เริ่มจาก “ทำไมถึงต้องเป็นเรา”
โดย kanchana.c  28 เม.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 45821

มีชีวิตเพื่อปัญญาปรากฏ

28 เม.ย. 2566

เริ่มจาก “ทำไมถึงต้องเป็นเรา”

เดิมเข้าใจว่า ตัวเองเป็นคนดี มีศีลธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน ในวันปกติก็ถือศีล 5 วันพระก็ถืออุโบสถศีล เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งทางกายและใจ ไม่ว่าจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ก็ตีโพยตีพายบ่นเพ้อว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเรา เราทำดีทุกอย่าง ทำไมถึงได้รับผลของกรรมชั่วที่ไม่ได้ทำด้วย” ทั้งๆ ตอนนั้นก็ศึกษาธรรมแล้วตามหลักสูตรธรรมศึกษาตรี โท คิดว่าตัวเองเข้าใจธรรม เมื่อได้เริ่มฟังรายการ “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ซึ่งบรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทางสถานีวิทยุ สทร. ตั้งแต่ปี 2527 ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า “ต้องเป็นเรา” เพราะเราทำอกุศลกรรมที่ทำให้ต้องได้รับผลที่ไม่ดีนั้นเอง จะทำไว้เมื่อไรก็ตาม จะจำได้หรือจำไม่ได้ก็ตาม ก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น จะให้เป็นคนอื่นได้อย่างไร เมื่อเขาไม่ได้ทำ แต่เวลาที่ได้รับผลดี ได้ลาภ ได้ยศ ได้คำสรรเสริญ มีความสุข ไม่เคยคิดเลยว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเราที่มีความสุขอย่างนี้” ต้องเป็นผลของกุศลแน่ๆ แม้จะจำไม่ได้ก็ตาม มีแต่อยากจะมีความสุขอย่างนั้นมากขึ้นๆ เมื่อเริ่มเข้าใจบ้างว่า ใครทำกรรมใดไว้ ก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น เวลาที่มีความทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยตามวัย ก็เริ่มคิดได้บ้างว่า เราทำไว้เอง ยังมีความทุกข์ก็จริง แต่ก็ยอมรับได้บ้าง ไม่ตีโพยตีพายว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเรา” เหมือนเดิม

เมื่อฟังธรรม สนทนาธรรม พิจารณาธรรม อย่างต่อเนื่องนานเกือบ 40 ปี (ซึ่งน้อยมากๆ ๆ เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ไม่รู้อะไรเลยนานเป็นแสนโกฏิกัปป์) ก็เริ่มเข้าใจขั้นการฟังว่า “ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด” มีแต่ธรรมะ ทั้งที่เป็นสภาพรู้และสภาพที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย คือ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทีละขณะ แล้วก็ดับไปทันที ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ แล้วจะหาความเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความว่างเปล่าได้อย่างไร

สภาพรู้มี 2 อย่าง คือ จิตและเจตสิก จิต คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ จิตอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก ทำให้ปรากฏเป็นโลกที่ประกอบด้วยสัตว์ บุคคล ตัวตน และเรื่องราวมากมาย และจิตที่รู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏในโลกนี้ เช่น ขณะที่หลับสนิท หรือก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ก่อนกระทบสัมผัส ก่อนคิดนึก ทำให้เห็นได้ว่า ชีวิตไม่สามารถขาดจิต คือ สภาพรู้ได้เลย ต้องมีสภาพรู้ตลอดเวลา แม้เมื่อสิ้นชีวิตในชาตินี้แล้ว ก็ต้องมีสภาพรู้เกิดสืบต่อเป็นบุคคลอื่นในชาติต่อๆ ไป เพราะยังมีเหตุปัจจัยให้มีจิตเกิดต่อไป

เจตสิก คือสภาพรู้ที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต เช่น โลภ โกรธ อิสสา มัจฉริยะ ปัญญา เมตตา กรุณา เป็นต้น เจตสิกไม่ใช่จิต แม้จะเป็นสภาพรู้อารมณ์เดียวกันและเกิดดับพร้อมกันก็ตาม เพราะจิตต้องเกิดตลอดเวลา แต่เจตสิกบางประเภทเกิดกับจิตทุกขณะ บางประเภทก็เกิดกับจิตบางขณะเท่านั้น เช่น สติเจตสิกไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล เป็นต้น

รูป คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย สีหรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

ดูเหมือนจะรู้จักทุกอย่างที่เป็นเขียนมา แต่จริงๆ แล้วไม่รู้จักอะไรเลย พูดตามได้เหมือนนกแก้วนกขุนทอง แม้แต่รูปสีหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่เหมือนอย่างที่คิดว่า รู้ เพราะสิ่งที่รู้นั้นเป็นนิมิตของรูปสีที่เกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ว่า เป็นอะไร และมีบัญญัติถึงสิ่งนั้นๆ ด้วยชื่อ เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย ก็ไม่ใช่รูปคือสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ที่รู้ว่า ผู้หญิง ผู้ชาย นั้นเป็นการคิดถึงชื่อทางใจแล้ว ไม่ต้องพูดถึงสภาพรู้ที่ไม่มีรูปร่าง คือ จิตและเจตสิก แม้จะมีตลอดเวลาก็ไม่เคยปรากฏให้รู้ สังเกตได้ว่า พูดกันแต่ว่า เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร สัมผัสอะไร คิดนึกอะไร ไม่เคยมีใครพูดว่า เห็นเป็นอะไร ฯลฯ สภาพรู้จึงลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่จะรู้ได้ นอกจากได้ยินจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ท่านนำมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งแม้จะอ่านเองก็ไม่เข้าใจความลึกซึ้งอย่างที่ท่านพยายามพร่ำสอนด้วยความอดทนให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นการฟังธรรม การศึกษาธรรมนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง

ยังอีกนานกว่าจะ “ไม่มีเรา” แต่ไม่ท้อถอย เพราะรู้ว่า ความไม่รู้นั้นสะสมมาเนิ่นนาน สูงใหญ่ราวกับภูเขาสิเนรุ ความรู้ความเข้าใจธรรมนิดๆ หน่อยๆ เหมือนขุดภูเขาสิเนรุนั้นด้วยเล็บ ไม่ต้องคอยแหงนคอขึ้นไปมองยอดภูเขาหรอก เพราะไม่ทำให้ขุดได้เร็วขึ้น มีแต่ทำให้ช้าลง แต่ก็ดีใจที่ตั้งแต่เริ่มว่า “ทำไมต้องเป็นเรา” รู้ว่าในที่สุด ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า “ไม่มีเรา” จะนานแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องเป็นอย่างนี้จากที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนดี เพราะสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน ถืออุโบสถศีล ก็รู้ว่า ที่ทำอย่างนั้นเพราะอยากได้บุญ อยากเกิดเป็นคนสวยในชาติต่อๆ ไป อยากเกิดบนสวรรค์ แม้จะไม่เข้าใจคำว่า “บุญ” คืออะไร ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า บุญคือสภาพจิตที่ดีงาม ความอยากได้บุญ ไม่ใช่สภาพที่ดีงาม เป็นความอยาก ทำให้ติดข้องมากขึ้น แต่ความเข้าใจความจริงของชีวิตเพิ่มขึ้นนั้นเป็นบุญ จนถึงที่สุดของบุญ คือรู้ว่า ไม่มีเรา จึงไม่ได้สวดมนต์เช้าเย็นเหมือนก่อน เพราะตอนสวดมนต์ก็รู้สภาพจิตของตนเองว่า ไม่ผ่องใส ขุ่นมัว เพราะเบื่อบ้าง เมื่อยบ้าง เพราะไม่เข้าใจคำที่สวด แม้จะเข้าใจบ้าง ก็ไม่ผ่องใสเหมือนขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ ไม่ได้ถืออุโบสถศีลเพราะอยากไปสวรรค์ เพราะรู้ตัวเองว่า ยังห่างไกลที่ประพฤติปฏิบัติเหมือนพระอรหันต์แม้เพียงชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง

ซึ่งจะไม่เป็นอย่างนี้เลย ถ้าไม่ได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระมหากรุณาคุณทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง 4 อสงไขยแสนกัป เพื่อตรัสรู้ความจริงที่สุดแสนจะลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ตาม และทรงบัญญัติคำเพื่อทรงสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้ตาม ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจและนำมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้รู้ตามกำลังสติปัญญาของแต่ละคนที่สะสมมา ด้วยความมุ่งมั่นและความเพียรอย่างสูงค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 29 เม.ย. 2566

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย napachan  วันที่ 30 เม.ย. 2566

กราบเท้าขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจและนำมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้รู้ตามกำลังสติปัญญาของแต่ละคนที่สะสมมา ด้วยความมุ่งมั่นและความเพียรอย่างสูง

กราบอนุโมทนาอาจารย์กาญจนา เชื้อทอง และยินดีในกุศลด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย siraya  วันที่ 30 เม.ย. 2566

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอาจารย์กาญจนา เชื้อทอง อย่างยิ่งค่ะ