อรรถกถาสูตรที่ ๙ ประวัติพระภัททากุณฑลเกสาเถรี
โดย บ้านธัมมะ  16 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38390

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 37

อรรถกถาสูตรที่ ๙

ประวัติพระภัททากุณฑลเกสาเถรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 37

อรรถกถาสูตรที่ ๙

๙. ประวัติพระภัททากุณฑลเกสาเถรี

ในสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ขิปฺปาภิญฺานํ ท่านแสดงว่า พระภัททากุณฑลเกสาเถรีเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ตรัสรู้เร็ว

ได้ยินว่า พระภัททากุณฑลเกสานี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ตรัสรู้เร็ว จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เป็นพระธิดาพระองค์หนึ่งระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ ในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ. สมาทานศีล ๑๐ ประพฤติกุมารีพรหมจรรย์ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างบริเวณ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 38

ถวายสงฆ์ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี กรุงราชคฤห์. บิดามารดาตั้งชื่อนางว่า ภัททา.

วันนั้นเหมือนกัน บุตรปุโรหิตก็เกิดในพระนครนั้น. เวลาเขาเกิด อาวุธทั้งหลายก็ลุกโพลงไปทั่วพระนครตั้งแต่พระราชนิเวศน์เป็นต้นไป. ปุโรหิตก็ไปราชสกุลแต่เช้าตรู่ ทูลถามพระราชาถึงการบรรทมเป็นสุข. พระราชาตรัสว่า เราจะนอนเป็นสุขได้แต่ที่ไหนเล่า อาจารย์ เราเห็นอาวุธทั้งหลายในราชนิเวศน์ลุกโพลงตลอดคืนยังรุ่ง ในวันนี้จะต้องประสบภัยกันหรือ. ปุโรหิตกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์โปรดอย่าทรงพระดำริเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยเลย อาวุธทั้งหลาย มิใช่ลุกโพลงแต่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์เท่านั้น ทั่วพระนครก็เป็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า ตรัสถามว่า เพราะเหตุไรเล่า อาจารย์. กราบทูลว่า ในเรือนข้าพระองค์ เด็กชายเกิดโดยฤกษ์โจร เขาเกิดเป็นศัตรูทั่วพระนคร. นั่นเป็นบุพนิมิตของเขา แต่พระองค์ไม่มีอันตรายดอก พระเจ้าข้า แต่ถ้าจะทรงพระประสงค์ ก็โปรดให้ฆ่าเขาเสีย. ตรัสว่า เมื่อไม่เบียดเบียนเรา ก็ไม่ต้องฆ่าดอก. ปุโรหิตคิดว่า บุตรเราถือเอาชื่อของตนมาด้วย จึงตั้งชื่อเขาว่า สัตตุกะ. ภัททาก็เติบโตในเรือนเศรษฐี. สัตตุกะก็เติบโตในเรือนปุโรหิต. ตั้งแต่เขาสามารถเล่นวิ่งมาวิ่งไปได้ เขาจะนำทุกสิ่งที่เขาพบในที่เที่ยวไป มาไว้เต็มเรือนบิดามารดา. บิดาจะพูดกะเขาแม้ตั้ง ๑,๐๐๐ เหตุ ก็ห้ามปรามเขาไม่ได้. ต่อมา บิดารู้ว่าห้ามเขาไม่ได้โดยอาการทั้งปวง จึงให้ผ้าเขียวแก่เขา ๒ ผืน ให้เครื่องอุปกรณ์ตัดช่อง และสีฆาตกยนต์ [กลไกรูปกระจับ] ไว้ในมือ แล้วสละเขาไป ด้วยกล่าวว่า เจ้าจง


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 39

เลี้ยงชีพด้วยงานชนิดนี้. ตั้งแต่วันนั้นมา เขาก็เหวี่ยงกลไกกระจับ [พาตัว] ขึ้นไปบนปราสาทของสกุลทั้งหลาย ตัดช่อง [ที่ต่อเรือน] ขโมยทรัพย์สิ่งของที่เขาเก็บไว้ในสกุลผู้อื่น เหมือนตัวเองเก็บไว้แล้วก็ไป. ทั่วพระนคร ขึ้นชื่อว่าเรือนหลังที่เขาไม่ย่องเบา ไม่มีเลย. วันหนึ่งพระราชาเสด็จเที่ยวไปในพระนครโดยราชรถ จึงตรัสถามสารถีว่า ทำไมหนอ ในเรือนหลังนั้นๆ ในพระนครนี้ จึงปรากฏมีช่องทั้งนั้น. สารถีกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ในพระนครนี้มีโจรชื่อสัตตุกะ ตัดฝาเรือน ลักทรัพย์ของสกุลทั้งหลาย พระเจ้าข้า. พระราชาจึงรับสั่งให้หาเจ้าหน้าที่นครบาลมา แล้วตรัสถามว่า เขาว่าในพระนครนี้มีโจรชื่ออย่างนี้ เหตุไรเจ้าจึงไม่จับมัน. เจ้าหน้าที่นครบาลกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พวกข้าพระองค์ไม่อาจพบโจรนั้นพร้อมทั้งของกลาง พระเจ้าข้า. ตรัสสั่งว่า ถ้าวันนี้เจ้าพบโจรนั้นจงจับ ถ้าไม่จับ เราจักลงอาชญาเจ้า. เจ้าหน้าที่นครบาลทูลรับว่า พระเจ้าข้า เทวะ. เจ้าหน้าที่นครบาลสั่งให้มนุษย์ทั่วพระนครเที่ยวสืบสวน จนจับตัวโจรผู้ตัดฝาเรือนลักทรัพย์เขาพร้อมทั้งของกลางนั้นได้ นำไปแสดงแก่พระราชา. พระราชาตรัสสั่งว่า จงนำโจรนี้ออกทางประตูด้านทิศใต้ แล้วประหารเสีย. เจ้าหน้าที่นครบาลรับสนองพระราชโองการแล้ว โบยโจรนั้นครั้งละ ๔ ที ๑,๐๐๐ ครั้ง ให้จับตัวพาไปทางประตูด้านทิศใต้.

สมัยนั้น ภัททา ธิดาเศรษฐีนี้ เผยสีหบัญชร [หน้าต่าง] ดู เพราะเสียงโกลาหลของมหาชน เห็นสัตตุกะโจรถูกเขานำไปฆ่า ก็เอามือทั้งสองทาบหัวใจ ไปนอนคว่ำหน้าบนที่นอนอันเป็นสิริ. ก็นางเป็นธิดาคนเดียวของสกุลนั้น. ด้วยเหตุนั้น พวกญาติของนางจึงไม่อาจทน


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 40

เห็นหน้าอันหม่นหมองแม้เล็กน้อยได้. ครั้งนั้น มารดาเห็นนางนอนบนที่นอน จึงถามนางว่า ลูกเอ๋ย เจ้าทำอะไร. นางตอบตรงๆ ว่า แม่จ๋า ดิฉันพบโจรที่เขากำลังนำไปฆ่าจ้ะ เมื่อได้เขามาจึงจะเป็นอยู่ได้ เมื่อดิฉันไม่ได้ ตายเสียเท่านั้นประเสริฐ บิดามารดาปลอบโดยประการต่างๆ ก็ไม่อาจให้นางยินยอมได้ จึงกำหนดไว้ว่า เป็นอยู่ดีกว่าตาย. ครั้งนั้น บิดาของนางจึงหาเจ้าหน้าที่นครบาล ติดสินบน ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วบอกว่า ธิดาของเรามีจิตติดพันในโจร โปรดจงปล่อยโจรนี้ด้วยอุบายวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย. เจ้าหน้าที่นครบาลรับปากเศรษฐีว่า ได้จ้ะ แล้วพาโจรหน่วงเหนี่ยวให้ชักช้าไปทางโน้นทางนี้บ้าง จนพระอาทิตย์ตก เมื่อพระอาทิตย์ตกแล้ว ก็ให้นำเอาโจรคนหนึ่งจากพวกโจรออกมา ทำเป็นโจรขึ้น แก้สัตตุกะโจรออกจากเครื่องจองจำ พาไปส่งยังเรือนเศรษฐี แล้วเอาเครื่องจองจำนั้นพันธนาการโจรอีกคนหนึ่ง นำตัวออกไปทางประตูด้านทิศใต้ ประหารชีวิต (แทน) เสีย. แม้พวกทาสของเศรษฐีต่างพาตัวสัตตุกะโจรมายังเรือนของเศรษฐี. เศรษฐีเห็นแล้วคิดว่า เราจักทำใจของธิดาให้เต็มเสียที จึงให้พวกทาสเอาน้ำหอมอาบสัตตุกะโจร แล้วให้ตกแต่งประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด พาไปส่งตัวยังปราสาท. นางภัททาคิดว่า ความดำริของเราเต็มที่แล้ว จึงแต่งตัวให้เพริศพริ้งด้วยเครื่องอลังการนานาชนิดคอยบำเรอเขา.

สัตตุกะโจร พอล่วงมาได้ ๒ - ๓ วันคิดว่า สิ่งของเครื่องประดับของนางจักเป็นของเรา เราควรจะถือเอาเครื่องอาภรณ์นี้ด้วยอุบายบางประการเสีย ดังนี้แล้ว พอถึงเวลานั่งใกล้ชิดกันอย่างมีความสุข จึงพูดกะนางภัททาว่า เรามีเรื่องที่จะพูดสักเรื่องหนึ่ง. ธิดาเศรษฐีปลาบปลื้มใจ


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 41

ประหนึ่งว่าได้ลาภตั้งพัน จึงตอบว่า พี่ท่าน เราสนิทสนมกันแล้ว พี่ท่านจงบอกมาเถิด โจรกล่าวว่า เธอคิดว่าโจรนี้ได้ชีวิตมาเพราะอาศัยเรา แต่เราพอถูกจับเท่านั้น ได้อ้อนวอนเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เขาทิ้งโจรว่า ถ้าข้าพเจ้าจักได้ชีวิต ข้าพเจ้าจักถวายพลีกรรมแด่ท่าน เราได้ชีวิตเพราะอาศัยเทวดานั้น ขอเธอจงรีบให้จัดเครื่องพลีกรรมเถิด. นางภัททาคิดว่า เราจักทำให้เขาเต็มใจเสียที สั่งให้จัดแจงเครื่องพลีกรรม ประดับประดาเครื่องประดับทุกชนิด ขึ้นนั่งในรถคันเดียวกัน ไปยังเหวทิ้งโจรพร้อมกับสามี เริ่มไต่ภูเขาขึ้นไปด้วยคิดว่า เราจักทำพลีกรรมแก่เทวดาประจำภูเขา. สัตตุกะโจรคิดว่า เมื่อขึ้นไปกันหมดแล้ว เราจักไม่มีโอกาสถือเอาเครื่องอาภรณ์ของนางได้ จึงให้นางภัททานั้นนั่นแหละถือภาชนะเครื่องเซ่นสรวงแล้วขึ้นภูเขาไป. เขาพูดถ้อยคำทำที่เป็นพูดกับนางภัททา พูดคุยกันไป ด้วยเหตุนั้นนั่นเองนางจึงไม่รู้ความประสงค์ของโจร. ทีนั้น โจรจึงพูดกะนางว่า น้องภัททา เธอจงเปลื้องผ้าห่มของเธอออก แล้วเอาเครื่องประดับที่ประดับอยู่รอบกายทำเป็นห่อไว้ ณ ที่นี้.

นาง. นายจ๋า ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ.

โจร. แม่นางผู้เขลา ก็เธอทำความสำคัญว่า เรามาเพื่อทำพลีกรรมหรือ ความจริงเราจะควักตับถวายแก่เทวดานี้ แต่เรามีประสงค์จะถือเอาเครื่องอาภรณ์ของเธอโดยอ้างพลีกรรมจึงได้มา.

นาง. นายจ๋า เครื่องประดับเป็นของใคร ตัวฉันเป็นของใคร.

โจร. เราไม่รับรู้ ของของเธอก็เป็นส่วนหนึ่ง ของของเราก็เป็นส่วนหนึ่ง.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 42

นาง. ดีแล้วจ้ะพี่ท่าน แต่ขอให้พี่ท่านจงทำความประสงค์ของน้องอย่างหนึ่งให้บริบูรณ์ทีเถิด ขอพี่ท่านให้น้องได้สวมกอดพี่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยทำนองที่แต่งตัวอยู่อย่างนี้นี่แหละ.

โจรก็รับปากว่า ได้สิจ๊ะ.

นางทราบว่า โจรรับปากแล้ว ก็สวมกอดข้างหน้า แล้วก็ทำทีเป็นสวมกอดข้างหลัง จึงผลักเขาตกเหวไป. เขาเมื่อตกลงไปก็แหลกละเอียดไปในอากาศนั่นแหละ.

เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ภูเขา เห็นความที่นางทำให้โจรแหลกละเอียดไป จึงได้กล่าวคาถาด้วยประสงค์จะสรรเสริญ มีดังนี้ว่า

น โส สพฺเพสุ าเนสุ

ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต

อิตฺถี จ ปณฺฑิตา โหติ

ตตฺถ ตตฺถ วิจกฺขณา

น โส สพฺเพสุ ฐาเนสุ

ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต

อิตฺถี จ ปณฺฑิตา โหติ

มุหุตฺตมปิ จินฺตเย

ผู้ชายนั้นมิใช่จะเป็นบัณฑิตไปเสียในที่ทุกสถาน แต่ผู้หญิงผู้มีวิจารณญาณในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้ ผู้ชายนั้นนะมิใช่จะเป็นบัณฑิตไปเสียในที่ทุกสถาน แต่ผู้หญิงคิดอ่านแม้ครู่เดียว ก็เป็นบัณฑิตได้.

ลำดับนั้น นางภัททาจึงคิดว่า เราไม่สามารถจะกลับไปบ้านโดยทำนองนี้ได้ เราไปจากที่นี้แล้วจักบวชสักอย่างหนึ่ง จึงได้ไปยังอารามของพวกนิครนถ์ขอบรรพชากะพวกนิครนถ์. ทีนั้น พวกนิครนถ์เหล่านั้นกล่าวกะนางว่า จะบวชโดยทำนองไหน.

สิ่งใดเป็นของสูงสุดในบรรพชาของท่าน ขอท่านจงกระทำสิ่งนั้น


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 43

นั่นแหละ.

พวกนิครนถ์รับว่า ดีแล้ว จึงเอาก้านตาลทึ้งถอนผมของนางแล้วให้บวช. ผมเมื่อจะงอกขึ้นอีก ก็งอกขึ้นเป็นวงกลมคล้ายตุ้มหูโดยเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา. เพราะเหตุนั้นนางจึงเกิดมีชื่อว่า กุณฑลเกสา. นางเรียนศิลปะทุกอย่างในที่ที่ตนบวชแล้ว ครั้นทราบว่า คุณวิเศษยิ่งกว่านี้ของพวกนิครนถ์เหล่านี้ไม่มี จึงเที่ยวไปยังคามนิคมราชธานี บัณฑิตมีในที่ใดๆ ก็ไปในที่นั้นๆ แล้วเรียนศิลปะที่บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทุกอย่างหมด. ต่อมา คนทั้งหลายผู้ที่สามารถจะให้คำโต้ตอบแก่นางได้มิได้มี เพราะนางเป็นผู้ได้ศึกษามาในที่เป็นอันมาก. นางมิได้มองเห็นใครที่สามารถจะกล่าวกับตนได้ เข้าไปสู่บ้านใดก็ดี นิคมใดก็ดี ก็ทำกองทรายไว้ที่ประตูบ้านหรือนิคมนั้น แล้วปักกิ่งต้นหว้าไว้บนกองทรายนั้นนั่นแหละ ให้สัญญาแก่พวกเด็กๆ ที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ด้วยพูดว่า ผู้ใดสามารถที่จะโต้ตอบวาทะของเราได้ ผู้นั้นจงเหยียบกิ่งไม้นี้. แม้ตลอดตั้งสัปดาห์นั้นก็หามีคนเหยียบไม่. แล้วนางก็ถือเอากิ่งไม้นั้นหลีกไป.

ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงอาศัยกรุงสาวัตถี เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวัน. ฝ่ายนางกุณฑลเกสาก็ไปถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ เมื่อเข้าไปภายในนครแล้ว ก็ปักกิ่งไม้ไว้บนกองทรายทำนองเดินนั่นแหละ แล้วให้สัญญาแก่พวกเด็ก แล้วจึงเข้าไป.

ในสมัยนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์เข้าไปแล้ว พระธรรมเสนาบดีจึงเข้าไปสู่นครเพียงรูปเดียวเท่านั้น เห็นกิ่งต้นหว้าที่เนินทรายแล้วถามว่า เพราะเหตุไรเขาจึงปักกิ่งต้นหว้านี้ไว้ พวกเด็กบอกเหตุนั้นโดยตลอด. จึงกล่าวว่า นี่แน่ะ หนูทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอจงจับเอากิ่งต้นหว้า


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 44

นี้ออกมาเหยียบย่ำเสีย. บรรดาเด็กเหล่านั้น บางพวกฟังคำพระเถระแล้วไม่กล้าที่จะเหยียบย่ำได้ บางพวกเหยียบย่ำทันทีทีเดียว กระทำให้แหลกละเอียดไป. นางกุณฑลเกสาบริโภคอาหารแล้วเดินออกไปเห็นกิ่งไม้ถูกเหยียบย่ำ จึงถามว่า นี้เป็นการทำของใคร. ทีนั้น พวกเด็กจึงบอกการที่พระธรรมเสนาบดีให้พวกเขากระทำแก่นาง. นางจึงคิดว่า พระเถระนี้เมื่อไม่รู้กำลังของตนจักไม่กล้าให้เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้ พระเถระนี้จักต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่แน่นอน แต่แม้เรายังเป็นคนเล็กๆ อยู่จักให้ถามไม่ได้. เราควรจะเข้าไปภายในบ้านทีเดียว แล้วให้สัญญาแก่พวกบริษัท ดังนี้แล้ว ได้กระทำดังนั้น. พึงทราบว่า ในนครอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งตระกูลถึง ๘๐,๐๐๐ ตระกูล คนทั้งหมดนั่นแหละต่างรู้จักกันด้วยอำนาจที่มีความเท่าเทียมกัน.

ฝ่ายพระเถระกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. ทีนั้น นางกุณฑลเกสานี้มีมหาชนห้อมล้อมเดินไปยังสำนักของพระเถระ กระทำปฏิสันถารแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าให้เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้หรือ.

พระสารีบุตร - ใช่แล้ว เราให้เหยียบย่ำเอง.

นาง - เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอดิฉันกับพระคุณเจ้ามาโต้วาทะกันนะพระคุณเจ้า.

พระสารีบุตร - ได้สิน้องนาง.

นาง - ใครจะถาม ใครจะกล่าวแก้ เจ้าข้า.

พระสารีบุตร - ความจริงคำถามตกแก่เรา แต่ท่านจงถามสิ่งที่ท่านรู้เถิด.


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 45

นางถามลัทธิตามที่ตนรู้มาทั้งหมดทีเดียวตามที่พระเถระยินยอม. พระเถระก็กล่าวแก้ได้หมด. นางครั้นถามแล้ว ถามอีก จนหมด จึงได้นิ่ง. ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะนางว่า ท่านถามเราหมดแล้ว แม้เราก็จะถามท่านข้อหนึ่ง.

นาง - ถามเถิด เจ้าข้า.

พระสารีบุตร - ที่ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร.

นางกุณฑลเกสเรียนว่า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า.

พระสารีบุตร - เธอไม่ทราบแม้เหตุเพียงเท่านี้ เธอจักทรามอะไรอย่างอื่นเล่า.

นางหมอบแทบเท้าทั้งสองของพระเถระ เรียนว่า ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าเป็นสรณะ เจ้าข้า.

พระสารีบุตร - จะทำการถึงเราเป็นสรณะไม่ได้ บุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับอยู่ที่วิหารใกล้ๆ นี่เอง ขอเธอจงถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะเถิด.

นาง - ดิฉันจักกระทำเช่นนั้น เจ้าข้า.

พอตอนเย็น ในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม จึงไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาตรัสคาถาในธรรมบท ตามความเหมาะสมกับจริยาของนางที่เคยพิจารณาเห็นสังขารอันทุกข์บีบคั้นแล้วต่อไปว่า

สหสฺสมปิ เจ คาถา

อนตฺถปทสญฺหิตา

เอกํ คาถาปทํ เสยฺโย

ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ

หากคาถาไม่ประกอบด้วยบทอันมีประโยชน์


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 46

แม้จะมีตั้ง ๑,๐๐๐ คาถาก็ตาม คาถาเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ยังประเสริฐกว่า ดังนี้.

ในเวลาจบพระคาถา นางทั้งที่ยืนอยู่นั่นเองก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จึงทูลขอบรรพชา. พระศาสดาทรงรับให้นางบรรพชาแล้ว. นางไปยังสำนักภิกษุณีบวชแล้ว. ในกาลต่อมาเกิดสนทนากันขึ้นในท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า นางภัททากุณฑลเกสานี้ใหญ่ยิ่งจริงหนอ บรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บท. พระศาสดาทรงกระทำเหตุนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง แล้วทรงสถาปนาพระเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกา ผู้ตรัสรู้เร็ว ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๙