[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 127
ทุติยปัณณาสก์
นีวรณวรรคที่ ๑
๓. อังคสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 127
๓. อังคสูตร
[๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้ ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุ ที่เผาอาหารให้ย่อยสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นผู้เปิดเผยตนตามเป็นจริง ในพระศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อมอยู่ เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระ ในกุศลธรรม ๑
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ที่ให้หยั่งถึงความเกิดขึ้น และดับไป อันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล.
จบอังคสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 128
อรรถกถาอังคสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในอังคสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
ในบทว่า ปธานิยงฺคานิ ภาวะคือการตั้งความเพียร ท่านเรียกว่า ปธานะ. ความเพียรของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ผู้มีความเพียร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร เพราะเหตุนั้นชื่อว่า ปธานิยังคะ.
บทว่า สทฺโธ แปลว่า ผู้ประกอบด้วยศรัทธา. ก็ศรัทธานั้นมี ๔ อย่าง คือ อาคมศรัทธา ๑ อธิคมศรัทธา ๑ โอกัปปนศรัทธา ๑ ปสาทศรัทธา ๑. บรรดาศรัทธาทั้ง ๔ นั้น ศรัทธาของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ ชื่อว่า อาคมศรัทธา เพราะเริ่มมีมาตั้งแต่การบำเพ็ญบารมี ที่ชื่อว่า อธิคมศรัทธา เพราะบรรลุด้วยการแทงตลอดของพระอริยสาวกทั้งหลาย. ความเชื่ออย่างมั่นคง เพราะไม่หวั่นไหว เมื่อกล่าวว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ดังนี้ ชื่อว่า โอกัปปนศรัทธา การเกิดขึ้นแห่งความเลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา. ในพระสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาโอกัปปนศรัทธา. บทว่า โพธึ ได้แก่ มรรคญาณ ๔. ภิกษุย่อมเชื่อว่า มรรคญาณ ๔ นั้น อันพระตถาคตแทงตลอดด้วยดีแล้ว. ก็คำนั้นเป็นเพียงหัวข้อเทศนาเท่านั้น. ก็ศรัทธาในรัตนะแม้ทั้ง ๓ ท่านประสงค์เอาด้วยองค์นี้ เพราะภิกษุใดมีความเลื่อมใส มีกำลังแรงในพระพุทธเจ้า เป็นต้น ความเพียร คือ ปธานะ ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุนั้น.
บทว่า อปฺปาพาโธ คือ ไม่มีโรค. บทว่า อปฺปาตงฺโก คือ ไม่มีทุกข์. บทว่า สมเวปากินิยา แปลว่า มีการย่อมสม่ำเสมอ. บทว่า คหณิยา แปลว่า อันไฟธาตุเกิดแต่กรรม. บทว่า นาติสีตาย นาจฺจุณฺหาย ความว่า จริงอยู่ ภิกษุผู้มีไฟธาตุเย็นเกินไป ย่อมกลัวหนาว ผู้มีไฟธาตุร้อน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 129
เกินไป ย่อมกลัวร้อน ความเพียรย่อมไม่สำเร็จผลแก่ภิกษุเหล่านั้น (แต่) ย่อมสำเร็จผลแก่ภิกษุผู้มีไฟธาตุปานกลาง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า เป็นปานกลางเหมาะแก่ความเพียร. บทว่า ยถาภูตํ อตฺตานํ อาวิกตฺตา คือ ประกาศคุณของตนตามความเป็นจริง. บทว่า อุทยตฺถคามินิยา คือ ที่สามารถจะถึง คือกำหนดรู้ความเกิด และความดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทยพยญาณ ที่กำหนดรู้ลักษณะ ๕๐ ประการ ด้วยบทนี้. บทว่า อริยาย คือ บริสุทธิ์. บทว่า นิพฺเพธิกาย คือ ที่สามารถชำแรกกองกิเลส มีกองโลภเป็นต้น ที่คนยังมิเคยชำแรก. บทว่า สมฺมาทุกฺขกฺขยคามินิยา คือ ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์ซึ่งสิ้นไป เพราะละกิเลสทั้งหลายได้ด้วยอำนาจ ตทังคปหาน [ละชั่วคราว]. ด้วยบทเหล่านี้แม้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเฉพาะวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะความเพียรย่อมไม่ สำเร็จผลแก่คนผู้มีปัญญาทราม.
จบอรรถกถา อังคสูตรที่ ๓