คำว่า มงคลตื่นข่าวกับความเห็นผิด คืออย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก็ต้องเข้าใจในคำที่กล่าวถึงก่อน นั่น ก็คือ คำว่า มงคลตื่นข่าว, มงคลตื่นข่าว คือการเชื่อในเรื่องที่ตื่นกันไปเองว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นมงคลโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งตามสภาพธรรมก็คือทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ซึ่งแสดงออกมาในลักษณะของการกระทำ หรือข้อวัตรปฏิบัติ ที่เป็นไปด้วยความเห็นผิดนั้น (สีลพตปรามาส) ดังนั้น การกระทำตามๆ กันไป โดยไม่มีเหตุผลและยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเป็นมงคล นั่นก็คือมงคลตื่นข่าว
ตัวอย่างในเรื่องของมงคลตื่นข่าวก็มากมายหลากหลายไปตามยุคสมัย ในสมัยพุทธกาล บางบุคคลเชื่อว่า การได้เห็นบางสิ่งบางอย่างในตอนเช้านั้นเป็นมงคล เช่น การเห็นนกนางแอ่นลม มะตูมอ่อน ปลาตะเพียน ในสมัยปัจจุบันบางบุคคลก็เชื่อว่าการได้เห็นหรือได้กราบไหว้ต้นไม้ หรือสัตว์ที่มีลักษณะประหลาดนั้นเป็นมงคล ชนชาติต่างๆ ก็มีการยึดถือในมงคลตื่นข่าวแตกต่างกันไป มงคลตื่นข่าว ไม่ใช่มงคล เพราะมงคลจริงๆ ก็คือ เหตุแห่งความเจริญ ได้แก่มงคล ๓๘ ประการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ในมงคลสูตร (ขุททกนิกายขุททกปาฐะ) ตั้งแต่การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นต้น
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
มงคลสูตร ... เสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ทีนี้กลับมาที่ประเด็นเรื่องการล้างพิษตับ
ขอยกข้อความประทับใจที่ได้ฟังจากท่านอาจารย์สุิจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้
@รักษาตน ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพื่ออะไร เพื่อการสะสมกิเลสมากๆ หรือ เพื่อที่จะให้เป็นไปเพื่อการสะสมความดี และอบรมเจริญปัญญา?
อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕
สำหรับปีชงกัน ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้าครับ เพราะไม่ใช่สัจจะความจริง เนื่องจากขัดกับหลักกรรมและผลของกรรมครับ ซึ่งในความเป็นจริง บุคคลแต่ละบุคคลก็แต่ละหนึ่ง อันเป็นการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ดังนั้นการจะได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปีนั้นปีนี้ แต่ขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมที่ได้ทำมา ว่ามีเหตุปัจจัยให้เกิดวิบากที่ดี ก็ได้รับสิ่งที่ดี มีเหตุปัจจัยได้รับวิบากที่ไม่ดี ก็ได้รับสิ่งที่ไม่ดี
วิบาก หรือ ผลของกรรมที่ดี ที่จะได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีในชีวิตประจำวัน คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่ขณะที่เกิดความทุกข์ใจ ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นอกุศลจิตที่สะสมมาทำให้เกิดขึ้นครับ ดังนั้น ผลของกรรมที่เป็นวิบากในชีวิตประจำวันที่จะได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี เกิดจากกรรมที่ดี ที่เป็นกุศลกรรม และ กรรมไม่ดี อกุศลกรรมที่ทำไว้ในอดีตครับ
หากมองให้ละเอียดในสัจจะแล้ว แบ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็นจิต เจตสิกและรูป วิบากเป็นผลของกรรมที่ได้รับสิ่งที่ดี ไม่ดี เป็น จิต เจตสิก อีกประการหนึ่ง คือ สมมติเรื่องราว ที่บัญญัติกันขึ้น เช่น สัตว์โลก บัญญัติ นักกษัตร 12 ปี บัญญัติปีนี้ว่าเป็นปีมะโรง จะเห็นนะครับว่า ปีมะโรง เป็นเพียงสมมติบัญญัติกันขึ้น และก็สมมติบัญญัติว่า ปีที่คนนี้เกิดเป็นปีอะไร และสมมติบัญญัติกันอีกครับว่า ปีนี้ชง หรือ ไม่ถูกกับปีนี้ จะทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นความคิดนึก เรื่องราว ใส่เข้าไปตามการปรุงแต่งของปุถุชนผู้มีความไม่รู้ ดังนั้น ถ้าเรามองที่สัจจะ บัญญัติที่สมมติกันขึ้นมีผลกับวิบากที่เป็น จิต เจตสิก ที่เป็นผลของกรรมที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะวิบากเป็นจิต เจตสิก วิบากจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะอาศัยบัญญัติเรื่องราว ที่สมมติว่าเป็นปีต่างๆ ปีนี้ชงกับปีนี้ แต่สัจจะความจริงคือ วิบากที่เป็น จิต เจตสิก จะต้องอาศัยปรมัตถธรรมด้วยกัน คือ จิต เจตสิกนั่นเอง จึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพราะอาศัยกุศลกรรมในอดีตที่เป็นกุศลจิต และเจตสิกร่วมด้วย ทำให้เกิดวิบากที่เป็น จิต เจตสิกที่ดี และได้รับสิ่งที่ดี มีการเห็นสิ่งที่ดี เป็นต้น และการได้รับสิ่งที่ไม่ดี คือ วิบาก ที่เป็นจิต เจตสิกเกิดขึ้น ก็เพราะอาศัยปรมัตถธรรม ไม่ใช่บัญญัติเรื่องราวที่โลกสมมติว่าเป็นปีชง คือ อาศัยอกุศลกรรม คือจิต เจตสิกที่ไม่ดีเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้ได้รับวิบาก คือ เกิดวิบากจิตและเจตสิก ทำให้เห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี เป็นต้น ครับ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก ไม่ใช่เรื่องราวบัญญัติที่โลกสมมติว่าเป็นปีต่างๆ และเป็นปีชงครับ ขึ้นอยู่กับกรรมเป็นสำคัญนั่นเอง ที่จะได้รับวิบาก คือ ผลของกรรมที่ดี หรือ ไม่ดีครับ
ความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุข มีเรา เห็นผิดว่า ไม่มีกรรม ไม่มีผลของกรรม เป็นต้น ซึ่งความเห็นผิดเป็นทิฏฐิเจตสิก จะต้องเกิดร่วมกับ จิตที่เป็นโลภมูลจิตเสมอ ซึ่งการเชื่อว่าคนนี้ปีชง ไม่ควรไปงานศพปีนี้ เพราะขัดกับหลักกรรมและผลของกรรม ก็เป็นความเห็นผิดได้ครับ อนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มงคลในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงเหตุแห่งความเจริญ หรือ สิ่งที่จะทำให้ถึงซึ่งความเจริญ เมื่อจะกล่าวโดยสรุปแล้ว มงคลหมายถึงความดีทุกอย่างทุกประการนั่นเอง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ไม่ดีจะนำมาซึ่งผลที่ดีไม่ได้ ผลย่อมตรงกับเหตุ ถ้าเหตุไม่ดี ผลก็ต้องไม่ดี แต่ถ้าเหตุดี ผลก็ต้องดี ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่ทราบเลยว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล แม้แต่ในขณะนี้เอง
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ กว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยกับอีกแสนกัปซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก มงคลแต่ละข้อก็มาจากการตรัสรู้ของพระองค์ ดังนั้น การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจึงเป็นมงคลประการหนึ่งด้วย ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง แต่มงคลมีมากมาย ไม่ใช่เพียงการฟังธรรมเท่านั้น เริ่มตั้งแต่การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นต้น ล้วนเป็นมงคลอันประเสริฐทั้งสิ้น
แต่เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จึงไม่สามารถจะเข้าใจได้ถึงความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ได้แต่เชื่อตามๆ กันมา ก็เป็นการเพิ่มความไม่รู้ ความเห็นผิด ให้มากขึ้น แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว เบาสบายด้วยความเข้าใจ คำสอนใดก็ตามที่ไม่ทำให้เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ไม่เข้าใกล้กับความเห็นเหล่านั้น และที่สำคัญความเข้าใจของตนเองยังสามารถเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องตามไปด้วย
เพราะตามความเป็นจริงแล้ว จะดีจะชั่ว และ จะประสบกับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันเดือนปี เพราะถ้ากุศลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็ดีแล้ว ความดีเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น แต่ถ้าสะสมมาไม่ดี เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมีกำลังถึงขึ้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ในส่วนของการได้รับผลของกรรม ก็ต้องเกิดจากเหตุ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ตนเองได้กระทำแล้วทั้งหมด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ความเห็นผิด คือ คิดผิด ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม เป็นต้น ค่ะ