[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 601
ปฐมปัณณาสก์
อนุตตริยวรรคที่ ๓
๙. อุทายีสูตร
ว่าด้วยอนุสสติ ๖
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 601
๙. อุทายีสูตร
ว่าด้วยอนุสสติ ๖
[๓๐๐] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก ท่านพระอุทายีมาถามว่า ดูก่อนอุทายี อนุสสติมีเท่าไรหนอแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม อย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้นิ่งอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถาม ท่านพระอุทายีแม้ครั้งที่ ๒ ว่า ดูก่อนอุทายี อนุสสติมีเท่าไรหนอแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้นิ่งอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสถามท่านพระอุทายีแม้ครั้งที่ ๓ ว่า ดูก่อนอุทายี อนุสสติมีเท่าไรหนอแล แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุพายีก็ได้นิ่งอยู่.
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกะ ท่านพระอุทายีว่า ดูก่อนท่านอุทายี พระศาสดาตรัสถามท่าน ท่านพระอุทายีได้กล่าวว่า ดูก่อนท่านอานนท์ ผมได้ยินพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้ เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั่งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติ.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะ ท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เราได้รู้แล้วว่า อุทายีภิกษุนี้ เป็นโมฆบุรุษ ไม่เป็นผู้ประกอบอธิจิตอยู่ แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ต่อไปว่า ดูก่อนอานนท์ อนุสสติมีเท่าไรหนอแล ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนุสสติมี ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน? คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 602
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติ ซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมทำอาโลกสัญญาไว้ในใจ ย่อมตั้งสัญญาว่า เป็นกลางวันอยู่ เธอกระทำอาโลกสัญญาว่า กลางวันไว้ในใจ ฉันใด กลางคืน ก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจปลอดโปร่ง อันนิวรณ์ไม่พัวพัน ย่อมเจริญจิตที่มีความสว่าง ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติ ซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อได้ญาณทัสสนะ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้ม เต็มด้วยสิ่งไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสมหะ หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อละกามราคะ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงเห็นสรีระ เหมือนถูกทิ้งไว้ในป่าช้าตายแล้ว วันหนึ่ง สองวัน หรือสามวัน พองขึ้น มีสีเขียวคล้ำ มีหนองไหลออก เธอย่อมน้อม ซึ่งกายนี้เข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แล ย่อมมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ อนึ่ง พึงเห็นสรีระ เหมือนถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงกา นกตะกรุม แร้ง สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ปาณชาติต่างๆ กำลังกัดกิน เธอย่อมน้อมกายนี้เข้าไป เปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แล ย่อมมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 603
เป็นอย่างนั้นไปได้ อนึ่ง พึงเห็นสรีระ เหมือนถูกทิ้งไว้ในป่าช้า มีโครงกระดูก มีเนื้อและเลือด มีเอ็นเป็นเครื่องผูก มีโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ และเลือด มีเอ็นเป็นเครื่องผูก มีโครงกระดูก ปราศจากเนื้อ และเลือด มีเอ็นเป็นเครื่องผูก เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเครื่องผูก เรี่ยราดไปตามทิศต่างๆ คือ กระดูกมือทางหนึ่ง กระดูกเท้าทางหนึ่ง กระดูกแข้งทางหนึ่ง กระดูกขาทางหนึ่ง กระดูกเอวทางหนึ่ง กระดูกสันหลังทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมกายนี้แล เข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แล ย่อมมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ อนึ่ง พึงเห็นสรีระ เหมือนถูกเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกมีสีขาวเหมือนสีสังข์ เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองเกินหนึ่งปี เป็นท่อนกระดูกผุ เป็นจุณ เธอย่อมน้อมกายนี้เข้าไปเปรียบอย่างนี้ว่า กายแม้นี้แล ย่อมมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติ ซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อถอนอัสมิมานะ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้บริสุทธิ์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติ ซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อแทงตลอด ซึ่งธาตุหลายประการ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนุสสติ ๕ ประการนี้แล.
พ. ดีละ ดีละ อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงจำอนุสสติข้อที่ ๖ แม้นี้ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ มีสติยืนอยู่ มีสตินั่งอยู่ มีสตินอน มีสติประกอบการงาน ดูก่อนอานนท์ นี้เป็นอนุสสติ ซึ่งภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ.
จบอุทายีสูตรที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 604
อรรถกถาอุทายีสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในอุทายีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อุทายี ได้แก่ พระโลฬุทายีเถระ. บทว่า สุณามหํ อาวุโส ความว่า ดูก่อนอาวุโส เราไม่ใช่คนใบ้ เราได้ยินพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เรายังใคร่ครวญปัญหาอยู่. บทว่า อธิจิตฺตํ ได้แก่ สมาธิจิต และวิปัสสนาจิต. บทว่า อิทํ ภนฺเต อนุสฺสติฏฺานํ ความว่า เหตุแห่งอนุสสติ กล่าวคือฌานทั้ง ๓ นี้. บทว่า ทิฏฺธมฺมสุขวิหาราย สํวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุข ในอัตตภาพนี้เท่านั้น. บทว่า อาโลกสญฺํ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นในอาโลกนิมิต. บทว่า ทิวา สญฺํ อธิฏฺาติ ได้แก่ ตั้งสัญญาไว้ว่า กลางวัน. บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า ในเวลากลางวัน เธอมนสิการอาโลกสัญญาโดยประการใด แม้ในเวลากลางคืน ก็มนสิการอาโลกสัญญานั้น อย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า ยถา รตฺตึ ตถา ทิวา ความว่า ในเวลากลางคืน เธอมนสิการ อาโลกสัญญาอย่างใด แม้ในเวลากลางวัน ก็มนสิการอาโลกสัญญานั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. บทว่า วิวเฏน ได้แก่ ปรากฏแล้ว. บทว่า อปริโยนทฺเธน ความว่า จะถูกนิวรณ์รึงรัดไว้ก็หาไม่. บทว่า สปฺปภาสํ จิตฺตํ ภาเวติ ความว่า เพิ่มพูนจิตพร้อมด้วยแสงสว่าง คือยังจิตนั้นให้เจริญ เพื่อประโยชน์ แก่ทิพยจักษุญาณ. ก็คำใดที่พระอานนทเถระเจ้ากราบทูลว่า อาโลกสญฺํ มนสิ กโรติ คำนั้นพึงเข้าใจว่า ท่านกล่าวหมายเอาอาโลกสัญญาที่กำจัด ถีนมิทธะออกไป ไม่ควรเข้าใจว่า หมายเอาอาโลกสัญญา คือทิพยจักษุญาณ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 605
บทว่า าณทสฺสนปฺปฏิลาภาย ความว่า เพื่อการได้เฉพาะ ซึ่งญาณทัสสนะ กล่าวคือ ทิพยจักษุ. บรรดาคำมีอาทิว่า อิมเมว กายํ คำใด ที่จะพึงกล่าว คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว โดยพิสดาร โดยอาการทุกอย่าง ในตอนว่าด้วยกายคตาสติกัมมัฏฐาน ในวิสุทธิมรรค. บทว่า กามราคสฺส ปหานาย ความว่า เพื่อต้องการละราคะ ที่เกิดขึ้นจากเบญจกามคุณ. บทว่า เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย ความว่า พึงเห็นฉันใด. บทว่า สรีรํ ได้แก่ สรีระของผู้ที่ตายแล้ว. บทว่า สีวถิกาย ฉทฺฑิตํ ได้แก่ ร่างกายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า. ซากศพ ชื่อว่า เอกาหมตํ เพราะเป็นซากของ สัตว์ที่ตายแล้ววันเดียว. ชื่อว่า ทฺวีหมตํ เพราะเป็นซากของสัตว์ที่ตายแล้ว ๒ วัน. ชื่อว่า ตีหมตํ เพราะเป็นซากของสัตว์ที่ตายแล้ว ๓ วัน. ร่างสัตว์ ชื่อว่า อุทธุมาตะ เพราะหลังจากสิ้นชีวิตแล้ว จะพองขึ้น พองขึ้น โดยอืดขึ้นไปตามลำดับ เหมือนเป่าด้วยลม. อุทธุมาตกะ ก็คืออุทธุมาตะ นั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ซากศพที่พองขึ้นๆ อย่างน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อุทธุมาตกะ. ซากศพที่มีสีเปลี่ยนแปลงไป ท่านเรียกว่า วินีละ. วินีละ ก็คือวินีละ นั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ จนน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วินีลกะ คำว่า วินีลกะนี้ เป็นชื่อของซากศพที่มีสีแดง ในที่ที่มีเนื้อนูนขึ้น มีสีขาว ในที่ที่กลัดหนอง และโดยมากก็มีสีเขียว เหมือนห่อด้วยผ้าสีเขียว ในที่ที่เขียว.
ซากศพที่มีหนองไหล ออกจากปากแผลทั้ง ๙ แห่ง ซึ่งเป็นที่ปะทุออก ชื่อว่า วิปุพพะบ้าง. วิปุพพกะก็คือวิปุพพะ นั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ซากศพ ที่มีหนองไหลออกอย่างน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิปุพพกะ. ซากศพที่กลายเป็นศพมีหนองไหล คือถึงความเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิปุพพกชาตะ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 606
บทว่า โส อิมเมว กายํ ความว่า ภิกษุนั้นน้อมนำกายของตนนี้ เข้าไปเปรียบเทียบกับกายนั้น ด้วยญาณ. เปรียบเทียบอย่างไร? เปรียบเทียบว่า ถึงแม้กายนี้แหละ ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา จะเป็นอย่างนี้ ล่วงอย่างนี้ไปไม่ได้. มีคำอธิบายว่า เพราะธรรมทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ คือ อายุ ไออุ่น และวิญญาณมีอยู่. กายนี้จึงควรแก่อิริยาบถ มีการยืนได้ เดินได้ เป็นต้น แต่เพราะปราศจากธรรมทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ แม้ร่างกายนี้ก็จะมีสภาพอย่างนี้ เป็นธรรมดา คือ มีสภาพเปื่อยเน่าอย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า เอวํ ภาวี ความว่า จักมีความแตกต่าง โดยเป็นซากศพที่ขึ้นพอง เป็นต้น อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า เอวํ อนตีโต ความว่า จะไม่ล่วงความเป็นศพขึ้นพอง อย่างนี้ไปได้. บทว่า ขชฺชมานํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมีกาเป็นต้น เกาะที่ท้องเป็นต้น แล้วจิกกินเนื้อท้อง ริมฝีปาก ลูกตา เป็นต้น. บทว่า สมํสโลหิตํ ได้แก่ ซากศพ ที่ประกอบด้วยเนื้อและเลือดที่ยังเหลือติดอยู่. บทว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ ความว่า ถึงเนื้อจะหมดไปแล้ว โลหิตก็ยังไม่เหือดแห้ง. คำว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ นี้ ท่านกล่าวไว้หมายถึง ซากศพที่หมดเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือดนั้น. บทว่า อยฺเน ความว่า โดยทิศทางอื่น. บทว่า หตฺถฏฺิกํ ความว่า กระดูกมือถึงแยกออกเป็น ๖๔ ชิ้น ก็กระจัดกระจายแยกกันไป. แม้ในกระดูกเท้าเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า เตโรวสฺสิกานิ ความว่า กระดูกทั้งหลายที่ทั้งไว้เกิน ๑ ปี. บทว่า ปูตีนิ ความว่า กระดูกที่ตั้งอยู่กลางแจ้งเกิน ๑ ปี นั่นแหละ จะผุ เพราะถูกลม แดด และฝนชะ แต่กระดูกที่ฝังอยู่ในแผ่นดิน จะอยู่ได้นาน. บทว่า จุณฺณกชาตานิ ได้แก่ กระจัดกระจายเป็นผุยผงไป. ในทุกๆ บทต้องทำการประกอบความ ด้วยสามารถแห่งสัตว์ทั้งหลาย มีสัตว์จิกกิน เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วว่า โส อิมเมว ดังนี้. บทว่า อสฺมิมานสมุคฺฆาตาย ความว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 607
เพื่อต้องการถอนมานะ ๙ อย่าง อันเป็นไปแล้ว ว่าเรามีดังนี้. บทว่า อเนกธาตุปฏิเวธาย ความว่า เพื่อต้องการแทงตลอดธาตุ มีอย่างมิใช่น้อย. บทว่า สโตว อภิกฺกมติ ความว่า เมื่อจะเดิน ก็เป็นผู้ประกอบไปด้วยสติปัญญา เดินไป. บทว่า สโตว ปฏิกฺกมติ ความว่า เมื่อจะถอยกลับ ก็ประกอบไปด้วยสติปัญญา ถอยกลับ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สติสมฺปชญฺาย ความว่า ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความระลึกได้ และความรู้ ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติ และญาณคละกันไป ด้วยประการฉะนี้แล.
จบอรรถกถา อุทายีสูตรที่ ๙