สารธรรม  21 ต.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 44831

เพื่อประกอบความเข้าใจของท่านผู้ฟังหลายๆ ประการ ให้ได้พิจารณา เลือกเฟ้นธรรมด้วยตัวของท่านเอง ขอกล่าวถึงข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ที่เป็นข้อความเรื่องเอกายนมรรค ซึ่งเป็นทางเดียว ไม่เป็นทางสองแพร่ง คือ ไม่แบ่งเป็นสอง

ข้อความอธิบายว่า

ทางเป็นที่ไปที่เดียว ชื่อว่า เอกายนะ

ที่เดียว คือ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ไม่เป็นไปในที่อื่น นั่นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง มรรค คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

มรรคที่ชื่อว่า เอกายนะ เพราะถึงที่แห่งเดียว แม้จะเป็นไปโดยมุขะต่างๆ โดยนัยแห่งภาวนาต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น แต่ในกาลต่อมาก็ถึงที่เดียว คือ พระนิพพานนั่นเอง

สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามต่างๆ ของรูปต่างๆ ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งความจริงไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมอะไร และไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้ชัด รู้ทั่ว และถึงพระนิพพานได้

นามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นญาณเบื้องต้น เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จะต้องรู้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม และต้องทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เสมอกันจริงๆ จึงจะถึงอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นญาณที่เป็นเครื่องแสดงความสมบูรณ์ของ ตีรณปริญญา

ตีรณ แปลว่า พิจารณา ปริญญา คือ ความรู้ที่พิจารณาทั่วในนามในรูปจนกระทั่งนามและรูปทั้งหมดเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นโสภณธรรม อโสภณธรรมอย่างใดๆ ก็ตาม เพราะจะต้องทราบว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สมบูรณ์ด้วยปัจจยปริคหญาณ และประจักษ์ความเกิดดับสืบต่อกันเสียก่อน ถึงจะประจักษ์สภาพที่เกิดขึ้นและดับไปโดยความรู้ชัดของอุทยัพพยญาณได้

เพราะฉะนั้น ไม่มีเลยที่จะกล่าวว่า ไม่ให้รู้ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริง นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม สิ่งที่ไม่มี ไม่ควรที่จะเอามายึดถือว่ารู้ หรือว่ารู้แล้ว เพราะเหตุว่าตรวจสอบทานได้ทั้ง ๓ ปิฎก

และท่านที่แสวงหาพระอริยเจ้า ก็ควรที่จะได้ระลึกว่า ผู้ใดแสดงธรรมไม่ตรงกับพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ผู้นั้นจะเป็นพระอริยเจ้าได้ไหม มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา เป็นธรรมที่ตรวจสอบทาน เทียบเคียงพิจารณา ตามสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ด้วย

ทางตามีอะไรที่มีลักษณะไม่เที่ยง ปรากฏแล้วหมดไป ทางหูมีอะไรที่มี ลักษณะไม่เที่ยง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งนั้นๆ แหละเป็นสิ่งที่สติควรที่จะระลึก เพราะว่ามีสภาพที่ไม่เที่ยงปรากฏให้รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่สิ่งใดที่ไม่มีลักษณะ ไม่สมควรที่จะไประลึก


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 178