นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ คือ
สมณสัญญาสูตร
... จาก ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๓๘ - หน้าที่ ๓๓๗
๑. สมณสัญญาสูตร
(ว่าด้วยภิกษุเจริญสมณสัญญา ๓ ประการแล้ว
ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์)
[๑๐๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์ สมณสัญญา ๓ ประการเป็นไฉน? คือ สมณสัญญาว่า เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑ ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑ มารยาทอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์ ธรรม ๗ ประการ เป็นไฉน? คือ ภิกษุเป็นผู้มีปกติทำติดต่อเป็นนิตย์ เป็นผู้มีความประพฤติติดต่อเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ไม่โลภมาก ๑ เป็นผู้ไม่พยาบาท ๑ เป็นผู้ไม่ถือตัว ๑ เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ๑ เป็นผู้มีการพิจารณาในปัจจัยทั้งหลายอันเป็นบริขารแห่งชีวิตว่า ปัจจัยเหล่านี้มีประโยชน์เช่นนี้ แล้วจึงบริโภค ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ประการนี้ให้บริบูรณ์.
จบสมณสัญญาสูตรที่ ๑.
อรรถกถาสมณสัญญาสูตรที่ ๑
สมณสัญญาสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า สมณสญฺญา ได้แก่ ความสำคัญหมายรู้ที่เกิดขึ้นแก่สมณะทั้งหลาย. บทว่า สตตการี ได้แก่ ทำ ไม่มีระหว่าง. บทว่า อพฺยาปชฺโฌ ได้แก่ ไร้ทุกข์. บทว่า อิจฺจตฺถนฺติสฺส โหติ ความว่า สมณสัญญา ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น ในปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชีวิต อย่างนี้ ว่า เหล่านี้เป็นปัจจัย เพื่อสิ่งนี้ อธิบายว่า ภิกษุบริโภคปัจจัยที่พิจารณาแล้ว.
จบอรรถกถาสมณสัญญาสูตรที่ ๑.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
© ข้อความโดยสรุป ©
สมณสัญญาสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ว่า สมณสัญญา (ความจำหมายรู้ว่าเป็นสมณะ) ๓ ประการ คือ มีเพศแตกต่างไปจากคฤหัสถ์ มีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น และสิ่งที่ควรทำที่เหมาะควรแก่สมณะ ยังมีอีกมาก ที่เมื่ออบรมเจริญให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์ ได้แก่ ประพฤติต่อเนื่องเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย ไม่โลภมาก ไม่พยาบาท ไม่ถือตัว เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา พิจารณาปัจจัย (เครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นไป) ก่อนแล้วจึงบริโภคใช้สอย และ มีความเพียร (ดังที่ปรากฏในพระสูตร) .
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ภิกษุ เป็นผู้ทำความดีในเพราะการขอ
ความหมายของคำว่า บวช
ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะทำให้เกิดโทษ
พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย
ฆราวาส - บรรพชิต
พระภิกษุก็ตกนรกได้
... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ