ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๔๗] สุจิ
โดย Sudhipong.U  25 ม.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47314

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สุจิ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สุจิ อ่านตามภาษาบาลีว่า สุ - จิ แปลว่า ความสะอาด มีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และโดยสูงสุดแล้วบุคคลผู้ที่มีความสะอาด ปราศจากสิ่งที่ไม่สะอาดคือปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงอย่างหมดสิ้นนั้น ได้แก่ พระอรหันต์

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สุจิสูตร แสดงความเป็นจริงของความสะอาด ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้สะอาด ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้สะอาดทางกาย ๑ ความเป็นผู้สะอาดทางวาจา ๑ ความเป็นผู้สะอาดทางใจ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้สะอาด ๓ อย่างนี้แล

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้กล่าวเรียกบุคคลผู้สะอาดทางกาย ผู้สะอาดทางวาจา ผู้สะอาดทางใจ ผู้หาอาสวะมิได้ว่าเป็นผู้สะอาด ผู้ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้สะอาด ผู้ละกิเลสทั้งปวงเสียได้


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำสอนที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นคำสอนของบุคคลผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัลป์ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่เพียงเพื่อตรัสรู้เฉพาะพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจความจริงตามพระองค์ด้วย คำสอนของพระองค์เป็นคำจริงที่ใครๆ ก็คัดค้านไม่ได้ ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดปัญญาเป็นของตนเอง เป็นคำสอนที่เปิดเผยความจริงที่ถูกปกปิดไว้ด้วยความเห็นผิดและความไม่รู้นานแสนนาน เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตรงตามความเป็นจริง

ตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละบุคคลที่จะเป็นผู้ที่สะอาดหรือไม่สะอาด ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่ฐานะ ทรัพย์สมบัติ ตระกูลหรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่อยู่ที่สภาพจิต เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ชื่อว่าสะอาด เพราะขณะนั้นอกุศลหรือความชั่วซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สะอาดเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อจิตเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ชื่อว่าไม่สะอาด จะถือเอารูปลักษณ์ภายนอกเป็นประมาณไม่ได้เลย นี้คือความเป็นจริงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนั้นจิตจึงมีความสำคัญมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ โดยที่ไม่เหมือนกันเลย จะเห็นได้ว่าการที่บุคคลมีพฤติกรรมที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็สำเร็จเพราะจิตทั้งนั้น กล่าว คือเมื่อจิตเป็นกุศล ก็น้อมไปในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ไม่มีโทษเกิดจากจิตที่เป็นกุศลเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ย่อมเป็นเหตุให้ทำในสิ่งที่ไม่ดี นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น คือ ธรรมนั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเลย

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าส่วนใหญ่แล้วชีวิตประจำวันจะเป็นไปกับอกุศลธรรมมากมายทีเดียวด้วยโลภะ (ความติดข้อง) บ้าง ด้วยโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) บ้าง เป็นต้น ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล (เว้นในสิ่งที่ควรเว้นและประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ) และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ และทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล ไม่ปราศจากความไม่รู้หรืออวิชชาเลย ความไม่สะอาดเกิดแล้วในขณะนั้น ในชีวิตประจำวัน ความสะอาดคือขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นมีน้อยมาก เทียบส่วนไม่ได้เลยกับอกุศลธรรมซึ่งเกิดมากเป็นอย่างยิ่ง

อกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ก็มีจริงๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลธรรมที่เคยได้สะสมมาก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ขณะโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ และถ้าโกรธมากมีกำลังมากขึ้น ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมความโกรธมาแล้ว เวลาโลภะเกิดก็มีความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะกิจหน้าที่ของโลภะ คือติดข้องต้องการ ถ้าไม่ได้ในทางที่ชอบ ก็แสวงหาในทางที่ผิด เบียดเบียนผู้อื่นได้ ตามกำลังของความติดข้องต้องการ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะคือความไม่พอใจตามมาอีก เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะโลภะโดยตลอด ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย โดยมีรากลึกคือความไม่รู้ เพราะเหตุว่าอกุศลธรรมทั้งหลายเกิดเพราะความไม่รู้ สำหรับความไม่สะอาดที่ชั่วร้ายที่สุดและมีโทษมากคือความเห็นผิด สามารถทำลายสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะคิดธรรมเอง ประมาทคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็นำมาซึ่งความเสื่อมอย่างหนัก เป็นโทษในโลกนี้และสะสมเป็นโทษในชาติ ต่อๆ ไปอีกด้วย

สิ่งที่จะเป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีที่สุดในชีวิตที่จะทำให้ค่อยๆ สะอาดปราศจากสิ่งที่ไม่สะอาด ขัดเกลาไปทีละเล็กทีละน้อย ก็คือพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ย่อมจะเห็นคุณค่าของพระธรรม เคารพบูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลธรรมยังเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปแล้วก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล ขัดเกลาให้เบาบางลง เพราะอกุศลของตนเอง ใครก็ขัดเกลาให้ไม่ได้ นอกจากความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นจริงๆ และถ้าหากไม่เริ่มขัดเขลาในวันนี้ ไม่เริ่มเป็นผู้ตรงตั้งแต่ในวันนี้ นับวันก็ยิ่งจะพอกพูนอกุศลทับถมหมักหมมมากขึ้นซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอนก็ตาม ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีอยู่เสมอ เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตและเป็นประโยชน์ทุกกาลสมัยด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้น บุคคลผู้เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรม โดยอาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ จิตใจย่อมน้อมไปในทางกุศลขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันเพิ่มมากยิ่งขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ทำให้เป็นคนที่สะอาดขึ้นด้วยกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือมีปัญญาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สะอาดที่สุดที่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล จนถึงการดับสิ่งที่ไม่สะอาดทั้งหมดได้ในที่สุด

อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ