อยากทราบว่า ขณะที่โลภเจตสิกเกิด ขณะนั้นมีอกุศลเจตสิกใด เกิดร่วมด้วยได้อีกบ้างครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภเจตสิก ที่เกิดร่วมกับ จิต เป็นโลภมูลจิต ซึ่ง มี 8 ดวง ดังนี้
โลภมูลจิตมี ๘ ดวง เพราะความต่างกันของสภาพธรรม ๓ อย่าง คือ เวทนา ๑ สัมปยุตต์ ๑ สังขาร ๑ ได้แก่
๑. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๒. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๓. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๔. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ - โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
ส่วน อกุศลเจตสิก คือ อกุสล (อกุศล) + เจตสิก (สภาพที่เกิดกับจิต) เจตสิกที่เป็นอกุศล , เจตสิกที่เกิดกับจิต หมายถึง เจตสิกที่เกิดได้กับอกุศลจิตเท่านั้น มี ๑๔ ดวง คือ ...
๑. โมหะ ๒. อหิริกะ ๓. อโนตัปปะ ๔. อุทธัจจะ (๔ ดวงนี้ ชื่อว่า โมจตุกเจตสิก)
๕. โลภะ ๖. มานะ ๗. ทิฏฐิ (๓ ดวงนี้ชื่อว่า โลติกเจตสิก)
๘. โทสะ ๙. อิสสา ๑๐. มัจฉริยะ ๑๑. กุกกุจจะ (๔ ดวงนี้ชื่อว่า โทจตุกเจตสิก)
๑๒. ถีนะ ๑๓. มิทธะ (๒ ดวงนี้ชื่อว่า ถีนทุกเจตสิก)
๑๔. วิจิกิจฉาเจตสิก
ซึ่งขณะที่โลภเจตสิกเกิด เป็นโลภมูลจิต ซึ่งสามารถมี อกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย
1.ทิฏฐิเจตสิก 2.มานะเจตสิก 3.โมหเจตสิก 4.อหิริกเจตสิก 5.อโนตัปปะเจตสิก 6.อุทธัจจะเจตสิก
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทั้ง 6 อกุศลเจตสิก จะต้องเกิดพร้อมกัน ร่วมกันกับ โลภมูลจิต และ โลภเจตสิก เกิดไม่พร้อมกัน บางเจตสิก ตามสมควรแต่ประเภทของจิตในขณะนั้นครับ เช่น ขณะที่โลภเจตสิกเกิดร่วมกับ ทิฏฐิเจตสิก ก็จะไม่มีมานะเจตสิก เป็นต้น ครับ หรือ โลภเจตสิก ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับบางเจตสิกได้ เช่น มีโลภเจตสิก แต่ไม่มี ทิฏฐิเจตสิก คือ ติดข้อง แต่ไมได้เห็นผิดในขณะนั้นก็ได้ครับ และ อกุศลจิตทุกดวง และ โลภเจตสิก จะต้องเกิดร่วมกับ อกุศลเจตสิก4 ดวงนี้เสมอ คือ โมหเจตสิก อหิริกะเจตสิก อโนตัปปะเจตสิก และ อุทธัจจะเจตสิก
ขออนุโมทนา
ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ ตอบได้รวดเร็วดีแท้ อย่างนี้ ถ้าละโลภะได้ ก็จะเป็นเหตุให้ เจตสิก เหล่านี้ถูกละไปด้วย
1. ทิฏฐิเจตสิก
2. มานะเจตสิก
3. โมหเจตสิก
4. อหิริกเจตสิก
5. อโนตัปปะเจตสิก
6. อุทธัจจะเจตสิก
ที่ผมคาดคะเนเช่นนี้ นี่ถูกมั๊ยครับ และถามอีกข้อ คนที่จะละโลภะได้ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น หรือเปล่าครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
โลภะมีหลายระดับครับ ดังนั้น โลภะ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด พระโสดาบันดับได้ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดขึ้นอีก แต่ยังมีโลภะที่ละเอียดไปยิ่งกว่านั้น คือ โลภะที่ยินดีติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส เป็นต้น พระอนาคามีดับได้ แต่พระอนาคามี ยังมี มานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย และยังมีโลภเจตสิกที่เกิดกับมานะเจตสิกอยู่ ผู้ที่ไม่มีโลภะเลย คือ พระอรหันต์ ที่จะดับโลภะได้หมดสิ้น และละมานะเจตสิกได้หมดสิ้นไม่เกิดอีก ครับ ดังนั้น ถ้าละโลภะได้หมดสิ้น ก็สามารถละอกุศลเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมด และอกุศลเจตสิกที่ผู้ถามยกมา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว
ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภะ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจของตน คือ ติดข้องไม่สละ ไม่ปล่อยให้จิตเป็นกุศล และลึกไปกว่านั้น ไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ เพราะผู้ที่สิ้นโลภะอย่างเด็ดขาดก็คือ พระอรหันต์ ประโยชน์ที่ได้ฟังเรื่องของโลภะ ก็เพื่อเข้าใจตามความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้ว แม้แต่โลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ มีมากจริงๆ
ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า, อกุศลเกิดขึ้นตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในวัตถุต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตนด้วย โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้นจะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย
สำหรับบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ที่สำคัญที่สุดคือไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
พระอรหันต์ละกิเลสหมดแล้ว รวมทั้งโลภะด้วย กิเลสที่ท่านละแล้ว ไม่มีทางกลับมาอีก ในสังสารวัฏฏ์ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ถามต่อเลยครับ
ดูเหมือนว่า จิตขณะที่มีโลภเจตสิก ขณะนั้นโทสเจตสิก เกิดไม่ได้เลยใช่มั๊ยครับ
เรีบนความเห็นที่ 7 ครับ
ถูกต้อง ครับ ขณะที่ จิตเป็นโลภมูลจิต มี โลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับ จิตนั้นขณะนั้น ก็ไม่มีโทสะเจตสกิเกิดร่วมด้วยได้เลย เพราะเหตุว่า ขณะนั้น กำลังติดข้องต้องการ ยินดีพอใจ ในสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ที่เป็นหน้าที่ของ โลภเจตสิก ซึ่งขณะที่ติดข้อง ไม่ใช่ขณะที่ไม่พอใจ ขุ่นใจ ไม่สบายใจ โกรธในขณะนั้น พร้อมกันไม่ได้ ครับนอกจากเป็นจิตคนละขณะนั้น โดยนัยเดียวกัน ขณะที่โทสเจตสิกเกิดขึ้น เป็นโทสมูลจิต ขณะนั้น ก็กำลังโกรธ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ก็ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยเช่นกัน เพราะ ขณะนั้น ไม่ได้ติดข้อง พอใจ ยินดี แต่ว่ากำลังไม่พอใจ ขุ่นใจ ไม่สบายใจ ที่เป็นลักษณะของโทสเจตสิกในขณะนั้น ครับ
ขออนุโมทนา
อยากทราบว่า ในเมื่อโทสะ ก็เป็นกิเลส ระดับหัวหน้าและเวลาที่ตัณหา (โลภะ) ดับ โทสะ ก็ไม่ได้ดับไปด้วย ทำไม ในอริยสัจ 4 จึงไม่มีเรื่องของ โทสะ เลยครับเห็นมีแต่ว่า สมุทัย คือ ตัณหา และ ดูในปฏิจจสมุปบาท ก็เห็นมีแต่ กิเลส เหล่านี้คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานส่วนโทสะ นั้น อยู่ตรงส่วนไหน ของปฏิจจสมุปบาท ครับ
เรียนความเห็นที่ 10 ครับ
สำหรับ ตัณหา และ อวิชชา (โมหะ) พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับได้จนหมดสิ้น พระอนาคามี ก็ยังมี โลภะ และ อวิชชา อยู่ แต่สำหรับ โทสะ พระอนาคามี ก็สามารถละได้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ตัณหา (โลภะ) และ อวิชชา จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์ และเป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าโทสะครับ เพราะมีโลภะ ติดข้องในสิ่งใด จึงเกิดโทสะได้ เพราะ ไมได้สิ่งนั้นพลัดพรากสิ่งนั้น และเพราะ มีความไม่รู้ อวิชชา จึงทำให้มีกิเลสประการอื่นได้ ครับ ทั้งโลภะ และ โทสะ เป็นต้น
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาคะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เพราะอะไร เวทนาของโลภมูลจิตและโทสมูลจิตจึงต่างกัน
เรียนความเห็นที่ 14 ครับ
เพราะสภาพธรรมที่เป็นโลภะ และ โทสะ เป็นเจตสิกที่แตกต่างกัน ทำหน้าที่แตกต่างกัน โทสะ ขุ่นใจ เวทนาจึงเป็นเฉพาะโทมนัสเวทนา ส่วน โลภะ ไม่ได้ขุ่นใจ แต่ติดข้อง เวทนาจึงไม่สามารถเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ หรือทุกข์ใจได้ครับ แต่เกิดกับเวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนาและโสมนัสเวทนา
ขออนุโมทนา กราบนมัสการครับ
ขออนุโมทนาครับ