ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บทว่า ยถา วาริวหา เป็นต้น นั้น จะได้ยินเวลาพระภิกษุท่านสวดแล้วคฤหัสถ์ก็จะกรวดน้ำ จริงๆ คืออะไร แล้วเป็นไปตามพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาหรือไม่
จริงๆ แล้ว บทดังกล่าวเป็นคำภาษาบาลี เป็นข้อความที่มาจากพระไตรปิฎก คือ บท "ยถา วาริวหา ปูราปาริปูเรนฺติ สาครํ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ" นั้น ปรากฏในติโรกุฑฑสูตร ( [เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๗๗) ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าพิมพิสาร ปรารภการถวายทานอุทิศแก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่ไปเกิดเป็นเปรต
แปลเป็นไทยตามข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว คือ "ห้วงน้ำเต็มแล้ว ย่อมยังสาครให้เต็ม ฉันใด ทานที่ทายกให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่ฝูงเปรต ฉันนั้น เหมือนกัน"
ส่วน บท "อิจฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ฯลฯ " เป็นต้นนั้น ไม่ใช่บทที่ต่อกันกับบท ยถา วาริวหา เลย เป็นคนละเรื่องเลย เพราะบทเต็มๆ ของบทหลังนั้น เรียกว่า เป็นคาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งจะปรากฏในหลายๆ พระสูตร เช่น อดีตชาติของท่านสุขสามเณร อดีตชาติของท่านพระอนุรุทธะ เป็นต้น ที่ได้ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจก-พุทธเจ้าก็กล่าวอนุโมทนาในบุญกุศลที่ได้กระทำไปแล้ว บทนั้น คือ
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา ฯ
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา มณิ โชติรโส ยถาติ
แปลเป็นไทยได้ตามข้อความจากพระไตรปิฎกได้ว่า
[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๐๘
"สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน, ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังพระจันทร์ ซึ่งมีในดิถีที่ ๑๕. สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน, ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังแก้วมณี ชื่อว่า โชติรส"
ดังนั้น บทดังกล่าว จึงไม่ใช่บทกรวดน้ำอย่างที่ทำตามๆ กันมา แต่เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และเป็นคาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ได้กล่าวกับผู้ที่ได้เจริญกุศล เช่น ถวายอาหารบิณฑบาต เป็นต้น และที่สำคัญ การอุทิศส่วนกุศล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเทหรือหลั่งน้ำ แต่อยู่ที่สภาพจิตที่ดีงามมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเพื่อเกิดกุศลจิตอนุโมทนาในส่วนบุญนั้น แม้พระเจ้าพิมพิสารที่พระองค์ทรงถวายทานแล้วทรงอุทิศส่วนกุศล นั้น พระองค์ก็ทรงอุทิศว่า "ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา"
และข้อความที่แสดงถึงบุญกิริยาวัตถุประการที่เกี่ยวกับการอุทิศส่วนกุศล นั้น มีดังนี้ คือ
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๔๒๙
"เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญ จงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ"
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า บทดังกล่าวที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ นั้น เป็นคำที่ยุคหลังได้นำเอาข้อความ ๒ ที่มาต่อกัน ที่ควรจะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าความจริงเป็นอย่างไร
อนึ่ง บท สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ สพฺพโรโค วนสฺสตุ มา เต ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก ภว [แปลได้ว่า ความเสนียดจัญไรทั้งปวง จงบำราศไป โรคทั้งปวงของท่านจงบำราศไป (ปราศจากไป) อันตรายจงอย่ามีแก่ท่าน ขอให้ท่านเป็นผู้มีความสุข ขอให้ท่านเป็นผู้มีอายุยืน] ที่จะได้ยินต่อจากบท ยถา วาริวหา นั้น เป็นบทที่แต่งต่อเติมจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นช่วงที่เทวดาได้กล่าวชื่นชมสรรเสริญสุเมธดาบส พระโพธิสัตว์ผู้ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรว่าในอีกสี่อสงไขยแสนกัปป์จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระสมณะโคดม
ตามข้อความจาก [เล่มที่ 70] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ หน้าที่ ๖๒ ว่า
ลำดับนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น ประชุมกันบูชาพระโพธิสัตว์ผู้ลุกขึ้นจากอาสนะ ด้วยดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ ไหว้แล้วป่าวประกาศคำสรรเสริญอันเป็นมงคลมีคำเป็นต้นว่า ข้าแต่ท่านสุเมธดาบสผู้เป็นเจ้า วันนี้ท่านตั้งความปรารถนายิ่งใหญ่ไว้ที่ใกล้บาทมูลของพระทีปังกรทศพล ความปรารถนานั้นจงสำเร็จแก่ท่าน โดยหาอันตรายมิได้ ความกลัวหรือความหวาดเสียว อย่าได้มีแก่ท่าน โรคแม้มีประมาณน้อยจงอย่าเกิดขึ้นในร่างกาย ท่านจงรีบเร่งบำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์แล้วรู้แจ้งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
และในพระคาถาจะมีข้อความว่า "สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ โสโก โรโค วิวชฺชตุ มา เต ภวตฺวนฺตราโย ผุสฺส ขิปฺปํ โพธิมุตฺตมํ แปลเป็นไทยได้ว่า ขอสรรพเสนียดจัญไรจงบำราศไป ขอความโศกและโรคจงพินาศไป อันตรายทั้งหลายจงอย่าได้มีแก่ท่าน ท่านจงได้สัมผัสพระโพธิญาณอันอุดมโดยเร็วพลัน"
ดังนี้ บท สพฺพีติโย ที่ได้ยินกันอยู่ในสมัยนี้ เป็นคำที่แต่งต่อเติมจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
และท้ายสุด จะได้ยินบทที่ลงท้ายว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ตามมาอีกด้วย ซึ่งบทนี้นั้น ก็ไม่ใช่บทให้พร แต่เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บทที่ว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง นั้น คำเต็มๆ คือ "อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ แปลได้ว่า ธรรม ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์" ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของกุศลธรรม ว่า ให้ผลเป็นสุขเท่านั้น ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ธรรม ๔ ประการย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ [เรื่องอายุวัฑฒนกุมาร]
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ไม่เคยทราบมากก่อนเลยค่ะ เป็นความรู้ใหม่จริงๆ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุๆ ๆ
พระพุทธศาสนาที่ท่านพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าพระโคดม ดำเนินมาเลยครึ่งสมัย ที่หลงเหลืออีกครึ่งสมัย กำลังถูกบิดเบือนไปทุกขณะ และเกิดเพราะผู้ที่เรียกตนว่า ชาวพุทธ การจรรโลงสิ่งที่ดี ประเสริฐ ก็คือการศึกษาพระธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยความเคารพ อดทน ปราศจากความหวังใน ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข หวังแค่ความเข้าใจถูก สะสมไปตลอดค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณที่ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกเรื่องกราบขอบพระคุณในกุศลทุกประการค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาครับอ.คำปั่น ที่แสดงเรื่องราวความจริง ความถูกต้องในอดีตมาเปิดเผย ตราบใดที่พระธรรมคำสอนไม่ถูกบิดเบือน แสดงว่ามีผู้ศึกษาพระธรรมอย่างถูกต้อง และด้วยความนอบน้อม
ขออนุโมทนา
อนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ