วิราคะธรรม
โดย nakul63  25 ต.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21958

วิราคธรรม หมายถึงอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิราคธรรม หมายถึง สภาพธรรมทั้งที่เป็นพระนิพพาน และ มรรคจิต ด้วยครับ แต่โดยมาก มุ่งหมายถึง พระนิพพาน

วิราคธรรม คือ สภาพธรรมที่ปราศจาก ราคะ (โลภะ) สำรอก คลายจากราคะ แต่ไม่ใช่เพียงราคะเท่านั้น วิราคธรรมคือสภาพธรรมที่สำรอก ละ สละ คลาย ปราศจากกิเลสทั้งปวงสภาพธรรมที่เป็นวิราคธรรมคือพระนิพพาน นั่นเองครับ

ธรรม ทั้งหลาย แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง และ สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

สภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือ เพราะอาศัยสภาพธรรมต่างๆ ปรุงแต่ง แล้วให้มีการเกิดขึ้น และก็ต้องดับไป เช่น จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป (สังขตธรรม)

สภาพธรรม ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ สภาพธรรม ที่ไม่อาศัยสภาพธรรมอื่น มาทำให้เกิด มาทำให้มีขึ้น จึงไม่มีการเกิดขึ้นและการดับไปเลย นั่นคือ พระนิพพาน (วิราคธรรม)

เพราะฉะนั้น จากคำถามที่ว่า วิราคธรรมประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย หรือ พระพุทธพจน์ที่ว่าในบรรดาสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง หรือ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ดี พระนิพพาน (วิราคธรรม) เป็นเลิศ ประเสริฐที่สุด คือในบรรดาสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป พระนิพพาน

พระนิพพาน ที่เป็นวิราคธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 100

บาทพระคาถาว่า วิราโค เสฏฺโ ธมฺมาน ความว่า บรรดาธรรมทั้งปวง วิราคะ กล่าวคือ พระนิพพาน ชื่อว่าประเสริฐ เพราะพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเพียงไร, บรรดาธรรมเหล่านั้น วิราคะเรากล่าวว่า เป็นยอด."

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า ๗๐

วิราคะ คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนเสียซึ่งอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ (กิเลส)

วิราคะ อีกสักนิด เพื่อเป็นประโยชน์นะครับ โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพูดถึงคำว่าวิราคะ ก็คือ การปราศจากกิเลส สำรอกกิเลส ปราศจากราคะคือโลภะ ก็มุ่งหมายถึงพระนิพพาน

แต่บางนัย วิราคะ หมายถึง ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น เช่น โสดาปัตติมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามีมรรคและอรหัตตมรรค มรรคเป็นวิราคะ ในขณะนั้นเพราะสำรอก ละ คลายกิเลสประกาต่างๆ ในขณะที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขณะนั้น สำรอก ละคลายกิเลส ปราศจากกิเลส คือ สักกายทิฏฐิ คือ ความยึดถือ ความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ซึ่งขณะมรรคจิตเกิด ละคลายกิเลสคือความเห็นผิดในขณะนั้นนั่นเองครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า แม้ มรรคจิต เป็นวิราคธรรม ด้วยครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 551

วิราคกถา

ว่าด้วยวิราคธรรม

[๕๘๘]  วิราคะเป็นมรรค วิมุตติเป็นผล วิราคะเป็นมรรคอย่างไร

ในขณะโสดาปัตติมรรค สัมมาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เห็น ย่อมคลายจาก มิจฉาทิฏฐิ จากกิเลสอันเป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้น จากขันธ์ และ จากสรรพนิมิตภายนอก วิราคะ (มรรค) มีวิราคะ (นิพพาน) เป็นอารมณ์ มีวิราคะเป็นโคจร เข้ามาประชุมในวิราคะ ตั้งอยู่ในวิราคะ ประดิษฐานอยู่ในวิราคะ วิราคะในคำว่า วิราโค นี้มี ๒ คือ นิพพาน เป็นวิราคะ ๑ ธรรมทั้งปวงที่เกิดเพราะสัมมาทิฏฐิมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นวิราคะ ๑

เพราะฉะนั้น มรรคจึงเป็นวิราคะ องค์ ๗ ที่เป็นสหชาติ ย่อมถึงความเป็น วิราคะ เพราะฉะนั้น วิราคะ จึงเป็นมรรค พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก ย่อมถึงนิพพาน อันเป็นทิศที่ไม่เคยไปด้วยมรรคนี้ เพราะฉะนั้น อริยมรรคอันมีองค์ ๘ นี้ เท่านั้น จึงล้ำเลิศ เป็นประธาน สูงสุด และประเสริฐกว่ามรรคของสมณพราหมณ์ (ผู้ถือลัทธิอื่น) เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น อัฏฐังคิกมรรค จึงประเสริฐกว่ามรรคทั้งหลาย

ดังนั้น วิราคะ บางนัยหมายถึง มรรคจิตก็ได้ครับ แต่โดยทั่วไปแล้ว วิราคะ ที่เป็นวิราคธรรม มุ่งหมายถึงพระนิพพานครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง ๔ ประการ คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และ สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ) และพระนิพพาน (สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม แต่เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น) ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีความแตกต่างกันตามลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งไม่ปะปนกันเลย [เป็นแต่ละหนึ่งๆ ]

สำหรับ วิราคธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่สำรอกราคะ สำรอกกิเลส คายเสียซึ่งกิเลส ซึ่งหมายถึง พระนิพพาน เมื่อมาถึงพระนิพพาน กิเลสประการต่างๆ ก็จะถูกดับ ถูกสละ ถูกคาย ถูกสลัดออก และ ประการที่สำคัญ สภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน คือ มรรคจิต [ซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อมรรคจิต พร้อมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เกิดขึ้น ย่อมรู้อารมณ์เดียวกัน คือ พระนิพพาน] เมื่อมรรคจิตเกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ผลจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น มรรคจิตเกิดขึ้น ดับกิเลสตามลำดับมรรค ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรค กิเลสที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ จะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น และ กิเลสทั้งปวง [ที่ยังดับไม่ได้ด้วยมรรคเบื้องต่ำ ๓] จะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ ก็ต่อเมื่ออรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นนั่นเอง มรรคจิต จึงเป็นวิราคธรรม ด้วย เพราะสามารถดับกิเลสได้

จะเห็นได้ว่าในบรรดาธรรมทั้งหลายนั้น วิราคธรรม คือ พระนิพพาน เป็นเลิศที่สุด เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับ สังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ดับกิเลส ตัดวัฏฏะ ไม่เป็นไป ในฝ่ายเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

กว่าจะถึงการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ คือ พระนิพพานนั้น ก็จะต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสังขารธรรม ไปตามลำดับ เพราะถ้ายังไม่มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่เกิดดับซึ่งมีจริงในขณะนี้ ก็ไม่สามารถรู้แจ้งพระนิพพานได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 26 ต.ค. 2555

ทันทีที่มรรคจิตเกิด ผลจิตต้องเกิดสืบต่อกัน ไม่มีระหว่างคั่น ทำให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน แต่กว่าจะถึงการดับกิเลสหมด ก็ต้องอบรมเจริญวิชชา อบรมบารมีทั้งสิบ นานนับชาติไม่ได้ กว่าจะบรรลุ มรรค ผล นิพพานยากแสนยาก ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nong  วันที่ 27 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย nakul63  วันที่ 28 ต.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ

เป็นกุศลก่อนวิราคธรรมปรากฏย่อมมีสังขตธรรมเกิดใช่หรือไม่ คือรูปเกิดขึ้นในขณะที่ สติ สมาธิ ปัญญา พร้อมบริบูรณ์ แต่รูปนั้นแค่มีสภาวะเป็นคน สิ่งของ อักษร แต่ไม่กินเข้าไปเป็นนาย ก นาง ข เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ภาษาไทย อังกฤษ และก่อนสังขตธรรมเกิด ย่อมข้ามโคตรมาจาก การสลัดรูปภายนอก มาเห็นจิตภายใน รวมกันนิ่งสงบ ต่อมาคลายตัวกระเพื่อมดับไปมา เกิดที่ทวารตา รูปที่ปรากฏย่อมเกิดเป็นสังขตธรรม เมื่อสังขตธรรมเกิดขึ้น วิราคธรรม ปรากฏ ความจางคลาย เปิดให้เห็นอสังขตธรรม ะคือ สีต่างๆ ที่ยังไม่ได้แปลเป็นสิ่งต่างๆ สภาวะทั้งหมดนี้ ถูกต้องที่สุด แล้วใช่หรือไม่


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 29 ต.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

สังขตธรรม หมายถึง สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป นั่น คือ จิต เจตสิก รูป ดังนั้น สังขตธรรม ก็เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ในขณะนี้

ส่วน อสังขตธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะ อสังขตธรรม คือ พระนิพพาน ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย ฌาณเทพ  วันที่ 20 ต.ค. 2560

ขออนุโมทนาในกุศลผลบุญ ใคร่ขอขอบพระคุณที่เมตตาไขข้อข้องใจครับ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ