สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๒๒ ธ.ค. ๒๕๕๐
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.
เวรหัญจานีสูตร
ว่าด้วยการบัญญัติสุขและทุกข์
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๕๔
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๕๔
๑๐. เวรหัญจานีสูตร
ว่าด้วยการบัญญัติสุขและทุกข์
[๒๑๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุทายีอยู่ ณ สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์กามัณฑานคร ครั้งนั้น มาณพผู้เป็นศิษย์ของพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอุทายียังมาณพนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมมีกถา ครั้งนั้นแล มาณพผู้อันท่านพระอุทายีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ เข้าไปหาพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า ขอแม่เจ้าท่านพึงทราบเถิด พระสมณะอุทายีแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังนี้ พราหมณีเวรหัญจานิโคตรกล่าวว่า แน่ะมาณพ ถ้าอย่างนั้น เธอจงนิมนต์พระสมณะอุทายีตามคำของเรา เพื่อฉันอาหารอันจะมีในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด มาณพนั้นรับคำของพราหมณีเวรหัญ-จานิโคตรแล้ว เข้าไปหาท่านอุทายีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่าขอท่านอุทายีโปรดรับอาหารเพื่อฉันอันจะมีในวันพรุ่งนี้ ของพราหมณีเวรหัญจานิโคตรผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพระอุทายีได้รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป ในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีนุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้นพราหมณีเวรหัญจานิโคตรเลี้ยงดูท่านพระอุทายีให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนเองแล้ว ทราบว่าท่านพระอุทายีฉันแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว ได้สวมเขียงเท้านั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะแล้ว ได้กล่าวแก่ท่านพระอุทายีว่า ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม ท่านพระอุทายีกล่าวว่า น้องหญิงเวลายังมีดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป.
[๒๑๑] แม้ครั้งที่สอง มาณพนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอุทายีได้ยังมาณพนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว มาณพนั้นผู้อันท่านพระอุทายี ให้เห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ. ให้รื่นเริงด้วยธรรมมีกถาแล้ว ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ เข้าไปหาพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่าขอแม่เจ้าท่านพึงทราบเถิด พระสมณะอุทายีแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พราหมณีเวรหัญจานิโคตรกล่าวว่า แน่ะ มาณพ ก็เธอกล่าวคุณของพระสมณะอุทายีอย่างนี้ๆ พระสมณะอุทายีถูกฉันขอให้ท่านกล่าวธรรมนี้ กลับกล่าวว่า น้องหญิง เวลายังมี ดังนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไปเสีย มาณพนั้นกล่าวว่า แม่เจ้าท่านที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า แม่เจ้าสวมเขียงเท้า นั่งบนอาสนะสูง คลุมศีรษะแล้วได้กล่าว ขอให้ท่านกล่าวธรรม ด้วยว่าท่านผู้เจริญเหล่านั้น เป็นผู้หนักในธรรม เป็นผู้เคารพธรรม พราหมณีเวรหัญจานิโคตรกล่าวว่า แน่ะมาณพถ้าเช่นนั้น เธอจงนิมนต์พระสมณะอุทายีตามคำของเรา เพื่อฉันอาหารอันจะมีในวันพรุ่งนี้ มาณพนั้นรับคำของพราหมณีเวรหัญจานิโคตรแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ขอท่านพระอุทายีโปรดรับอาหารเพื่อฉันอันจะมีในวันพรุ่งนี้ของพราหมณีเวรหัญจานิโคตร ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพระอุทายีรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป ในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณีเวรหัญ-จานิโคตร นั่งบนอาสนะอันเขาปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้น พราหมณ์เวรหัญจานิโคตรเลี้ยงดูท่านพระอุทายีให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนเองแล้ว ทราบว่า ท่านพระอุทายีฉันเสร็จแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว ได้ถอดเขียงเท้า นั่งบนอาสนะต่ำเปิดศีรษะแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านเจ้าข้า เมื่ออะไรหนอมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่ออะไรไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์.
[๒๑๒] ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูก่อนน้องหญิง เมื่อจักษุมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อจักษุไม่มี พระอรหันต์ ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ฯลฯ เมื่อมีใจอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์. เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เวรหัญจานิโคตรได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านผู้เจริญภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านอุทายีผู้เจริญ ดิฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค-เจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าอุทายีโปรดจำดิฉันไว้ว่าเป็นอุบาสิกา ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.
จบ เวรหัญจานีสูตรที่ ๑๐
จบ คหปติวรรคที่ ๓
อรรถกถาเวรหัญจานีสูตรที่ ๑๐
ในเวรหัญจานีสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า กามณฺฑาย ได้แก่ ในนครมีชื่ออย่างนี้.
บทว่า ยคฺเฆ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ทักท้วง
คำที่เหลือง่ายทั้งนั้นแล.
จบ อรรถกถาเวรหัญจานีสูตรที่ ๑๐
จบ คหปติวรรคที่ ๓
ฏีกาเวรหัญจานิสูตร
มาณพ เมื่อจะชักชวนพราหมณีผู้เป็นอาจารย์ เพื่อฟังธรรม จึงได้กล่าวว่า ยคฺเฆขอแม่เจ้าท่าน ฯ เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงได้อธิบายว่า คำว่า ยคฺเฆ เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่า ชักชวน ฯ
หมายเหตุ ในอรรถกถาฉบับแปล ท่านแปลว่า ยคฺเฆ เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่าทักท้วงนี้ เห็นว่า แปลไม่ตรงตามอรรถของโจทนัตถนิบาต คือ นิบาตที่มีความหมายว่า ชักชวน ดังนั้นถ้าแปลโจทนัตถะ ว่า ทักท้วง ก็ได้ความหมายผิดไปไกลว่า มาณพทักท้วง คัดค้านการไปฟังธรรมของพราหมณียาจารย์ ทีเดียว ความจริง มาณพได้ไปชักชวนอาจารย์ไปฟังธรรมจากท่านพระอุทายีเถระ ฯ อีกอย่างหนึ่ง ในหนังสือบาลีไวยากรณ์แสดง ยคฺเฆ ไว้ในกลุ่มนิบาตที่เป็นคำร้องเรียก โดยระบุว่าเป็นคำที่ผู้น้อยเรียกผู้ใหญ่ แต่ ในคัมภีร์ปทรูปสิทธิเป็นต้น จัดไว้ในปทปูรณนิบาต นอกจากนี้ ในคัมภีร์รูปสิทธินั้น แสดงอรรถของโจทนัตถนิบาตว่า นิบาตที่มีความหมายชักชวน เพราะเหตุนั้น โจทน ศัพท์ นอกจากจะมีความหมายว่า ค้ดค้าน แล้ว ยังมีความหมายว่า ชักชวน , ได้อีก เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงแปลข้อความในอรรถกถาว่า ชักชวนเพื่อให้สอดคล้องกับนัยที่พระฏีกาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ ฯ
ขออนุโมทนาค่ะ