ขอคำแนะนำแก้ไขอริยุปวาท
โดย clayman999  5 ก.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32015

หากว่าเคยนินทาเรื่องคุณวิเศษ/คุณธรรมของพระรูปหนึ่งกับผู้อื่น แต่การไปขอขมาต่อหน้าท่านเป็นเรื่องลำบากเพราะผมอยู่กรุงเทพ ส่วนพระท่านอยู่อุดร

การขอขมาพระรัตนตรัย และนึกถึงท่านต่อหน้าพระพุทธรูปจะเพียงพอแก้อริยุปวาทได้ไหม ถ้าหากไม่ได้แล้วการโทรไปขอท่านอดโทษจะแก้ได้ไหมครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยุปวาท คือ เจตนา ว่าร้ายพระอริยเจ้า ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก รวมทั้งแม้พระอริยเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์ การมีเจตนาด้วยจิตที่เป็นอกุศล เจตนาว่าร้ายและทำการว่า ร้าย ชื่อว่า อริยุปวาท ซึ่งการติเตียนว่าร้ายพระอริยเจ้า ด้วยการกล่าวว่าร้ายในสิ่งที่ไม่จริง เป็นต้น ว่ากล่าวว่าไม่มีคุณความดี ติโทษพระอริยะเจ้าครับ ซึ่งโทษก็คือห้าม สวรรค์และมรรคผล นิพพาน โทษหนักเท่าอนันตริยกรรม

การกล่าวว่าร้ายพระอริยเจ้า คือ บุคคลนั้น จะต้องเป็นพระอริยเจ้า และไม่ใช่เพียงคิดในใจ แต่มีเจตนาพูดออกมาว่าร้ายท่าน ด้วยคุณธรรมของท่านเป็นสำคัญ ว่าท่านไม่ได้มีคุณธรรมอย่างนี้ เป็นต้น อริยุปวาท สำคัญที่เจตนา ว่ามีเจตนาว่าร้ายที่เป็นผรุสวาจาหรือไม่ แม้การขอขมาก็เช่นกัน สำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาขอขมา สำนึกผิด และกล่าวการขอขมา หากท่าน มรณภาพไปแล้ว ก็สามารถที่จะไปที่วัดที่มีการทำการเผาศพท่านก็ได้ หรือ นึกถึงท่าน และ ขอขมาก็ได้ เพราะ มีเจตนาที่จะสำนึกในสิ่งที่ทำไป และกล่าวขอขมาด้วยเจตนาการขอขมานี้ ก็เป็นการที่จะเห็นโทษ และ ไม่กั้นสวรรค์มรรคผล ในชาตินั้น

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 220

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นเอกจาริกภิกขุ (ภิกษุผู้จาริกไปผู้เดียว) สถานที่อยู่ของท่านไม่มีใครรู้ สถานที่ไปขอท่านเล่าก็ไม่ปรากฏไซร้ ก็พึงไปหาภิกษุที่เป็นบัณฑิตรูปหนึ่ง แล้วบอก (ปรึกษาท่าน) ว่า "ท่านขอรับ กระผมได้กล่าวถึงท่าน กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น วิปฏิสาร (เกิดมีแก่กระผมทุกทีที่ระลึกถึงท่าน กระผมทำอย่างไร (ดี) " ภิกษุบัณฑิตนั้นจะกล่าวว่า "ท่านอย่าคิดไปเลย พระเถระจะย่อมอดโทษให้แก่ท่าน ท่านจงทำจิตให้ระงับเถิด " ฝ่ายเธอก็พึงบ้างหน้าต่อทิศทางที่พระอริยะไป ประคองอัฐชลีกล่าว (ขึ้น) ว่า "ขมตุ" - ขอพระเถระนั้นขงอดโทษเถิด"

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นผู้ปรินิพพานเสียแล้ว เธอพึงไป (ให้) ถึงที่ที่นับว่าเป็นเตียงที่ท่านปรินิพพาน กระทั่งถึงป่าช้าผิดิบก็ดี ขอขมา (ท่าน) เถิด

เมื่อได้ทำ (การขอขมา) เสียได้อย่างนี้แล้ว กรรมนั้นก็ไม่เป็นสัคคาวรณ์ ไม่เป็นมัคคาวรณ์เลย (กลับ) เป็นปกติเท่านั้นเองแล

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละคนที่ยังมีกิเลส ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด โอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกไม่ควร ก็ย่อมมีได้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าได้ผิดพลาดกระทำในสิ่งที่ไม่ควรลงไปแล้ว ถ้ามีความจริงใจเห็นโทษโดยความเป็นโทษ พร้อมที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีต่อไป อย่างนี้ย่อมถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรม ยิ่งขึ้น เพราะสามารถเริ่มต้นใหม่ด้วยกุศลธรรม ตั้งใจใหม่ ที่จะไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้นอีกแล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามต่อไป ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นความประพฤติเป็นไปของคนดี ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...