วิมุตติ และ วิมุตติญาณทัสสนะ องค์ธรรมคือ?
โดย ลูกศิษย์ธรรม  24 ต.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25676

องค์ธรรมของวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นอย่างไร อธิบายตามสภาวธรรม พร้อมยกพระสูตรด้วยก็ดีครับ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นโลกุตตระ หรือโลกียะ เป็นอสังขตะ หรือเป็นสังขตะธรรม.

ร่วมกันสนทนาธรรมครับ.

กราบขอบพระคุณในเมตตาจิตครับ.



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้น ซึ่งความหลุดพ้นก็มีหลายระดับ มี 5 อย่างดังนี้ครับ

1.วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส นิวรณ์ ด้วยการข่มไว้ ด้วยกำลังของฌาน คือ สมถภาวนา

2.ตทังควิมุตติ คือ หลุดพ้นจาก ธรรมที่เป็นข้าศึกในขณะนั้น เช่น การได้วิปัสสนาญาณบางวิปัสสนา สามารถละ หลุดพ้นจากความสำคัญว่าเที่ยง เป็นต้น

3.สมุจเฉทวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากกิเลสที่ตัดขาดแล้ว อันหมายถึง ขณะที่เป็นมรรคจิต

4.ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ หลุดพ้นแล้วสงบ ด้วยอำนาจที่กิเลสสงบแล้ว หลังจากการละกิเลส คือ ขณะที่เป็นสามัญญผล 4 เช่น โสดาปัตติผล เป็นต้น

5.นิสสรณวิมุตติ หมายถึง พระนิพพาน หลุดพ้นคือเพราะปราศจากคือ เพราะตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งปวง

ซึ่งสำหรับคำว่า การเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ จึงมุ่งหมายถึง ถึงวิมุตติอันสูงสุด คือ อรหัตตผลจิต ที่สงบจากกิเลสทั้งปวงแล้ว เพราะดับกิเลสหมด จึงหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงไม่เหลืออีก ด้วยความหลุดพ้นนั้น นี่คือ การเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ

ส่วน คำว่า การเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า วิมุตติญาณทัสสนะ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งว่าหลุดพ้นแล้วจากกิเลส โดยตรง คือปัจจเวกขณญาณ ของพระอริยบุคคล สูงสุดคือของพระอรหันต์ ดังนั้น คำว่า การเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ คือ กล่าวโดยนัยสูงสุด คือ ปัญญาของพระอรหันต์ที่พิจารณาถึงกิเลสที่ได้ละแล้วหมด ไม่เหลืออีกนั่นเองครับ

วิมุตติ จึงมุ่งหมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ที่เป็นอรหัตตผลจิต เป็นต้น ส่วนวิมุตติญาณทัสสนะ มุ่งหมายถึง ปัญญาที่เกิดหลังจาก อรหัตตผลจิตเกิด พิจารณาว่ากิเลสทั้งปวงละได้แล้ว ไม่เหลืออีกครับ วิมุตติ เป็นโลกกุตตระ เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ส่วน วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นโลกียะครับ

ผู้ที่จะถึงพร้อมด้วยวิมุตติและวิมุตติญาณมทัสสนะ คือ ผู้ที่มีปัญญาถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ลูกศิษย์ธรรม  วันที่ 24 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

มีเพิ่มเติมอีกยิ่งดีครับ ขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย tanrat  วันที่ 25 ต.ค. 2557

สาธุ


ความคิดเห็น 4    โดย ประสาน  วันที่ 25 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 25 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิมุตติ ซึ่งเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสนั้น มีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งสูงสุด คือ อรหัตตมรรคจิต และ อรหัตตผลจิตเกิดขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรัหนต์ได้นั้น ปัญญาก็ย่อมจะเจริญขึ้นไปตามลำดับ กล่าวคือ จะต้องเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคาม และพระอนาคามีก่อนจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ พระอริยบุคคลทุกระดับขั้นดับกิเลสได้ตามลำดับมรรคของตนๆ ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นก็เป็นวิมุตติ และขณะที่ผลจิตเกิดขึ้น ก็เป็นวิมุตติด้วยเหมือนกัน แต่แตกกันที่มรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลส เมื่อมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ส่วนผลจิตนั้นเกิดขึ้นรับผล คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้ว จึงกล่าวได้ว่าพระอริยบุคคล หลุดพ้นจากกิเลสตามลำดับมรรค กิเลสใดที่ดับได้แล้วก็ไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ กิเลสใดที่ยังเหลืออยู่จากการที่มรรคเบื้องต่ำ ๓ ยังดับไม่ได้ ก็จะถูกดับได้อย่างหมดสิ้นด้วยอรหัตตมรรค

พระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นผู้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออยู่เลย ไม่ต้องมีกิจที่จะต้องกระทำเพื่อดับกิเลสอีกต่อไป จึงเป็นผู้ถึงพร้อม คือ บริบูรณ์ด้วยวิมุตติ และด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ (ปัญญาที่รู้ว่าหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว)

และถ้ากล่าวโดยนัยวิมุตติ ๕ นั้น ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ เป็นโลกิยะ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และ นิสสรณวิมุตติ เป็นโลกุตตระ เพราะไม่ได้เป็นธรรมที่เป็นไปในฝ่ายสังสารวัฏฏ์เลย และถ้าจำแนกวิมุตติ ๕ โดยเป็นสังขตะ (ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง) กับ อสังขตะ (ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด, ธรรมที่ไม่เกิด) นั้น ตทังควิมุตติ วิกขัมภณวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ และ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ เป็นสังขตะ ส่วน นิสสรวิมุตติ คือ พระนิพพาน เป็นอสังขตะ

วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นพิจารณากิเลสที่ดับได้แล้ว พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) และ พิจารณาพระนิพพาน ปัญญาที่เป็นวิมุตติญาณทัสสนะนั้นเป็นโลกิยะ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 6    โดย wannee.s  วันที่ 25 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Sea  วันที่ 22 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย khanathip  วันที่ 18 เม.ย. 2567

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย นิคม  วันที่ 21 ก.ค. 2567

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย preechacupr  วันที่ 22 ก.ค. 2567

ในเจตนาสูตรที่ ๒ ข้อ (๒๐๙) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ไม่ต้องด้วยเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดแก่เราเถิด ... ข้อที่บุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามความเป็นจริงนื้เป็นจริงนี้เป็นธรรมดา..

บุคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมมืจิตตั้งมั่น