ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กมฺมเวค”
คำว่า กมฺมเวค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กำ - มะ - เว - คะ] มาจากคำว่า กมฺม (การกระทำ,กรรม) กับคำว่า เวค (แรง, กำลัง) รวมกันเป็น กมฺมเวค แปลว่า แรงของกรรม หรือ กำลังของกรรม กรรม คือ การกระทำ ถ้าเป็นกุศลกรรม การกระทำที่ดี เมื่อถึงคราวให้ผล ก็ให้ผลเป็นผลที่ดีที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น แรงของกุศลกรรม สามารถนำเกิดในสุคติภูมิ ได้ ในทางตรงกันข้าม กรรมที่เป็นอกุศลกรรม ซึ่งเป็นการทำชั่วทั้งหลาย นั้น เมื่อถึงคราวให้ผล ก็ให้ผลเป็นผลที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ แรงของอกุศลกรรม ซัดไปให้เกิดในอบายภูมิได้ ไม่มีใครทำให้ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นไปไม่ได้ที่กุศลกรรม จะให้ผลที่ไม่ดี และเป็นไปไม่ได้ที่อกุศลกรรม จะให้ผลที่ดี เพราะว่า เหตุย่อมสมควรแก่ผล ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก จุลลนันทิยชาดก ว่า
“บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นความจริง เปิดเผยเพื่อให้เข้าใจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด ธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับเรื่องกรรม ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละบุคคลย่อมมีกุศลกรรม อกุศลกรรม ตามการสะสมและมีการได้รับผลของกรรมด้วย เมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับก็จะมีความเข้าใจ ว่า เจตนา คือ ความจงใจ เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป กรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ เมื่อได้โอกาสที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้น ตามสมควรแก่เหตุ เริ่มตั้งแต่จิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้คือปฏิสนธิจิต ก็เป็นผลของกรรม ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเกิดในนรก อย่างเช่นพระเทวทัต เป็นต้น ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย แต่ต้องเป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ นอกจากนั้นแล้ว ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ล้วนเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น
ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ จิตเกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในชาติปัจจุบันนี้จิตขณะแรกเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อมาสืบต่อมาเรื่อยๆ และจิตในขณะนี้ดับไปก็เป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อไปสืบต่อไปจนถึงจุติจิต (จิตขณะสุดท้ายในชาตินี้) จุติจิตในชาตินี้ก็เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปสืบต่อเนื่องไป อย่างนี้ เรียกว่าสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่กระทำในชาติก่อนๆ รวมถึงชาตินี้ด้วย ย่อมสะสมสืบต่ออยู่ในจิต แม้ว่าจะเกิดเป็นบุคคลใหม่ในชาติใหม่แล้วก็ตาม วิบากคือผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นตามสมควรแก่เหตุ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น กรรมที่กระทำไว้ไม่ได้หายไปไหน แม้ผู้ทำกรรมจะลืมไปแล้ว แต่กรรมเมื่อถึงคราวที่จะให้ผลเกิดขึ้น ผลย่อมเกิดขึ้น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้
กรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นสภาพที่ปกปิด เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น จะให้ผลเมื่อใด แต่จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม ต่างกัน มีผลไม่เสมอกัน กล่าวคือ กุศลกรรม ย่อมทำให้เกิดผลที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ส่วนอกุศลกรรมย่อมให้ผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ทำให้มีความทุกข์เดือดร้อน เมื่อทำกรรมสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมในชาตินี้หรือกรรมในชาติก่อนๆ ที่ผ่านมา เมื่อถึงคราวให้ผล ย่อมให้ผลตามควรแก่กรรมนั้นๆ ยกตัวอย่างเวลาที่ได้ดูข่าวจากสื่อต่างๆ ก็จะพบเห็นความทุกข์ของหลายบุคคลแต่ละชีวิต ประสบอุบัติเหตุบ้าง ถูกลอบปองร้ายบ้าง เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคชนิดต่างๆ บ้าง หรือ ในทางตรงกันข้าม เมื่อได้ลาภ ได้ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ถ้าไม่มีเหตุที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิด สิ่งนั้นก็เกิดไม่ได้ นั่น เป็นเพราะแรงของกรรมหรือกำลังของกรรมจริงๆ สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน และ สัตว์โลกเป็นที่ดูบุญ (ความดี) และบาป (ความชั่ว) และดูผลแห่งบุญและบาปอย่างแท้จริง อกุศลกรรมที่กระทำแล้ว เสร็จสิ้นแล้ว ไม่
สามารถจะไปแก้หรือไปตัดได้ นอกจากจะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลแล้วสำรวมระวังที่จะไม่ทำกรรมชั่วอย่างนั้นอีก พร้อมกับเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลสะสมความดีประการต่างๆ ส่วนความดีทั้งหลาย นั้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมเพิ่มพูนให้มีมากขึ้นเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องกรรมและการได้รับผลของกรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเอง ไม่ว่าจะน่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น
ไม่รู้ว่าข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะเป็นเหตุทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำกรรมอันงาม เป็นคนดี ทำดี แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ก็ไม่ควรทำ เพราะเหตุว่า สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ ความดีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปจนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ