จากการไปฟังสนธนาธรรม ได้ยินคำว่า ตัวเรานำเอา ความคิดของเราเป็นที่ตั้งโดยไม่ใช้ปัญญา ในการพิจารณาไตร่ตรองดูแต่ละอรรถะ ให้ได้ล่วงรู้ถึงนัยสำคัญของธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก อยากรบกวนถามว่า เมื่อไหร่ที่จะเรียกว่า การคิดเอาเองและเมื่อไหร่ที่จะเรียกว่า เราใช้ปัญญาในการพิจารณา (ที่มักจะได้ยินเสมอๆ ว่าจิตมันจะทำงานของมันเอง) ค่ะ ขอรบกวนหน่อยน่ะค่ะ
ผู้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพิจารณาอรรถแห่งบทธรรมที่ได้ศึกษาควรอาศัยหลักพระบาลีเป็นประมาณ และอาศัยคำขยายความจากอรรถกถาผู้รู้ อรรถาธิบายในพระบาลีนั้น แม้คำอธิบายจากฎีกา และอาจารย์ผู้ศึกษามาก่อนก็เป็นแบบอย่างในการพิจารณาอรรถแห่งธรรมที่สอดคล้องกัน การพิจารณาไตร่ตรองโดยมีหลักอย่างนี้ชื่อว่า ไม่ใช่การคิดเอาเอง ส่วนความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมและการเริ่มเห็นสภาพธรรมตามจริงจากการศึกษามาเป็นกิจของปัญญาของผู้ศึกษาเองดังนั้นเมื่อปัญญาเกิดขึ้นจากการศึกษา การพิจารณา การเห็น การประจักษ์แจ้งสภาพธรรมย่อมรู้ว่า ธรรมะทั้งปวงคือ นามธรรมและรูปธรรม เกิดขึ้นกระทำกิจของตนเท่านั้นไม่มีใครๆ ไปจัดการหรือบังคับได้
ขณะนี้ก็มีธรรมะกำลังปรากฏ แต่ถูกฉาบทาด้วยความไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ปรากฏนิดเดียวสั้นๆ แล้วก็ดับไป ถ้าปัญญาเกิดก็จะรู้ความต่างกันของธรรมะที่ระลึกหรือคิดนึก รู้ได้เฉพาะตนค่ะ
ขณะที่คิดส่วนใหญ่ เป็นเราคิดครับ เพราะฉะนั้น คนอื่นไม่สามารถจะบอกอะไรเราได้ว่าจะมีวิธีใดที่จะรู้ได้โดยปัญญา หรือว่าเป็นเรา เพราะจิตที่คิดเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดดับรวดเร็ว และนามธรรมก็เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ที่ผู้อื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะสามารถบอกเราได้ นอกจากว่า เราเป็นผู้ใส่ใจฟังพระธรรมโดยละเอียด สะสมเหตุปัจจัย พิจารณาใคร่ครวญธรรมที่ได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งมีปรกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แล้วสติเกิดขึ้นระลึกรู้จิตคิดที่เกิดปรากฏโดยไม่ได้ตั้งใจ เพ่ง หรือเจาะจงครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ