๒. ปริยายสูตร ว่าด้วยปริยายนิวรณ์ ๕
โดย บ้านธัมมะ  9 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 37837

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 297

๒. ปริยายสูตร

ว่าด้วยปริยายนิวรณ์ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 297

๒. ปริยายสูตร

ว่าด้วยปริยายนิวรณ์ ๕

[๕๔๗] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด. ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคคมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้. แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนั้นว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง. ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ระหว่างธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.

[๕๔๘] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพวกนั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 298

[๕๔๙] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้าวันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด. ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง. ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือว่า ธรรมเทศนาของพวกเรา กับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.

[๕๕๐] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความของคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 299

[๕๕๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลาย พึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือ. พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.

[๕๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง เป็นไฉน.

[๕๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้กามฉันทะในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้กามฉันทะในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า กามฉันทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ กามฉันทนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พยาบาทในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้พยาบาทในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า พยาบาทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๕๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์ แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ถีนมิทธนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ถีนมิทธนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 300

[๕๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง.

[๕๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง เป็นไฉน.

[๕๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ คำว่า สติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๖๑] แม้ธรรมทั้งหลายในภายใน ที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ คำว่า ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ แม้ความเพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 301

[๕๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ แม้สมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ คำว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายนอก ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.

[๕๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง.

จบปริยายสูตรที่ ๒


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 302

อรรถกถาปริยายสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปริยายสูตรที่ ๒.

บทว่า สมฺพหุลา ความว่าชน ๓ คน ท่านเรียกว่า มากหลาย โดยปริยายในวินัย. มากกว่า ๓ คนนั้น เรียกว่า สงฆ์. ๓ คน เรียกว่า ๓ คนเหมือนกัน โดยปริยายแห่งพระสูตร แต่ ๓ คนขึ้นไป เรียกว่า มากหลาย. ในที่นี้ พึงทราบว่า มากหลาย โดยปริยายแห่งพระสูตร. บทว่า ปิณฺฑาย ปวิสึสุ ได้แก่ เข้าไปเพื่อบิณฑบาต. ก็ภิกษุเหล่านั้นยังไม่เข้าไปก่อน แต่เรียกว่า เข้าไปแล้วเพราะออกไปด้วยคิดว่า จักเข้าไป. ถามว่า เหมือนอะไร. ตอบว่า เหมือนคนออกไปด้วยคิดว่า จักไปบ้าน แม้ยังไม่ทันถึงบ้านนั้น เมื่อถูกเขาถามว่า คนชื่อนี้ ไปไหน. เขาจะตอบว่า ไปบ้านแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น. บทว่า ปริพฺพาชกานํ อาราโม นั้น ท่านกล่าวหมายถึงอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกมีอยู่ในที่ไม่ไกลพระเชตวัน. บทว่า สมโณ อาวุโส ความว่า ดูก่อนผู้มีอายุ พระสมณโคดมเป็นครูของท่านทั้งหลาย.

บทว่า มยํปิ โข อาวุโส สาวกานํ เอวํ ธมฺมํ เทเสม ความว่า ในลัทธิของพวกเดียรถีย์ ไม่มีคำนี้ว่า นิวรณ์ ๕ พวกเธอพึงละโพชฌงค์ ๗ พวกเธอพึงเจริญ ส่วนพวกเดียรถีย์เหล่านั้น ไปยังอารามยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเหมือนมองดูสิ่งอื่น เหมือนส่งใจไปในที่อื่น. แต่นั้น ก็กำหนดว่า สมณโคดมจะกล่าวว่า พวกท่านจงละสิ่งนี้ จงเจริญสิ่งนี้เถิด แล้วจึงไปยังอารามของตนให้จัดอาสนะไว้ท่ามกลางอาราม อันอุปัฏฐากชายหญิงห้อมล้อมยกศีรษะน้อมกายเข้าไป เมื่อแสดงอาการ


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 303

แทงตลอดโดยสยัมภูญาณของตน จึงกล่าวว่า คนควรละนิวรณ์ ๕ ควรเจริญ โพชฌงค์ ๗ ดังนี้.

ในบทว่า อิธ โน อาวุโส โก วิเสโส นี้ บทว่า อิธ แปลว่า ในบัญญัตินี้. บทว่า โก วิเสโส คือ อะไรยิ่งกว่ากัน. บทว่า โก อธิปฺปายโส คืออะไรเป็นความเพียรเป็นเครื่องประกอบอันยิ่ง. บทว่า กึ นานากรณํ คืออะไรเป็นความต่างกัน. บทว่า ธมฺมเทสนาย วา ธมฺมเทสนํ ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์กล่าวข้อที่พวกเขาพึงปรารภธรรมเทศนาของพวกเรา กับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรือธรรมเทศนาของพระสมณโคดมกับธรรมเทศนาของพวกเราเรียกว่า การทำให้ต่างกัน นั้นชื่ออะไร. แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า เนว อภินนฺทึสุ ได้แก่ พวกภิกษุไม่ยอมรับว่า อย่างนี้ อย่างนี้. บทว่า นปฺปฏิกฺโกสึสุ ได้แก่ ไม่คัดค้านว่า สิ่งนี้ไม่เป็นอย่างนี้. ถามว่า ก็พวกภิกษุเหล่านั้นเมื่อได้ทำอย่างนี้พอหรือ หรือว่าไม่พอ. ตอบว่า พอ. ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่สามารถกล่าวคำประมาณเท่านี้ได้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ในลัทธิของท่านทั้งหลาย ไม่มีนิวรณ์ ๕ จะต้องละ ไม่มีโพชฌงค์ ๗ จะต้องเจริญ ดังนี้. แต่ภิกษุเหล่านั้น ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า ข้อที่เขานำมากล่าวนั้นไม่มี พวกเราทูลข้อนั้นแด่พระศาสดา เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจักแสดงพระธรรมเทศนาอันไพเราะแก่พวกเรา ดังนี้. บทว่า ปริยาโย แปลว่า เหตุ.

บทว่า น เจว สมฺปายิสฺสนฺติ ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์จักไม่อาจกล่าวแก้ได้เลย. บทว่า อุตฺตริญฺจ วิฆาตํ ความว่า จักถึงความทุกข์ แม้เป็นอย่างยิ่ง เพราะแก้ไม่ได้. ความจริง ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกเขา ผู้ไม่สามารถเพื่อจะกล่าวแก้ได้. บทว่า ตํ ในบทว่า ยถา ตํ ภิกฺขเว อวิสยสฺมึ นี้เป็นเพียงนิบาต. บทว่า ยถา แปลว่า คำเป็นเหตุ อธิบายว่า เพราะปัญหาที่ถูกถามในฐานะมิใช่วิสัย. บทว่า สเทวเก ได้แก่


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 304

ในโลกพร้อมด้วยเทวโลกกับด้วยเทพดาทั้งหลาย. แม้ในบทว่า สมารกะ เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ท่านแสดงว่า เรายังไม่แลเห็นเทวดาหรือมนุษย์นั้นในโลก อันพร้อมด้วยเทวโลกเป็นต้นที่ต่างกันนั้น หมายถึงสัตว์โลก แม้โดยฐานะ ๕ คือหมู่สัตว์ ๒ เพิ่มฐานะ ๓ ในโลกด้วยอาการอย่างนี้. บทว่า อิโต วา ปน สุตฺวา ได้แก่ หรือฟังจากศาสนานี้ของเรา. ท่านแสดงว่า ด้วยว่า พระตถาคตก็ดี สาวกของพระตถาคตก็ดี ฟังด้วยอาการอย่างนี้ พึงให้ยินดีคือให้พอใจได้. ชื่อว่า ความยินดี จะไม่มีโดยประการอื่น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านั้นของพระองค์ จึงตรัสคำว่า กตโม จ ภิกฺขเว ปริยาโย ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌตฺตํ กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ฉันทราคะ เกิดขึ้นเพราะปรารภเบญจขันธ์ของตน. บทว่า พหิทธา กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ฉันทราคะเกิดขึ้นเพราะปรารภเบญจขันธ์ของพวกคนเหล่าอื่น. บทว่า อุทฺเทสํ คจฺฉติ คือย่อมถึงการนับ. บทว่า อชฺฌตฺตํ พฺยาปาโท ได้แก่ ปฎิฆะอันเกิดขึ้นในเพราะอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นของตน. บทว่า พหิทฺธา พฺยาปาโท ได้แก่ ปฏิฆะอันเกิดขึ้นในเพราะมือและเท้าเหล่านั้นของคนอื่น. บทว่า อชฺฌตฺตํ ธมฺเมสุ วิจิกิจฺฉา ได้แก่ ความสงสัยในขันธ์ของตน. บทว่า พหิทฺธา ธมฺเมสุ วิจิกิจฺฉา ได้แก่ ความสงสัยมากในฐานะ ๘ ในภายนอก. บทว่า อชฺฌตฺตํ ธมฺเมสุ สติ ความว่า เมื่อกำหนดสังขารทั้งหลายในภายใน สติก็เกิดขึ้น. บทว่า พหิทฺธา ธมฺเมสุ สติ ความว่า เมื่อกำหนดสังขารทั้งหลายในภายนอก สติก็เกิดขึ้น. แม้ในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า กายิกํ ได้แก่ ความเพียรเกิดขึ้นแก่ผู้อธิฏฐานจงกรมอยู่. บทว่า เจตสิกํ ความว่า ความเพียรอันเกิดขึ้น


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 305

เว้นความเพียรทางกายอย่างนี้ว่า เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ จนกว่าจิตของเราจักพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น. บทว่า กายปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความสงบความกระวนกระวายแห่งขันธ์สาม. บทว่า จิตฺตปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความสงบความกระวนกระวายแห่งวิญญาณขันธ์. ในอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับสติสัมโพชฌงค์แล. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพชฌงค์คลุกเคล้ากันไป. โพชฌงค์เหล่านี้คือ สติ วิจยะ และอุเบกขา ในธรรมในภายในเหล่านั้น ชื่อว่า โลกิยะ เพราะมีขันธ์ของตนเป็นอารมณ์ ความเพียรทางกายยังไม่ถึงมรรคก็อย่างนั้น. ก็เพราะไม่มีวิตกและวิจาร ปีติ และสมาธิ เป็นรูปาวจร แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในรูปาวจร จะไม่ได้โพชฌงค์ ดังนั้น ก็เป็นโลกุตระอยู่นั่นเอง. พระเถระเหล่าใดย่อมยกสัมโพชฌงค์ขึ้นแสดงในพรหมวิหารและในฌานที่เป็นบาทของวิปัสสนาเป็นต้น ตามมติของพระเถระเหล่านั้น โพชฌงค์ก็เป็นรูปาวจรบ้าง อรูปาวจรบ้าง. ก็ในโพชฌงค์ปีติเท่านั้น ไม่ได้ในอรูปาวจรโดยส่วนเดียว. โพชฌงค์ที่เหลือ ๖ ประการ เป็นมิสสกะคลุกเคล้ากันด้วยประการฉะนี้.

ในที่สุดแห่งเทศนา ภิกษุบางพวกเป็นโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกเป็นอรหันต์ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบอรรถกถาปริยายสูตรที่ ๒