คำว่า โยคะ หมายถึงอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โยคะในที่นี้ หมายถึง กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ หรือ ผูกตรึงไว้ ประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้ผละไป หรือไม่ให้หลุดไปจากวัฏฏะได้. มีด้วยกัน ๔ ประเภทคือ
๑. กามโยคะ คือ โลภะ ที่มีความยินดีพอใจ ติดข้อง ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกิเลสที่ผูกตรึงไว้ ไม่ให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์
๒. ภวโยคะ คือ โลภะที่มีความยินดีพอใจ ในภพ ในขันธ์
๓. ทิฏฐิโยคะ (ทิฎฐิ) คือ ความเห็นผิด อันเป็นกิเลสที่ตรึงไว้ ไม่ให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์
๔. อวิชชาโยคะ (อวิชชา) คือ ความไม่รู้ อันเป็นกิเลสที่ตรึงไว้ ไม่ให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์
ดังนั้น ในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ก็กำลังมีโยคะ คือ กิเลสที่เกิดขึ้น ขณะใดที่ติดข้อง พอใจในสิ่งต่างๆ ก็ถูกผูกตรึง ประกอบไว้แล้วด้วยกิเลส คือ โลภะ ที่เป็นกามโยคะ ไม่ให้ไปจากกรง คือ สังสารวัฏฏ์ ถูกตรึง ประกอบไว้ในกรง อันเข้าใจว่าเป็นกรงอันหอมหวาน แต่ไม่รู้ความจริงเลยว่า จะนำมาซึ่งทุกข์จากการถูกกิเลส คือ โยคะประการต่างๆ ประกอบไว้ และ แม้จะเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ยังมีความยินดีพอใจ ในขันธ์ (ภวโยคะ) ในภพที่เกิดอีก ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ นี่แสดงถึง ความละเอียดของกิเลส ที่จะตรึงประกอบสัตว์ไว้ ไม่ให้หลุดจากกรง คือ สังสารวัฏฏ์ได้เลย และ ยังมีความสำคัญผิด ว่ามี สัตว์ บุคคล มีเรา มีเขา ด้วยความเห็นผิด ก็ถูกประกอบไว้ ตรึงไว้ด้วย ทิฏฐิโยคะ และขณะนี้ที่เกิดอกุศล ก็เพราะมีความไม่รู้ ที่เป็น เหตุ ให้เกิดอกุศล จึงมีอวิชชาโยคะประกอบไว้ ตรึงไว้ตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัวเลยว่าถูกตรึงไว้ ครับ
ซึ่งหนทางการละโยคะ เครื่องตรึงประกอบสัตว์ไว้ ด้วยอำนาจกิเลส ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เข้าใจโยคะ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะค่อยๆ ละคลาย โยคะได้ในที่สุด ก็จะเป็นอิสระ จากกิเลส คือโยคะ เพราะ ปัญญาที่เกิดขึ้นปลดเครื่องผูก คือ โยคะได้ ครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
โยคะ ๔
โยคสูตร ... โยคะ ๔ อย่าง
พระพุทธพจน์ ... กามโยคะเป็นดังนี้
พระพุทธพจน์ ... ภวโยคะเป็นดังนี้
พระพุทธพจน์ ... ทิฏฐิโยคะเป็นอย่างนี้
พระพุทธพจน์ ... อวิชชาโยคะเป็นดังนี้
เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ
โยคะ ๔
ภวโยคะ - ทิฏฐิโยคะ - อวิชชาโยคะ
อกุศลธรรม ๙ กอง -- โอฆะ ๔ - โยคะ ๔ - คันถะ ๔
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โยคะ หมายถึง กิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ตราบใดที่สัตว์โลกยังมีโยคะอยู่ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากวัฏฏะได้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะเหตุว่า ถูกโยคะ ประกอบไว้ หรือตรึงไว้ ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ นั่นเอง หรือจะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ คือ ถูกโยคะตรึงไว้ ไม่ให้ไปสู่กุศลธรรม ตรึงไว้ไม่ให้กุศลจิตเกิด เพราะในขณะที่ถูกโยคะ ประกอบไว้ หรือตรึงไว้ จิตเป็นอกุศล เมื่ออกุศลจิตเกิด กุศลก็เกิดไม่ได้
โยคะ มี ๔ ประการ ดังที่ปรากฏในความคิดเห็นที่ 1 ที่ อ. ผเดิมได้กล่าวมา เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจาก โลภะ (ความติดข้อง) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) และ โมหะ หรือ อวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้
บุคคลผู้ที่ยังละโยคะไม่ได้ ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วย บาป อกุศลธรรม ทั้งหลาย เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป จึงเป็นผู้ไม่ปลอดโปร่ง หรือไม่เกษมจากโยคะ หรือยังไม่ใช่ผู้ที่ปลอดโปร่งจากอกุศล
การที่จะปลอดโปร่ง จากโยคะทั้ง ๔ ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ ฟังให้เข้าใจตัวจริง ของสภาพธรรม ฟังพระธรรมเข้าใจเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ปลอดโปร่งจากอวิชชา คือ ความไม่รู้ และประการที่สำคัญ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรม ประการต่างๆ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ด้วย ซึ่งจะทำให้ค่อยๆ ปลอดโปร่ง จากอกุศล ไปตามลำดับ จนกว่าจะเป็น ผู้ปลอดโปร่งจากกิเลสทั้งปวง ดับกิเลสทั้งปวง ได้อย่างเด็ดขาด เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ เป็นผู้ปลอดโปร่ง หรือเกษมจากโยคะอย่างแท้จริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
กราบเรียน อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น ที่เคารพครับ
คำว่า "โยคะ" โดยนัยอื่นจะมีบ้างหรือไม่ ครับ? เช่น "ปโยคะ" ที่แปลว่า ความเพียร หากมีนัยอื่นเพิ่มเติมใน พระไตรปิฎก อรรถกถา ผมขอรบกวนอาจารย์ทั้งสอง ได้กรุณาอธิบายด้วย ครับ
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาอย่างสูง ครับ
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียน ความคิดเห็นที่ 3 ครับ
ตามความเป็นจริงแล้ว โยคะ มีความหมาย ๒ นัย
นัยแรก ดังที่ปรากฏ ในความคิดเห็นที่ 1 กับ 2 ที่แสดงถึงความเป็นอกุศลธรรมที่ผูกมัดประกอบสัตว์ ไว้ในวัฏฏะ
แต่อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ความเพียร (มีทั้ง โยคะ และ ปโยคะ ทั้งสองคำนี้ ก็มีความหมายเหมือนกัน) มีทั้งความเพียรที่เป็นไป ในทางที่เป็นอกุศล และ ความเพียรที่เป็นไป ในทางที่เป็นกุศล ด้วย
อย่างเช่น มีความเพียรที่จะกระทำ อกุศลกรรม ก็เป็นความเพียรในทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นความเพียรในทางที่เป็นกุศล ให้ทาน รักษาศีล อบรมเจริญปัญญา ก็เป็นความเพียรในทางที่เป็นกุศล
ในอรรถกถาทั้งหลาย ได้แสดงไว้ว่า ความเป็นผู้รอบรู้ในปริยัติ จนกระทั่งสามารถแทงตลอดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับอาสวกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น ก็เพราะความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปโยคะ คือ ความเพียร นั่นเอง
ปัญญา จะเจริญขึ้น ก็เพราะมีความเพียร ที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ
พยัญชนะแม้คำเดียว แต่มีความหมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับว่า จะมุ่งหมายถึงสิ่งใดเป็นสำคัญ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ความยินดีในกาม เพลิดเพลิน เยื่อใย สยบ กระหาย กลัดกลุ้ม หมกหมุ่น ดิ้นรน ติดแน่น ในกาม กามโยคะ ภวโยคะ ทิฎฐิโยคะ อวิชชาโยคะ ถ้ายังมีจิตหมกมุ่นอยู่ และไม่ยอมคลายเกลียวออก ก็คงต้องถูกผูกติดแน่นและไม่มีวันหลุดพ้นไปได้นะครับ
กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาที่เกื้อกูลในธรรมเป็นอย่างดีครับ
เรียนความเห็นที่ 3 ครับ
โยคะ ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีหลายความหมาย และ หลากหลายนัยขึ้นอยู่กับว่า พระพุทธเจ้าจะทรงมุ่งหมายถึงเรื่องอะไร ครับ
โยคะ ความหมายแรก คือ โยคะ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นกิเลส เพราะ ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ไม่ให้พ้นไป ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 31
อรรถกถาโยคสูตร
กิเลสชื่อว่า โยคะ เพราะผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ.
โยคะ อีกความหมายหนึ่ง โยคะ คือ ความเพียร ซึ่งจะใช้หลากหลายนัย ดังนี้ ครับ เช่นคำว่า พระโยคาวจร อาจจะเคยได้ยินคำนี้ซึ่งก็หมายถึง ผู้ที่ปรารภความเพียรนั่นเอง ผู้ใดที่เจริญอบรมปัญญา ผู้นั้นก็ชื่อว่า พระโยคาวจร ครับ
อีกคำหนึ่ง คือ ปโยคะ คือ การประกอบความเพียร ซึ่งแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ
ปโยคสมบัติ คือ การประกอบความเพียรโดยชอบ
ปโยควิบัติ การประกอบความเพียรในทางที่ผิด
ซึ่งปโยคะ ความเพียร ที่แสดงโดยนัยนี้ มุ่งหมายถึง เหตุที่จะทำให้กรรมให้ผลประการหนึ่ง หรือ ตัดรอนไม่ให้ผลของกรรมให้ผล คือ ถ้าเป็นผู้มีความเพียรชอบ ปโยคสมบัติ คือ การทำกุศลกรรม ก็ย่อมทำให้กรรมดี สามารถให้ผลได้ หรือ ตัดรอนกรรมไม่ดี ไม่ให้ผลได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบความเพียรผิด คือ การทำอกุศลกรรมเป็นปโยควิบัติ ก็ทำให้โอกาสของอกุศลกรรมให้ผลได้
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 709
การประกอบโดยชอบ ชื่อว่า ปโยคสมบัติ.การประกอบในทางที่ผิด ชื่อว่า ปโยควิบัติ.
โยคะ ยังใช้ในอีกนัยอื่นๆ ดังนี้
มัชฌัตตัปปโยคะ คือ การประกอบการพิจารณาว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน
สังโยคะ คือ การประกอบเกี่ยวข้อง ซึ่งความยินดี
วิสังโยคะ คือ การไม่ประกอบ ไม่เกี่ยวข้องซึ่งความยินดี
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎก เรื่อง สังโยคะ วิสังโยคะได้ที่นี่ครับ
สังโยคะ วิสังโยคะ [สังโยคสูตร]
โยคะ อีกความหมายหนึ่ง คือ ภาวนา ชื่อว่า โยคะ เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาภาวนา และ สมถภาวนา ชื่อว่า โยคะด้วย เพราะตามประกอบด้วยความเพียรเพื่อรู้แจ้งความจริง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 638
อีกนัยหนึ่ง ภาวนาเรียกว่า โยคะ. เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปัญญาย่อมเกิดจาก โยคะ (การประกอบ)
วจีปโยคะ คือ การประกอบความเพียรทางวาจา
กายปโยคะ คือ การประกอบความเพียรทางกาย
มรรคจิต คือ การระงับซึ่งปโยคะทางกาย วาจา ในกิเลสนั้น ด้วยการละกิเลสของตน
ผลจิต หมายถึง การระงับซึ่งปโยคะทางกาย วาจา เพราะ ความสงบแล้วจากกิเลส
จะเห็นนะครับว่าโยคะ มีความหมายละอียดลึกซึ้ง กว้างขวาง และ หลากหลายนัย ตามแต่พระพุทธองค์ จะทรงแสดงโดยนัยไหน แต่ ไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงเพราะฉะนั้น ก็ควรเข้าใจให้ถูกว่า โยคะ ในที่ใด แสดงโดยนัยไหน และประโยชน์ที่สำคัญ คือการอบรมปัญญา เพื่อละกิเลส คือ โยคะ ได้ในที่สุด ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีหลากหลายนัย และละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งจริงๆ จึงควรไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ ทุกประการ
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงด้วย ครับ
ที่ให้ความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของคำว่า "โยคะ" ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ ครับ
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.
ละเอียดมากครับ
กราบอนุโมทนาครับ
ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ไม่สามารถพ้นไปจากโยคะ นอกจากการอบรมปัญญาให้เจริญขึ้น จนกว่าจะดับอกุศลหมดตามลำดับ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ค่ะ
เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงละเอียดลึกซึ้ง ลุ่มลึกเห็นตามได้ยาก"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
กราบนอบน้อมพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
สิ่งที่มีค่าที่สุดในชาตินี้คือได้ฟังคำของพระพุทธองค์ ที่ทรงแสดงความจริง เพราะสัตว์โลกไม่รู้ความจริง จึงถูกประกอบไว้ในสังสารวัฏฏ์ ไม่รู้จบ
กราบขอบพระคุณ ยินดีในกุศล ในคำอธิบาย ความละเอียดของคำของพระพุทธองค์ ด้วยค่ะ