อรรถกถาปรมัฏฐกสูตร
โดย มศพ.  22 ม.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30406

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖- หน้าที่ ๗๓๒

อรรถกถาปรมัฏฐกสูตรที่ ๕

ปรมัฏฐกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ปรมนฺติ ทิฏฺฐีสุ ในทิฏฐิทั้งหลายว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ดังนี้

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร

ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี พวกเดียรถีย์ต่างๆ ประชุมกันแสดงทิฏฐิของตนๆ ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง เกิดโต้เถียงกันแล้วพากันไปกราบทูลพระราชา พระราชาให้ประชุมคนตาบอดแต่กำเนิด เป็นอันมากแล้วรับสั่งว่า พวกเจ้าจงแสดงช้างเหล่านี้ ดังนี้. พวกราชบุรุษประชุมคนตาบอดแล้วให้ช้างนอนข้างหน้า กล่าวว่า พวกท่านจงดูซิ. คนตาบอดเหล่านั้นคลำอวัยวะส่วนหนึ่งๆ ของช้างแล้ว พระราชาตรัสถามว่า นี่แน่ะเจ้า ช้างเหมือนอะไร

ผู้ที่คลำงวงก็ทูลว่า เหมือนงอนไถพระเจ้าข้า พวกที่คลำงาเป็นต้น ต่างก็บริภาษอีกพวกหนึ่งว่า นี่แน่ะเจ้า อย่าทูลเท็จต่อพระพักตร์พระราชานะ แล้วกราบทูลว่าเหมือนขอติดข้างฝาพระเจ้าข้า พระราชาทรงสดับทั้งหมดแล้ว จึงทรงส่งพวกเดียรถีย์กลับไปด้วยพระดำรัสว่า ลัทธิของพวกท่านก็เหมือนเช่นนี้แหละ.
ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งรู้เรื่องราวนั้นแล้ว จึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเรื่องนั้นเป็นเหตุ จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนตาบอดแต่กำเนิด ไม่รู้จักช้าง ต่างก็คลำอวัยวะส่วนนั้นๆ ของช้างแล้วก็เถียงกันฉันใด พวกเดียรถีย์ก็ฉันนั้น ไม่รู้จักธรรมอันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ ลูบคลำทิฏฐินั้นๆ แล้วก็เถียงกัน เพื่อทรงแสดงธรรมนั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้

ในบทเหล่านั้นบทว่า ปรมนฺติ ทิฏฺฐีสุ ปริพฺพสาโน บุคคลยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง คือยึดอยู่ในทิฏฐิของตนๆ ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

บทว่า ยทุตฺตรึ กุรุเต ย่อมกระทำให้ยิ่งคือ ย่อมกระทำศาสดา เป็นต้นของตนให้เป็นผู้ประเสริฐ

บทว่า หีนาติ อญฺเญ ตโต สพฺพมาห กล่าวผู้อื่น เว้นศาสดาเป็นต้นของตนว่า พวกนี้เลวทั้งหมด

บทว่า ตสฺมา วิวาทานิ อวีตวตฺโต คือเพราะเหตุนั้นบุคคลนั้นจึงไม่ล่วงพ้นความวิวาทไปได้เป็นแน่

พึงทราบความแห่งคาถาที่สองต่อไปนี้ ก็ไม่ล่วงพ้นไปได้อย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นเห็นอานิสงส์อันใดดังกล่าวแล้วในก่อนในตน กล่าวคือทิฏฐิอันเกิดขึ้นในสิ่งเหล่านี้คือ ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในศีลและพรต ในอารมณ์ ที่ได้รู้ บุคคลนั้นยืดมั่นอานิสงส์ในทิฏฐิของตนนั้นว่า สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด เห็นศาสดาอื่นทั้งหมดมีศาสดาของคนอื่นเป็นต้น โดยความเป็นคนเลว

พึงทราบความแห่งคาถาที่สามต่อไปนี้ เมื่อเห็นอย่างนี้ บุคคลผู้อาศัยศาสดาเป็นต้นของตน เห็นศาสดาของคนอื่นเป็นต้นเป็นคนเลว เพราะความเห็นอันใด ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวความเห็นอันนั้นว่า เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด อธิบายว่า เป็นเครื่องผูกมัด ท่านอธิบายว่า เพราะฉะนั้นแล ภิกษุไม่พึงยึดมั่นในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ หรือศีลและพรต

พึงทราบความแห่งคาถาที่สี่ต่อไป มิใช่ไม่พึงยึดถือรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟังเป็นต้นอย่างเดียว อันที่จริงไม่พึงกำหนดแม้ทิฏฐิยิ่งๆ ขึ้นไปที่ยังไม่เป็นในโลก. ท่านอธิบายว่า ไม่พึงให้เกิด เช่นไร ไม่พึงกำหนดทิฏฐิที่กำหนดด้วยญาณหรือแม้ศีลและพรต หรือด้วยญาณมีสมาบัติญาณเป็นต้น หรือด้วยศีลและพรต อนึ่งมิใช่พึงกำหนดทิฏฐิอย่างเดียว อันที่จริงไม่พึงสำคัญว่าเป็นผู้เลวกว่าเขา หรือเป็นผู้วิเศษกว่าเขา

พึงทราบความแห่คาถาที่ห้าต่อไป ก็เมื่อไม่กำหนดคือไม่สำคัญทิฏฐิอย่างนี้ ภิกษุละความเห็นว่าเป็นตนได้แล้ว ไม่ถือมั่นอยู่ คือละสิ่งที่ตนถือมาก่อน แล้วไม่ถือสิ่งอื่น ย่อมไม่กระทำนิสัย ๒ อย่าง (ตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย) ในญาณมีประการดังกล่าวแล้วแม้นั้น ก็เมื่อไม่กระทำ ภิกษุนั้นแล ไม่เป็นผู้แล่นไปเข้าพวกในสัตว์ทั้งหลายผู้แตกต่างกันด้วยอำนาจทิฏฐิต่างๆ เป็นผู้ไม่ไปด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น ย่อมไม่กลับมาสู่ทิฏฐิแม้อะไรๆ ในทิฏฐิ ๖๒

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถา ๓ คาถา มีอาทิว่า ยสฺสูภยนฺเต ดังนี้ เพื่อกล่าวสรรเสริญพระขีณาสพ ดังได้กล่าวแล้วในคาถานี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุภยนฺเต ในส่วนสุดทั้งสอง คือมีผัสสะเป็นต้น ดังได้กล่าวไว้แล้วในก่อน. ปณิธิ ได่แก่ ตัณหา

บทว่า ภวาภวาย คือเพื่อความเกิดบ่อยๆ

บทว่า อิธ วา หุรํ วา ในโลกนี้หรือในโลกอื่น คือ ในโลกนี้มีอัตภาพของตน เป็นต้น หรือในโลกอื่นมีอัตภาพของผู้อื่นเป็นต้น

บทว่า ทิฏฺเฐ วา ในรูปที่ได้เห็น คือในความบริสุทธิ์ของรูปที่ได้เห็น. ในเสียงที่ได้ฟังก็มีนัยนี้

บทว่า สญฺญา ได้แก่ ทิฏฐิอันเกิดแต่สัญญา

บทว่า ธมฺมาปิ เตสํ น ปฏิจฺฉิตาเส แม้ธรรมทั้งหลายพราหมณ์เหล่านั้นก็มิได้ปกปิดไว้ คือแม้ธรรมคือทิฏฐิ ๖๒ พราหมณ์เหล่านั้นมิได้ปกปิดไว้อย่างนี้ ว่า นี้เท่านั้นเป็นของจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ. ดังนี้

บทว่า ปารํ คโต น ปจฺเจติ ตาที ผู้ถึงฝั่งแล้วเป็นผู้คงที่ไม่กลับมาอีก คือ ผู้ถึงฝั่งคือนิพพานแล้ว เป็นผู้คงที่ด้วยอาการ ๕ ย่อมไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้ด้วยมรรคนั้นๆ อีก

บทที่เหลือชัดแล้วทั้งนั้น

จบอรรถกถาปรมัฏฐกสูตรที่ ๕



ความคิดเห็น 1    โดย สิริพรรณ  วันที่ 25 มี.ค. 2562

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยศียรเกล้า
"....ภิกษุนั้นละความเห็นว่า เป็นตนได้แล้ว ไม่ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่กระทำนิสัย (ตัณหา นิสัยและทิฏฐินิสัย) แม้ในญาณ ไม่เป็นผู้แล่นไปเข้าพวก ในสัตว์ทั้งหลายผู้แตกต่างกันด้วยอำนาจทิฏฐิต่างๆ ย่อมไม่ กลับมาแม้สู่ทิฏฐิอะไรๆ พราหมณ์ในโลกนี้ไม่มีตัณหาใน ส่วนสุดทั้ง ๒ มีผัสสะเป็นต้นเพื่อความเกิดบ่อยๆ ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น ..."

ข้อความส่วนหนึ่งจาก ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุธเจ้าทรงแสดง จึงเริ่มรู้โทษของความไม่รู้ ความเห็นผิด ที่ทำให้ยึดถือว่ามีสัตว์บุคคลตัวตน ซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรม มีอกุศลกรรมเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน

เหตุนี้ การได้ฟังพระธรรมจึงมีคุณค่ามหาศาล เป็นหนทางที่จะค่อยๆ ออกจากความไม่รู้ ความเห็นผิด ทุกขณะที่เข้าใจ มีชีวิตที่เหลืออยู่เป็นไปเพื่อการศึกษาพระธรรม
กราบอนุโมทนากุศลท่านอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย และมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างสูงค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น