ยถาเวทนิยกรรมคืออะไร [โลณกสูตร]
โดย wittawat  27 ส.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48364

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 492
[๕๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครพึงกล่าวว่า คนทํากรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทําที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ ส่วนใครกล่าวว่า คนทํากรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทําที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ.
บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไรทําแล้ว บาปกรรมนั้นจึงนําเขาไปนรกได้? บุคคลลางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายมิได้อบรม มีศีลมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรม มีคุณความดีน้อย เป็นอัปปาตุมะ (ผู้มีใจคับแคบ ใจหยาบ ใจต่ําทราม) เป็นอัปปทุกขวิหารี (มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย คือ เป็นคนเจ้าทุกข์) บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทําแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนําเขาไปนรกได้
บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไรทําแล้ว กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย? บุคคลลางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายได้อบรมแล้ว มีศีลได้อบรมแล้ว มีจิตได้อบรมแล้วมีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณความดีมาก เป็นมหาตมะ (ผู้มีใจกว้างขวาง ใจบุญ ใจสูง) เป็นอัปปมาณวิหารี (มีปกติอยู่ด้วยธรรมอันหาประมาณมิได้ คือ เป็นคนไม่มีหรือไม่แสดงกิเลส ซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาประมาณได้ว่าเป็นคนแค่ไหน) บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลชนิดนี้ทําแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ...


[สรุป ข้อความจากอรรถกถาโลณกสูตร หน้า 495-498]
ยถาเวทนิยกรรมคืออะไร?
ตอบ กรรมที่ได้วาระให้ผลแล้วเท่านั้น ก็หมายถึง นามธรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดในชวนจิตทั้ง ๗ ดวง เมื่อได้ปัจจัยพร้อมที่จะให้ผลได้ ได้แก่
- กรรมในชวนจิตดวงที่ ๑ เมื่อได้โอกาสก็จะให้ผลในชาตินี้ในอัตภาพนี้ทันที กรรมนั้นก็เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (เป็นยถาเวทนิยกรรม) เมื่อไม่มีปัจจัยก็เป็นอโหสิกรรม
- กรรมในชวนจิตดวงที่ ๗ เมื่อได้โอกาสก็จะให้ผลในชาติถัดไปในอัตภาพถัดไปทันที กรรมนั้นก็เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม (เป็นยถาเวทนิยกรรม) เมื่อไม่มีปัจจัยก็เป็นอโหสิกรรม
- กรรมในชวนจิตทั้ง ๕ ในท่ามกลางดวงแรกและดวงสุดท้าย เมื่อได้โอกาสก็จะให้ผลในชาติถัดๆ ไปในอัตภาพถัดๆ ไปทันที กรรมนั้นชื่อว่าอปราปริยเวทนียกรรม (เป็นยถาเวทนิยกรรม) เมื่อไม่มีปัจจัยก็เป็นอโหสิกรรม
>> ปุถุชนผู้ขาดการอบรมเจริญภาวนาในกาย ขาดการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ไปสู่วัฏฏะบ่อยๆ เป็นผู้ที่มีคุณความดีน้อยนิด ปุุถุชนแม้รูปร่างใหญ่แต่มีความดีน้อย ก็เรียกว่า มีอัตภาพน้อย (อัปปาตุมะ) ผู้นั้นทำบาปแม้น้อยก็ไปสู่นรกและอบายภูมิได้ บาปกรรมที่เกิดในชวนะจิตทั้ง ๗ ที่ทำไว้ในชาตินี้ เมื่อมีปัจจัยก็ให้ผลได้ เป็นได้ทั้งทิฏฐธรรมเวทนียกรรมให้ผลในชาติปัจจุบัน เป็นได้ทั้งอุปปัชชเวทนียกรรมให้ผลชาติถัดไป เป็นได้ทั้งอปราปริยเวทนียกรรมชาติถัดๆ ไป
>> ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลาย มีกายอันอบรมแล้ว ด้วยปัญจทวาร เป็นผู้มีคุณไม่ใช่น้อย เป็นผู้มีอัตภาพใหญ่ (มหตฺตา) เพราะแม้ท่านรูปร่างเล็ก แต่คุณความดีท่านใหญ่ ก็เรียกว่าเป็นผู้มีอัตภาพใหญ่ เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยคุณธรรมอันหาประมาณไม่ได้เพราะดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องจำกัดคุณธรรม บาปกรรมที่เกิดในชวนะจิตดวงที่ ๑ ที่ทำไว้ในชาตินี้ (เมื่อก่อนการดับกิเลสจนสิ้น) เมื่อมีปัจจัยก็ให้ผลได้ ในชาติปัจจุบัน กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ส่วนบาปกรรมประเภทอื่นๆ ที่เคยทำไว้ ไม่สามารถให้ผลได้อีกก็เป็นอโหสิกรรม เพราะท่านไม่เกิดอีกในชาติถัดไป เหมือนความดับไปแห่งประทีป (จาก ทุติยสิกขาสูตรที่ ๑๐ อํ ติก)

>> เพราะถ้า ทำบาปกรรมในอดีตแล้ว บุคคลผู้ทำกรรมไว้ต้องรับผลกรรมทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นท่านที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ต้องรับผลของ อุปปชชเวทนียกรรม ด้วย การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จนจบแล้วก็มีไม่ได้ เพราะท่านยังต้องเกิดอีกชาติถัดไปเพื่อรับผลของกรรมนั้น แต่ทรงแสดงว่าความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่กรรมทั้งหมดที่ทำไว้แล้วจะให้ผลเป็นวิบากได้ทั้งหมด "คนทํากรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ผู้นั้นก็รับวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้นๆ " หมายถึง ผู้นั้นรับผลกรรมจากยถาเวทนียกรรมเท่านั้น ไม่รับผลจากอโหสิกรรม
ขอกราบอนุโมทนา