ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยและเป็นที่พึ่งอันสุงสุด
ผมมีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่พบอยู่ในชีวิตประจำวัน ใกล้ตัวผมเอง พ่อแม่ เพื่อน ครับ ทำให้บางครั้งท้อเหมือนกันที่จะเอาพระธรรมของพระพุทธองค์ไปกล่าวบางครั้งก็คิดว่าตัวใคร ตัวมันดีกว่า ตายแล้วก็ต่างคนต่างไป แต่มาคิดอีกทีก็ไม่อยากให้คนที่ใกล้ตัวเราไม่รู้ธรรมเลย
๑. ทำไมคนโดยทั่วไป จึงคิดว่านิพพานเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องยาก? จึงทำให้ไม่ศึกษา พระธรรมกัน ไม่สนใจแม้กระทั่งจะฟัง!
๒. ผมสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมผมศึกษาพระธรรมอยู่เพียงคนเดียว อาจเป็นคนเดียวในตระกูลด้วยซ้ำและครอบครัวอื่นก็คล้ายๆ กับผม เคยถามกัลยาณมิตรด้วยกันหากเรามาเกิดด้วยผลแห่งกรรมและรับวิบากแห่งกรรมนั้น เกิดในตระกูลหนึ่ง กรรมมันก็น่าจะสัมพันธ์กับคนในตระกูลนั้นๆ จนก็จนเหมือนกัน รวยก็รวยเหมือนกัน นิสัยลูกก็คล้ายๆ พ่อแม่ส่วนหนึ่ง หากเป็นเรื่องธรรมะ และในตระกูลก็น่าจะศึกษาธรรมเหมือนกันแต่น่าจะต่างกันไม่มากก็น้อย แต่นี่เปล่าเลย เป็นคนละขั้ว เลยขอข้อคิดเห็นจากท่านผู้รู้หน่อยครับ ขออนุโมทนาครับ
การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยพระธรรมเป็นการเกื้อกูลกันอันประเสริฐ แต่ควรพิจารณาสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยเมตตา มิใช่ด้วยโลภะ เพราะหากเกื้อกูลกันด้วยเมตตา ด้วยความ รู้สึกเป็นมิตร มิได้คาดหวังสิ่งไรไร ก็จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศก ความขุ่นเคืองใจ อันเป็นลักษณะของโทสะ
๑. พระธรรมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและไม่สาธารณะกับทุกคน แต่สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ของพระธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ทั้งปวง ก็จะมีความสนใจ ใส่ใจ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่เราไม่อาจรู้ได้ อาจมีคนรู้จักที่เราคิดว่าไม่น่าจะสนใจธรรมะ แต่หากสนทนากัน ก็อาจเป็นผู้สะสมความสนใจ ความเข้าใจมาแล้วก็เป็นได้
๒. กรรมและการให้ผลของกรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่มีความลึกซึ้งและซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้ใดจะคิดเองด้วยตรรกะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นอจินไตย แทนที่จะสงสัยในเรื่องเหล่านี้ เราควรศึกษาธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้าใจความวิจิตรของนามธรรม และความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย
๑. การศึกษาธรรมะเบื้องต้น ควรมุ่งให้เกิดความเข้าใจความจริงของสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง มาก่อนในชีวิตซึ่งเป็นสัจจธรรม ถ้าตั้งต้นด้วยคำว่า "นิพพาน" เลย ผู้เริ่มฟังใหม่ก็จะต้องงง และย่อมไม่รู้หนทางปฏิบัติว่าจะไปต่ออย่างไรให้ถึง เพราะมองข้ามการรู้ความหมายของคำ ที่ได้ยินจนชินหูว่า "ธรรมะ" มานานโดยตลอด แต่กลับมุ่งไปสู่จุดหมายสูงสุดด้วยความหวัง เมื่อรู้ว่าจะต้องผิดหวัง ก็ย่อมจะทำให้ท้อแท้ด้วยความมีตัวตน ซึ่งถ้าหากยังไม่รู้จักธรรมะด้วยความเป็นธรรมะเสียก่อน ก็ย่อมไม่รู้ว่าพระ-พุทธเจ้าทรงสอนอะไร และก็ย่อมไม่เข้าใจ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมตั้งแต่ต้นเหตุนี้ การจะทำให้ใครเห็นประโยชน์จริงๆ ของพระธรรม แต่เขาไม่ต้องการเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษา จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
๒. จิตของแต่ละคนสั่งสมทั้งกุศลและอกุศลมาไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ทำให้อัธยาศัยความพอใจในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงๆ เราอาจจะเคยสังเกตุจากที่เรียนมาว่า คนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน สิ่งแวดล้อมเดียวกัน น่าจะคล้ายคลึง กัน ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก แต่ในความเป็นจริงโลกของผู้ใด ก็คือโลกของผู้นั้น ไม่มีใครเห็นร่วมกัน ไม่มีใครคิดนึกร่วมกัน เราอยู่แต่ในโลกความคิดของตนโดยไม่ปะปนกันกับโลกของผู้อื่นเลยแม้เพียงขณะจิตเดียว ซึ่งในเรื่องของการศึกษาพระธรรมนั้น แม้แต่พระประยูรญาติของพระพุทธเจ้าซึ่งเกิดในกาลสมบัติ ก็ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงทำให้เป็นพระอรหันต์ทุกพระองค์ได้ เพราะเป็นเรื่องของการสั่งสมครับ