ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 207
๘. ปฐมนกุหนาสูตร
ว่าด้วยแนวปฏิบัติพรหมจรรย์
[๒๑๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ
มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะ
หลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ
ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วย
อาการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติ
เพื่อการสำรวมและเพื่อการละ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มี-
พระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้
ทรงแสดงพรหมจรรย์เครื่องกำจัดจัญไร
อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อ
การสำรวม เพื่อการละ ทางนี้ พระพุทธ-
เจ้าทั้งหลายนี้ประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหา
คุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่า
ใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์นั้น ตามที่
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ
ผู้กระทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา จัก
กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้.
เนื้อความแม้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า
ได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.
จบปฐมนกุหนาสูตรที่ ๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปฐม นกุหนาสูตรว่าด้วยแนวการประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ความหมายคือ การประพฤติที่ประเสริฐ พรหมจรรย์ที่เป็นการประพฤติที่
ประเสริฐมีหลายความหมายดังนี้
1.การให้
2.ความขวนขวาย
3.ศีล 5
4.พรหมวิหาร
5.เมถุนวิรัติ (งดเว้นการล่วงเป็นคู่ๆ )
6.ความสันโดษ
7.ความเพียร
8.อุโบสถศีลมีองค์ 8
9.อริยมรรคมีองค์ 8
10.คำสอนในพระพุทธศาสนา
สำหรับพระสูตรนี้ (ปฐม-ทุติย นกุหนาสูตร) ในเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ในสูตรนี้หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 และคำสอนในพระพุทธศาสนา
จากข้อความในพระสูตรที่ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุ ไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่
ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ
ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้
-----------------------------------------------------------------------
อธิบายดังนี้ บุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติ ศึกษาธรรมเพื่อจุดประสงค์ คือ หลอกลวงชน
หลอกลวงอย่างไร หลอกลวงว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ไม่ติดลาภสักการะ
เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้มีคุณธรรม ให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในสิ่งที่ตนกระทำด้วยข้อปฏิบัติ
ในพระพุทธศาสนามีการรักษาศีล เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้มีศีล เพื่อจะได้มาซึ่ง
ลาภ สักการะ สรรเสริญและปัจจัย 4 การหลอกลวงโดยการใช้อิริยาบถที่สำรวม เช่น
การเดิน ยืน ที่สำรวมเพื่อหลวกลวงชนเหล่าอื่นว่าเป็นผู้สำรวม เป็นต้น เพื่อให้ได้มา
ซึ่ง ลาภ สักการะ สรรเสริญ ปัจจัย 4 เหล่านี้คือไม่ใช่ประโยชน์หรือผลของการประพฤติ
พรหมจรรย์ หรือ การประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8
พรหมจรรย์อันคำสอนของพระพุทธเจ้าและข้อประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนามี
การรักษาศีล เป็นต้น พรหมจรรย์นี้ไม่ใช่เพื่อประจบคนเหล่าอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย
4 รวมทั้งลาภ สักการะ สรรเสริญ ประจบอย่างไร ประจบด้วยการพูดชม พูดเยินยอ
เป็นต้น เพื่อจะได้มาซึ่งลาภ สักการะชื่อเสียงและวัตถุปัจจัย 4 ต่างๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลของ
การประพฤติพรหมจรรย์หรือการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือการ
ประพฤติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นรู้จักเราเราว่าเป็นผู้มีศีล
เป็นผู้มีความเพียร เป็นพหูสูต เป็นผู้มักน้อยนั่นไม่ใช่ผลของการประพฤติตามคำสอน
และอริยมรรคของพระพุทธเจ้า และประพฤติข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเพื่อให้คน
เหล่าอื่นรู้จักเรา รู้จักว่าเป็นพหูสูต ฟังธรรมมาก เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ขัดเกลา เป็นผู้มี
คุณธรรมประการต่างๆ นี่ไม่ใช่ผลของการประพฤติในอริยมรรคมีองค์ 8 และตามพระ-
ธรรมคำสั่งสอนเพราะขณะนั้นเพื่มโลภะ ความติดข้องให้ผู้อื่นรู้จักเรา
ข้อประพฤติในพระพุทธศาสนามีการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส
ขัดเกลาความไม่รู้ ผลคือการละกิเลสได้จนหมดสิ้น แต่หากเป็นไปเพื่อได้ลาภ สักการะ
ชื่อเสียง เพื่อให้ได้ปัจจัย 4 นั่นเท่ากับเพิ่มสมุทัยคือโลภะ ความติดข้องมากขึ้น เมื่อ
เป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นจะศึกษาธรรมอยู่ก็ตามแต่ศึกษาด้วยจุดประสงค์ผิด ไม่ใช่หนทางที่
ถูกต้องเหมือนจับงูพิษที่หาง งูย่อมกัดเขาได้ ก็ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถบรรลุคุณธรรม
และดับกิเลสได้เลยเพราะจุดประสงค์ไม่ถูกต้อง ความเป็นผู้ตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
จากพระพุทธพจน์ต่อไปที่ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติ
เพื่อการสำรวม และเพื่อการละ.
------------------------------------------------------------------------
การสำรวมไม่ได้หมายถึงกิริยาท่าทางภายนอก ที่ดูสำรวม แต่การสำรวมเป็นเรื่องของ
จิตใจ ขณะนั้นจิตต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อบุคคลปฏิบัติตาม ผลคือเป็นไปเพื่อการสำรวม สำรวมด้วย
ศีล สำรวมด้วยสติ สำรวมด้วยปัญญา สำรวมด้วยความเพียรและสำรวมด้วยความอดทน
จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของกุศลธรรม สำรวมที่จะไม่เป็นไปในอกุศลเพราะกุศลเกิดนั่นเอง
การละ การละต้องละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์อันเป็นคำสอน
ของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อบุคคลปฏิบัติตามผลคือเป็นไปเพื่อการ
ละ ละกิเลสประการต่างๆ รวมทั้งละความยึดถือสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เมื่อ
ประพฤติตามคำสอนและเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 หรือการเจริญสติปัฏฐาน 4 ผลคือ
เข้าใจความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นปัญญาเกิด ละความไม่รู้ รู้ขึ้นว่า
เป็นธรรม จนละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตนได้ จนละอกุศลธรรมมีกิเลสประการ
ต่างๆ เพราะการประพฤติตามคำสอนและการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
อธิบายพระคาถาประพันธ์ที่ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์
เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวม
เพื่อการละ, ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหา
คุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่า ใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์
นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตาม
คำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้.
-------------------------------------------------------------------------------- พระพุทธเจ้าทรงแสดงพรหมจรรย์คือคำสอนและอริยมรรคมีองค์ 8 อันกำจัดจัญไรคือ
สิ่งที่ไม่ดี มีกิเลสประการต่างๆ ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นคือการระลึกรู้ลักษณะ
ของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปัญญานี้เองกำจัดจัญไรคือความ
สงสัย ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลและความไม่รู้ ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าอัน
เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมทำให้ถึงฝั่งคือนิพพาน ฝั่งที่เราอยู่กันนี้คือฝั่งของกิเลส ฝั่ง
ของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นสังสารวัฏฏ์ แต่เมื่อบุคคลเจริญสติปัฏฐานคือ
การรู้ความจริงในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ผลคือย่อมถึงฝั่งคือพระนิพพานที่เป็นอีก
ฝั่งหนึ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเลย ไม่มีกิเลสประการต่างๆ ด้วย อัน
เป็นไปเพื่อการสำรวม สำรวมด้วยกุศลธรรมประการต่างๆ มีปัญญา เป็นต้น และการละ
ละด้วยปัญญาตามระดับขั้น ละกิเลสมีความไม่รู้ เป็นต้น อันพระพุทธเจ้าและพระสาวก
ได้ดำเนินตามหนทางนี้คืออริยมรรคมีองค์ 8
คำว่าพระพุทธเจ้าทรงแสวงหาคุณใหญ่คือแสวงหาคุณธรรมมี ศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นต้น ชนเหล่าใดประพฤติตามพระธรรม ด้วยการเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้
อันเป็นการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ชนเหล่านั้นย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์คือดับกิเลส
ได้หมด ไม่เกิดอีกเลย
ในพระคาถาของปฐมนกุหนาสูตรและทุติยนกุหนาสูตรมีต่างกันตรงพระคาถา
ประพันธ์ตรงที่ว่า
ในสูตรที่ 1 แสดงไว้ว่า พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนและการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็น
ไปเพื่อการสำรวม เพื่อการละ ซึ่งได้กล่าวแล้วในเรื่องการสำรวมและการละ
ส่วนในสูตรที่2 ทุติยจะแสดงไว้ว่า พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนและการเจริญอริยมรรคมี
องค์ 8 เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้
เพื่อความรู้ยิ่ง รู้ยิ่งในอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่มีจริง
เช่น เห็น ได้ยิน เสียง คิดนึกเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา การรู้ความจริง
ในสิ่งที่ปรากฎจึงเป็นสิ่งที่สมควรและควรรู้ยิ่ง เพราะละการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์
บุคคลเพราะความจริงแล้วก็มีแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งจึง
เป็นสภาพธรรมที่มีจริงขณะนี้ด้วยการอบรมอริยมรรคมีองค์ 8 หรือการเจริญสติปัฏฐาน
ที่เป็นไปในการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ การรู้ความจริงในธรรมที่
ควรรู้ยิ่ง (สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้) ก็ต้องด้วยปัญญาอันเป็นความรู้วิเศษยิ่งที่เป็นไป
ในการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง
ส่วนการกำหนดรู้ ก็ไม่ใช่เราไปกำหนดที่จะรู้ แต่ปัญญาอันเป็นไปในการเจริญ
อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นไปในการละ ปัญญานั่นเองที่ทำหน้าที่กำนหดรู้ในสภาพธรรม
ที่มีจริงในขณะนี้ จนถึงการละกิเลสได้หมดสิ้น
พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าและอริยมรรคมีองค์ 8 จึงเป็นไปเพื่อการ
ละ การสำรวมและรู้ธรรมอันยิ่งคือสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อละความยึดถือว่า
เป็นสัตว์ บุคคลตัวตน แต่ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ เพื่อประจบคน เพื่อหลอกลวงคนอื่น
แต่ประโยชน์คือการขัดเกลากิเลส ละความไม่รู้ ละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลและ
ดับกิเลสได้จนหมดสิ้น สำคัญที่สุดคือต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้น กาย วาจาและใจก็จะต้อง
ไม่หลอกลวงผู้อื่น ไม่ประจบคน แต่เป็นไปเพื่อละความไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้
อันเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งและเป็นผลของการประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนานี้ อนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
ปฐม-ทุติยนกุหนาสูตร ...วันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ยอดเลยครับ เยี่ยมจริงๆ มีประโยชน์มาก
อนุโมทนาและขอบคุณ คุณผเดิมมากครับ
กุศลทุกประเภทเป็นพรหมจรรย์ กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ประกอบ
ด้วยปัญญาก็มี แต่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นไปในสติปัฏฐานเป็นพรหมจรรย์
ที่ประเสริฐที่สุด ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่ากิเลสทั้งปวงจะดับหมดสิ้นไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ตั้งจิตไว้ชอบในการศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เท่านั้น (ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น) และที่สำคัญประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา คือ เพื่อละกิเลส พ้นจากทุกข์ ไม่เกิดอีก ซึ่งเป็นการดับกิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่มีคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแม้แต่บทเดียวที่จะเป็นไปเพื่อความติดข้องต้องการ หรือเป็นการเพิ่มพูนกิเลสอกุศลให้มีมากยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น พระธรรมคำสอนทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใดก็ตาม ก็เพื่อประโยชน์สูงสุด คือ การดับกิเลส พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง หนทางแห่งการดับกิเลสนั้น มีอยู่แล้ว คือ การอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการอบรมมรรคมีองค์ ๘ อันเริ่มต้นด้วยความเห็นถูก แต่การที่จะดำเนินไปตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนจริงๆ ถ้าดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง โอกาสแห่งการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ก็ย่อมจะมีได้ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาต่อไป โดยเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ. ...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อ.ผเดิม อ.วรรณี อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
มีประโยชน์มาก ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง คุณคำปั่น และ ทุกท่านครับ