โลก หรือ การเกิดดับ เทียบเคียงอย่างนี้พอจะได้หรือไม่ เพื่อให้เห็นแนวทาง
โดย ผ้าเช็ดธุลี  8 มิ.ย. 2554
หัวข้อหมายเลข 18505

การเกิดดับ ถ้าเป็นผู้เริ่มศึกษาคำสอนฯ โดยมีความเข้าใจว่าปัจทวาร มี ๕ สิ่งที่มากระทบ เช่น ๑ ตา (สิ่งที่เป็นทวารในการเห็น) + ๒ หู + ๕ ขณะเห็น ก็เพียงเห็นสี ขณะที่เห็นแล้วดับทันที หลังจากนั้น มีจิตจำ มีคิด มีรู้สึก ฯลฯ อย่างที่อาจารย์สอนว่า รูป ๑ รูป มีอายุ เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ดังนั้น เห็นดับ จำดับ คิดดับ รู้สึกดับ และ ฯลฯ (มาณสั้นๆ คร่าว)

มาณอย่างนี้จะเป็นการถูกต้องหรือไม่

ขอบคุณในความเมตตา

อนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 8 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ปัญญามีหลายระดับครับ การพิจาณาธรรมก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง ที่ไม่ใช่การรู้การเกิดดับของสภาพธรรมจริงๆ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับไปเสมอ ขณะนี้ ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ดังนั้นจิตเห็นต้องดับก่อน ถึง จิตได้ยินจะเกิด แต่ก่อนที่จิตได้ยิน หรือได้ยินเสียงเกิดขึ้นก็มีจิตอื่นๆ เกิดดับสืบต่อมากมายแล้วครับ แต่เพราะความรวดเร็วของจิตในการเกิดดับสืบต่อกัน ทำให้เหมือนเห็นไม่ได้ดับไปเลยและก็ยังได้ยินทั้งที่เห็นอยู่ครับ ดังนั้น การพิจารณาในความเกิดดับของสภาพธรรม ก็เป็นการพิจารณาเรื่องราวของสภาพธรรมที่ดับไปหมดแล้ว ซึ่งก็เป็นการพิจารณาที่ถูกว่าสภาพธรรมหนึ่งต้องดับไปก่อน จึงจะมีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดดับสืบต่อกันเกิดขึ้นตามลำดับครับ แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมาพิจารณา ให้เห็นการเกิดดับ เพราะการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม คือ ปัญญาระดับสูงที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และ ๔

ดังนั้นถ้ายังไม่รู้จักตัวธรรมลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ก็ไม่มีทางเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมได้เลยครับ เพราะยังไม่รู้ว่าสภาพธรรมคืออะไร ในขณะนี้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้ลักษณะของการเกิดดับไม่ได้เลย เพราะตัวธรรมก็ยังไม่รู้ครับ

ดังนั้นการเห็นการเกิดดับ ไม่ใช่ด้วยการพิจารณา แต่สำคัญคือ ค่อยๆ อบรมปัญญาขั้นการฟังในเรื่องสภาพธรรมต่อไป ปัญญาก็จะเกิดเองจนถึงรู้ลักษณะของสภาพธรรม และธรรมทำหน้าที่รู้ความจริง แม้ในเรื่องการเกิดดับ แต่เป็นเรื่องไกล และต้องอาศัยกาลเวลายาวนานในการจะไปถึงจุดนั้นครับ ดังนั้น สบายๆ ด้วยการฟังพระธรรมต่อไปครับ นี่คือหนทางที่จะไปถึงการเห็นการเกิดดับ แต่ไม่ใช่การไปพยายามคิดในเรื่องการเกิดดับจะเป็นหนทางการรู้การเกิดดับครับ ต้องรู้จักตัวธรรมก่อนครับจึงจะเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมได้ครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 8 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า อะไรที่เกิดดับ? สิ่งที่เกิดดับ เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน มีจริงอยู่ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม, เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นต้น เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดดับในชีวิตประจำวัน ในขั้นต้นของการศึกษาไม่ใช่ว่าจะไปรู้ถึงการเกิดดับของสภาพธรรม ก็ต้องค่อยๆ สะสมปัญญาไปตามลำดับ จริงๆ โดยเริ่มต้นด้วยความมั่นคงว่า เป็นธรรมที่มีจริง เห็น เป็นธรรมที่มีจริง ได้ยิน เป็นธรรมที่มีจริง ขณะที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม ก็สำคัญว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นต้น เมื่อได้สะสมความเข้าใจถูก ไปตามลำดับ ก็จะทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมมากยิ่งขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย ผ้าเช็ดธุลี  วันที่ 9 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณอย่างมากครับ สำหรับ Khun Paderm and คุณคำปั่น

ฟังแล้วชัดเจนเลยครับ คำแนะนำคุ้นหูมากครับ แต่จะเข้าใจต้องใช้เป็นกาลจีระจริงๆ

ด้วยผมฟัง พื้นฐานพระอภิธรรม ๑ กะ ปกิณณกธรรม ๑ ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ บวกกับฟังทางวิทยุ ของท่านอาจารย์สุจินต์ ตามสถานีต่างๆ

ธรรมะแปลกจริงๆ ที่ยิ่งฟัง ฟังแต่ละครั้งก็เข้าใจเล็กๆ เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าต้องฟังอย่างที่แนะนำต่อไป คงเป็นเพราะ ปัญญามาจากการฟัง ใช่ไหมครับ

และ ผมควรอ่านพระไตรปิฎก ด้วยหรือไม่ครับ เคยอ่านบ้าง แต่ดูเหมือนอรรถกถา มีนัย ที่ผมยากจะเข้าใจ เพราะ ๑ อรรถกถา ตอนไปฟังที่มูลนิธิฯ ยังใช้เวลาสนทนาพอควร ซึ่งละเอียดมากเลยครับ แถมบางทีคิดไปเอง กลายเป็นคนละเรื่องเลยครับ อย่างนี้ผมควรฟังให้มาก และ ให้เพิ่มขึ้น ยังไม่ควรอ่านใช่หรือไม่ครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 9 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

อนุโมทนาครับ ที่เข้าใจขึ้น จริงอย่างที่คุณผ้าเช็ดธุรีกล่าวครับ การฟังพระธรรม รอบแรกก็เข้าใจนิดนึง ฟังอีกหรือฟังซ้ำอีกก็เข้าใจขึ้น เพิ่มขึ้นเพราะปัญญา พิจารณาในสิ่งที่ฟัง ก็เพิ่มความละเอียดในสิ่งที่ได้ฟังครับ ดังนั้นคำว่าจิรกาลภาวนาก็คือการอบรมปัญญา โดยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมยาวนาน บางครั้งคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่เมื่อกลับมาฟังหรือ สนทนาธรรม ก็อาจเข้าใจผิด หรือเข้าใจยังไม่มาก ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น ตรงขึ้นครับ นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรมบ่อยๆ รวมทั้งมีการสนทนาธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกขึ้นครับ ปัญญาจึงเกิดจากการฟัง การศึกษาและการสนทนาครับ

ส่วนในเรื่องการอ่านพระไตรปิฎกนั้น ก็พออ่านได้บางเล่มที่พอจะเข้าใจได้บ้าง เช่นคาถาธรรมบท เป็นต้น แต่ก็ต้องอาศัยการสนทนาสอบถามจากผู้รู้และอาศัย นัยของพระอรรถกถาที่อธิบาย เพราะไม่เช่นนั้นก็คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริง พระธรรมของพระพุทธเจ้า ลึกซึ้งอันเป็นโลกุตตร ดังนั้นอ่านเองได้บ้าง แต่ก็ต้องสอบถาม สนทนาแม้แต่อรรถกถาก็ยาก แสดงว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าลึกซึ้ง ไม่ใช่ง่ายครับ การมาสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ เมื่อมีโอกาส ซึ่งวิทยากรของมูลนิธิฯ ก็สนทนาธรรมโดยนำพระไตรปิฎก สูตรต่างๆ มาสนทนาและอธิบายอรรถกถาโดยละเอียด อธิบายให้เข้าใจ เมื่อมาฟังในวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็จะได้ความละเอียด รวมทั้งสามารถสอบถามได้ครับ ทำให้เป็นโอกาสของการเจริญขึ้นของปัญญาครับ รวมทั้งการฟังพระสูตร ในแผ่นที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายไว้ ท่านก็แสดงพระธรรมตามพระไตรปิฎกและก็อธิบายอรรถกถาด้วย ก็เท่ากับเราอ่านพระไตรปิฎกแล้ว และก็ได้ผู้รู้อธิบายให้ฟังก็ทำให้เข้าใจขึ้นครับ ดังนั้น มีเหตุปัจจัยก็อ่าน แต่ก็ต้องสอบถาม สนทนา หรือ อาศัยการฟังจากแผ่นเอ็มพี 3 ที่กล่าวข้อความพระไตรปิฎก ก็เหมือนการอ่านพระไตรปิฎก เช่นกันครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ผ้าเช็ดธุลี  วันที่ 9 มิ.ย. 2554

กราบขอบพระคุณมากครับ หลายๆ ครั้งครับ

อนุโมทนากับสิ่งดีๆ ที่ให้ด้วยครับ

ต้องตอบว่า ใช่เลย อย่างที่แนะนำเลยครับ

คงอย่างอาจารย์สุจินต์ สอน ด้ามมีดกว่าจะสึก ... ฟังแล้วเหมือนน่าจะท้อเลยครับ แต่ไม่ท้อครับ ขอให้ทุกท่านที่ดำเนินงานของมูลนิธิฯ และ ผู้เข้ามาใช้เว็บฯ และ ผู้สนทนา และ ศึกษาเรื่องราวของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่ความสุข ตลอดไปครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 9 มิ.ย. 2554

ความเข้าใจพระธรรมทำให้ผู้นั้น ... อาจหาญ ร่าเริง

เพราะกำลังเดินไปในหนทางที่ถูก

ถึงแม้ว่าจะยาวไกล ... แต่ก็ไม่หลงทางแล้วค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย pamali  วันที่ 13 ก.ค. 2554

สาธุ สาธุ...


ความคิดเห็น 8    โดย เซจาน้อย  วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย boong  วันที่ 17 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 8 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 28 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ