เขียงหั่นเนื้อ [วัมมิกสูตร]
โดย wittawat  23 ต.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48762

เรียนอาจารย์คำปั่นครับ

ข้อความในวัมมิกสูตร เรื่องที่สุเมธ ขุดเจอ "เขียงหั่นเนื้อ" กระผมลองให้เอไอแปลออกมาจากภาษาบาลี ในปปัญจสูทนี อรรถกถา *เลมที่๘ วมฺมิกสุตฺตวณฺณนา หนา ๒๒๕

พบว่า "อสิสูนาติ เอตฺถ ยถา สูนาย อุปริ มส เปตฺวา อสินา โกฏเฏนฺติ เอวมิเม สตฺตา วตฺถุกามตฺถาย กิเลสกาเมหิ ฆาฏิยมานา (๓) วตฺถุกามาน อุปริ กตฺวา กิเลสกาเมหิ กนฺติตา โกฏฏิตาว (๔) โหนฺติ เตนาห ภควา อสิสูนาติ โข ภิกฺขุ ปฺจนฺเนต กามคุณาน อธิวจนนฺ ติ ปชห ปฺจ กามคุเณติ เอตฺถ ปฺจกามคุเณสุ ฉนฺทราคปฺปหาน กถิต ฯ"

แปลว่า "ดั่งเช่นที่เขาใช้ดาบฟันไปที่หุ่นฟาง ฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ถูกกิเลสตัณหาทำร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุฉันนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ‘ดาบ’ หมายถึง กามคุณทั้งห้า จงละกามคุณทั้งห้าเสียเถิด"

1. คำว่า มส อันนี้แปลว่า ชิ้นเนื้อ หรือ หุ่นฟาง ครับ ผมเข้าใจว่าในที่นี้แปลว่าชิ้นเนื้อ

2. มันควรจะแปลว่า มีดหั่นเนื้อ ใช่ไหมครับ เขียง นี่ผมเข้าใจว่าไม่ได้มีไว้หั่นเนื้อ ไว้รองเนื้อเพื่อหั่น

ในฉบับแปล ท่านแปลออกมาว่า

อรรถกถาวัมมิกสูตร

" อสิสูนา ดังต่อไปนี้ เอาเนื้อวางบนเขียง เอามีดสับ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ เมื่อถูกกามกิเลสกระทบ เพื่อประโยชน์แก่ทําไว้บนวัตถุกาม ถูกกิเลสกาม ตัด สับ ก็ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คําว่าเขียงมีด นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้ง ๕. ในคําว่า ปชห ปฺจ กามคุเณ นี้ ตรัสการละความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจในกามคุณ ๕. "

3. "สัตว์เหล่านี้ เมื่อถูกกามกิเลสกระทบ เพื่อประโยชน์แก่ทําไว้บนวัตถุกาม ถูกกิเลสกาม ตัด สับ ก็ฉันนั้น" อันนี้ ไม่เข้าใจว่าท่านผู้แปลจะสื่อว่าอะไรเลยครับ

ขอท่านอาจารย์คำปั่นตรวจสอบคำแปลด้วยครับ

กราบอนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 25 ต.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้ ครับ
คำว่า "เขียงหั่นเนื้อ" มาจากคำบาลีว่า อสิสูน (อะ - สิ - สู - นะ) เทียบการแปลพระไตรปิฎกหลายฉบับ ก็แปลอย่างนี้ ซึ่งตรงนี้ ไม่ได้หมายถึง มีดหรือดาบสำหรับหั่นเนื้อ แต่หมายถึง ตัวเขียง ซึ่งเป็นวัตถุสำหรับใช้มีดหรือดาบสับหรือหั่นเนื้อซึ่งวางอยู่บนเขียง (เป็นคำตอบของข้อที่ ๒)
คำว่า มํสํ (มัง - สัง) แปลว่า เนื้อ ในพระบาลีใช้คำว่า "มํสเปสิ" แปลว่า ชิ้นเนื้อ (เป็นคำตอบของข้อที่ ๑)


สำหรับคำตอบข้อที่ ๓ เข้าใจว่ากำลังสื่อถึง ความที่สัตว์โลกเป็นผู้ถูกความติดข้องยินดีพอใจในกามเบียดเบียนครอบงำ เป็นผู้ถูกทำลายถูกเบียดเบียนด้วยกิเลสกาม ค่อยๆ พิจารณาจากข้อความในอรรถกถา ดังนี้
พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า อสิสูนา ดังต่อไปนี้
เอาเนื้อวางบนเขียง เอามีดสับ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ เมื่อถูกกามกิเลสกระทบ เพื่อประโยชน์แก่ทำไว้บนวัตถุกาม ถูกกิเลสกาม ตัด สับ ก็ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า เขียงมีด (เขียงสำหรับวางหั่นเนื้อ) นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้ง ๕. ในคำว่า ปชห ปญฺจ กามคุเณ นี้ตรัสการละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในกามคุณ ๕.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า มํสเปสีติ โข ภิกฺขุ ดังต่อไปนี้
ขึ้นชื่อว่า ชิ้นเนื้อนี้ คนเป็นอันมากปรารถนากันแล้ว ทั้งเหล่ามนุษย์มีกษัตริย์เป็นต้น ทั้งสัตว์ดิรัจฉานมีกาเป็นต้น ต่างปรารถนามัน สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยอวิชชา อาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ต่างก็ปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่วางไว้ๆ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ถูกความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินผูกไว้ก็ติดอยู่ในวัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ก็ไม่เบื่อฉันนั้น ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินย่อมเสมือนชิ้นเนื้อ ด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า ชิ้นเนื้อ นี้เป็นชื่อของความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน.
ในคำว่า ปชห นนฺทิราคํ นี้ ตรัสการละความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินด้วยมรรคที่ ๔.


... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย wittawat  วันที่ 25 ต.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นครับ

เขียงหั่นเนื้อคืออะไร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... สุเมธะเอาศาสตราขุดดูไปได้เห็นมีดหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกมีดหั่นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู . ...

[๒๙๑] ... คําว่าเขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด. คํานั้น มีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.


[ปปัญจสูทนี อรรถกถา]

ในคําว่า อสิสูนา ดังต่อไปนี้ เอาเนื้อวางบนเขียง เอามีดสับ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ เมื่อถูกกามกิเลสกระทบ เพื่อประโยชน์แก่ทําไว้บนวัตถุกาม ถูกกิเลสกาม ตัด สับ ก็ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คําว่าเขียงมีด นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้ง ๕. ในคําว่า ปชห ปฺจ กามคุเณ นี้ ตรัสการละความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจในกามคุณ ๕.


[สรุป]

เขียงหั่นเนื้อคืออะไร?

เขียงหั่นเนื้อ โดยนัยแห่งพระสูตรนี้ หมายถึง กามคุณ ๕
ตรัสว่า "จงละกามคุณ ๕ เสีย"
กาม หมายถึง สิ่งที่สัตว์ใคร่ พอใจ
จำแนกเป็น กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑
ซึ่งในที่นี้ พระสูตร แสดงวัตถุกาม ว่าได้แก่ อารมณ์ทั้ง ๕ ทาง คือ
รูปที่ปรากฏทางตา อันน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ
เสียงที่ปรากฏทางหู อันน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ
กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก อันน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ
รสที่ปรากฏทางลิ้น อันน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ
โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย อันน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ
เมื่อจำแนกโดยนัยแห่งปรมัตถธรรม ก็ได้แก่ รูป ๗ ประเภท ที่ปรากฏทางทวาร ๕ คือ สี เสียง กลิ่น รส อ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหว
ส่วนกิเลสกาม หมายถึง โลภเจตสิกที่เป็นที่ติดข้องยินดีพอใจในวัตถุกามนั้น
คำว่า "จงละกามคุณ ๕ เสีย" จึงไม่ใช่การละรูป แต่เป็นการละความติดข้องในรูป
เขียง และมีด มีไว้หั่นชิ้นเนื้อฉันใด สัตว์ก็ถูกกิเลสตัณหาทำร้าย เพื่อการแสวงหาให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรากฏที่สวยงาม สุขสบาย ฉันนั้น
สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อปรากฏกับความไม่รู้ความติดข้อง
ก็เหมือนชิ้นเนื้อที่วางไว้บนเขียงถูกหั่นด้วยมีด
กิเลสที่ครอบงำนั่นเอง เปรียบเหมือน เขียงหั่นเนื้อ เพราะคุณความดีของบุคคลนั้น มีปัญญา (ความเข้าใจตามความเป็นจริง) เป็นต้น ถูกทำลายไป จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้

กราบอนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 ต.ค. 2567

ข้อความบางตอนใน วัมมิกสูตร ข้อ ๒๘๙ มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นท่านพระกุมารกัสสปะพำนักอยู่ที่ป่าอันธวัน ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่ง

คือ พรหมชั้นสุทธาวาสซึ่งเป็นสหายของท่านในครั้งก่อนนั่นเอง

เมื่อราตรีล่วงปฐมยามแล้วยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระกุมารกัสสปะว่า

ดูกร ภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลัก ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่ง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรอง น้ำด่าง ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอา ศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่า ขอรับ

คนชอบเต่าอาจจะดีใจ ได้เห็นเต่า

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดดู ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่า ชิ้นเนื้อ ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาค ขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค

ขอเชิญรับฟัง

พระกุมารกัสสปะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ อย่างไร