สติ
โดย ผู้มาใหม่  27 ก.พ. 2565
หัวข้อหมายเลข 42248

1...ได้ฟังอาจารย์บรรยายเรื่องสติ ยกตัวอย่างเช่นอานาปานสติถ้าเอาสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ จะเป็นอัตตาคือมีเราไปบังคับมันให้มันเกิดขึ้น ต้องให้มันเกิดเองระลึกรู้เอง งั้นการเจริญอานาปานสติจะทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง

2... เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หากเกิดเวทนาขึ้น การพิจารณาอย่างไรจึงไม่ถือว่ามีเราและการพิจารณาอย่างไรจึงถือว่ามีเรา

ขอบพระคุณอาจารย์ทั้งหลายมากครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 27 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


อานาปานสติ จดจ้องดูลมหายใจ (ลืมอนัตตา) วิกฤตพระพุทธศาสนา

พอฟังใครบอกให้ทำ ก็จะทำตาม ให้ดูลมหายใจ อานาปานสติ ลืม แม้คำว่า อนัตตา (บังคับไม่ได้) คำว่าสติ คำว่า ปัญญา และ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แม้สติ และ ปัญญาก็เป็นธรรม บังคับไม่ได้ พยายามไปตามดู จดจ้องที่ลมหายใจในชีวิตประจำวัน ก็เป็นการจดจ้องด้วยกิเลสโลภะ ความต้องการ นี้คือ วิกฤตพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง การอ่านพระสูตร หรือ ฟังจากใคร ต้องแยบคาย ไม่ลืมอนัตตา เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูก คือ ฟังพระธรรมเข้าใจสภาพธรรม ไม่ต้องไปตามจดจ้อง สติและปัญญาเกิดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น นี่คือ ไม่ถูกหลอกด้วยโลภะและเข้าใจอนัตตา

ท่าน อ.สุจินต์ ทุกคนมีลมหายใจ แต่การที่จะรู้ที่ลมหายใจด้วยโลภะได้ไหม ตามความเป็นจริง ลองย้อนคิดซิว่า ลมหายใจมี เป็นที่ตั้งของโลภะได้ไหม ตามปกติ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ลมหายใจก็คือโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสในช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะอื่นที่กระทบส่วนอื่นของร่างกาย และมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นอะไรที่คิดว่า เมื่อจดจ้องที่ลมหายใจแล้ว จิตจะสงบ ลมอื่นได้ไหม

เพราะฉะนั้น ข้อที่ควรระลึกก็คือว่า เมื่อลมหายใจเป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เป็นที่ตั้งของความพอใจได้หรือไม่ได้ ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตระลึกที่ลมหายใจโดยปราศจากปัญญา แต่พอใจให้รู้อยู่ที่ลมหายใจ ขณะนั้นจะเป็นโลภะหรือจะเป็นความสงบ เพราะเหตุว่ามีความต้องการให้จิตอยู่ที่นั่น ลักษณะของของการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เป็นลักษณะของสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอารมณ์ใดก็ตามย่อมเป็นที่ตั้งของโลภะได้ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากปัญญาที่จะรู้สภาพของจิตขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเพราะเหตุใด เหตุนี่สำคัญมาก ถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง สติปัฏฐานและปัญญาขั้นวิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ ถ้าปราศจาเหตุที่ถูกต้อง ความสงบและปัญญาขั้นสมถะก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทุกคนที่ไม่รู้อะไรเลยก็ไปนั่งจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้วจิตก็จะสงบ จะไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเลยว่า การอบรมเจริญภาวนาสามารถกระทำได้ด้วยความไม่รู้

เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม ซึ่งไม่รู้อะไร เพียงแต่รู้ว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจ รู้เพียงแค่ให้จดจ้องที่ลมหายใจ ไม่สามารถจะช่วยให้จิตสงบได้ รู้อะไรคะ เพียงแต่ให้จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญาอะไรเลย ไม่รู้ด้วยว่า ทำไม เหตุอะไรจึงควรระลึกที่ลมหายใจ เมื่อไม่มีเหตุที่เป็นปัจจัยให้สงบ ความสงบก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าเพียงแต่ไม่รู้ และได้รับคำสั่งมาให้จดจ้องที่ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ความรู้อะไรเลย


อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด ประณีต จึงเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าใครทำ เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 364

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติ มีความรู้ตัวเท่านั้น แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น กรรมฐานอย่างอื่น นอกจากอานาปานสติกรรมฐานนี้ ย่อมปรากฏได้แก่ผู้ที่มนสิการอยู่. แต่อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นภาระหนัก เจริญสำเร็จได้ยาก ทั้งเป็นภูมิแห่งมนสิการ ของมหาบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรเท่านั้น,ไม่ใช่เป็นกรรมฐานต่ำต้อย, ทั้งมิได้เป็นกรรมฐานที่สัตว์ผู้ต่ำต้อยซ่องเสพ,เป็นกรรมฐานสงบและละเอียด โดยประการที่มหาบุรุษทั้งหลายย่อมทำไว้ในใจ


2... เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หากเกิดเวทนาขึ้น การพิจารณาอย่างไรจึงไม่ถือว่ามีเราและการพิจารณาอย่างไรจึงถือว่ามีเรา

พิจารณาโดยการเลือกอารมณ์ และจดจ้องในเวทนานั้น โดยนัยเดียวกับอารมณ์อื่นๆ และอารมณ์อานาปานสติ ครับ เลือกอารมณ์เมื่อไหร่ ลืมอนัตตา เราเมื่อนั้นครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 27 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ประการ ไม่ใช่เพียงประการเดียวเท่านั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย

ข้อสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ หรือเลือกเจาะจงเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรม แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ตั้งให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ลมหายใจ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง คือเป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ (คือเป็นรูปธรรม) เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่า เป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

อานาปานสติ
ความเข้าใจ...เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

...ยินดีในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย ผู้มาใหม่  วันที่ 27 ก.พ. 2565

ขอบพระคุณมากครับท่านอาจารย์


ความคิดเห็น 4    โดย lokiya  วันที่ 27 ก.พ. 2565

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 28 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Sea  วันที่ 6 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ