๖. สุวรรณหังสชาดก โลภมากลาภหาย
โดย บ้านธัมมะ  20 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35540

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 536

๖. สุวรรณหังสชาดก

โลภมากลาภหาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 536

๖. สุวรรณหังสชาดก

โลภมากลาภหาย

[๑๓๖] "บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีด้วยสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ ชั่วแท้ นางพราหมณีจับพระยาหงส์เสียแล้ว จึงเสื่อมจากทอง" ดังนี้.

จบ สุวรรณหังสชาดกที่ ๖

อรรถกถาสุวรรณหังสชาดกที่ ๖

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุณีชื่อ ถูลนันทา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏพฺพํ" ดังนี้.

ความพิสดารว่า อุบาสกคนหนึ่งในพระนครสาวัตถี ปวารณากระเทียมกับภิกษณีสงฆ์ไว้ และสั่งเสียคนเฝ้าไร่ไว้ด้วยว่า ถ้าภิกษุณีทั้งหลายพากันมาเอา จงให้ไปรูปละ ๒ - ๓ ห่อ จำเดิมแต่นั้นภิกษุณีทั้งหลายต้องการกระเทียม ก็พากันไปที่บ้านของเขาบ้าง ที่ไร่ของเขาบ้าง ครั้นถึงวันมหรสพวันหนึ่ง กระเทียมในเรือนของเขาหมด ภิกษุณีถูลนันทาพร้อมด้วยบริวาร พากันไปที่เรือนแล้วกล่าวว่า ผู้มีอายุ ฉันต้องการกระเทียม คนรักษา


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 537

กล่าวว่า กระเทียมไม่มีเลย พระแม่เจ้า กระเทียมที่เก็บตุนไว้หมดเสียแล้ว นิมนต์ไปที่ไร่เถิดขอรับ จึงพากันไปที่ไร่ ขนกระเทียมไปอย่างไม่รู้ประมาณ คนเฝ้าไร่จึงกล่าวโทษว่า เป็นอย่างไรนะ พวกภิกษุณีจึงขนกระเทียมไปอย่างไม่รู้จักประมาณ ฟังคำของเขาแล้ว พวกภิกษุณีที่มีความปรารถนาน้อย พากัน ยกโทษ พวกภิกษุเล่า ครั้นได้ยินจากภิกษุณีเหล่านั้น ก็พากันยกโทษ ครั้นแล้วก็กราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตำหนิภิกษุณีถูลนันทา แล้วทรงแสดงธรรมที่เหมาะกับเรื่องนั้นแก่นางภิกษุณีทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า บุคคลผู้มีความปรารถนาใหญ่ มิได้เป็นที่รักเจริญใจแม้แก่มารดาบังเกิดเกล้า ไม่อาจจะยังผู้ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ไม่อาจจะยังผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ไม่อาจยังลาภที่ยังไม่เกิดให้บังเกิด หรือลาภที่เกิดแล้วก็ไม่อาจกระทำให้ยั่งยืนได้ ตรงกันข้าม ผู้ที่มีความปรารถนาน้อย ย่อมอาจยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิด ที่เกิดแล้วก็ทำให้ยั่งยืนได้ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุณีถูลนันทามีความปรารถนาใหญ่ แม้ในครั้งก่อนก็เคยมีความปรารถนาใหญ่เหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์สกุล


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 538

หนึ่ง เมื่อเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาได้ตบแต่งให้มีภรรยา มีชาติเชื้อพอสมควรกัน ได้มีธิดา ๓ คน ชื่อนันทา นันทวดีและสุนันทา ครั้นธิดาเหล่านั้นได้สามีไปแล้วทุกคน พระโพธิสัตว์ก็ทำกาละไปเกิดในกำเนิดหงส์ทอง และมีญาณระลึกชาติได้อีกด้วย หงส์ทองนั้นเติบใหญ่แล้ว เห็นอัตภาพอันเติบโตสมบูรณ์งดงามเต็มไปด้วยขนที่เป็นทอง ก็นึกว่า เราจุติจากไหนหนอ จึงมาบังเกิดในที่นี้ ทราบว่าจากมนุษยโลก พิจารณาอีกว่า พราหมณีและเหล่าธิดาของเรา ยังมีชีวิตอยู่หรืออย่างไร ก็ได้ทราบว่า ต้องพากันไปรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพด้วยความแร้นแค้น จึงคิดว่า ขนทั้งหลายในสรีระของเราเป็นทองทั้งนั้น ทนต่อการตี การเคาะ เราจักให้ขนจากสรีระนี้ แก่นางเหล่านั้น ครั้งละหนึ่งขน ด้วยเหตุนั้น ภรรยาและธิดาทั้ง ๓ ของเรา จักพากันอยู่อย่างสุขสบาย พระยาหงส์ทองจึงบินไป ณ ที่นั้น เกาะที่ท้ายกระเดื่อง พราหมณีและธิดาเห็นพระโพธิสัตว์แล้ว ก็พากันถามว่า พ่อคุณ มาจากไหนเล่า หงส์ทองตอบว่า เราเป็นบิดาของพวกเจ้า ตายไปเกิดเป็นหงส์ทอง มาเพื่อจะพบพวกเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ไป พวกเจ้าไม่ต้องไปรับจ้างคนอื่นเขาเลี้ยงชีวิตอย่างลำบากอีกละ เราจักให้ขนแก่พวกเจ้าครั้งละหนึ่งขน จงเอาไปขายเลี้ยงชีวิตตามสบายเถิด แล้วก็สลัดขนไว้ให้เส้นหนึ่งบินไป หงส์ทองนั้นมาเป็นระยะๆ สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขน โดยทำนองนี้ พราหมณีและลูกๆ ค่อยมั่งคั่งขึ้น มีความสุขไปตามๆ กัน


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 539

อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณีปรึกษากับลูกๆ ว่า แม่หนูทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า ดิรัจฉานรู้ใจได้ยาก ในบางครั้งบิดาของเจ้าไม่มาที่นี่ พวกเราจักทำอย่างไรกัน คราวนี้เวลาเขามา พวกเราช่วยกันจับถอนขนเสียให้หมดเถิดนะ พวกลูกสาวพากันพูดว่า ทำอย่างนั้นบิดาของพวกเราจักลำบาก ต่างก็ไม่เห็นด้วย แต่นางพราหมณีเพราะมีความปรารถนาใหญ่ ครั้นวันหนึ่ง เวลาพระยาหงส์ทองมา ก็พูดว่า มานี่ก่อนเถิดนายจ๋า พอพระยาหงส์ทองนั้นเข้าไปใกล้ ก็จับไว้ด้วยมือทั้งสอง ถอนขนเสียหมด แต่เพราะจับถอนเอาด้วยพลการ พระโพธิสัตว์มิได้ให้โดยสมัครใจ ขนเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนขนนกยางไปหมด พระโพธิสัตว์ไม่สามารถจะกางปีกบินไปได้ นางพราหมณีจึงจับเอาพระยาหงส์ทองใส่ตุ่มใหญ่เลี้ยงไว้ ขนที่งอกขึ้นใหม่ของพระยาหงส์นั้นกลายเป็นขาวไปหมด พระยาหงส์นั้น ครั้นขนขึ้นเต็มที่แล้ว ก็โดดขึ้นบินไปที่อยู่ของตนทันที แล้วก็ไม่ได้มาอีกเลย.

พระศาสดาทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธก แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ถูลนันทามีความปรารถนาใหญ่ แม้ในครั้งก่อนก็มีความปรารถนาใหญ่เหมือนกัน และเพราะมีความปรารถนาใหญ่ จึงต้องเสื่อมจากทอง บัดนี้เล่า เพราะเหตุที่ตนมีความปรารถนาใหญ่นั่นแหละ จักต้องเสื่อมแม้แต่กระเทียม เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้ จักไม่ได้เพื่อจะฉันกระเทียม แม้นางภิกษุณีที่เหลือทั้งหลาย ผู้อาศัยถูลนันทานั้น


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 540

ก็จักไม่ได้เพื่อฉันกระเทียม เหมือนอย่างถูลนันทาเช่นกัน เหตุนั้น แม้จะได้มาก ก็จักต้องรู้จักประมาณทีเดียว แต่ได้น้อย ก็ต้องพอใจตามที่ได้เท่านั้น ไม่ควรปรารถนาให้ยิ่งขึ้นไป แล้วตรัสคาถานี้ ความว่า.

"บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีด้วยสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ ชั่วนัก นางพราหมณีจับพระยาหงส์เสียแล้ว จึงเสื่อมจากทอง" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุฏฺพฺพํ แปลว่า พึงยินดี.

ก็พระศาสดา ครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้ แล้วทรงติเตียนโดยอเนกปริยาย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ก็นางภิกษุณีรูปใดฉันกระเทียม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้แล้วประชุมชาดกว่า นางพราหมณีในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุณีถูลนันทา ธิดาทั้งสามได้มาเป็นพี่น้องหญิงในบัดนี้ ส่วนพระยาสุวรรณหงส์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสุวรรณหงสชาดกที่ ๖