ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยและเป็นที่พึ่งอันสูงสุด
ขอเรียนถามจนท และท่านสหายธรรมทุกท่าน
หากท่านเคยอ่านในตาลบุตรสูตร ว่าด้วยการละคร ฟ้อนรำ ซึ่งก่อให้เกิดโทษแก่ ผู้ฟัง ดูให้เกิด โทสะ โมหะ มีผลทำให้ผู้ขับร้อง ผู้ที่แสดงนั้น ลงสู่อบาย ผมก็มีข้อจะถามครับว่า แล้วคนธรรพ์ในชั้นจาตุมหาราชิกา และ เทวดาในชั้นดาวดึงส์ ที่มีการบันเทิง รื่นเริงการตลอดเวลา ทั้งการประโคมดนตรี ขับร้อง มีโทษเช่นเดียวกับในเรื่องตาล-บุตรสูตรหรือไม่ครับเพราะเหตุใดครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่จะต้องถึงกับไปอบายภูมินั้นจะต้องครบกรรมบถ ครบองค์ ยกตัวอย่างเช่น ปาณาติบาต คือ สัตว์มีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยายามที่จะฆ่า สัตว์ตายเพราะการฆ่านั้น เมื่อครบองค์ ๕ ประการที่กล่าวมา เรียกว่า ครบกรรมบถ กรรมนี้ถ้าเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถให้ผลไปเกิดในอบายภูมิได้ครับ แต่ถ้าไม่ครบกรรมบถทั้ง ๕ ที่กล่าวมา เช่น จะฆ่าแต่สัตว์ไม่ตาย กรรมนั้นไม่ถึงต้องไป อบายภูมิ แต่สามารถให้ผลในปวัตติกาลคือ หลังจากเกิดแล้วอาจถูกเบียดเบียน เป็นต้น ดังนั้น กรรมที่ครบกรรมบถจึงจะให้ผลไปอบายภูมิ ซึ่งจากพระสูตรที่กล่าวมา ไม่ได้เพียงแค่ผู้แสดงทำให้ผู้อื่นเกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้วจะไปอบายภูมิ แต่ผู้ที่แสดง นั้นจะต้องล่วงกรรมบถครบองค์ กรรมนั้นจึงไปอบายภูมิ เช่น การกล่าวมุสาที่ครบองค์ ในขณะที่แสดง เป็นต้น
เช่นเดียวกับคนธรรพ์ที่แสดง หากไม่ได้ล่วงกรรมบถในข้อใดข้อหนึ่ง กรรมนั้นก็ไม่ให้ ผลถึงขนาดไปอบายภูมิ หากแต่ว่าในการแสดงมีการล่วงกรรมบถ ล่วงศีลข้อใด ข้อหนึ่ง อันประกอบด้วยเจตนาที่อยากจะให้ผู้ชมมีความเพลิดเพลิน จึงล่วงศีล กรรมนั้นจึงทำให้ไปอบายภูมิ ขออนุโมทนาครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
อนุโมทนาค่ะ
การกระทำที่มาจากอกุศลจิตย่อมเป็นโทษ ไม่แยกสัตว์ เปรต มนุษย์ เทวดา ฯลฯ แต่จะเห็นโทษด้วยปัญญาหรือไม่เท่านั้นครับ ซึ่งการจะเห็นได้ว่าเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนเกิดแล้วก็ดับไปๆ ก็ยังยากแสนยากเพราะตัณหาที่สั่งสมมาอย่างเหนียวแน่น รวมถึงอวิชชาก็คลุม ปิดบัง จนมืดสนิท จึงไม่เห็นสิ่งที่ยากยิ่งไปกว่านั้นอีก คือ อริยสัจจธรรม
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญรับฟังเพิ่มเติม ....
ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 0331
นาทีที่ 19.17 - 23.23
ข้อความบางตอน...
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ตาลปุตตสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่า ตาลบุตร เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวว่า นักเต้นรำคนใด ทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้ร่าเริง ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร
ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 0332
นาทีที่ 00.00 - 07.10
ข้อความบางตอน...
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้แก่เราเลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน
ดูกร นายคามณี เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ อันกิเลสเครื่องผูกคือราคะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโทสะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโทสะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น