๗. อัตถกรณสูตร
โดย บ้านธัมมะ  29 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36280

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 433

๗. อัตถกรณสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 433

๗. อัตถกรณสูตร

[๓๔๓] พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ หม่อมฉันได้นั่ง ณ ศาลพิจารณาคดี เห็นกษัตริยมหาศาลบ้าง พราหมณมหาศาลบ้าง คฤหบดีมหาศาลบ้าง ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมากมาย ยังกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่ เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล หม่อมฉันได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า เป็นการไม่สมควรที่เราจะพิจารณาคดีในบัดนี้ (เพราะ) บัดนี้ ราชโอรสนามว่าวิฑูฑภะผู้มีหน้าชื่นบาน จักมาพิจารณาคดี.

[๓๔๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ชอบแล้วๆ มหาบพิตร กษัตริยมหาศาล พราหมณมหาศาล คฤหบดีมหาศาล แม้บางพวกเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก ฯลฯ มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมากมาย ยังจักกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน.

[๓๔๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่าใคร่ มักมาก หมกมุ่นในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกตัวว่าก้าวล่วง เหมือนพวกปลากำลังเข้าไปสู่เครื่องดัก ซึ่งอ้าดักอยู่ ไม่รู้สึกตัวฉะนั้น ผลอันเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง ด้วยว่ากรรมนั้นมีวิบากเลวทราม.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 434

อรรถกถาอัตถกรณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอัตถกรณสูตรที่ ๗ ต่อไป :-

บทว่า กามเหตุ ได้แก่ มีกามเป็นมูล.

บทว่า กามนิทานํ ได้แก่ มีกามเป็นปัจจัย.

บทว่า กามาธิกรณํ ได้แก่ มีกามเป็นเหตุ หมดทุกบทนั้นเป็นคำไวพจน์ของกันและกัน.

บทว่า ภทฺรมุโข แปลว่า หน้าดี.

ได้ยินว่าวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกประทับนั่ง ฟังการพิจารณาคดีความ. ในคดีนั้นพวกอมาตย์รับสินบนเข้ามาก่อนนั่งวินิจฉัยคดี ก็ตัดสินให้ผู้มิใช่เจ้าของทรัพย์สินกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินไป. พระราชาทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ต่อหน้าเราผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อำมาตย์พวกนี้ยังกระทำถึงเพียงนี้ ลับหลังเรา เขาจักไม่ทำกระไรได้ บัดนี้ วิฑูฑภเสนาบดีจักปรากฏเป็นพระราชาเอง ประโยชน์อะไรของเราจะนั่งที่เดียวกับพวกอมาตย์กินสินบน พูดมดเท็จเห็นปานนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้.

บทว่า ขิปฺปํว โอฑฺฑิตํ ได้แก่ เหมือนปลาเข้าไปสู่เครื่องดัก อธิบายว่า ปลาทั้งหลายเข้าไปสู่เครื่องดักที่เขาดักไว้ยังไม่รู้สึกตัวฉันใด สัตว์ทั้งหลายล่วงเข้าไปสู่วัตถุกาม ด้วยกิเลสกามก็ไม่รู้สึกตัว ฉันนั้น.

จบอรรถกถาอัตถกรณสูตรที่ ๗