[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 185
๒. มหานิทานสูตร
อรรถกถามหานิทานสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 13]
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 185
อรรถกถามหานิทานสูตร
มหานิทานสูตรมีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ณ กุรุชนบท ดังนี้.
ต่อไปนี้เป็นการพรรณนาบทที่ยากในพระสูตรนั้น บทว่า กุรูสุ วิหรติ ความว่า พระราชกุมารชาวชนบท ชื่อว่า กุรุ ที่ประทับของพระราชกุมารนั้นเป็นชนบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่ากุรูสุด้วยศัพท์ที่เพิ่มขึ้นมา ในชนบทชื่อกุรูสุนั้น ก็พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า ในรัชกาลพระเจ้ามันธาตุ พวกมนุษย์ใน ๓ ทวีปได้ยินมาว่า ชมพูทวีปเป็นที่เกิดของบุรุษผู้สูงสุด นับแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นทวีปอุดม น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก จึงพากันมากับพระเจ้าจักรพรรดิมันธาตุราช ผู้ปล่อยจักรแก้ว แล้วมุ่งติดตามไปยังทวีปทั้ง ๔ ลําดับนั้น พระราชาตรัสถามปริณายกแก้วว่า ยังมีที่รื่นรมย์กว่ามนุษยโลกหรือไหมหนอ ปริณายกแก้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสอย่างนั้นเล่า พระเจ้าข้า พระองค์ไม่ทรงเห็นอานุภาพของพระจันทร์และพระอาทิตย์ หรือ ฐานะของพระจันทร์ และ พระอาทิตย์เหล่านั้น น่ารื่นรมย์กว่านี้มิใช่หรือ พระเจ้าข้า พระราชาได้ทรงปล่อยจักรแก้วไป ณ ที่นั้น
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้สดับว่า พระเจ้ามันธาตุราชเสด็จมาแล้ว คิดว่า พระราชาทรงฤทธิ์มาก เราไม่สามารถจะห้ามการรบได้ จึงมอบราชสมบัติของตนให้ พระเจ้ามันธาตุราชทรงรับราชสมบัตินั้นแล้วตรัสถามต่อไปว่า ยังมีที่น่ารื่นรมย์ยิ่งกว่านี้อีกไหม ลําดับนั้น ท้าวมหาราชเหล่านั้น กราบทูลถึงภพดาวดึงส์แก่พระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ ภพดาวดึงส์น่ารื่นรมย์กว่านี้ มหาราชทั้ง ๔
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 186
เหล่านี้เป็นผู้รับใช้ของท้าวสักกเทวราช ณ พิภพนั้น ยืนอยู่ ณ พื้นของผู้รักษาประตู ท้าวสักกเทวราชมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ท้าวสักกเทวราชนั้นมีสถานที่สําหรับบํารุงบําเรอเหล่านี้ คือ เวชยันตปราสาทสูง ๑,๐๐๐ โยชน์ เทวสภาชื่อสุธัมมาสูง ๕๐๐ โยชน์ เวชยันตรถสูง ๑๕๐ โยชน์ ช้างเอราวัณก็เหมือนกัน สวนนันทวัน จิตรลดาวัน ปารุสกวัน มิสสกวัน ประดับด้วยต้นไม้ทิพย์ ๑,๐๐๐ ต้น ต้นทองหลาง ต้นทองกวาวสูง ๑๐๐ โยชน์ ภายใต้ต้นไม้นั้นมีแท่นปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ สูง ๑๕ โยชน์ มีสีเหมือนดอกชัยพฤกษ์ เพราะความอ่อนของบัณฑุกัมพลศิลาอาศน์นั้น เมื่อท้าวสักกะประทับนั่ง พระวรกายครึ่งหนึ่งฟุบลงไป พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว มีพระประสงค์จะเสด็จไป ณ สักกเทวโลกนั้น จักรแก้วได้พุ่งขึ้นไปแล้ว จักรแก้วนั้นตั้งอยู่บนอากาศพร้อมกับเสนาประกอบด้วยองค์ ๔ ต่อแต่นั้น จักรแก้วก็ได้ลงท่ามกลางเทวโลกทั้งสอง ประดิษฐานอยู่บนแผ่นดิน พร้อมกับเสนาประกอบด้วยองค์ ๔ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า พระราชาพระองค์เดียวเท่านั้นได้เสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์.
ท้าวสักกเทวราชสดับว่า พระเจ้ามันธาตุราชเสด็จมาแล้ว กระทําการต้อนรับพระเจ้ามันธาตุราชนั้น ตรัสว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ข้าแต่มหาราช สมบัติเป็นของพระองค์ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงปกครองเถิด แล้วทรงแบ่งราชสมบัติพร้อมด้วยนางระบําให้เป็นสองส่วน ได้ประทานให้ส่วนหนึ่ง เมื่อพระราชามันธาตุราชพอเสด็จประทับอยู่บนภพดาวดึงส์เท่านั้น ความเป็นมนุษย์ได้หายไปแล้ว ความเป็นเทพได้ปรากฏทันที ได้ยินว่า เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาศน์กับท้าวสักกะ พวกเทวดามิได้สังเกตพระราชานั้นว่า ความต่างกันย่อมปรากฏโดยเพียงหลับตา ย่อมหลงลืมในความต่างกันของท้าวสักกะ และของพระราชานั้น พระราชา-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 187
มันธาตุราชทรงเสวยทิพยสมบัติ ณ ภพดาวดึงส์นั้นทรงครองราชสมบัติ จนท้าวสักกะทรงอุบัติแล้วจุติแล้วถึง ๓๖ องค์ ไม่ทรงอิ่มด้วยกาม ครั้นจุติจากภพดาวดึงส์แล้วตกลงในพระอุทยานของพระองค์ พระวรกายถูกลมและแดดสัมผัสได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว.
ก็เมื่อจักรแก้วตั้งอยู่บนแผ่นดิน ปริณายกแก้วให้เขียนรองพระบาทของพระเจ้ามันธาตุราชที่แผ่นทองคํา แล้วประกาศราชสมบัติว่า นี่คือราชสมบัติของพระเจ้ามันธาตุราช แม้พวกมนุษย์ที่มาจากทวีปทั้ง ๓ เหล่านั้น ก็ไม่สามารถจะกลับไปได้ จึงเข้าไปหาปริณายกแก้ววิงวอนว่า ข้าแต่ท่าน พวกข้าพเจ้ามาด้วยอานุภาพของพระราชา บัดนี้ไม่สามารถกลับไปได้ ขอท่านได้โปรดให้ที่อยู่แก่พวกข้าพเจ้าเถิด ปริณายกแก้วได้ให้ชนบทหนึ่งๆ แก่มนุษย์เหล่านั้น ในประเทศเหล่านั้น ประเทศที่พวกมนุษย์มาจากบุพพวิเทหะทวีปอาศัยอยู่ได้ชื่อว่า วิเทหรัฐ ตามความหมายเดิมนั้นนั่นเอง ประเทศที่พวกมนุษย์มาจากอมรโคยานทวีปอาศัยอยู่ได้ชื่อว่า อปรันตชนบท ประเทศที่พวกมนุษย์มาจากอุตตรกุรุทวีปได้ชื่อว่า กุรุรัฐ ท่านกล่าวโดยเป็นพหูพจน์ประสงค์เอาบ้านและนิคมเป็นต้นมาก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว กุรูสุ วิหรติ ประทับอยู่ ณกุรูชนบท.
ในบทว่า กมฺมาสธมฺมํ นี้ อาจารย์บางพวกพรรณนาความด้วยแปลง ธ เป็น ท. ชื่อว่า กมฺมาสธมฺม เพราะ กัมมาสะ ถูกทรมานในเพราะเหตุนี้. บทว่า กมฺมาโส ท่านกล่าวว่า กมฺมาสบาท เป็นมนุษย์กินคน. เล่ากันมาว่า แผลพุขึ้นที่เท้าของกัมมาสบาทนั้น ในที่ที่ถูกตอตําได้พุขึ้นเป็นเช่นกับไม้เจตมูลเพลิง เพราะฉะนั้น กัมมาสะได้ปรากฏชื่อว่า กมฺมาสบาท. ก็กัมมาสบาทถูกทรมานในโอกาสนั้น จึงได้เลิกจากการเป็นมนุษย์กินคน. ใครทรมาน. พระมหาสัตว์. กล่าวไว้ในชาดกไหน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่าใน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 188
มหาสุตตโสมชาดก. แต่พระเถระเหล่านี้กล่าวว่า ในชยทิสชาดก. ก็ครั้งนั้นกัมมาสบาทได้ถูกพระมหาสัตว์ทรมาน ดังที่พระโพธิสัตว์ตรัสไว้ว่า
เราเป็นโอรสของพระเจ้าชยทิสะผู้เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาล เราได้สละชีวิตให้กัมมาสบาทปล่อยพระชนก และเราได้ให้แม้กัมมาสบาทเลื่อมใสแล้ว ดังนี้.
แต่อาจารย์บางพวกพรรณนาด้วย ธ อักษรเท่านั้น ได้ยินว่า กุรุธรรมของชาวแคว้นกุรุ เกิดด่างพร้อยขึ้นแล้วในแคว้นนั้น เพราะฉะนั้น ที่นั้นเป็นที่มีธรรมด่างพร้อยเกิดขึ้นแล้ว ท่านจึงเรียกว่า กัมมาสธัมมะ กัมมาสธัมมะนี้เป็นชื่อของนิคมที่ชาวกุรุอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่กล่าวด้วยสัตตมีวิภัตติ์ เพราะไม่ใช่โอกาสเป็นที่อยู่ นัยว่า โอกาสเป็นที่อยู่ในนิคมนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้เป็นพระวิหารแต่อย่างไร แต่ถอยออกไปจากนิคมได้มีดงป่าใหญ่ ในภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์สมบูรณ์ด้วยน่าอย่างใดอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้นทรงกระทํานิคมนั้นให้เป็นโคจรคาม เพราะฉะนั้น พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ ทรงกระทํานิคมนั้นให้เป็นโคจรคาม.
บทว่า อายสฺมา นี้ เป็นคํากล่าวด้วยความรัก เป็นคํากล่าวด้วยความเคารพ. บทว่า อานนฺโท เป็นชื่อของพระเถระเจ้าองค์นั้น. บทว่า เอกมนฺตํ แสดงถึงความเป็นนปุงสกลิงค์ ดุจในบทมีอาทิว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งหลายย่อมเดินไม่สม่ําเสมอดังนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้ว่า พระอานนท์ นั่งแล้ว โดยอาการที่พระอานนท์นั่ง ย่อมเป็นนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง หรือว่า บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติ์ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ์.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 189
บทว่า นิสีทิ คือเข้าไปอยู่แล้ว จริงอยู่ บัณฑิตทั้งหลายเข้าไปหาผู้ที่อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ย่อมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการนั่ง ก็พระอานนท์นี้เป็นบัณฑิตรูปหนึ่งของบรรดาบัณฑิตเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็นั่งอย่างไรจึงเป็นอันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่าง คือ ไกลเกินไป ๑ ใกล้เกินไป ๑ เหนือลม ๑ สูงไป ๑ ตรงหน้าเกินไป ๑ หลังเกินไป ๑ เพราะนั่งไกลเกินไป หากประสงค์จะถาม ก็จะต้องพูดด้วยเสียงดัง นั่งใกล้เกินไปก็จะเบียดเสียด นั่งเหนือลมย่อมรบกวนด้วยกลิ่นตัว นั่งสูงไปย่อมแสดงความไม่เคารพ นั่งตรงหน้าเกินไป หากประสงค์จะมองดู ย่อมเป็นการจ้องตาต่อตาดูกัน นั่งหลังเกินไป หากประสงค์จะมองดูก็จะต้องยืดคอดู เพราะฉะนั้น แม้พระอานนท์นี้ ก็กระทําประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้า ๓ ครั้ง แล้วถวายบังคมด้วยความเคารพเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่างเหล่านี้ เข้าไปภายในของพระพุทธรัศมี มีวรรณ ๖ อย่าง ในที่เฉพาะเบื้องหน้าของมณฑลพระชานุข้างขวา ท่านพระอานนท์ผู้เป็นภัณฑาคาริกของพระธรรมได้นั่งแล้ว ดุจลงสู่รสครั่งที่ผ่องใส ดุจห่มแผ่นทองคํา และดุจเข้าไปสู่ท่ามกลางเพดานแห่งดอกอุบลสีแดง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระอานนท์นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็พระอานนท์นี้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาไร ด้วยเหตุไร ในเวลาเย็น ด้วยเหตุคือการถามปัญหาเรื่องปัจจยาการ ในวันนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวไปยังบ้านกัมมาสธัมมะเพื่อบิณฑบาต ดุจเข้าไปสู่บ้านอันมีภัณฑะ ๑,๐๐๐ ณ ประตูเรือนเพื่อสงเคราะห์ตระกูล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ดูแลปรนนิบัติพระศาสดา เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฏี ถวายบังคมพระศาสดาแล้วไปสู่ที่พักกลางวันของตน เมื่อลูกศิษย์ทั้งหลายดูแลปรนนิบัติแล้วกลับไปแล้ว ได้กวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ตักน้ำจากตุ่มน้ำเอาน้ำชําระมือและเท้าให้เย็นนั่งขัด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 190
สมาธิ เข้าสมาบัติขั้นโสดาปัตติผล ครั้นออกจากสมาบัติตามกาลเวลาที่กําหนดไว้แล้วหยั่งลงสู่ญาณในปัจจยาการ.
พระอานนท์นั้น ถึงบทที่สุดตั้งแต่บทต้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยมีสังขารดังนี้ บทต้นตั้งแต่บทที่สุด บทท่ามกลางตั้งแต่บทที่สุดทั้งสอง บทที่สุดทั้งสองตั้งแต่บทท่ามกลาง พิจารณาปัจจยาการ ๑๒ บท ๓ ครั้ง เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปัจจยาการแจ่มแจ้งยิ่งนัก ปรากฏดุจง่ายแสนง่าย จากนั้นพระอานนท์ดําริว่า ปัจจยาการนี้พระพุทธเจ้าทั้งปวงตรัสว่าลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ก็เมื่อเราผู้เป็นสาวกตั้งอยู่แล้วในความรู้เรื่อง พื้นที่ความง่ายยังปรากฏชัดแจ้ง ความง่ายนั้นเป็นความง่ายปรากฏแก่เราเท่านั้นหรือ หรือแม้แก่ผู้อื่นด้วย ลําดับนั้น พระเถระได้มีความดําริว่า ถ้ากระไร เราจะนําปัญหานี้ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทําเรื่องนี้เป็นเหตุเกิดขึ้นแล้ว จักตรัสพระสุตตันตหมวดหนึ่ง จักทรงแสดงแก่เราแน่นอนดุจทรงยกเขาสาลินทสิเนรุขึ้นฉะนั้น จริงอยู่ พระญาณที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถึงฐานะ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ การบัญญัติพระวินัย ลําดับพื้นที่ ปัจจยาการ ลําดับสมัยเป็นญาณที่กึกก้องโกลาหลยิ่งใหญ่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าถึงพระญาณ ย่อมปรากฏความเป็นพุทธญาณอันยิ่งใหญ่ เทศนาเป็นความลึกซึ้งกําจัดด้วยพระไตรลักษณ์ปฏิสังยุตด้วยความเป็นของสูญดังนี้ พระอานนท์นั้นตามปกติในวันหนึ่งเมื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ๑๐๐ ครั้งบ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง ก็จริง ย่อมไม่เข้าไปเฝ้าโดยไม่มีเหตุการณ์ แต่วันนั้น พระอานนท์นําปัญหานี้ไปแล้วคิดว่า เราจักนั่งใกล้พระพุทธเจ้าดุจคันธหัตถี แล้วฟังพระสุรเสียงกึกก้องด้วยพระญาณ จักนั่งใกล้พระพุทธเจ้าดุจสีหะ ฟังการบันลือพระสุรเสียงดุจสีหะด้วยพระญาณ จักนั่งใกล้พระพุทธเจ้าดุจสินธพ แล้วจักเห็นการก้าวไปสู่ทางแห่งพระญาณดังนี้ แล้วลุกจากที่พักกลางวันพับแผ่นหนัง ถือไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาเย็น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 191
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระอานนท์เข้าไปเฝ้าด้วยเหตุคือการถามปัญหาเกี่ยวกับปัจจยาการในเวลาเย็นดังนี้.
ยาวศัพท์ในบทว่า ยาว คมฺภีโร นี้ เป็นไปในความว่า เกินประมาณ อธิบายว่าล่วงประมาณ ลึกซึ้ง ลึกซึ้งยิ่งนัก. บทว่า คมฺภีราวภาโส ความว่า ปรากฏคือเห็นเป็นของลึกเพราะว่าข้อหนึ่งง่ายโดยแท้แต่เป็นของลึกซึ้ง เหมือนน้ำเก่ามีสีดําด้วยอํานาจรสของใบไม้เน่า ก็น้ำนั้นแม้แค่เข่า ก็ปรากฏดุจ ๑๐๐ ชั่วคน บทหนึ่งลึกซึ้งปรากฏเป็นของง่ายดุจน้ำใสในมณิคงคา ด้วยว่าน้ำนั้นแม้ชั่ว ๑๐๐ บุรุษ ก็ปรากฏเหมือนแค่เข่า บทหนึ่งง่ายปรากฏเป็นของง่ายเหมือนน้ำในภาชนะมีตุ่มเป็นต้น บทหนึ่งง่ายปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ย่อมเห็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรเชิงเขาสิเนรุ น้ำนั่นแหละย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง อย่างนี้ แต่ข้อนี้ไม่มีในปฏิจจสมุปบาท เพราะปฏิจจสมุปบาทนี้ย่อมได้ชื่ออย่างเดียวเท่านั้นว่าลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้งดังนี้ ปฏิจจสมุปบาทแม้มีอยู่เห็นปานนี้ ก็แต่ว่าปรากฏแก่เราเหมือนง่ายแสนง่าย พระอานนท์เมื่อจะประกาศความประหลาดใจของตนอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมาก่อน ดังนี้ จึงทูลถามปัญหาแล้วนั่งนิ่ง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคําของพระอานนท์นั้นแล้วทรงดําริว่าอานนท์กล่าวปัญหาอันเป็นพุทธวิสัยว่าเป็นของง่ายของตน ดุจเหยียดมือเพื่อจับภวัคคพรหม ดุจพยายามเพื่อทําลายเขาสิเนรุแล้วนําเยื่อออก ดุจประสงค์จะข้ามมหาสมุทรโดยไม่มีเรือ และดุจพยายามพลิกแผ่นดินถือเอาโอชะของแผ่นดินดังนี้ แล้วตรัสว่า มา เหวํ เป็นอาทิ ห อักษรในบทว่า มา เหวํ นั้นเป็นเพียงนิบาต อธิบายว่า เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะยังท่านพระอานนท์ให้เลิกละบ้าง ให้หมดความพอใจบ้าง จึงตรัสว่า มา เหวํ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 192
ดังนี้ ในบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เมื่อจะยังพระอานนท์ให้เลิกละจึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเป็นผู้มีปัญญามากมีความฉลาด เพราะเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาทลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ่ง เธอไม่ควรเข้าใจว่า ปฏิจจสมุปบาทแม้ลึกซึ้งก็ปรากฏเป็นของง่ายแก่เธอ ทั้งเป็นของง่ายแก่ผู้อื่นด้วยดังนี้.
ในเรื่องนั้นอาจารย์ทั้งหลายย่อมกล่าวถึงอุปมา ๔ ข้อ ชนทั้งหลายมองดูหินของนักมวยปล้ำ ในระหว่างนักมวยปล้ำใหญ่ผู้สูงใหญ่ ผู้สัมผัสกับรสอาหารที่ดีตลอด ๖ เดือน กระทําการออกกําลังสะสมหินของนักมวยปล้ำซึ่งแสดงคราวมีมหรสพ ผู้ไปสู่ยุทธภูมินักมวยปล้ำกล่าวว่า นี่อะไร หินของนักมวยปล้ำ พวกท่านจงนําหินนั้นมา เมื่อชนทั้งหลายพูดว่า พวกเราไม่สามารยกขึ้นได้ เขาไปด้วยตนเอง กล่าวว่าที่หนักของหินนี้อยู่ที่ไหน แล้วยกหิน ๒ แผ่นขึ้นด้วยมือทั้ง ๒ แล้วเหวี่ยงไปดุจเล่นลูกกลมแล้วก็ไป ในเรื่องนั้นควรพูดได้ว่า หินของนักมวยปล้ำ เป็นของเบาแก่นักมวยปล้ำไม่เบาแก่คนพวกอื่น จริงอยู่ ท่านพระอานนท์ถึงพร้อมแล้วด้วยอภินิหารตลอดแสนกัป ดุจนักมวยปล้ำผู้สัมผัสกับรสอาหารที่ดีตลอด ๖ เดือน หินของนักมวยปล้ำเป็นของเบาเพราะนักมวยปล้ำเป็นผู้มีกําลังมากฉันใด ปฏิจจสมุปบาทเป็นของง่าย เพราะพระเถระเป็นผู้มีปัญญามากฉันนั้น ไม่ควรกล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทง่ายแก่คนเหล่าอื่นด้วย.
อนึ่ง ในมหาสมุทร ปลาชื่อติมิใหญ่ ๒๐๐ โยชน์ ชื่อติมิงคลใหญ่ ๓๐๐โยชน์ ชื่อติมิติมิงคลใหญ่ ๔๐๐ โยชน์ ชื่อติมิรมิงคลใหญ่ ๕๐๐ โยชน์ ปลา ๔ ชนิดนี้คือ ปลาอานันทะ ปลาติมินทะ ปลาอัชฌาโรหะ ปลามหาติมิใหญ่ ๑,๐๐๐ โยชน์ ในบทนั้น อาจารย์ทั้งหลายแสดงถึงปลาชื่อติมิรมิงคละอย่างเดียวเล่ามาว่า เมื่อปลาติมิรมิงคละนั้นกระดิกหูขวา น้ำกระเพื่อมไปถึง ๕๐๐ โยชน์กระดิกหูซ้าย หาง หัว ก็เหมือนกัน แต่ถ้าปลาชื่อติมิรมิงคละนั้นกระดิกหูทั้งสองข้าง เอาหางฟาดน้ำ ส่ายหัวไปมาปรารภเพื่อจะเล่นน้ำในที่ ๗ - ๘ ร้อย
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 193
โยชน์ ย่อมเดือดพล่านเหมือนน้ำที่ใส่ในภาชนะแล้วยกขึ้นบนเตา ฉะนั้น น้ำในที่ประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ไม่สามารถจะท่วมหลังได้ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายพากันพูดว่า มหาสมุทรนี้ ลึก ลึก แต่ไหนแต่ไรมา พวกเราไม่ได้น้ำ แม้แค่ท่วมหลัง เพราะมหาสมุทรนั้นลึกมาก ในข้อนั้นควรกล่าวว่า สําหรับปลาชื่อติมิรมิงคละจมไปทั้งตัว มหาสมุทรตื้น สําหรับปลาเล็กๆ เหล่าอื่น มหาสมุทรไม่ตื้น ควรกล่าวว่า สําหรับพระเถระผู้เข้าถึงญาณปฏิจจสมุปบาทเป็นของตื้น สําหรับคนเหล่าอื่นไม่ตื้น อย่างนั้นเหมือนกัน.
อนึ่ง พญาครุฑ ใหญ่ประมาณ ๑๕๐ โยชน์ ปีกขวาของพญาครุฑประมาณ ๕๐ โยชน์ ปีกซ้ายก็เหมือนกัน แผ่นหางประมาณ ๖๐ โยชน์ คอประมาณ ๓๐ โยชน์ ปาก ๙ โยชน์ เท้าทั้งสองประมาณ ๑๒ โยชน์ เมื่อพญาครุฑนั้นแสดงลมของพญาครุฑ ที่ ๗ - ๘ ร้อยโยชน์ไม่เพียงพอ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เขาทั้งหลายพูดกันว่า อากาศนี้ไม่มีที่สุด อากาศนี้ไม่มีที่สุด แต่ไหนแต่ไรมา พวกเราไม่ได้ แม้โอกาสที่จะกระพือปีก เพราะอากาศนั้นไม่มีที่สุด ในข้อนั้นพึงกล่าวว่า อากาศของพญาครุฑตัวเข้าไปถึงทั้งตัวนิดหน่อยของนกเล็กๆ เหล่าอื่น ไม่นิดหน่อย พึงกล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาทของพระเถระผู้เข้าถึงญาณนั่นแล ตื้น แม้ของพวกอื่นไม่ตื้นอย่างนั้นเหมือนกัน.
อนึ่ง อสุรินทราหู จากเส้นผมถึงปลายเท้า ๔,๘๐๐ โยชน์ ระหว่างแขนทั้งสองข้างของอสุรินทราหู ๑,๒๐๐ โยชน์ โดยส่วนหนา ๖๐๐ โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้าโดยส่วนหนา ๒๐๐ โยชน์ จมูก ๓๐๐ โยชน์ ปากก็เหมือนกัน ข้อนิ้วมือข้อหนึ่งๆ ๕๐ โยชน์ ระหว่างคิ้วก็เหมือนกัน หน้าผาก ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะ ๙๐๐ โยชน์ เมื่ออสุรินทราหูนั้นหยั่งลงไปสู่มหาสมุทร น้ำลึกประมาณแค่เข่า เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายพากันกล่าวว่า มหาสมุทรนี้ ลึก ลึก แต่ไหนแต่ไรมา พวกเราไม่ได้น้ำแม้แค่ปิดเข่า เพราะมหาสมุทรนั้นลึกสําหรับ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 194
ราหูผู้ลงไปทั้งตัว ในมหาสมุทรนั้นตื้น สําหรับคนเหล่าอื่นไม่ตื้น พึงกล่าวว่าปฏิจจสมุปบาทของพระเถระผู้เข้าถึงญาณเป็นของง่าย แม้ของคนอื่นไม่ง่าย ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวนั้น ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ดังนี้ ทรงหมายถึงความนั้น.
จริงอยู่ ปฏิจจสมุปบาท แม้ลึกซึ้งปรากฏว่าเป็นของง่ายแก่พระเถระด้วยเหตุ ๔ ประการ เหตุ ๔ ประการเป็นไฉน ด้วยการถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติก่อน ด้วยการอยู่ในสํานักครู ด้วยความเป็นพระโสดาบัน ด้วยความเป็นพหูสูต ได้ยินว่า จากนี้ไปแสนกัป พระศาสดาพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นในโลก ได้มีนครของพระองค์ชื่อหังสวดี พระราชบิดาพระนามว่าอานันทะ พระราชมารดาพระนามว่า สุเมธาเทวี พระโพธิสัตว์ได้มีพระนามว่าอุตตรกุมาร พระโพธิสัตว์นั้นในวันที่พระโอรสประสูติเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ทรงผนวช ทรงประกอบความเพียรบรรลุพระสัพพัญุตญาณโดยลําดับ ทรงเปล่งอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ดังนี้เป็นต้น ยังสัปดาห์หนึ่งให้ล่วงไป ณ โพธิบัลลังก์แล้วทรงดําริว่า เราจักเหยียบบนแผ่นดินดังนี้แล้วทรงย่างพระบาท ทันใดนั้นประทุมใหญ่ทําลายแผ่นดินผุดขึ้นแล้ว กลีบของประทุมนั้น ๙๐ ศอก เกสร ๓๐ ศอก ฝักบัว ๑๒ ศอก ละอองประมาณ ๙ หม้อน้ำ ก็พระศาสดาได้มีโดยส่วนสูง ๕๘ ศอก ระหว่างพระพาหาทั้งสองของพระองค์ ๑๘ ศอก พระนลาฏ ๕ ศอก พระหัตถ์และพระบาท ทั้งสอง ๑๑ ศอก เมื่อพระศาสดาพอทรงเหยียบที่ฝักบัว ๑๒ ศอก ด้วยพระบาท ๑๑ ศอก ละอองประมาณ ๙ หม้อน้ำผุดพุ่งขึ้นสู่ที่อยู่ประมาณ ๕๘ ศอก เรี่ยรายดังผงของมโนสิลาที่เรี่ยราย อาศัยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงปรากฏพระนามว่า พระปทุมุตตระ.
พระองค์ได้มีอัครสาวก ๒ รูป คือ พระเทวิละและพระสุชาตะ อัครสาวิกา ๒ คือ นางอมิตาและนางอสมา อุปฐากชื่อ พระสุมนะ พระผู้มีพระ-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 195
ภาคเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ มีภิกษุแสนรูป เป็นบริวาร ทรงกระทําการสงเคราะห์พระชนกประทับอยู่ ณ ราชธานีหังสวดี.
ส่วนพระกนิฏฐาของพระปทุมุตตระนั้น พระนามว่า สุมนกุมาร พระราชาได้พระราชทานบ้านส่วยแก่พระราชกุมาร ในท้องที่ประมาณ ๒,๐๐๐ โยชน์จากหังสวดีนคร พระสุมนกุมารนั้น บางครั้งบางคราวเสด็จมาเฝ้าพระชนกและศาสดา อยู่มาวันหนึ่ง ชายแดนกําเริบ สุมนกุมารทรงส่งข่าวให้พระราชบิดาทรงทราบว่า ชายแดนกําเริบ พระราชบิดาทรงส่งกลับไปว่า เราตั้งเธอไว้ ณ ที่นั้นเพราะอะไร พระราชกุมารนั้นเสด็จออกปราบโจรจนสงบ แล้วจึงทรงส่งข่าวให้พระราชบิดาทรงทราบว่า โจรสงบแล้ว พระเจ้าข้า พระราชบิดาทรงพอพระทัย ตรัสว่า โอรสของเราจงมาโดยเร็วเถิด พระโอรสนั้นได้มีอํามาตย์ประมาณ ๑,๐๐๐ ในระหว่างทาง พระองค์ได้ทรงปรึกษากับอํามาตย์เหล่านั้นว่า พระชนกของเราทรงพอพระทัย หากพระชนกจะพระราชประทานพรแก่เรา เราจะเอาอะไรดี ลําดับนั้น อํามาตย์บางพวกทูลว่า ขอพระองค์จงรับ ช้าง ม้า ชนบท แก้ว ๗ ประการเถิด อีกพวกหนึ่งทูลว่า พระองค์เป็นโอรสของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรัพย์ของพระองค์ก็หาได้ไม่ยาก อนึ่ง แม้พระองค์ได้ทรัพย์แล้วก็ควรสละทรัพย์ทั้งหมดนั้นไป พระองค์ควรทรงถือเอาบุญเท่านั้นไป เพราะฉะนั้น เมื่อพระราชาพระราชประทานพร ขอพระองค์จงทรงรับพรเพื่อบํารุงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ตลอด ๓ เดือนเถิด พระเจ้าข้า พระราชกุมารนั้น ตรัสว่า พวกท่านเป็นกัลยาณมิตรของเรา เรามิได้มีความคิดนี้เลย ก็พวกท่านทําให้เราเกิดความคิด เราจักทําอย่างนั้น แล้วเสด็จไปกราบบังคมพระชนก พระชนกทรงกอด แล้วจุมพิตที่พระเศียรตรัสว่า ลูกรัก พ่อจะให้พรแก่ลูก ดังนี้ ทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อมดีแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบํารุงพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัจจัย ๔ ตลอด ๓ เดือน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 196
ปรารถนากระทําชีวิตไม่ให้เป็นหมัน ขอพระองค์จงพระราชประทานพรนี้แก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า พระราชบิดาตรัสว่า พ่อไม่อาจให้พรนั้นได้ดอกลูกพ่อจะให้พรอื่น พระสุมนราชกุมารทูลว่า ข้าแต่พระบิดา ธรรมดากษัตริย์ทั้งหลาย ไม่มีพระดํารัสเป็นสอง ขอทูลกระหม่อมพระราชทานพรนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ ไม่ต้องการพรอย่างอื่น พระราชบิดาตรัสว่า ลูกรัก ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระทัยรู้ได้ยาก หากพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงปรารถนา แม้เราให้พรจักมีได้อย่างไร พระสุมนราชกุมารนั้นทูลว่า ข้าแต่พระบิดา ดีละ ข้าพระองค์ จักทราบพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ แล้วเสด็จไปสู่พระวิหาร.
ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเสวยพระกระยาหารแล้วได้เสด็จเข้าคันธกุฏี พระสุมนราชกุมารนั้นได้ไปยังสํานักของภิกษุทั้งหลาย ซึ่งนั่งอยู่ ณ ปะรํา ภิกษุเหล่านั้นกล่าวกะพระสุมนราชกุมารว่า ท่านราชบุตร พระองค์เสด็จมาเพื่ออะไร พระสุมนราชกุมารตรัสว่า เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จงแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้าแก่ข้าพเจ้าเถิด ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่านราชบุตร พวกอาตมาไม่ได้เห็นพระศาสดา ในขณะที่ปรารถนาแล้วปรารถนาอีก พระสุมนราชกุมารตรัสว่า พระคุณเจ้า ก็ใครเล่าได้เพื่อจะเห็น ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่านราชบุตร พระสุมนเถระได้เพื่อจะเห็น พระสุมนราชกุมารตรัสถามว่า พระคุณเจ้า พระเถระอยู่ที่ไหนขอรับ แล้วตรัสถามถึงที่พระเถระนั่งได้เสด็จไปไหว้ แล้วตรัสว่า พระคุณเจ้าขอรับ ข้าพเจ้าปรารถนาจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดแสดงแก่ข้าพเจ้าเถิด พระเถระกล่าวว่า มาเถิด ท่านราชบุตร แล้วพาพระสุมนราชกุมารไปพักที่บริเวณพระคันธกุฎี ตัวท่านขึ้นไปสู่พระคันธกุฏี ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า สุมนะ เธอมาเพราะอะไร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 197
ราชโอรสมาเฝ้าพระองค์ พระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงปูอาสนะเถิด พระเถระได้ปูอาสนะแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูแล้ว พระราชโอรสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงได้กระทําการปฏิสันถาร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอมาเมื่อไรเล่า ราชบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าคันธกุฏี แต่ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าพวกเราก็ไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ในขณะที่ปรารถนาแล้วปรารถนาอีกแล้ว ส่งข้าพระองค์ไปหาพระเถระ แต่พระเถระได้ชี้แจงเพียงคําเดียวเท่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระเห็นจะเป็นผู้โปรดปรานในศาสนาของพระองค์กระมัง พระเจ้าข้า ตรัสว่า ถูกแล้ว กุมาร ภิกษุนั้น เป็นผู้โปรดปรานในศาสนาของเรา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายกระทําอะไร จึงเป็นผู้โปรดปรานในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า ราชกุมาร บุคคลให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ จะเป็นผู้โปรดปรานในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ประสงค์จะเป็นผู้โปรดปรานในพระพุทธศาสนาดุจพระเถระ ขอพระองค์จงทรงรับนิมนต์อยู่จําพรรษาตลอด ๓ เดือน แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูว่า การไป ณ ที่นั้นจะมีประโยชน์หรือหนอ ทรงเห็นว่ามี จึงตรัสว่า ราชกุมาร พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในสุญญาคาร พระกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะกลับไปก่อน แล้วสร้างที่ประทับ เมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวมาแล้ว ขอพระองค์จงเสด็จมาพร้อมด้วยภิกษุแสนรูป ครั้นรับปฏิญญาแล้วจึงเสด็จไปเฝ้าพระชนกกราบทูลว่าข้าแต่พระบิดา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ปฏิญญาแก่ข้าพระองค์แล้ว เมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวมา ขอพระบิดาพึงส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไปเถิด พระเจ้าข้า ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 198
แล้วถวายบังคมพระชนกเสด็จออกไปสร้างพระวิหารในที่โยชน์หนึ่ง โยชน์หนึ่งเสด็จไปทางไกลถึง ๒,๐๐๐ โยชน์ ทรงเลือกสถานที่สร้างวิหารในพระนครของพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นสวนของกุฏมพีชื่อโสภะ ทรงซื้อหนึ่งแสน ทรงสละหนึ่งแสน สร้างพระวิหาร ณ พระวิหารนั้น พระสุมนราชกุมารทรงสร้างคันธกุฏีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และกุฏิที่เร้นลับและมณฑป เพื่อเป็นที่พักกลางคืนและกลางวันของภิกษุ ที่เหลือทํากําแพงล้อม และสร้างซุ้มประตูสําเร็จแล้ว จึงส่งข่าวให้พระชนกทรงทราบว่า กิจของข้าพระองค์สําเร็จแล้ว ขอพระบิดาจงทรงส่งพระศาสดาไปเถิด พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กิจของสุมนะสําเร็จแล้ว เธอหวังการเสด็จไปของพระองค์ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุหนึ่งแสนเป็นบริวาร ประทับอยู่ในพระวิหารทั้งหลายในที่โยชน์หนึ่ง โยชน์หนึ่งได้เสด็จไปแล้ว พระกุมารทรงสดับว่าพระศาสดากําลังเสด็จมา จึงเสด็จไปต้อนรับสิ้นทางโยชน์หนึ่ง ทรงบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทูลอัญเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จเข้าไปสู่พระวิหารแล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์จงทรงรับสวนชื่อโสภนะ ซึ่งข้าพระองค์ซื้อมาด้วยทรัพย์หนึ่งแสน สร้างอีกด้วยทรัพย์หนึ่งแสน พระเจ้าข้า
แล้วถวายมอบพระวิหาร.
สุมนราชกุมารนั้น ในวันเข้าพรรษาถวายทานแล้ว ตรัสเรียกโอรสและชายาของพระองค์ และอํามาตย์ทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า พระศาสดาพระองค์นี้มาสู่สํานักของเราแต่ไกลทีเดียว อนึ่ง ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรมไม่เพ่งต่ออามิส เพราะฉะนั้น เราจะนุ่งห่มผ้าสาฏก ๒ ผืน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 199
สมาทานศีลแล้วอยู่ ณ ที่นี้แหละตลอด ๓ เดือนนี้ พวกท่านทั้งหลายจงถวายทาน แก่พระขีณาสพหนึ่งแสนรูป โดยทํานองนี้แลตลอด ๓ เดือน.
สุมนราชกุมารนั้น ประทับนั่งอยู่ ณ ที่อันมีส่วนเสมอกันกับที่อยู่ของพระสุมนเถระ ทรงเห็นข้อวัตรปฏิบัติที่พระเถระกระทําแด่พระผู้มีพระภาคทั้งหมด จึงทรงดําริว่า พระเถระนี้เป็นผู้โปรดปรานโดยส่วนเดียวในที่นี้ เราควรปรารถนาฐานันดรของพระเถระนี้เถิด เมื่อใกล้ถึงวันปวารณาเสด็จเข้าไปสู่บ้าน ทรงบริจาคทานใหญ่ตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ทรงตั้งไตรจีวรไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุหนึ่งแสนรูป ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญอันใดที่ข้าพระองค์กระทําแล้ว จําเดิมแต่การสร้างพระวิหาร อันมีในระหว่างโยชน์หนึ่งๆ ในหนทางบุญอันนั้น ข้าพระองค์มิได้ปรารถนา สัคคสมบัติ มารสมบัติ และพรหมสมบัติ แต่ปรารถนาความเป็นอุปฐากของพระพุทธเจ้าจึงได้กระทํา เพราะฉะนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็จะพึงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ในอนาคตดุจพระสุมนเถระ แล้วหมอบถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูว่า จิตยิ่งใหญ่ของกุลบุตรจักสําเร็จหรือไม่หนอ ทรงทราบว่าในอนาคตในกัปที่แสนจากนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมจักทรงอุบัติ สุมนะนี้จักเป็นอุปฐากของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงทรงประทานพรว่า
ขอความปรารถนาที่ตั้งไว้นั้นทั้งหมดแล จงสําเร็จแก่ท่าน ขอความดําริทั้งหลายทั้งปวงจงเต็ม เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญฉะนั้นเถิด ดังนี้.
พระกุมารทรงสดับดังนั้นจึงดําริว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีพระดํารัสไม่เป็นสอง ดังนี้ ในวันที่สองนั่นเอง ทรงรับบาตรและจีวรของพระ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 200
ผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว ได้ทําเป็นดุจทรงดําเนินไปข้างหลังๆ พระกุมารนั้นถวายทานในพุทธุปบาทนั้นตลอดหนึ่งแสนปี ทรงไปบังเกิดในสวรรค์แม้ในครั้งศาสนาของพระพุทธกัสสปก็ได้ถวายผ้าสาฏกเนื้อดี เพื่อรับบาตรของพระเถระผู้เที่ยวไปบิณฑบาตแล้วได้ทรงทําการบูชา ได้ไปบังเกิดบนสวรรค์อีก จุติจากนั้นแล้วได้เป็นพระเจ้าพาราณสี ทรงสร้างบรรณศาลาแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ตั้งหม้อน้ำใสดุจแก้วมณีไว้ ได้ทรงกระทําการบํารุงด้วยปัจจัย ๔ ตลอดหมื่นปี เหตุเหล่านี้เป็นที่ปรากฏชัดแล้ว.
ก็พระสุมนราชกุมารนั้นทรงบริจาคทานอย่างเดียว ตลอดหนึ่งแสนกัป ทรงบังเกิดในภพดุสิตพร้อมกับพระโพธิสัตว์ของเรา ครั้นจุติจากภพดุสิตนั้นได้ถือปฏิสนธิในพระตําหนักของเจ้าศากยะพระนามว่าอมิโตทนะ. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกทรงผนวชโดยลําดับ ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์โดยเสด็จไปเป็นครั้งแรก แล้วเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระราชกุมารทั้งหลายพากันทรงผนวช เพื่อเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จออกพร้อมกับเจ้าศากยะทั้งหลายมีท่านภัททิยะเป็นต้น ทรงผนวชในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่นานนัก ได้สดับธรรมกถาในสํานักของท่านปุณณมันตานีบุตรแล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ท่านพระเถระนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติก่อนด้วยประการฉะนี้ ปฏิจจสมุปบาทแม้ลึกซึ้งก็ปรากฏดุจเป็นของง่าย เพราะความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติก่อนของพระเถระนั้น.
เกจิอาจารย์กล่าวถึงการเรียน การฟัง การสอบถาม และการทรงไว้ในสํานักครูทั้งหลายบ่อยๆ ด้วยบทว่า ติตฺถวาโส คือการอยู่ในสํานักครู การอยู่ในสํานักครูนั้นของพระเถระบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แม้ด้วยเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาทนี้แม้ลึกซึ้ง ก็ปรากฏแก่พระเถระเป็นดุจเป็นของง่าย อนึ่ง ปัจจยาการปรากฏเป็นของง่ายของผู้เป็นโสดาบัน ก็พระเถระนี้ได้เป็นพระโสดาบันแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 201
การกําหนดนามรูป ย่อมปรากฏแก่ท่านผู้เป็นพหูสูตดุจเตียงและตั่งย่อมปรากฏ เมื่อดวงประทีปส่องสว่างในห้องนอนประมาณ ๔ ศอก ก็ท่านพระเถระนี้เป็นผู้เลิศของผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ปัจจยาการแม้ลึกซึ้งก็ปรากฏแก่พระเถระนั้น ดุจเป็นของง่ายด้วยอานุภาพแห่งความเป็นพหูสูตด้วยประการฉะนี้.
ในความง่ายและความลึกซึ้งของปฏิจจสมุปบาทนั้น ปฏิจจสมุปบาทชื่อว่าเป็นของลึกซึ้งด้วยอาการ ๔ อย่างคือ ด้วยความลึกซึ้งโดยอรรถ ด้วยความลึกซึ้งโดยธรรม ด้วยความลึกซึ้งโดยเทศนา ด้วยความลึกซึ้งโดยปฏิเวธ ในความลึกซึ้ง ๔ อย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทเป็นของลึกซึ้ง มีอรรถว่า มีและเกิดขึ้น เพราะชาติเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะเป็นของลึกซึ้ง มีอรรถว่า มีและเกิดขึ้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น นี้คือความที่ปฏิจจสมุปบาทมีความลึกซึ้ง โดยอรรถปฏิจจสมุปบาทเป็นของลึกซึ้ง มีอรรถคืออวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลาย เป็นของลึกซึ้ง มีอรรถคือชาติเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะ เพราะเหตุนั้น นี้ชื่อว่าความที่ปฏิจจสมุปบาทมีความลึกซึ้งโดยธรรม ในบางสูตรท่านแสดงปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม ในบางสูตรโดยปฏิโลม ในบางสูตรทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ในบางสูตรโดยอนุโลมหรือโดยปฏิโลมตั้งแต่ตอนกลาง ในบางสูตรโดยอนุโลมหรือโดยปฏิโลมตั้งแต่ตอนท้าย ในบางสูตรมีสนธิ ๓ สังเขป ๔ ในบางสูตรมีสนธิ ๒ สังเขป ๓ ในบางสูตรมีสนธิ ๑ สังเขป ๒ เพราะเหตุนั้น นี้ชื่อว่าความที่ปฏิจจสมุปบาทมีความลึกซึ้งโดยเทศนา อนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทเป็นของลึกซึ้ง มีอรรถว่า ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แทงตลอดสัจจธรรมแห่งอวิชชา เป็นของลึกซึ้ง มีอรรถว่า ปรุงแต่งรวบรวมสังขารทั้งหลายมีกําหนัดและคลายความกําหนัด มีอรรถว่า ความเป็นของสูญ ความไม่ขวนขวาย ความไม่เคลื่อนที่และความปรากฏแห่งปฏิสนธิของวิญญาณ มีอรรถ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 202
ว่า เกิดหนเดียว การแยกกัน การไม่แยกกัน การน้อมไป การทําลายของนามรูป มีอรรถว่า เป็นใหญ่เป็นทวาร และเขตของโลก และความเป็นธรรมมีอารมณ์ของอายตนะ ๖ มีอรรถว่า สัมผัส เสียดสีไปร่วมและประชุมของผัสสะ มีอรรถว่า การเสวยอารมณ์และรส และการเสวยสิ่งไร้ชีวิตคือความเป็นสุข เป็นทุกข์และกลางๆ ของเวทนา มีอรรถว่า ยินดียิ่ง พะวงยิ่ง สายน้ำ แม้น้ำคือตัณหา มหาสมุทรคือตัณหา เต็มได้ยากของตัณหา มีอรรถว่า ถือรับยึดถูกต้องล่วงไปได้ยากของอุปาทาน มีอรรถว่า ประมวลปรุงแต่งการซัดไปใน โยนิ คติ ฐิติและนิวาสสถานทั้งหลายของภพ มีอรรถว่า ความปรากฏชาติสัญชาติความก้าวลงการเกิดขึ้นของชาติ มีอรรถว่า สิ้นไป เสื่อมไป แตกไป และแปรปรวน ของชราและมรณะด้วยประการอย่างนี้ สภาวะแห่งอวิชชาเป็นต้นใด ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น เป็นอันรู้แจ้งแทงตลอดโดยลักษณะอันมีรสด้วยปฏิเวธใด สภาวะและปฏิเวธนั้นเป็นของลึกซึ้ง เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่านี้คือความที่ปฏิจจสมุปบาท มีความลึกซึ้งโดยปฏิเวธ.
ปฏิจจสมุปบาทแม้ทั้งหมดนั้น ปรากฏแก่พระเถระดุจเป็นของง่ายด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะยังท่านพระอานนท์ให้คลายความคิด จึงตรัสว่า มา เหวํ ดังนี้เป็นต้น ก็ในข้อนี้มีอธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาเฉลียวฉลาด ด้วยเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาท แม้เป็นของลึกซึ้งย่อมปรากฏแก่เธอดุจเป็นของง่าย เพราะฉะนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ปรากฏเป็นของง่ายแก่เราเท่านั้นหรือ หรือว่าแม้แก่ผู้อื่นด้วย ในบทที่ท่านกล่าวว่า อปสาเทนฺโต นั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ปฏิจจสมุปบาทนี้ย่อมปรากฏแก่เราดุจเป็นของง่ายๆ ก็ผิว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ ย่อมปรากฏแก่เธอดุจเป็นของง่ายๆ ไซร้เพราะเหตุไร เธอจึงมิได้เป็นโสดาบันตามธรรมดาของตน เธอตั้งอยู่ในนัยที่เรา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 203
ให้แล้วจึงบรรลุโสดาปัตติมรรค ดูก่อนอานนท์ นิพพานนี้เท่านั้นเป็นของลึกซึ้ง แต่ปัจจยาการเป็นของง่ายของท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร เธอถอนกิเลส ๔ เหล่านี้คือ กามราคสังโยชน์ (การผูกจิตด้วยกามราคะ) ปฏิฆสังโยชน์ (การผูกจิตด้วยความแค้น) อย่างหยาบ กามราคานุสัย (กิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดานคือกามราคะ) ปฏิฆานุสัยอย่างหยาบ (กิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดานคือความแค้น) ได้แล้ว จึงไม่ทําให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล เธอถอนกิเลส ๔ อันเกี่ยวเนื่องเหตุนั้นได้แล้ว ไม่ทําให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล เธอถอนกิเลส ๘ อย่างเหล่านี้คือ สังโยชน์ ๕ มีรูปราคะ (ความกําหนัดในรูป) เป็นต้น ภวราคานุสัย (กิเลสอันนอนเนื่องในสันดานคือความกําหนัดในภพ) มานานุสัย (กิเลสอันนอนเนื่องในสันดานคือมานะ) อวิชชานุสัย (กิเลสอันนอนเนื่องในสันดานคืออวิชชา) ได้แล้ว ไม่ทําให้แจ้งซึ่งพระอรหัต อนึ่ง เพราะเหตุไรเธอจึงไม่บรรลุสาวกปารมีญาณ ดุจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะผู้บําเพ็ญบารมีตลอดอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป และเธอไม่บรรลุปัจเจกโพธิญาณดุจพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้บําเพ็ญบารมีตลอด ๒ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ก็หรือผิว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นปรากฏเป็นของง่าย โดยประการทั้งปวงแก่เธอ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ทําให้แจ้งซึ่งพระสัพพัญุตญาณ ดุจพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้บําเพ็ญบารมีมาแล้วตลอด ๔ อสงไขย ๘ อสงไขยหรือ ๑๖ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เธอเป็นผู้ไม่มีประโยชน์อะไรด้วยการบรรลุคุณวิเศษเหล่านี้ เธอจงมองดูความผิดพลาดของเธอโดยตลอด สาวกเช่นเธอตั้งอยู่ในความรู้พื้นๆ ย่อมพูดถึงปัจจยาการอันลึกซึ้งยิ่งนักว่าปรากฏเป็นของง่ายแก่เรา ดังนี้ คําพูดนี้ของเธอนั้นเป็นคําพูดตรงกันข้ามกับพระดํารัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้อยคําอันภิกษุเช่นเธอจะพึงกล่าวตรงกันข้ามกับพระดํารัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่สมควรดังนี้ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราเพียรเพื่อบรรลุปัจจยา-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 204
การนี้ล่วงไปถึง ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ก็และชื่อว่าทานอันเราไม่ให้แล้วเพื่อบรรลุปัจจยาการไม่มี ชื่อว่าบารมีอันเราไม่บําเพ็ญแล้วไม่มี ก็และเมื่อเรากําจัดมารและเสนามาร ดุจไม่หายใจด้วยคิดว่า วันนี้เราจักบรรลุปัจจยาการ แผ่นดินผืนใหญ่นี้ ไม่หวั่นไหวแม้แค่ ๒ นิ้ว เมื่อเราบรรลุบุพเพนิวาส (ขันธปัญจกที่อยู่อาศัยในชาติก่อน) ในปฐมยาม บรรลุทิพยจักษุในมัชฌิมยามก็เหมือนกัน แต่ในปัจฉิมยามตอนใกล้รุ่ง พอเราเห็นว่าอวิชชาเป็นปัจจัยของสังขารทั้งหลายโดยอาการ ๙ อย่างดังนี้เท่านั้น หมื่นโลกธาตุเปล่งเสียงร้องก้องกังวานเป็นพันๆ เสียง ดุจกังสดาลถูกเคาะด้วยท่อนเหล็ก หวั่นไหวดุจหยาดน้ำที่ใบบัวเมื่อต้องลมฉะนั้น ดูก่อนอานนท์ ก็ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นของลึกซึ้งถึงอย่างนี้และปรากฏว่าเป็นของลึกซึ้ง ดูก่อนอานนท์ การไม่รู้ตาม ไม่บรรลุธรรมนี้ ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารไปได้ดังนี้.
บทว่า เอตสฺส ธมฺมสฺส คือแห่งปัจจยธรรมนั้น. บทว่า อนนุโพธา คือไม่รู้ตาม ด้วยสามารถญาตปริญญา (การกําหนดรู้ว่ารู้แล้ว) . บทว่า อปฏิเวธา คือไม่แทงตลอดด้วยสามารถแห่งการพิจารณาการละและการกําหนดรู้. บทว่า ตนฺตากุลกชาตา คือเกิดเป็นผู้ยุ่งดุจด้าย อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายพลาดในปัจจยาการนี้ ย่อมเป็นผู้วุ่นวายยุ่งเหยิง ไม่อาจทําปัจจยาการให้ตรงได้เหมือนด้ายของช่างหูกเก็บไว้ไม่ดีถูกหนูกัด ย่อมยุ่งในที่นั้นๆ จึงเป็นการยากที่จะทําปลายให้เสมอปลาย ทําต้นให้เสมอต้นได้ เพราะไม่รู้นี้ปลายนี้ต้นฉะนั้น ในความยุ่งของด้ายนั้นบุคคลวางด้ายไว้ในการงานของบุรุษเฉพาะตัวก็พึงสามารถทําให้ตรงได้ ก็สัตว์ทั้งหลายอื่นเว้นพระโพธิสัตว์ทั้งสองเสียชื่อว่าสามารถจะกระทําปัจจยาการให้ตรงได้ตามธรรมดาของตนย่อมไม่มี สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้พลาดในปัจจัยทั้งหลายไม่สามารถทําปัจจัยให้ตรงได้ ย่อมยุ่งเหยิงผูกเป็นปมด้วยสามารถทิฏฐิ ๖๒ เหมือนด้ายยุ่งผสมน้ำข้าวบุคคลทุบด้วยหวาย ย้อม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 205
มะเกลือผูกเป็นปมในที่นั้นๆ ฉะนั้น ก็สัตว์พวกใดพวกหนึ่งอาศัยทิฏฐิทั้งหลายทั้งหมด ไม่สามารถทําปัจจยาการให้ตรงได้แน่แท้. บทว่า คุณคณฺิกชาตา คือด้ายผสมน้ำข้าวของช่างหูก ท่านกล่าวว่า เป็นปมดุจกลุ่มด้าย อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า รังของสกุณีนั้นชื่อคุณะ (เครื่องผูก) ดังนี้บ้าง ของยุ่งแม้ทั้งสองอย่างนั้นพึงประกอบโดยนัยก่อนนั้นแลว่า เป็นการยากที่จะทําปลายให้เสมอปสาย ทำต้นให้เสมอต้นได้ ดังนี้. บทว่า มฺุชปพฺพชภูตา คือเป็นดุจหญ้ามุงกระต่ายและดุจหญ้าปล้อง หมู่สัตว์นี้ไม่สามารถทําปัจจยาการให้ตรงได้ เป็นผู้มีปมด้วยอํานาจของทิฏฐิ ย่อมไม่พ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร เหมือนถือเชือกที่เขาทุบหญ้าเหล่านั้นแล้วทําเป็นเชือก ครั้นถึงคราวเชือกเก่าก็จะตกลงในที่ไหนๆ จึงเป็นการยากที่จะทําให้ปลายเสมอปลาย ทําโคนให้เสมอโคนได้ เพราะไม่รู้ว่า นี้ปลาย นี้โคน ของเชือกเหล่านั้น ฉะนั้น บุคคลวางเชือกแม้นั้นไว้ในการงานของบุรุษเฉพาะตัว พึงสามารถทําให้ตรงได้ ก็สัตว์เหล่าอื่นเว้นพระโพธิสัตว์ทั้งสององค์เสีย ชื่อว่าสามารถจะทําปัจจยาการให้ตรงตามธรรมดาของตน ย่อมไม่มี.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อปาโย ได้แก่ นรก กําเนิดเดียรัจฉาน เปรตวิสัย และอสูรกายทั้งหลาย จริงอยู่ แม้ทั้งหมดเหล่านั้นท่านกล่าวว่า อบายเพราะไม่มีความเจริญ กล่าวคือ วุฒิอนึ่ง ชื่อว่าทุคติ เพราะเป็นทางไปแห่งทุกข์ ชื่อว่าวินิบาต เพราะตกจากการตั้งขึ้นแห่งความสุข. ส่วนท่านนอกนี้กล่าวว่า
ลําดับแห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ยังเป็นไปไม่ขาดสาย ท่านกล่าวว่า สงสาร.
หมู่สัตว์ย่อมไม่พ้น คือไม่ก้าวล่วง แม้ทั้งหมดนั้น ลําดับนั้นแล หมู่สัตว์ ถือจุติและปฏิสนธิบ่อยๆ อย่างนี้ คือ จากจุติถึงปฏิสนธิ จากปฏิสนธิถึงจุติ ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปในภพทั้งหลาย ๓ ในกําเนิดทั้งหลาย ๔
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 206
ในคติทั้งหลาย ๕ ในวิญญานฐิติทั้งหลาย ๗ ในสัตตาวาสทั้งหลาย ๙ ดุจเรือถูกลมซัดไปในมหาสมุทรและดุจโคที่ถูกเทียมในเครื่องยนต์ ด้วยประการดังนี้พึงทราบทั้งหมดนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะยังท่านพระอานนท์ให้คลายความคิดจึงตรัสแล้ว.
บัดนี้ เพราะสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มด้วยบททั้งสองนี้แลว่า ดูก่อนอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นของลึกซึ้งและสัตว์ทั้งหลายเกิดเป็นผู้ยุ่งดุจด้ายของช่างหูกดังนี้ ฉะนั้น เมื่อทรงปรารภเทศนาเพื่อเห็นความลึกซึ้งของปัจจยาการโดยสืบเนื่องนี้ก่อนว่า ดูก่อนอานนท์ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นของลึกซึ้ง จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ชราและมรณะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยดังนี้.
ปัจจัยแห่งชราและมรณะนี้ ชื่อ อิทัปปัจจัย (มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย) เพราะฉะนั้น ชราและมรณะจึงมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย ดูก่อนอานนท์ มีบุคคลผู้เป็นบัณฑิตถามแล้วอย่างนี้ว่า ปัจจัยของชราและมรณะมีอยู่หรือ ชราและมรณะพึงมีสิ่งใดเป็นปัจจัย ไม่ควรปฏิบัติโดยอาการที่พึงเป็นผู้นิ่งต่อปัญหา เพราะเมื่อมีผู้กล่าวว่า นั่นชีวะ นั่นสรีระ แล้วควรกําหนดไว้ หรือควรจะกล่าวว่า ข้อนี้พระตถาคตไม่ทรงพยากรณ์ ดังนี้ ฉะนั้น ควรกล่าวแก่เขาว่า มีโดยส่วนเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างเมื่อมีผู้กล่าวว่า จักษุเที่ยง หรือไม่เที่ยง ควรกล่าวโดยส่วนเดียวเท่านั้นว่าไม่เที่ยง เมื่อมีผู้กล่าวอีกว่า ชราและมรณะมีอะไรเป็นปัจจัย ชราและมรณะ ย่อมมีเพราะปัจจัยอะไร ดังนี้ ควรกล่าวแก่เขาดังนี้ว่า ชราและมรณะมีชาติเป็นปัจจัย อธิบายว่า ควรกล่าวอย่างนี้ ในบททั้งหมดมีนัยอย่างนี้ ก็บทนี้ว่า ผัสสะ มีนามรูปเป็นปัจจัย เพราะเมื่อกล่าวว่ามีสฬายตนะเป็นปัจจัย เป็นอันรับสัมผัสอันเป็นผล ๖ มีจักษุสัมผัส เป็นต้น แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงความวิเศษของปัจจัยที่เกิดขึ้นรับบ้าง ไม่รับบ้าง ด้วยบทนี้ว่ามี สฬายตนะ เป็นปัจจัย ดังนี้ และปัจจัย
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 207
อันวิเศษ แม้อย่างอื่นของ ผัสสะ มากเกินกว่า สฬายตนะ ฉะนั้น พึงทราบว่าพระองค์ตรัสไว้แล้ว ถามว่า ก็ด้วยวาระนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอะไรไว้ตอบว่า ตรัสเหตุแห่งปัจจัยทั้งหลายไว้ จริงอยู่ พระสูตรนี้ท่านกล่าวว่า มหานิทาน เพราะกระทําปัจจัยทั้งหลาย ให้ไม่มีปัจจัย ไม่ให้มีความพัวพัน ไม่ให้มีกอแล้ว จึงกล่าวไว้ บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงความเป็นปัจจัยเหล่านั้น เป็นปัจจัยแท้จริง ไม่เป็นอย่างอื่น จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ชราและมรณะ มีชาติเป็นปัจจัย เรากล่าวอธิบายคํานี้ไว้ด้วยประการดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ปริยาเยน คือโดยเหตุ. บทว่า สพฺเพน สพฺพํ สพฺพถา สพฺพํ (ทั่วทุกหนแห่ง) ทั้งสองบทนี้เป็นนิบาต อธิบายบทนั้นว่า ผิว่า ชื่อว่าชาติทั้งหมด ไม่พึงมีโดยอาการทั้งหมด ไม่พึงมีโดยสภาวะทั้งหมด ดังนี้ แม้ในภพเป็นต้น พึงทราบโดยนัยนี้แล. บทว่า กสฺสจิ นี้ เป็นคําไม่แน่นอน คือ แก่ใครๆ ในเทวโลกเป็นต้น แม้บทนี้ว่า กิมฺหิจิ ก็เป็นคําไม่แน่นอนเหมือนกัน คือ ในที่ไหนๆ ในภพทั้ง ๙ มี กามภพเป็นต้น. บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต ในอรรถว่า กําหนดในความไม่แน่นอน และขยายความย่อออกไป บทนั้นมีอธิบายว่า เราจักขยายความแห่งบทที่เรากล่าวไว้แก่ใครๆ ในที่ไหนๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขยายความนั้น จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า เพื่อความเป็นเทวดาแห่งพวกเทวดา.
ในบทเหล่านั้น บทว่า เพื่อความเป็นเทวดาแห่งเทวดาทั้งหลาย พวกเทวดาท่านกล่าวว่า เทวา โดยกําเนิดของขันธ์เพื่อความเป็นเทวดาแห่งเทวดาทั้งหลาย พึงทราบความในบททั้งปวงโดยนัยนี้แลว่า ก็หากว่า ชาติจักไม่มีทั่วไปทุกหนแห่ง ดังนี้ ก็ในบทเหล่านี้บทว่า เทวา คืออุปปัตติเทพ (ผุดเกิดขึ้น) . บทว่า คนฺธพฺพา คือเทวดาที่สิ่งอยู่ตามโคนไม้และต้นไม้เป็นต้น. บทว่า ยกฺขา คือ พวกอมนุษย์. บทว่า ภูตา คือสัตว์ที่เกิดแล้ว พวกใด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 208
พวกหนึ่ง. บทว่า ปกฺขิโน คือ นกพวกใดพวกหนึ่ง มีกระดูกเป็นปีกก็ดี มีหนังเป็นปีกก็ดี มีขนเป็นปีกก็ดี. บทว่า สิรึสปา คือสัตว์พวกใดพวกหนึ่งเลื้อยคลานไปบนแผ่นดิน. บทว่า เตสํ เตสํ คือ บรรดาเทวดาและคนธรรพ์เป็นต้นเหล่านั้นๆ . บทว่า ตถตฺตาย คือ เพื่อความเป็นเทวดาและคนธรรพ์เป็นต้น. บทว่า ชาตินิโรธา ความว่า เพราะปราศจากชาติ เพราะไม่มีชาติ.
แม้บททั้งหมดมีอาทิว่า เหตุดังนี้เป็นไวพจน์ของเหตุนั้นแล จริงอยู่เพราะเหตุ ย่อมปรารถนา ย่อมเป็นไป เพื่อต้องการผลของตน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เหตุดังนี้ เพราะมอบผลนั้นให้ดุจมอบให้ด้วยคําว่า ท่านทั้งหลายจงรับผลนี้นั้นเถิด ดังนี้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิทาน เพราะผลย่อมตั้งขึ้น คือ ย่อมเกิดขึ้นจากเหตุนั้นและอาศัยเหตุนั้น ย่อมถึง คือ ย่อมเป็นไป ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมุทัย และ ปัจจัย ดังนี้ ในบททั้งหมดมีนัยนี้ อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยทิทํ ในบทนี้ว่า ยทิทํ ชาติ ดังนี้เป็นนิบาต พึงทราบความแห่งนิบาตนั้นโดยอนุรูปแก่ลิงค์ในบททั้งหมด ก็ในที่นี้มีอธิบายบทนี้อย่างที่ว่า ยา เอสา ดังนี้ จริงอยู่ความเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งที่สุดของอุปนิสัย
ท่านกระทําการกําหนดโอกาสในบทแห่งภพด้วยบทนี้ว่า กิมฺหิจิ (ในภพไหนๆ) ในบทนั้นพึงทราบว่า กามภพ ในภายใน กระทําที่สุดอเวจีในเบื้องต่ํา กระทําเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดีในเบื้องบน ในอุปปัตติภพก็มีนัยนี้แต่ในบทนี้ควรเป็นกรรมภพ เพราะกรรมภพนั้นเป็นปัจจัยแห่งที่สุดของอุปนิสัยของชาติ แม้ในบทแห่งอุปาทานเป็นต้น พึงทราบว่าท่านกระทําการกําหนดโอกาสด้วยบทนี้ว่า กิมฺหิจิ ดังนี้
ในบทว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพนี้ ความว่า กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งกรรมภพ ๓ และอุปปัตติภพ ๓ แม้บทที่เหลือก็อย่างนั้น พึงทราบภพ ๒๔ มีอุปาทานเป็นปัจจัย กรรมภพ ๑๒ ย่อมได้ในบทนี้โดยตรง
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 209
อุปาทานแห่งกรรมภพเหล่านั้น เป็นปัจจัยแห่งที่สุดของสหชาตบ้าง แห่งที่สุดของอุปนิสัยบ้าง.
บทว่า รูปตณฺหา คือความอยากในรูปารมณ์ ในสัททตัณหาเป็นต้น ก็มีนัยนี้ ก็ตัณหานี้นั้นย่อมเป็นปัจจัย แห่งที่สุดของสหชาตบ้าง แห่งที่สุดของอุปนิสัยบ้าง ของอุปาทาน.
ในบทว่า ปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานี้ ความว่า วิบากเวทนา ย่อมเป็นปัจจัยแห่งที่สุดของอุปนิสัยของตัณหา เวทนาอย่างอื่นก็เป็นปัจจัยแม้โดยประการอื่น.
ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตัณหาเบื้องต้นอันมีวัฏฏะเป็นมูล บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงถึงตัณหาอันเป็นความฟุ้งซ่าน ด้วยบททั้งหลาย ๙ ดุจบุคคลทุบที่หลัง หรือจับที่ผมแล้วผลักคนที่กําลังร้องขอชีวิตออกจากทาง จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ ก็ด้วยประการดังนี้แล คํานี้คือเพราะอาศัยเวทนาจึงเกิดตัณหาดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ตณฺหา ความว่าตัณหามี ๒ อย่างคือ เอสนาตัณหา และ เอสิตตัณหา บุคคลเดินไปสู่ทางแพะและทางขวากเป็นต้นแล้ว เสาะแสวงหาโภคะทั้งหลายด้วยตัณหาใด ตัณหานี้ชื่อเอสนาตัณหา ตัณหาใดแม้เมื่อบุคคลเสาะแสวงหาได้แล้ว ตัณหานี้ก็ชื่อว่าเอสิตตัณหา แม้ทั้งสองคํานั้นก็เป็นชื่อของตัณหาอันเป็นความฟุ้งซ่านนั้นเอง เพราะฉะนั้น ตัณหา ๒ อย่างนี้ อาศัยเวทนาจึงชื่อว่าเกิดตัณหา. บทว่า ปริเยสนา คือการแสวงหาอารมณ์มีรูปเป็นต้น เพราะว่าการแสวงหานั้นย่อมเป็นการระลึกถึงตัณหา. บทว่า ลาโภ คือการได้อารมณ์มีรูปเป็นต้น เพราะว่าการได้นั้นย่อมเป็นการระลึกด้วยการแสวงหา.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 210
วินิจฉัยมี ๔ อย่างคือ ญาณ ตัณหา ทิฏฐิและวิตก. ในวินิจฉัยเหล่านั้น พึงรู้วินิจฉัยอันเป็นความสุข ครั้นรู้วินิจฉัยอันเป็นสุขแล้ว พึงเพียรหาความสุขในภายใน นี้คือญาณวินิจฉัย. ความวิปริตแห่งตัณหา ๑๐๘ มาแล้วอย่างนี้ว่า บทว่าวินิจฉัย ได้แก่วินิจฉัย ๒ อย่างคือตัณหาวินิจฉัยและทิฏฐิวินิจฉัย ชื่อว่าตัณหาวินิจฉัย. ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่าทิฏฐิวินิจฉัย. วิตกที่ท่านกล่าวว่าวินิจฉัย ในที่นี้มาแล้วในสักกปัญหสูตรนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ ฉันทะ คือความพอใจแล มีวิตกเป็นเหตุดังนี้ ก็คนทั้งหลายได้ลาภแล้วย่อมตัดสินว่า น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ดีและไม่ดีด้วยวิตกอย่างเดียว บุคคลดําริว่า เราจักมีลาภเท่านี้เพื่อต้องการรูปารมณ์ เราจักมีลาภเท่านี้เพื่ออารมณ์มีสัททารมณ์เป็นต้น จักมีแก่เราเท่านี้ จักมีแก่ผู้อื่นเท่านี้ เราจักใช้สอยเท่านี้ เราจักเก็บเท่านี้ ดังนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อาศัยลาภ จึงตัดสิน.
บทว่า ฉนฺทราโค ความว่า ราคะอย่างอ่อนและราคะอย่างแรง ย่อมเกิดขึ้นในวัตถุที่ตรึกแล้ว ด้วยอกุศลวิตก ก็บทนี้เป็นตัณหาในที่นี้. บทว่า ฉนฺโท เป็นชื่อของราคะอย่างอ่อน. บทว่า อชฺโฌสานํ คือการลงความเห็นอย่างแรงว่า เราของเราดังนี้. บทว่า ปริคฺคโห คือทําการยึดถือด้วยสามารถ ตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า มจฺฉริยํ ความว่า เพราะทนไม่ได้ต่อความเป็นของทั่วไปด้วยคนอื่น ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวอรรถแห่งคําของบทนั้นอย่างนี้ว่า ท่านกล่าวว่า มจฺฉริยํ เพราะความที่ตั้งใจว่าสิ่งอัศจรรย์นี้จงเป็นของเราผู้เดียว จงอย่าเป็นของผู้อื่นเลยดังนี้. บทว่า อารกฺโข คือการป้องกัน อย่างดีด้วยสามารถการปิดประตูและใส่ไว้ในหีบเป็นต้น.
ชื่อว่าอธิกรณาเพราะอรรถว่าทําให้ยิ่ง บทนี้เป็นชื่อของเหตุ. บทว่า อารกฺขาธิกรณํ (เรื่องราวในการป้องกัน) เป็นภาวนปุงสกะ (ไม่มีเพศ) อธิบายว่า เหตุแห่งการป้องกัน ในการถือไม้เป็นต้น การถือท่อนไม้เพื่อห้าม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 211
ผู้อื่น ชื่อ ทณฺฑาทานํ การถือมีดมีคมข้างเดียวเป็นต้น ชื่อ สตฺถาทานํ. บทว่า กลโห คือทะเลาะทางกายบ้าง ทะเลาะทางวาจาบ้าง ความพิโรธมีมาก่อนๆ ชื่อว่า วิคคหะ (ความทะเลาะกัน) มีมาตอนหลังๆ ชื่อ วิวาท (การโต้เถียงกัน) . บทว่า ตุวํ ตุวํ เป็นคําไม่เคารพ คือพูด มึงมึง.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงตัณหาอันเป็นความฟุ้งเฟ้อนั้น แม้โดยนัยปฏิโลมจึงทรงปรารภ บทว่า อารกฺขาธิกรณํ (เหตุแห่งการป้องกัน) ทรงกลับการแสดง. ในบทเหล่านั้น บทว่า กามตณฺหา ได้แก่ความอยากในรูปเป็นต้น อันเกิดขึ้นแล้วด้วยสามารถราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕. บทว่า ภวตณฺหา คือราคะสหรคต ด้วยสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) . บทว่า วิภวตณฺหา คือราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าสูญ) .
บทว่า อิเม เทฺว ธมฺมา คือธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ คือ ตัณหามีวัฏฏะเป็นราก และตัณหาอันฟุ้งเฟ้อ. บทว่า ทฺวเยน ความว่าธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ แม้ถึงความเป็นอันเดียวกันโดยลักษณะของตัณหา ก็ย่อมเป็นการรวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนา โดยส่วน ๒ ด้วยสามารถตัณหามีวัฏฏะเป็นราก และตัณหาอันฟุ้งเฟ้อ อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีปัจจัยร่วมกันโดยมีเวทนาเป็นปัจจัย จริงอยู่ การรวมกันมี ๓ อย่างคือ การประชุมรวมกัน การรวมสหชาต การรวมปัจจัย ในบทเหล่านั้น บทนี้ว่า ครั้งนั้นแล การรวมชาวบ้านเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีขึ้นดังนี้ ชื่อว่าการประชุมรวมกัน ถ้อยคํานี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ มีฉันทะเป็นราก มีผัสสะเป็นที่เกิด มีเวทนาเป็นที่รวม ชื่อรวมสหชาต ก็พึงทราบบทนี้ว่า การรวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนาโดย ๒ ส่วน ชื่อว่ารวมปัจจัย.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 212
ผัสสะทั้งหมดมีจักขุสัมผัสเป็นต้น เป็นผัสสะอันเป็นผลอย่างเดียวในผัสสะเหล่านั้น เว้นผัสสะอันเป็นผลแห่งโลกุตตระ ๔ ที่เหลือย่อมเป็นผัสสะ ๓๒ ก็ในบทว่า ยทิทํ ผสฺโส นี้ โดยมากผัสสะย่อมเป็นปัจจัยแห่งเวทนา.
ท่านกล่าวอาการทั้งหลาย ในบทว่า เยหิ อานนฺท อากาเรหิ เป็นต้น เป็นสภาพไม่ใช่เช่นเดียวกันและกันแห่งเวทนาเป็นต้น ท่านแสดงอาการเหล่านั้นไว้ด้วยดี ชื่อว่าลิงค์ (เพศ) เพราะถึงความเสื่อมโทรม ชื่อว่านิมิตเพราะเหตุคือรู้เรื่องนั้นๆ ชื่ออุทเทส เพราะควรแสดงอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ ดูก่อนอานนท์ การบัญญัตินามกายอันเป็นที่ประชุมของนาม ย่อมมีได้ด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่อมีอุเทศแห่งเวทนาว่า เวทนาในอาการรู้สึก ในเพศรู้สึก ในนิมิตรู้สึก เมื่อมีอุเทศแห่งสัญญาว่า สัญญาในอาการรู้พร้อม ในเพศรู้พร้อม ในนิมิตรู้พร้อม เมื่อมีอุเทศแห่งสังขารทั้งหลายว่า เจตนาแห่งสังขารทั้งหลาย ในอาการแห่งเจตนา ในเพศแห่งเจตนา ในนิมิตแห่งเจตนา เมื่อมีอุเทศแห่งวิญญาณว่า วิญญาณในอาการรู้แจ้ง ในเพศรู้แจ้ง ในนิมิตรู้แจ้ง ดังนี้ ย่อมเป็นการบัญญัตินามกายว่า นี้เป็นนามกายเมื่อไม่มีอาการเป็นต้น ในเวทนาเป็นต้น อันเป็นเหตุให้บัญญัตินามกาย การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกาย จึงพึงปรากฏได้บ้างไหม มโนสัมผัสอันใดที่เป็นไวพจน์ของการสัมผัสเพียงแต่ชื่อในมโนทวาร กระทําขันธ์ ๔ ให้เป็นวัตถุแล้วจึงเกิดขึ้น มโนสัมผัสนั้นจะพึงปรากฏในรูปกาย พึงกระทําประสาททั้ง ๕ ให้เป็นวัตถุแล้วพึงเกิดขึ้นได้บ้างไหมดังนี้ ลําดับนั้น ท่านพระอานนท์เมื่อไม่ยอมรับการเกิดขึ้นแห่งสัมผัสนั้นจากรูปกาย ดุจเมื่อไม่มีต้นมะม่วงก็ไม่รับการเกิดขึ้นของผลมะม่วงสุกจากต้นชมพู ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้.
ในปัญหาที่ ๒ พึงทราบความแห่งอาการเป็นต้น ด้วยสามารถอาการแห่งความสลาย เพศแห่งความสลาย นิมิตแห่งความสลาย และด้วยสามารถ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 213
แห่งการยกขึ้นว่ารูปดังนี้. บทว่า ปฏิฆสมฺผสฺโส คือ การสัมผัสกระทํารูปขันธ์อันเป็นไปกับด้วยความกระทบให้เป็นวัตถุแล้วเกิดขึ้น แม้ในบทนี้พระเถระเมื่อไม่รับการเกิดขึ้นแห่งสัมผัสนั้นจากนามกาย ดุจเมื่อไม่มีต้นชมพูก็ไม่รับการเกิดขึ้นแห่งผลชมพูสุกจากต้นมะม่วง ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้.
ในปัญหาที่ ๓ ท่านกล่าวไว้เหมือนปัญหาทั้งสองนั่นแล ในปัญหาที่ ๓ นั้น พระเถระเมื่อจะไม่รับความเกิดขึ้นแห่งผัสสะแม้ทั้งสอง ในความไม่มีแห่งนามรูป ดุจไม่รับการเกิดขึ้นของผลมะม่วงสุก และผลชมพูสุกบนอากาศฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปัจจัยแต่ละอย่างๆ แห่งผัสสะทั้งสองอย่างนี้ บัดนี้ เพื่อทรงแสดงความที่ผัสสะแม้ทั้งสองเหล่านั้น เป็นปัจจัยแห่งนามรูปโดยไม่ต่างกัน จึงทรงปรารภปัญหาที่ ๔ว่า เยหิ อานนฺท อากาเรหิ (ดูก่อนอานนท์ด้วยอาการเหล่าใด) ดังนี้.
บทว่า ยทิทํ นามรูปํ คือ นามรูปนี้ใด อธิบายว่า นามรูปในทวารแม้ทั้ง ๖ นี้ใด นี้แล เป็นเหตุ นี้แล เป็นปัจจัย ดังนี้ จริงอยู่ จักษุเป็นต้นและรูปารมณ์เป็นต้น ในจักขุทวารเป็นต้น เป็นรูป ธรรมที่ประกอบกันเป็นนาม ผัสสะนั้นแม้ ๕ อย่าง อย่างนี้ด้วยประการดังนี้ เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ แม้ในมโนทวาร หทยวัตถุและรูปย่อมเป็นอารมณ์เป็นรูป สัมปยุตธรรม และสิ่งไม่มีรูปย่อมเป็นอารมณ์เป็นนาม ด้วยประการฉะนี้อย่างนี้แม้มโนสัมผัสก็พึงทราบว่า เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสัมผัส ก็แต่ว่านามรูปโดยมากย่อมเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้น.
บทว่า น โอกฺกมิสฺสถ ความว่า วิญญาณจักไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิ ดุจเข้าไปแล้วเป็นไปอยู่. บทว่า สมุจฺฉิสฺสถ ความว่า เมื่อปฏิสนธิวิญญาณไม่มี นามรูปส่วนที่เหลือบริสุทธิ์เป็นนามรูปที่ตัดขาดเจือปน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 214
จักเป็นไปด้วยความเป็นกลละเป็นต้น ภายในท้องของมารดาได้บ้างไหม. บทว่า โอกฺกมิตฺวา โอกฺกมิสฺสถ ความว่า วิญญาณจักหยั่งลงด้วยสามารถปฏิสนธิแล้วล่วงเลยไปคือดับไปด้วยสามารถจุติ. ก็ความดับแห่งวิญญาณนั้น ย่อมไม่มีด้วยความดับแห่งจิตนั่นแล จากนั้นวิญญาณย่อมไม่มีด้วยความดับแห่งจิตดวงที่๒ และที่ ๓. จริงอยู่กรรมชรูป ครบ ๓๐ อันตั้งขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิจิตย่อมเกิด เมื่อกรรมชรูปเหล่านั้นตั้งอยู่นั่นเอง ภวังคจิต ๑๖ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป. ไม่มีอันตรายแก่ทารกผู้ถือปฏิสนธิในระหว่างนั้น หรือแก่มารดาของทารกนั้น เพราะอันตรายนี้ชื่อว่ายังไม่มีโอกาส. ก็หากว่ารูปที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิจิตสามารถเพื่อให้ปัจจัยแก่ภวังคจิตดวงที่ ๑๗ ได้ ความเป็นไปย่อมดําเนินต่อไป ประเวณีย่อมสืบต่อ. ก็หากว่าไม่สามารถ ความเป็นไปย่อมไม่ดําเนินต่อไป ประเวณีย่อมไม่สืบต่อ ชื่อว่าล่วงเลยไป. ท่านหมายถึง การล่วงเลยไปนั้น จึงกล่าวว่า โอกฺกมิตฺวา โอกฺกมิสฺสถ (หยั่งลงแล้วล่วงเลยไป) ดังนี้. บทว่า อิตฺถตฺตาย คือเพื่อความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า เมื่อความเป็นขันธ์ ๕ บริบูรณ์แล้วอย่างนี้.
บทว่า ทหรสฺเสว สโต คือยังอ่อนนั่นเอง. บทว่า โวจฺฉิชฺชิสฺสติ คือขาดความสืบต่อ. บทว่า วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ (ความเจริญงอกงามไพบูลย์) ความว่า เมื่อวิญญาณขาดความสืบต่อ นามรูปบริสุทธิ์จักตั้งขึ้นแล้วถึงความเจริญในปฐมวัย ความงอกงามในมัชฌิมวัย ความไพบูลย์ในปัจฉิมวัยบ้างได้ไหม อธิบายว่า นามรูปจักถึงความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ โดยมีอายุถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ฯลฯ ๑,๐๐๐ ปี ได้บ้างไหม.
บทว่า ตสฺมาติหานนฺท ความว่า เพราะวิญญาณนั้นแลเป็นปัจจัยแห่งนามรูปนั้น ในการถือปฏิสนธิในท้องมารดาบ้าง ในขณะอยู่ในท้องบ้าง ในขณะออกจากท้องบ้าง ในเวลามีอายุ ๑๐ ปี ในการเป็นไปบ้าง ฉะนั้น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 215
นี้เป็นเหตุ. นี้เป็นปัจจัยแห่งนามรูป คือ วิญญาณ วิญญาณย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูป ดุจบุคคลกล่าวถึงนามรูปอย่างนี้โดยความว่า ท่านชื่อนาม ท่านชื่อรูป ท่านชื่อนามรูป ดังนี้ ใครทํานามรูปนั้น เราทํามิใช่หรือ ก็หากว่า เมื่อเราเป็นปุเรจาริกไม่ถือปฏิสนธิในท้องของมารดา ท่านพึงเป็นนาม พึงเป็นรูป หรือพึงเป็นนามรูป พวกเราพึงรู้กําลังของท่านเหมือนอย่างว่า พระราชาเมื่อจะทรงข่มขู่บริษัทของพระองค์ พึงตรัสว่า เจ้าเป็นอุปราช เจ้าเป็นเสนาบดี ดังนี้ ใครตั้งเจ้า เราตั้งเจ้ามิใช่หรือ ก็หากว่าเมื่อเราไม่ตั้งเจ้า เจ้าจะพึงเป็นอุปราชหรือพึงเป็นเสนาบดี ตามธรรมดาของตน เราพึงรู้กําลังของเจ้า ฉะนั้นก็วิญญาณนี้นั้นโดยมากย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูป.
บทว่า ทุกฺขสมุทยสมฺภโว คือความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์. บทว่า ยทิทํ นามรูปํ ความว่า นามรูปนี้ใด นี้เป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัย แม้นามรูปก็ดุจบุคคลกล่าวถึงวิญญาณอย่างนี้โดยความว่า ท่านเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ใครทําปฏิสนธิวิญญาณ เราทํามิใช่หรือ ก็หากท่านไม่อาศัยขันธ์ ๓ และหทยวัตถุจะพึงชื่อว่าปฏิสนธิวิญญาณ เราพึงเห็นความที่ท่านเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ดังนี้เหมือนอย่างว่า ราชบุรุษทั้งหลายพึงทูลกะพระราชาผู้ทรงข่มขู่ว่า พระองค์เป็นพระราชา ใครตั้งพระองค์ พวกข้าพระพุทธเจ้าตั้งพระองค์มิใช่หรือ ก็หากว่าเมื่อข้าพระพุทธเจ้าไม่ดํารงอยู่ในตําแหน่งอุปราช ในตําแหน่งเสนาบดี พระองค์พึงเป็นพระราชาพระองค์เดียวเท่านั้น พวกข้าพระพุทธเจ้าพึงเห็นความเป็นพระราชาของพระองค์ ดังนี้ ฉะนั้น ก็และนามรูปนี้นั้น โดยมากย่อมเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ. บทว่า เอตฺตาวตา โข ความว่า เมื่อวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนามรูป เมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ เมื่อทั้งสองเป็นไปด้วยสามารถแห่งความเป็นปัจจัยของกันและกัน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วิญญาณและ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 216
นามรูป จึงยังเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ ชาติเป็นต้น หรือจุติปฏิสนธิอื่นๆ พึงปรากฏ.
บทว่า อธิวจนปโถ (ทางแห่งชื่อ) ความว่า ทางแห่งโวหาร ซึ่งไม่เห็นความของคําเป็นต้นว่า สิริวัฑฒกะ ธนวัฑฒกะ ตั้งขึ้นไว้เพียงเรียกชื่อเท่านั้น. บทว่า นิรุตฺติปโถ (ทางแห่งนิรุติ) ความว่า เป็นทางแห่งโวหารซึ่งเป็นไปด้วยสามารถการอ้างเหตุแห่งคําเป็นต้นว่า ผู้มีสติเพราะระลึกได้ ผู้มีสัมปชัญญะเพราะรู้ตัว. บทว่า ปฺตฺติปโถ (ทางแห่งบัญญัติ) ความว่าทางแห่งโวหารซึ่งเป็นไปด้วยสามารถแห่งการให้รู้โดยประการต่างๆ ของคําเป็นอาทิว่า ผู้รู้ ผู้ฉลาด ผู้มีปัญญา ผู้ชํานาญ ผู้คัดค้าน แม้ขันธ์ทั้งหลายอันเป็นวัตถุแห่งชื่อเป็นต้น ท่านก็กล่าวด้วยบททั้ง ๓ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า ปฺาวจรํ (การคาดคะเนด้วยปัญญา) ความว่า พึงคาดคะเนคือพึงรู้ ด้วยปัญญา. บทว่า วฏฏํ วฏฏติ คือ สังสารวัฏฏ์ ย่อมเป็นไป. บทว่า อิตฺถตฺตํ คือความเป็นอย่างนี้ คํานี้เป็นชื่อของขันธบัญจก (หมวด ๕ แห่งขันธ์) . บทว่า ปฺาปนาย คือเพื่อบัญญัติ ชื่อ อธิบายว่า แม้ขันธปัญจกก็ย่อมปรากฏด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพื่อต้องการบัญญัตินาม ด้วยบทว่า เวทนา สฺา เป็นต้น. บทว่า ยทิทํ นามรูปํ สหวิฺาเณน ความว่า นี้คือนามรูปกับวิญญาณย่อมเป็นไป เพราะเป็นปัจจัยของกันและกัน ท่านอธิบายว่าด้วยเหตุเพียงเท่านี้ดังนี้ นี้เป็นคําที่ถูกนําออกไปในบทนี้.
ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอนุสนธิแห่งบทว่า ดูก่อนอานนท์ ก็ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นของลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ดังนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงอนุสนธิแห่งบทว่า ตนฺตากุลกชาตา (ยุ่งดุจด้ายของช่างหูก) ดังนี้ ทรงปรารภเทศนามีอาทิว่า กิตฺตาวตา จ (ด้วยเหตุมีประมาณเท่าใด) ดังนี้ ในบทเหล่านั้น ในบทว่า รูปึ วา หิ อานนฺท ปริตฺตํ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 217
อตฺตานํ ดังนี้ ความว่าผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปนิดหน่อย ย่อมถือว่า กสิณนิมิตที่ยังไม่เจริญเป็นอัตตา ดังนี้ อนึ่ง ผู้ที่บัญญัติอัตตานั้นว่า บางคราวเขียว บางคราวเหลือง ดังนี้ ย่อมเป็นผู้มีปกติได้กสิณต่างๆ ผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมถือว่า กสิณนิมิต ที่เจริญแล้วเป็นอัตตา ดังนี้ ก็หรือผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปนิดหน่อย เพิกถอนกสิณนิมิตที่ยังไม่เจริญแล้วถือโอกาสที่นิมิตสัมผัสแล้ว หรือขันธ์ ๔ อันเป็นไปในนิมิตนั้น หรือเพียงวิญญาณในขันธ์ ๔ เหล่านั้นเท่านั้นว่าเป็นอัตตา ดังนี้ ผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปไม่มีที่สุด เพิกถอนกสิณนิมิตที่เจริญแล้ว ย่อมถือโอกาสที่นิมิตสัมผัสแล้ว หรือขันธ์อันเป็นไปในนิมิตนั้น หรือเพียงวิญญาณในขันธ์ ๔ เหล่านั้นเท่านั้น ว่าเป็นอัตตาดังนี้.
บทว่า ตตฺร ในบทว่า ตตฺรานนฺท นี้ คือในทิฏฐิ ๔ อย่างนั้น. บทว่า เอตรหิวา คือ ในบัดนี้มิใช่อื่นจากนี้ ท่านกล่าวคํานี้ด้วยสามารถอุจเฉททิฏฐิ. บทว่า ตถาภาวึ วา คือ สภาพที่เป็นอยู่ในโลกที่อยู่อย่างนั้น ท่านกล่าวคํานี้ด้วยสามารถสัสสตทิฏฐิ. บทว่า อตถํ วา ปน สนฺตํ คือ หรือสภาวะอันไม่เที่ยงแท้ มีอยู่ มีอยู่. บทว่า ตถตฺตาย คือเพื่อความเที่ยงแท้. บทว่า อุ-ปกปฺเปสฺสามิ คือเราจักให้ถึงพร้อม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการแย้งแม้ด้วยบทนี้ เพราะผู้มีวาทะว่า สูญ คิดแล้วว่า เราจักยังอัตตาที่ไม่เที่ยงแท้แม้ความจริงไม่สูญของผู้มีวาทะว่าเที่ยงให้สําเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ คือมีสภาพสูญ และเราจักให้ผู้มีวาทะว่าเที่ยงรู้แล้วจักให้เขาถือวาทะว่าสูญอย่างเดียว แม้ผู้มีวาทะว่าเที่ยงก็คิดแล้วว่าเราจักยังอัตตาอันไม่เที่ยงแท้ แม้ความจริงไม่เที่ยงให้สําเร็จเพื่อเป็นสภาพที่แท้ คือเพื่อความเป็นสภาพที่เที่ยง และจักยังผู้มีวาทะว่าสูญให้รู้แล้วให้เขาถือวาทะว่าเที่ยงอย่างเดียวดังนี้. บทว่า เอวํ สนฺตํ โข ความว่า ให้บัญญัติอัตตาอันมีรูปนิดหน่อยมีอยู่อย่างนี้. บทว่า รูปึ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 218
คือมีปกติ ได้รูปเป็นกสิณ. บทว่า ปริตฺตตฺตานุทิฏิ อนุเสติ ความว่า ความเห็นนี้ว่าอัตตานิดหน่อย ย่อมนอนเนื่องในสันดาน ก็พึงทราบความเห็นนั้นว่า ความเห็นนั้นย่อมไม่นอนเนื่องดุจเถาวัลย์และลดา คือ ชื่อว่าย่อมนอนเนื่องในสันดานโดยอรรถว่าละไม่ได้. บทว่า อิจฺจาลํ วจนาย ความว่า ควรเพื่อจะกล่าวว่าความเห็นเห็นปานนี้ ย่อมนอนเนื่องในบุคคลนั้น ในบททั้งหมดมีนัยนี้ ก็ในบทว่า อรูปึ นี้ คือมีปกติ ได้อรูปเป็นกสิณ พึงทราบความอย่างนี้ว่า หรือมีอรูปขันธ์เป็นโคจร.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านแสดงพวกถือทิฏฐิ ๑๖ จําพวกโดยเนื้อความว่า พวกมีลาภ ๔ พวกลูกศิษย์ของผู้มีลาภ ๔ พวกมีความเห็นผิด ๔ ลูกศิษย์ของพวกมีความเห็นผิด ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงผู้ที่บัญญัติอัตตาอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อทรงแสดงถึงผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาจึงตรัสคําเป็นอาทิว่า กิตฺตาวตา จ อานนฺท ดังนี้ ถามว่า ก็พวกไหนไม่บัญญัติ ตอบว่า โดยที่แท้พระอริยบุคคลทั้งหมดเท่านั้นไม่บัญญัติ อนึ่ง พระอริยบุคคลผู้ที่เป็นพหูสูต ทรง ๓ ปิฎก ๒ ปิฎก ๑ ปิฎก โดยที่สุดวินิจฉัยแม้นิกายเดียวด้วยดี บุคคลผู้แสดงธรรมตามที่ได้เรียนบ้าง ผู้ปรารภวิปัสสนาบ้าง ย่อมไม่บัญญัติ เพราะท่านเหล่านั้นมีสัญญาอยู่ว่า กสิณที่มีส่วนเปรียบเทียบในกสิณที่มีส่วนเปรียบเทียบดังนี้ อธิบายว่า อรูปขันธ์ในอรูปขันธ์นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงผู้ที่ไม่บัญญัติอย่างนี้แล้วบัดนี้ เพราะผู้ที่พิจารณาเห็นด้วยอํานาจทิฏฐิย่อมบัญญัติ ก็การพิจารณาเห็นนี้นั้นย่อมมีได้ เพราะยังไม่ละสักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ฉะนั้นเพื่อทรงแสดงถึงสักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ นั้น จึงตรัสอีกว่ากิตฺตาวตา จ อานนฺท ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้นท่านกล่าวสักกายทิฏฐิอันมีเวทนาขันธ์เป็นวัตถุ ด้วยบทนี้ว่า เวทนํ วา หิ ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 219
ท่านกล่าวสักกายทิฏฐิอันมีรูปขันธ์เป็นวัตถุด้วยบทนี้ว่า อปฺปฏิสํ เวทโน เม อตฺตา อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาๆ ดังนี้ ท่านกล่าวสักกายทิฏฐิอันมี สัญญาสังขารวิญญาณเป็นวัตถุ ด้วยบทนี้ว่า อัตตาของเรายังเสวยเวทนาอยู่เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดาดังนี้ ก็ขันธ์ทั้ง ๓ หมวดนี้ยังเสวยเวทนาอยู่เพราะสัมปยุตด้วยเวทนา อนึ่ง อัตตามีเวทนาเป็นธรรมดาคือ ไม่มีการประกอบเป็นสภาวะย่อมมีแก่ขันธ์ทั้ง ๓ นั้น บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงโทษ ในความเห็นเหล่านั้น จึงตรัสดําเป็นอาทิว่า ตตฺรานนฺท ดังนี้.
บทว่า ตตฺถ ตตฺร คือในทิฏฐิ ๓๐ เหล่านั้น ท่านกล่าวบทเป็นต้นว่า ยสฺมึ อานนฺท สมเย ดังนี้ เพื่อชี้โทษเป็นต้นอย่างนี้ว่า บางครั้งมี บางครั้งไม่มี แห่งอัตตาของผู้ที่พิจารณาเห็นว่าเวทนาเป็นอัตตา.
ในบทว่า อนิจฺจา เป็นต้น ความว่า เวทนาชื่อว่าเป็นของไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มี ชื่อว่าอันปัจจัยปรุงแต่ง เพราะปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุนั้นๆ ชื่อว่าอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะอาศัยปัจจัยนั้นๆ แล้วเกิดขึ้นด้วยเหตุอันชอบ บททั้งหมดมีอาทิว่า ขโย เป็นไวพจน์ของการทําลาย จริงอยู่สิ่งใดย่อมแตก สิ่งนั้นย่อมสิ้นไปบ้าง เสื่อมไปบ้าง คลายไปบ้าง ดับไปบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคําเป็นอาทิว่า ขยธมฺมา ดังนี้. บทว่า พฺยคา เม อธิบายว่าอัตตาของเราถึงความเสื่อมโทรม คือ ปราศจากไปดับไปดังนี้.
พุทธพจน์ว่า นั่นตนของเราย่อมมีแก่คนคนเดียวเท่านั้น ในกาลแม้ทั้ง ๓ หรือ จักไม่มีแก่คนที่มีทิฏฐิหรือ เพราะธรรมดาเถาวัลย์ย่อมไม่มีเป็นนิจแก่ตอไม้ที่เขาเก็บไว้ในกองแกลบ ดุจลิงป่าย่อมถือเอาสิ่งอื่นย่อมปล่อยสิ่งอื่น. บทว่า อนิจฺจํ สุขํ ทุกฺขํ โวกิณฺณํ ความว่า บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นเวทนานั้นๆ โดยวิเศษว่าเป็นอัตตา ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาไม่เที่ยงเป็นสุข
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 220
และเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นเวทนาโดยไม่วิเศษว่าเป็นอัตตาย่อมพิจารณาเห็นอัตตาเกลื่อนกล่นมีเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา จริงอยู่ เวทนามี ๓ อย่างและมีเกิดขึ้นมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา ก็เขาย่อมพิจารณาเห็นเวทนานั้นว่าเป็นอัตตา ด้วยประการฉะนี้ อัตตาของเขาจึงไม่เที่ยง และความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทั้งหลายมากย่อมถึงในขณะเดียวกัน แต่เขาย่อมรู้ตามอัตตานั้นแลว่าไม่เที่ยง ไม่มีเวทนาเป็นอันมากเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงความนี้จึงตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแหละ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะพิจารณาเห็นว่าเวทนาเป็นอัตตาของเราแม้ด้วยคําดังกล่าวแล้วนี้ดังนี้.
บทว่า ยตฺถ ปนาวุโส ความว่า ในรูปขันธ์ล้วนก็ยังไม่มีการเสวยอารมณ์ด้วยประการทั้งปวง. บทว่า อปินุ โขตตฺถ ความว่า ในรูปขันธ์นั้นคือในต้นตาล หรือในหน้าต่างอันเว้นเวทนาแล้ว ยังจะพึงเกิดอหังการว่าเป็นเราอย่างนี้อีกหรือ. บทว่า ตสฺมาติหานนฺท ความว่า เพราะรูปขันธ์ล้วนตั้งขึ้นแล้วยังไม่กล่าวว่าเป็นเรา ฉะนั้น ข้อนี้จึงไม่ควรที่จะพิจารณาเห็นว่าเวทนาเป็นอัตตาของเรา แม้ด้วยคําดังกล่าวแล้วนี้ ในรูปขันธ์ยังจะเกิดอหังการว่านี้เป็นเราได้หรือ เพราะฉะนั้น ในเวทนาเหล่านั้นในขันธ์ ๓ แม้ขันธ์เดียวควรจะกล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อนี้เป็นเราดังนี้ได้หรือ อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เมื่อขันธ์ ๓ เหล่านั้นดับ พร้อมกับเวทนาเพราะเวทนาดับ จะพึงเกิดอหังการว่านี้เป็นเราหรือเราเป็นนี้ ดังนี้ได้หรือ ลําดับนั้น ท่านพระอานนท์เมื่อจะไม่ยอมรับข้อนั้น ดุจบุคคลไม่ยอมรับความคมกริบของเขากระต่าย ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โนเหตํ ภนฺเต ดังนี้.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอะไร ตรัสถึงวัฏฏะ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสถึงเรื่องวัฏฏะ ในบางแห่งตรัสหัวข้ออวิชชา บางแห่งตรัสหัวข้อตัณหา บางแห่งตรัสหัวข้อทิฏฐิ ในหัวข้อเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 221
ตรัสหัวข้ออวิชชาอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดของอวิชชาไม่ปรากฏมาก่อน ก่อนจากนี้อวิชชามิได้มี แต่ว่าได้เกิดมีแล้วในภายหลัง เพราะเหตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวถึงหัวข้ออวิชชานี้อย่างนี้ ครั้นแล้วอวิชชาย่อมปรากฏ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงมีอวิชชา. ตรัสหัวข้อตัณหาอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดของภวตัณหาย่อมไม่ปรากฏมาก่อน ก่อนจากนี้ภวตัณหามิได้มี แต่ว่าได้เกิดมีแล้วในภายหลัง เพราะเหตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคต กล่าวถึงหัวข้อตัณหานี้ไว้อย่างนี้ ครั้นแล้วตัณหาย่อมปรากฏเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ตรัสหัวข้อทิฏฐิไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดแห่งภวทิฏฐิไม่ปรากฏมาก่อน ก่อนจากนี้ภวทิฏฐิมิได้มี แต่ว่าได้เกิดมีแล้วในภายหลัง เพราะเหตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคต กล่าวถึงภวทิฏฐินี้อย่างนี้ ครั้นแล้ว ภวทิฏฐิย่อมปรากฏ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงมีภวทิฏฐิ ดังนี้แม้ในภวทิฏฐินี้ก็เป็นอันตรัสด้วยหัวข้อทิฏฐิเหมือนกัน จริงอยู่ ผู้มีทิฏฐิถือว่าเวทนามีสุขเวทนาเป็นต้น เป็นอัตตา ครั้นจุติจากภพนั้นๆ ในภพ กําเนิด คติ วิญญาณัฏฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง ด้วยสามารถการยึดถือว่าเรา ว่าของเราแล้วไปเกิดในภพนั้นๆ ย่อมหมุนไปสู่ภูมิเนืองๆ ดุจเรือถูกลมซัดในมหาสมุทร ไม่สามารถยกศีรษะขึ้นจากวัฏฏะได้เลย.
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงวัฏฏะด้วยกถามรรคเพียงเท่านี้แก่ผู้มีทิฏฐิหลงในปัจจยาการแล้ว บัดนี้ เมื่อจะตรัสถึงพระนิพพาน จึงตรัสคํามีอาทิว่า ยโต โข อานนฺท ภิกฺขุ ดังนี้.
ก็และพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในเทศนา ไม่ทรงแตะต้องวิวัฏฏกถา (เรื่องนิพพาน) กะบุคคลผู้ฟุ้งสร้านด้วยสามารถนวกรรมเป็นต้น ผู้ทอดทิ้งกรรมฐาน แล้วเมื่อจะทรงปรารภด้วยสามารถบุคคลผู้มี
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 222
ปกติอยู่ด้วยสติปัฏฐาน ผู้เป็นการกบุคคล จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ภิกษุย่อมไม่พิจารณาเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ดังนี้.
จริงอยู่ ภิกษุเห็นปานนี้ย่อมไม่พิจารณาเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ย่อมไม่พิจารณาเห็นธรรมเหล่าอื่น เพราะความที่เป็นไปในธรรมทั้งปวง ด้วยสามารถแห่งสัมมสนญาณที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วโดยนัยมีอาทิว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ในภายในหรือในภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ภิกษุย่อมกําหนดรูปทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง พิจารณาครั้ง ๑ ย่อมกําหนดโดยความเป็นทุกข์ พิจารณาครั้ง ๑ ย่อมกําหนดโดยความเป็นอนัตตา พิจารณาครั้ง ๑ ดังนี้ ภิกษุนั้น เมื่อไม่พิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ว่าอะไรๆ ในโลกไม่น่ายึดมั่นดังนี้ อะไรๆ แม้ธรรมข้อหนึ่งในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ในโลกอันต่างด้วยขันธโลกเป็นต้น ไม่น่ายึดมั่นว่าเป็นอัตตาหรือเกิดในอัตตา ดังนี้. บทว่า อนุปาทิยํจ น ปริตสฺสติ ความว่า ภิกษุเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง แม้ด้วยความสะดุ้งคือ ตัณหา ทิฏฐิและมานะ. บทว่า อปริตสฺสํ คือ เมื่อไม่สะดุ้ง. บทว่า ปจฺจตฺตฺเว ปรินิพฺพายติ ความว่า ย่อมปรินิพพานด้วยการดับกิเลสด้วยตนเอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขีณา ชาติ ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงแสดงถึงความเป็นไปแห่งปัจจเวกขณะของผู้ปรินิพพานแล้วอย่างนี้.
บทว่า อิติ สา ทิฏิ ความว่า ทิฏฐิของพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนั้นชื่อว่าทิฏฐิอย่างนี้ บาลีว่า อิติสฺส ทิฏิ ดังนี้บ้าง. อธิบายว่า ผู้นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลสเป็นผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนั่น พึงมีทิฏฐิอย่างนี้. บทว่า ตทกลฺลํ คือ ข้อนั้นไม่สมควร. เพราะเหตุไร. เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้นควรกล่าวว่าพระอรหันต์ย่อมไม่รู้อะไรๆ ครั้นรู้อย่างนี้แล้วไม่ควรกล่าวกะพระอรหันต์
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 223
ผู้หลุดพ้นแล้วว่าไม่รู้อะไรๆ . ด้วยเหตุนั้นแล ในที่สุดแห่งนัย แม้ ๔ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตํ กิสฺส เหตุ ดังนี้.
บทว่า ยาวตานนฺท อธิวจนํ ความว่า มีโวหาร กล่าวคือชื่อตราบใด. บทว่า ยาวตา อธิวจนปโถ คือเป็นทางแห่งชื่อเป็นไปอยู่ตราบใด. ขันธ์ อายตนะ หรือธาตุ ยังมีอยู่. ในที่ทั้งหมดมีนัยนี้. บทว่า ปฺญาวจรํ คือขันธบัญจกที่กําหนดรู้ด้วยปัญญา. บทว่า ตทภิฺา คือเพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้น. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอะไร. ทรงแสดงอนุสนธิของบทว่าด้วยความยุ่งดุจด้ายของช่างหูก.
บัดนี้ ผู้ที่ท่านกล่าวว่า ไม่บัญญัติ เพราะไปอยู่ๆ ชื่อว่าหลุดพ้นจากส่วนทั้งสอง อนึ่ง ผู้ที่ท่านกล่าวว่าไม่พิจารณาเห็นเพราะไปอยู่ๆ ชื่อว่าพ้นด้วยปัญญา ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงบทสรุปและชื่อของภิกษุทั้ง ๒ พวกที่กล่าวแล้วเหล่านั้นจึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ วิญญาณฐิติเหล่านี้ ๗ อย่าง.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สตฺตา ท่านกล่าวด้วยสามารถปฏิสนธิ. วิญญาณฐิติ ๔ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ จักมาในสังคีติสูตร. ชื่อว่าวิญญาณฐิติ เพราะมีวิญญาณตั้งอยู่. บทว่า วิฺาณิติ นี้เป็นชื่อของที่ตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. บทว่า เทฺว อายตนานิ คือ ที่อยู่อาศัยและที่ตั้ง ๒. ก็บทว่า อายตนะ ในที่นี้ท่านประสงค์เอาที่อยู่อาศัย. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจักกล่าวถึงอายตนะ ๒ คือ อสัญญีสัตตายตนะ ที่อยู่ของสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่อยู่ของสัตว์มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่. ถามว่า ก็เพราะเหตุไรท่านจึงถือเอาอายตนะนี้ทั้งหมด. ตอบว่า เพื่อควบคุมวัฏฏะ. จริงอยู่วัฏฏะย่อมไม่ถึงการควบคุมด้วยสามารถวิญญาณฐิติอันบริสุทธิ์ หรือด้วยสามารถอายตนะบริสุทธิ์ แต่ย่อมถึงการควบคุมด้วยสามารถภพกําเนิด คติและสัตตาวาส เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือเอาอายตนะนี้ทั้งหมด. บัดนี้ พระ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 224
ศาสดาเมื่อจะทรงจําแนกความนั้นโดยลําดับจึงตรัสคําเป็นอาทิว่า กตมา สตฺต ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถาปิ เป็นนิบาตในอรรถว่าตัวอย่าง. อธิบายว่า เหมือนอย่างมนุษย์ดังนี้. จริงอยู่ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้เช่นกับหนึ่งไม่มีสอง ด้วยสามารถแห่งวรรณและสัณฐานเป็นต้นของมนุษย์อันหาประมาณมิได้. ความแปลกกันด้วยอาการเป็นต้นว่า การมองดู การเหลียวดู การพูด การหัวเราะ การเดินและการยืน ย่อมมีแค่นี้ น้องฝาแฝดในที่ไหนๆ ย่อมเป็นเช่นเดียวกันโดยวรรณะหรือโดยทรวดทรง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นานตฺตกายา. แต่ปฏิสนธิวิญญาณของสัตว์เหล่านั้นมี ๓ เหตุบ้าง มี ๒ เหตุบ้าง ไม่มีเหตุบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่ามีสัญญาต่างกัน.
บทว่า เอกจฺเจ จ เทวา คือเทวดาชั้นฉกามาวจร. ก็ในเทวดาเหล่านั้น บางพวกมีตัวเขียว บางพวกมีวรรณะเหลืองเป็นต้น. แต่สัญญาของเทวดาเหล่านั้น มี ๒ เหตุบ้าง มี ๓ เหตุบ้าง ไม่มีเหตุบ้าง.
บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ความว่า เวมานิกเปรต มีอาทิอย่างนี้ว่า ยักษิณี ชื่อ อุตตรมาตา ปิยังกรมาตา ปุสสมิตตา ธรรมคุตตา ผู้จมอยู่ในอบาย ๔ ก็กายของเปรตเหล่านั้นมีต่างๆ กัน ด้วยสามารถสี มีสีเหลือง สีขาว สีดํา สีทอง สีคร่ําเป็นต้น และด้วยสามารถ ความผอม ความอ้วน สูงและต่ํา. แม้สัญญาก็มีด้วยสามารถ ทวิเหตุกะ ติเหตุกะ และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ทั้งหลาย. ก็เปรตเหล่านั้นไม่มีศักดิ์ใหญ่เหมือนเทวดา มีศักดิ์น้อยเหมือนคนกําพร้า ของกิน เสื้อผ้าหาได้ยาก ถูกทุกข์บีบคั้นอยู่. บางพวกได้รับทุกข์ในข้างแรมได้รับสุขในข้างขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วินิปาติกะ เพราะความเป็นผู้ตกไปจากการสะสมความสุข. ก็ในเปรตเหล่านี้ แม้การตรัสรู้ธรรมก็ย่อมมีได้แก่เปรตจําพวกติเหตุกะ. ก็ยักษิณีชื่อปิยังกรมาตาได้สดับพระอนุรุทธเถระผู้สาธยายธรรมอยู่ในเวลาใกล้รุ่ง ตักเตือนบุตรน้อยอย่างนี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 225
เจ้าปิยังกรอย่าเอ็ดไป ภิกษุกําลังกล่าวบทธรรม อีกอย่าง เรารู้บทธรรมแล้ว จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของเรา ข้อนั้นพึงมี เราพึงสํารวมในสัตว์ทั้งหลายไม่พึงกล่าวเท็จ ทั้งๆ รู้ พึงศึกษาความเป็นผู้มีศีลของตน เราก็จะพ้นจากกําเนิดปีศาจ ดังนี้
แล้วได้บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้นเอง.
บทว่า พฺรหฺมกายิกา ได้แก่ พรหมปาริสัชชะ พรหมปุโรหิต มหาพรหม. บทว่า ปมาภินิพฺพตฺตา ได้แก่พวกเทพทั้งหมดเหล่านั้นเกิดด้วยปฐมฌาน. ก็ในบรรดาเทพเหล่านั้น เทพพรหมปาริสัชชะ เกิดแล้วด้วยคุณเล็กน้อย. เทพพรหมปาริสัชชะเหล่านั้น อายุประมาณ ๓ ส่วนของกัป เทพพรหมปุโรหิต เกิดแล้วด้วยคุณปานกลาง. อายุประมาณกึ่งกัปและกายของพราหมปุโรหิตนั้น ผึ่งผายกว่า. เทพมหาพรหมเกิดด้วยคุณอันประณีต. อายุประมาณ ๑ กัป. กายของเทพเหล่านั้นผึ่งผายยิ่งนัก. ด้วยประการดังนี้พึงทราบว่า เทพเหล่านั้นมีกายต่างกันมีสัญญาอย่างเดียวกัน เพราะกายต่างกันเพราะสัญญาอย่างเดียวกันด้วยสามารถปฐมฌาณ. สัตว์ทั้งหลายในอบาย ๔ ก็เหมือนเทพเหล่านั้น.
ก็ในนรกอัตภาพของสัตว์บางพวก คาวุตหนึ่ง บางพวกกึ่งโยชน์ บางพวกโยชน์หนึ่ง. แต่ของพระเทวทัต ๑๐๐ โยชน์. แม้ในเดียรัจฉานทั้งหลายบางพวกก็เล็ก บางพวกก็ใหญ่. ในเปรตวิสัย บางพวก ๖๐ ศอก บางพวก ๗๐ ศอก บางพวก ๘๐ ศอก บางพวกผิวงาม บางพวกผิวไม่งาม. กาลัญชิกาสูรก็เหมือนอย่างนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ในบรรดาเปรตเหล่านี้ ทีฆปิฏฐิกเปรตสูงถึง ๖๐ โยชน์. แต่สัญญาของเปรตแม้ทั้งหมดเป็นอเหตุกะฝ่ายอกุศล-
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 226
วิบาก. ด้วยประการดังนี้ แม้สัตว์ในอบายย่อมนับได้ว่า มีกายต่างกันมีสัญญาอย่างเดียวกันดังนี้.
บทว่า อาภสฺสรา ความว่า รัศมีจากสรีระของเทพเหล่านั้น ดุจเปลวคบเพลิงเป็นลํา สร้านออกดุจขาดๆ แล้วตก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาภัสสรา. ในเทพเหล่านั้น เทพผู้เจริญคุณนิดหน่อย มี ๒ ฌานคือ ทุติยฌานและตติยฌานในจตุกนัย และปัญจกนัย เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่า เทพปริตตาภา. ประมาณอายุของเทพปริตตาภา เหล่านั้น ๒ กัป. เทพผู้เจริญคุณปานกลาง เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่า เทพอัปปมาณาภา. ประมาณอายุของเทพอัปปมาณาภาเหล่านั้น ๔ กัป. เทพผู้เจริญคุณประณีตแท้ เกิดขึ้นแล้ว ชื่อ เทพอาภัสสรา. ประมาณอายุของเทพอาภัสสราเหล่านั้น ๘ กัป. ก็ในที่นี้ท่านกําหนดเอาเทพเหล่านั้นทั้งหมด ด้วยสามารถการกําหนดอย่างอุกฤษฎ์. กายของเทพเหล่านั้น แม้ทั้งหมดมีความผึ่งผายเป็นอย่างเดียวกันแท้. แต่สัญญาเพียงไม่มีวิตก แต่มีวิจาร หรือไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั้งวิจาร เพราะเหตุนั้น จึงต่างกัน.
บทว่า สุภกิณฺหา คือ กระจัดกระจายเกลื่อนกล่นไปด้วยความงาม. อธิบายว่า มีความแน่นหนาเป็นอันเดียวด้วยแสงแห่งรัศมีในสรีระอันงาม ก็แต่ว่า รัศมีแห่งเทพสุภกิณหาเหล่านั้นไม่ขาดๆ แล้วพุ่งไปเหมือนรัศมีของเทพอาภัสสรา. แต่ในปัญจกนัย เทพบังเกิดเป็นเทพปริตตสุภา. เทพอัปปมาณสุภา. เทพสุภกิณหา มีอายุ ๑๖ กัป ๓๒ กัป ๖๐ กัป ด้วยสามารถจตุตถฌานนิดหน่อย ท่ามกลางและประณีต. ด้วยประการดังนี้ เทพเหล่านั้นแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า มีกายอย่างเดียวกัน และมีสัญญาอย่างเดียวกัน ด้วยสัญญาแห่งจตุตถฌาน ดังนี้. อนึ่ง แม้เทพเวหัปผลาก็รวมเข้ากับวิญญาณฐิติที่ ๔ เหมือนกัน. สัตว์ไม่มีสัญญา เพราะไม่มีวิญญาณ ไม่สงเคราะห์เข้าในวิญญาณฐิตินี้ แต่สงเคราะห์เข้าในสัตตาวาส. แม้เทพสุทธาวาส ดํารงอยู่ใน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 227
ฝ่ายวิวัฏฏะ ไม่กําหนดกาลทั้งปวงก็ไม่เกิดในโลกที่ว่างพระพุทธเจ้าแสนกัปบ้างหนึ่งอสงไขยบ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติในระหว่าง ๑๖,๐๐๐ กัปนั้นแลจึงเกิด ย่อมเป็นเช่นเดียวกับที่ตั้งค่ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เพราะฉะนั้น เทพสุทธาวาสจึงไม่รวมเข้ากับวิญญาณฐิติ ไม่รวมเข้ากับสัตตาวาส. แต่พระมหาสิวเถระกล่าวว่าแม้ เทพสุทธาวาสก็ยังรวมเข้ากับวิญญาณฐิติที่ ๔ สัตตาวาสที่ ๔ นั้นแล ด้วยพระสูตรนี้ว่า ข้าแต่พระสารีบุตร สัตตาวาสที่กระผมไม่เคยอยู่ด้วยกาลยาวนานนี้เว้นเทพสุทธาวาส ไม่เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายดังนี้. เห็นด้วยกับพระสูตรนั้น เพราะพระสูตรท่านไม่ห้ามไว้.
ความแห่งบทเป็นอาทิว่า สพฺพโส รูปสฺาณํ ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. ก็เนวสัญญานาสัญญายตนะ มีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ เพราะแม้วิญญาณละเอียดเหมือนความละเอียดของสัญญา เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่กล่าวในวิญญาณฐิติแล้วกล่าวไว้ใน อายตนะ.
บทว่า ตตฺร คือในวิญญาณฐิติเหล่านั้น. บทว่า ตฺจ ปชานาติ คือย่อมรู้วิญญาณฐิตินั้น. บทว่า ตสฺสา จ สมุทยํ ความว่า ย่อมรู้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณฐิตินั้นโดยนัยเป็นอาทิว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิดดังนี้. บทว่า ตสฺสา จ อตฺถงฺคมํ ความว่า ย่อมรู้ความดับแห่งวิญญาณฐิตินั้นโดยนัยเป็นอาทิว่า เพราะอวิชชาดับ รูปจึงดับดังนี้. บทว่า อสฺสาทํ ความว่าย่อมรู้ความพอใจของวิญญาณฐิตินั้นอย่างนี้ว่า ความสุข ความโสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัย รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณใด นี้คือความพอใจแห่งวิญญาณ. บทว่า อาทีนวํ ความว่า ย่อมรู้โทษแห่งวิญญาณฐิตินั้นอย่างนี้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดานี้ คือโทษแห่งวิญญาณ. บทว่า นิสฺสรณํ ความว่า การนําออกซึ่งฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 228
นี้คืออุบายเป็นเครื่องนําออกไปแห่งวิญญาณดังนั้น ย่อมรู้วิญญาณฐิตินั้นอย่างนี้. บทว่า กลฺลํ น เตน ความว่า ภิกษุนั้นยังควรเพื่อเพลิดเพลิน วิญญาณฐิตินั้นว่าเราว่าของเรา ด้วยอํานาจแห่งตัณหามานะและทิฏฐิอีกหรือ. พึงทราบความในที่ทั้งปวงโดยอุบายนี้. ก็แต่ว่าพึงประกอบสมุทัยเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งขันธ์ทั้งหลาย ๔ ในที่ที่ไม่มีรูป ด้วยสามารถแห่งขันธ์หนึ่งในที่ที่ไม่มีวิญญาณ. ในที่นี้ อนึ่งไม่พึงประกอบบทนี้ว่า เพราะอาหารเกิด เพราะอาหารดับ ดังนี้.
บทว่า ยโต โข อานนฺท ภิกฺขุ ความว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อใดแลภิกษุ. บทว่า อนุปาทา วิมุตฺโต ความว่า เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ๔. บทว่า ปฺาวิมุตฺโต ความว่า เป็นผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา. อธิบายว่า ไม่ทําให้แจ้งซึ่งวิโมกข์ ๘ แล้วทํานามกายและรูปกายให้เป็นไปไม่ได้ด้วยกําลังปัญญานั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว. ภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วนั้นมี ๕ อย่างคือ เป็นสุกขวิปัสสกและตั้งอยู่ในปฐมฌานเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วบรรลุพระอรหัต ดังที่ท่านกล่าวข้อนี้ไว้ว่า ก็บุคคลพวกไหนเป็นปัญญาวิมุตติ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่ อาสวะทั้งหลายของเขาเป็นอันสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ท่านกล่าวว่าเป็นปัญญาวิมุตติดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบทสรุปและนามของภิกษุรูปหนึ่งอย่างนี้แล้ว เพื่อทรงแสดงแก่ภิกษุนอกนี้จึงตรัสว่า อฏ โข อิเม ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วิโมกฺโข ถามว่า ชื่อว่าวิโมกข์ด้วยอรรถว่ากระไร ตอบว่า ด้วยอรรถว่าพ้น ถามว่า วิโมกข์นี้มีอรรถว่าพ้นเป็นอย่างไร ตอบว่า มีอรรถว่าพ้นด้วยดีจากธรรมเป็นข้าศึก และพ้นด้วยดีด้วยอํานาจความยินดีในอารมณ์. ท่านอธิบายว่า วิโมกข์ย่อมเป็นไปในอารมณ์ เพราะหมดความสงสัยด้วยความไม่ยึดถือ ดุจทารกผู้ปล่อยอวัยวะน้อยใหญ่นอนบนตักของบิดา. ก็ความนี้มิได้มีในวิโมกข์ตอนหลัง แต่มีในตอนต้นทั้งหมด.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 229
ในบทว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ นี้มีความว่า รูปเป็นรูปฌานที่ทําให้เกิดขึ้นด้วยอํานาจนีลกสิณเป็นต้น ในผมเป็นต้น ในภายในชื่อว่ารูปี. เพราะมีรูปฌานด้วยบทนี้ ท่านแสดงรูปาวจรฌาน ๔ แก่บุคคลผู้ที่ทําฌานให้เกิดในกสิณทั้งหลายอันมีวัตถุในภายใน.
บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสฺี คือ ไม่มีความสําคัญในรูปในภายใน. ความว่าไม่ทํารูปาวจรฌานให้เกิดในอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นของตน. บทว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า ย่อมเห็นรูปมีนีลกสิณเป็นต้น แม้ในภายนอกด้วยญาณจักษุ. ด้วยบทนี้ท่านกระทําบริกรรมในภายนอกแล้วแสดงรูปาวจรฌาน ๔ แห่งฌานที่ทําให้เกิดแล้วในภายนอก.
ท่านแสดงฌานในวัณณกสิณมีสีเขียวเป็นต้น อันบริสุทธิ์ดีแล้วด้วยบทนี้ว่า สุภนฺเตว อธิมุตฺโตโหติ ดังนี้. ในบทนั้นไม่มีความผูกใจว่างามในอัปปนาในภายในก็จริง. แต่ถึงดังนั้น เพราะผู้ที่กระทํากสิณอันงามบริสุทธิ์ดีแล้วอยู่ ย่อมถึงความเป็นผู้ควรกล่าวได้ว่า ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่ากสิณเป็นของงามดังนี้ ฉะนั้นท่านจึงแสดงอย่างนี้. แต่ในปฏิสัมภิทามรรคท่านกล่าวว่า วิโมกข์ในบทว่าผู้ที่น้อมใจเชื่อว่ากสิณงามเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่ ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญเมตตาสัตว์ทั้งหลายจึงไม่เป็นผู้น่าเกลียดมีจิตสหรคตด้วยกรุณามุทิตาอุเบกขา แผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่ ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญอุเบกขาสัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ไม่น่าเกลียด วิโมกข์ในบทว่า ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่ากสิณเป็นของงามเป็นอย่างนี้ ดังนี้.
ในบทว่า สพฺพโส รูปสฺานํ เป็นต้น บททั้งหมดที่ควรกล่าวท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล. บทว่า อยํ อฏโม วิโมกฺโข ความว่า นี้ชื่อวิโมกข์อันสูงสุดข้อที่ ๘ เพราะความที่ขันธ์ ๔ บริสุทธิ์โดยประการทั้งปวง เพราะความที่พ้นแล้ว. บทว่า อนุโลมํ คือตั้งแต่บทต้นจนถึงบท
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 230
สุดท้าย. บทว่า ปฏิโลมํ คือตั้งแต่บทสุดท้ายจนถึงบทต้น. บทว่า อนุโลมปฏิโลมํ นี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการที่สมาบัติไม่ตั้งมั่น เพราะคล่องเกินไปวนไปทางโน้นวนไปทางนี้. บทว่า ยตฺถิจฺฉกํ คือแสดงถึงโอกาส. ความว่าปรารถนาในโอกาสใดๆ . บทว่า ยทิจฺฉกํ คือแสดงถึงสมาบัติ ได้แก่ปรารถนาสมาบัติใดๆ . บทว่า ยาวติจฺฉกํ คือแสดงถึงกําหนดทางไกล. ได้แก่ปรารถนาทางไกลประมาณเพียงใด. บทว่า สมาปชฺชติ คือเข้าสู่สมาบัตินั้นๆ . บทว่า วุฏาติ คือออกจากสมาบัตินั้นแล้วตั้งอยู่.
บทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต ความว่า พ้นโดยส่วนสอง คือพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ พ้นจากนามกายด้วยมรรค. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอุปสีวะมุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งการนับ เหมือนเปลวไฟถูกกําลังลมพัดไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งการนับ ดังนี้.
ก็ภิกษุนี้นั้น พ้นแล้วโดยส่วนสองออกจากอากาสานัญจายตนะเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วบรรลุพระอรหัต และเป็นอนาคามีออกจากนิโรธแล้วบรรลุพระอรหัต รวมเป็น ๕ อย่าง. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เพราะแม้รูปาวจรจตุตถฌาน ก็สหรคตด้วยอุเบกขามีองค์สอง แม้อรูปาวจรฌานก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ฉะนั้น ภิกษุออกจากรูปาวจรจตุตถฌาน แม้บรรลุพระอรหัตก็ชื่อว่าอุภโตภาควิมุตดังนี้. ก็ปัญหาอุภโตภาควิมุตนี้ตั้งขึ้นแม้ในภายใต้โลหปราสาทอาศัยการพรรณนาของพระจุลลสุมนเถระ ผู้ทรงพระไตรปิฎกใช้เวลานาน จึงถึงการชี้ขาด.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 231
มีเรื่องว่าในคิริวิหารอันเตวาสิกของพระเถระสดับปัญหานั้น จากปากของภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกวัตรรูปหนึ่งแล้วกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส เมื่ออาจารย์ของเราอธิบายธรรม ณ ภายใต้โลหปราสาทอันใครๆ ไม่เคยฟังแล้ว พวกภิกษุจึงถามว่า ท่านผู้เจริญก็พระเถระได้กล่าวอย่างไร อันเตวาสิกตอบว่า ดูก่อนอาวุโส พระเถระได้กล่าวว่า รูปาวจรจตุตถฌานสหรคตด้วยอุเบกขามีองค์สองย่อมข่มกิเลสได้ก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น รูปาวจรจตุตถฌานย่อมกําเริบในฐานะแห่งรูปารมณ์ แม้เป็นฝ่ายใกล้แห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะธรรมดากิเลสเหล่านี้เข้า ไปอาศัยอารมณ์ในนีลกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในภพชั้นต่ําทั้ง ๕ ย่อม กําเริบ อนึ่ง รูปาวจรฌานย่อมไม่ก้าวไปสู่อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุเปลี่ยนรูปโดยประการทั้งปวง แล้วข่มกิเลสด้วยอํานาจอรูปฌานแล้วจึงบรรลุพระอรหัต เป็นอุภโตภาควิมุตติดังนี้ ก็และพระเถระครั้นกล่าวคํานี้แล้วจึงนําสูตรนี้มาว่า ก็บุคคลพวกไหนเป็นอุภโตภาควิมุตติ บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายแล้วอยู่ และอาสวะของบุคคลนั้นเป็นอันสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นอุภโตภาควิมุตติดังนี้. บทว่า อานนฺท อิมาย จ อุภโตภาควิมุตฺติยา ความว่า ดูก่อนอานนท์ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้. บทที่เหลือมีความง่ายในที่ทั้งปวง
จบอรรถกถามหานิทานสูตร ที่ ๒