กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
มีความสงสัยขอกราบเรียนถามดังนี้ ครับ สติและสัมปชัญญะ ต่างกันอย่างไร ครับ และคำว่า สัมปชัญญะ ตามความเป็นจริงแล้ว คือลักษณะใด มีอาการอย่างไร เป็นเจตสิกดวงใดครับ เกิดกับกุศลหรืออกุศล ครับ แล้วอย่างการที่บางครั้ง เราเหม่อๆ แล้วก็มีเหตุปัจจัยให้รู้สึกตัว อาการรู้สึกตัวขณะนั้น เรียกว่า สัมปชัญญะได้ไหมครับ หรือว่า เป็นสติ ครับ เป็นเจตสิกประเภทใด ครับ
อีกคำถามคือ สติ การระลึกได้ ที่เป็นไปในอกุศล เช่น ระลึกได้ในของที่ลืมไว้ หรือระลึกได้ในสิ่งที่จำคำที่พูด ก็มีลักษณะอาการระลึกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติเจตสิกอันเป็นโสภณสาธารณะเจตสิก ไม่ทราบว่าการระลึก ลักษณะระลึกขณะนั้น เป็นลักษณะของเจตสิกใด ครับ
กราบขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นครับ
เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจนจริงๆ ก่อนอื่นก็ต้องกล่าวถึง สติ กับสัมปชัญญะ ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภทไม่มีเว้น ส่วนสัมปชัญญะ เป็นอีกชื่อหนึ่งของปัญญา เป็นความไม่หลง เป็นความรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง (ปัญญาเจตสิก) สติสัมปชัญญะ มักจะเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญความสงบของจิต ที่เป็นสมถภาวนา และ การอบรมปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา หรือสติปัฏฐาน เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สติเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะเกิดก็จะต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด เมื่ออาศัยเหตุที่สำคัญคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเริ่มเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้นว่า ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นได้โดยที่สติทำกิจระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง และปัญญาทำกิจรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สติเป็นสติ ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเป็นปัญญาไม่ใช่สติ
ขณะที่เหม่อๆ ขณะนั้นไม่ได้เป็นไปในกุศลที่เป็นไปในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่มีทั้งสติและไม่มีทั้งปัญญา จะกล่าวว่ามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว คำว่า รู้สึกตัวทั่วพร้อมจริงๆ ในทางพระพุทธศาสนาคือ สติสัมปชัญญะขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้
จากความเข้าใจเบื้องต้น ก็เข้าใจได้ว่า สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล จะไม่เกิดกับอกุศลเลย ถ้าไม่ได้เป็นกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะนั้นก็ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย แม้ในขณะที่ใช้คำว่า ระลึกได้ว่าเก็บอะไรไว้ตรงไหน ระลึกถึงคำที่พูดได้ เป็นต้น ความเป็นจริงไม่เคยเปลี่ยน อาจจะเป็นไปกับด้วยอกุศลที่เป็นโลภะก็ได้ หรืออาจจะเป็นกุศลก็ได้ ถ้าเป็นเหตุให้กุศลเกิดขึ้นเป็นไปในกุศล ขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตขณะนั้นเป็นจริง ตรงที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
สติสัมปชัญญะ
ความหมายของคำว่า รู้สึกตัว และวิปัสสนา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากคำถามที่ว่า
สติและสัมปชัญญะ ต่างกันอย่างไรครับ และคำว่าสัมปชัญญะ ตามความเป็นจริงแล้วคือ ลักษณะใด มีอาการอย่างไร เป็นเจตสิกดวงใดครับ เกิดกับกุศลหรืออกุศลครับ
สติ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เกิดกับจิตที่ดีงาม สัมปชัญญะเป็นอโมหเจตสิกหรือปัญญา สติสัมปชัญญะ มักเป็นคำที่ใช้คู่กัน โดยจะใช้ในเรื่องของการอบรมภาวนา ขั้นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) สติเกิดโดยไม่มีสัมปชัญญะ (ปัญญา) ได้ แต่เมื่อสัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดจะต้องมีสติเกิดด้วยเสมอ เพราะสติเป็นสภาพธัมมะที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเสมอ แต่ปัญญา ไม่เสมอไปครับ เมื่อเราพิจารณาคำนี้ จะทำให้เข้าใจเรื่องการอบรมวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) ว่าเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ (มีสัมปชัญญะ) และต้องรู้ว่า สติระลึกอะไร สัมปชัญญะ (ปัญญา) รู้อะไร ก็รู้สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้เองครับ ว่าเป็นธัมมะ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของปัญญา มิใช่ขั้นทาน และศีลเท่านั้น
แล้วอย่างการที่บางครั้ง เราเหม่อๆ แล้วก็มีเหตุปัจจัยให้รู้สึกตัว อาการรู้สึกตัวขณะนั้น เรียกว่าสัมปชัญญะได้ไหมครับ หรือว่าเป็นสติครับ เป็นเจตสิกประเภทใดครับ
สัมปชัญญะคือ ปัญญาที่รู้ความจริงในขณะที่ กำลังยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ในขณะที่อยู่ในอิริยาบถต่างๆ ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา แต่การรู้สึกตัวขณะที่เหม่อ หรือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็ด้วยวิตกเจตสิกที่นึกขึ้นได้ โดยอาศัยสัญญา ความจำในอดีตในเรื่องนั้น ครับ
อีกคำถามคือ สติ การระลึกได้ ที่เป็นไปในอกุศล เช่น ระลึกได้ในของที่ลืมไว้ หรือระลึกได้ในสิ่งที่จำคำที่พูด ก็มีลักษณะอาการระลึกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติเจตสิกอันเป็นโสภณสาธารณะเจตสิก ไม่ทราบว่า การระลึก ลักษณะระลึกขณะนั้น เป็นลักษณะของเจตสิกใดครับ
ถ้าเป็นการไม่ลืมในเรื่องราวทางโลก นึกขึ้นได้ในเรื่องต่างๆ ไม่ลืมวางของ ว่าวางไว้ที่ไหน เป็นอกุศลจิต ที่เกิดกับ วิตกเจตสิก ไม่ใช่ สติเจตสิก ซึ่ง การไม่ลืม เป็นกิจหน้าที่ของวิตกเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิต
การนึกขึ้นได้ ไม่ลืมนั้น ก็ด้วยกุศลจิตก็ได้ ที่เป็นกิจหน้าที่ของสติเจตสิก หรือไม่ลืม นึกขึ้นได้ที่เป็นไปในทางอกุศล ที่เป็นหน้าที่ของวิตกเจตสิก เช่น ลืมกุญแจไว้แล้วนึกขึ้นได้ ว่าลืมไว้ที่ไหน ขณะนั้นเป็นอกุศลเพราะไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา แต่ก็นึกขึ้นได้ด้วยอกุศล ครับ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างละอียด และทำให้เข้าใจขึ้นดังนี้ ครับ
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
พระภิกษุ จะถามอาจารย์ว่า มีสติระลึกได้แม้สิ่งที่ล่วงมานานแล้ว ไม่ทราบว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นเจ้าค่ะ ทุกคนคิดทุกวัน และบางคนก็คิดถึงเรื่องในอดีต เคยทำอะไร เคยพูดอะไรก็จำได้ แต่ตามปกติธรรมดานั้น จิตที่ระลึกนั้นเป็นอกุศล แล้วแต่จะระลึกด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่สำหรับสติแล้วละก็ จะต้องเป็นการระลึกด้วยกุศล สภาพของจิตที่ระลึกต้องเป็นกุศลเจ้าค่ะ แม้ว่าจะระลึกถึงสิ่งที่เคยทำ หรือว่าคำที่เคยพูดไว้ เพื่อพิจารณาว่าผิดหรือถูกประการใด แล้วแก้ไข ถ้าระลึกถึงสิ่งที่เคยทำไม่ดี มีประโยชน์ไหมคะ ถ้าระลึกด้วยความกังวล แล้วก็ขุ่นข้องใจ ขณะนั้นเป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติเจ้าค่ะ แต่ว่า ถ้าขณะนั้นระลึกแล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็รู้ได้ว่า ไม่ควรที่จะกระทำอีกต่อไป ในขณะนั้นก็เป็น มหากุศล ที่ระลึกเรื่องที่เคยทำ หรือว่าคำที่ได้เคยพูดไว้
พระภิกษุ หมายความว่า ต้องเป็นไปในทางกุศลอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ ถ้าเป็นสติแล้วต้องเป็นกุศล มิฉะนั้นแล้วก็เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก เจ้าค่ะ
พระภิกษุ แล้วในขณะที่สติเกิดจะมีสัมปชัญญะร่วมทุกครั้งหรือเปล่าเจริญพร
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็น มหากุศลญาณวิปยุต ก็ไม่มีเจ้าค่ะ
พระภิกษุ ส่วนใหญ่ที่เข้าใจ สติ การระลึกได้ และสัมปชัญญะ การรู้ตัวนี้ต้องแยกกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องแยกกันเจ้าค่ะ เวลาที่กล่าวถึง สติสัมปชัญญะ และลักษณะของสติสัมปชัญญะ จะแยกเลยว่า ลักษณะของสติ เป็นอย่างไร กิจของสติ เป็นอย่างไร อาการปรากฏของสติ เป็นอย่างไร และลักษณะของสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร กิจของสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร
แต่เวลาที่พูดรวมกัน สติสัมปชัญญะ ต้องหมายความถึง สติเจตสิก และปัญญาเจตสิก เจ้าค่ะ ซึ่งขณะใดที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่มีแต่สติเจตสิกเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณาในเหตุผล และมีความเข้าใจ ในขณะนั้นก็ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ คือต้องมี ปัญญาเจตสิก ซึ่งเป็น สัมปชัญญะ เกิดร่วมกับสตินั้นด้วย
พระภิกษุ ถ้าอย่างนั้นในการเจริญสติปัฏฐาน ที่สติเกิดแต่ละครั้ง ในขณะที่พิจารณา รูปธรรม หรือนามธรรมก็ดี ในขณะนั้น ชื่อว่ามี สัมปชัญญะ ด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน ธรรมดาแล้วจะต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่พิจารณา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่าลักษณะของปัญญายังไม่ปรากฏชัด แต่ที่ปัญญาจะเจริญได้ ต้องเริ่มจากการสังเกต พิจารณา ศึกษา ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญา ก็เกื้อกูลเป็นลำดับขั้น เจ้าค่ะ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่า ลักษณะอาการระลึกนี้ เมื่อเป็นในอกุศลก็คือ วิตกเจตสิก เมื่อเป็นในกุศลก็จะเป็น สติเจตสิก ใ่ช่หรือไม่ครับ แล้ววิตกเจตสิกที่เกิดกับกุศล จะแยกลักษณะของวิตก กับสติอย่างไรครับ อยากขอรบกวนท่านวิทยากรช่วยกรุณายกข้อความที่อธิบายเรื่องลักษณะของวิตกเจตสิก สติเจตสิก และสัมปชัญญะเจตสิก หน่อยได้ไหมครับ ที่อธิบายว่า มีอะไรเป็นกิจ อะไรเป็นปัจจุปัฏฐานะ อะไรเป็นผล อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
กราบขอบพระคุณครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
วิตกเจตสิก ทำกิจจรดในอารมณ์นั้นก็ได้ ในขณะที่เกิดกับกุศลจิตและเกิดพร้อมสติ สติทำหน้าที่ระลึก วิตกจรดในอารมณ์นั้น ส่วนปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ในขั้นสติปัฏฐาน ปัญญานั้นเรียกว่าสัมปชัญญะ ขณะนั้นทำหน้าที่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม สติทำหน้าที่ระลึกในสภาพธรรมนั้น วิตก จรด จดจ่ออยู่ในสภาพธรรมนั้น ครับ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบพระคุณครับ
ขออนุโมทนาครับ