[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 336
ตติยปัณณาสก์
ภยวรรคที่ ๓
๗. ปฐมอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 336
๗. ปฐมอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า
[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ ประการ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิต มีสติ สัมปชัญญะ เสด็จลงสู่ครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น แสงสว่างอันโอฬารหาประมาณมิได้ ย่อมปรากฏในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้ในโลกันตริกนรกอันโล่งโถง ไม่มีอะไรปิดบัง มืดมิด มองไม่เห็นอะไร ซึ่งแสงสว่างแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่มีฤทธิ์มีอานุภาพ มากอย่างนั้นส่องไม่ถึง แต่แสงสว่างอันยิ่ง หาประมาณมิได้ ย่อมปรากฏแม้ ในโลกันตริกนรกนั้น ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้พวกสัตว์ที่เกิดในนรกนั้น ย่อมจำกันและกันได้ด้วยแสงสว่างนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นผู้เกิดในที่นี้ก็มี (ไม่ใช่มีแต่เรา) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๑ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากครรภ์พระมารดา ฯลฯ ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมี ข้อที่ ๒ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 337
อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๓ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตประกาศอนุตรธรรมจักร เมื่อนั้น แสงสว่างอย่างยิ่ง หาประมาณมิได้ ย่อมปรากฏในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้ในโลกันตริกนรกอันโล่งโถง ไม่มีอะไรปิดบัง มืดมิดมองไม่เห็นอะไร ซึ่งแสงสว่างแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนั้นส่องไม่ถึง แต่แสงสว่างอย่างยิ่ง หาประมาณมิได้ ย่อมปรากฏแม้ในโลกันตริกนรกนั้น ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้พวกสัตว์ที่เกิดในนรกนั้น ย่อมจำกันและกันได้ด้วยแสงสว่าง นั้นว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นผู้เกิดในที่นี้ก็มี (ไม่ใช่มีแต่เรา) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๔ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
จบปฐมอัจฉริยสูตรที่ ๗
อรรถกถาปฐมอัจฉริยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอัจฉริยสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปาตุภาวา คือเพราะปรากฏขึ้น. ในบทว่า กุจฺฉึ โอกฺกมตึ นี้ ความว่า เป็นผู้ลงสู่ครรภ์แล้ว. ความจริง เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นลงแล้ว แสงสว่างก็เป็นอย่างนั้น เมื่อกำลังหยั่งลง แสงสว่างก็เป็นอย่างนั้น. บทว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 338
อปฺปมาโณ ได้แก่ มีประมาณเพิ่มขึ้น คือไพบูลย์กว้างขวาง. บทว่า อุฬาโร เป็นไวพจน์ของบทว่า อปฺปมาโณ นั้นเอง ในบทว่า เทวานํ เทวานุ ภาวํ นี้ ได้แก่ อานุภาพอันหาประมาณมิได้ของเหล่าเทวดา รัศมีของผ้าที่นุ่งแผ่ไปได้ตลอด ๑๒ โยชน์ ของสรีระก็อย่างนั้น ของวิมานก็อย่างนั้น อธิบายว่า ล่วงเทวานุภาพแห่งเทวดานั้น. บทว่า โลกนฺตริกา ความว่า ที่ว่างในระหว่างสามจักรวาล จะมีโลกันตริกนรกอยู่แห่งหนึ่ง เหมือนระหว่างล้อเกวียนทั้งสามล้อ ที่ถึงกันแล้วหรือตั้งจดติดกันและกัน ก็มีที่ว่างตรงกลาง. ก็โลกันตริกนรกนั้น ว่าโดยประมาณได้แปดพันโยชน์. บทว่า อฆา คือเปิดเป็นนิตย์. บทว่า อสํวุตา คือไม่มีฐานที่ตั้งแม้ภายใต้. บทว่า อนฺธการา คือมืด. บทว่า อนฺธการติมิสา ความว่า ประกอบด้วยความมืด ทำให้เป็นเหมือนตาบอดเพราะห้ามการเกิดขึ้นแห่งจักษุวิญญาณ ได้ยินว่า จักษุวิญญาณไม่เกิดในโลกันตริกนรกนั้น. บทว่า เอวํมหิทฺธิกานํ ความว่า ได้ยินว่า ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ปรากฏในทวีปทั้งสาม พร้อมคราวเดียวกัน จึงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่าง กำจัดมืดได้เก้าแสนโยชน์ ในทิศแต่ละทิศจึงมีอานุภาพมากอย่างนี้. บทว่า อาภา นานุโภนฺติ คือแสงสว่าง ไม่พอ. ได้ยินว่า ดวงจันท์และดวงอาทิตย์เหล่านั้น โคจรไปท่ามกลางจักรวาลบรรพต ล่วงเลยจักรวาลบรรพตไปก็เป็นโลกันตริกนรก เพราะฉะนั้น แสงสว่างแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เหล่านั้น จึงส่องไปไม่ถึงในที่นั้น.
บทว่า เยปิ ตตฺถ สตฺตา ความว่า สัตว์แม้เหล่าใดเกิดแล้วในโลกันตรมหานรกนั้น ถามว่า สัตว์เหล่านั้น ทำกรรมอะไร จึงเกิดในโลกันตริกนรกนั้น. ตอบว่า สัตว์ผู้ทำกรรมหนัก ทารุณต่อมารดาบิดาและความผิดร้ายแรงต่อสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม และทำกรรมสาหัสอื่นมีฆ่าสัตว์ทุกๆ วัน เป็นต้น จึงไปเกิดดุจอภัยโจรและนาคโจรเป็นต้น ในตามพปัณณิทวีป (ลังกา)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 339
สัตว์เหล่านั้นมีอัตภาพขนาด ๓ คาวุต มีเล็บยาวเหมือนค้างคาว เอาเล็บเกาะห้อยอยู่ที่เชิงเขาจักรวาล คล้ายค้างคาวเกาะห้อยอยู่ที่ต้นไม้ฉะนั้น เมื่อมือเปะปะไปถูกกันและกันเข้า ต่างก็สำคัญว่าเราได้เหยื่อแล้ว ดังนี้ แล่นไล่หมุนไปรอบๆ ก็พลัดตกไปในน้ำรองโลก คล้ายผลมะซางเมื่อถูกลมประหาร อยู่ก็ขาดตกไปในน้ำ พอตกลงไปถึงก็เปื่อยย่อยไปในน้ำกรด ราวกะแป้งตกน้ำละลายไปฉะนั้น. บทว่า อญฺเปิ กิร โภ สนฺติ สตฺตา ความว่า สัตว์เหล่านั้นเห็นกันในวันนั้น จึงได้รู้ว่า ได้ยินว่า สัตว์เหล่าอื่น มาเกิดในที่นี้ เพื่อเสวยทุกข์นี้ เหมือนเราทั้งหลายเสวยทุกข์ใหญ่อยู่ฉะนั้น. แต่แสงสว่างนี้จะสว่างอยู่แม้เพียงดื่มยาคูอีกหนึ่งก็หามิได้ สว่างอยู่ชั่วเวลาที่สัตว์หลับแล้วตื่นขึ้นอารมณ์แจ่มใสฉะนั้น. ส่วนพระทีฆภาณกาจารย์ กล่าวว่า แสงสว่างนั้น ส่องเพียงพอสัตว์พูดว่านี้อะไร ก็หายไป คล้ายแสงสว่างฟ้าแลบ ชั่วลัดนิ้วมือเท่านั้น.
จบอรรถกถาปฐมอัจฉริยสูตรที่ ๗