ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ กายคตาสติ หรืออสุภะก็ตาม การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจของส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือของความเป็นอสุภะนั้น ต่างกับสมถภาวนา เพราะเพียงเป็นเครื่องระลึกเท่านั้น เมื่อลมหายใจเป็นส่วนของกาย ก็รวมอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย
ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้ทรงแสดงส่วนของกายตั้งแต่ที่ละเอียดที่สุด คือ ลมหายใจ เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ทุกคนที่ยังมีชีวิต ยังยึดถือรูปร่างกายว่าเป็นตัวตนนั้น ส่วนของกายที่ละเอียดที่สุด คือ ลมหายใจ
เพราะฉะนั้น ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทรงแสดงทุกส่วนของกายที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นบรรพต่างๆ เริ่มตั้งแต่ลมหายใจ อานาปานะ ไปจนกระทั่งถึงอสุภะที่เป็นกระดูกที่ป่นเป็นผงก็ยังเป็นส่วนของกาย กระดูกของใคร ไม่พิจารณาก็เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ทุกส่วนที่เนื่องกับกายรวมอยู่ในกายานุปัสสนาทั้งสิ้น แต่การพิจารณานั้นไม่ใช่โดยลักษณะของสมถภาวนา แต่เป็นการเจริญสติปัฏ-ฐาน
ถ้าท่านเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็คงจะไม่สงสัยข้องใจว่า ธรรมชาติใดๆ ก็ตามที่มีจริงเป็นเครื่องให้สติระลึกรู้ลักษณะสภาพนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงได้ทั้งสิ้น ไม่ยับยั้งปัญญาว่า อย่ารู้ รู้ไม่ได้ ไม่ควรจะรู้ นั่นไม่ใช่เรื่องของการเจริญปัญญาแต่เป็นเรื่องของอวิชชา พอกพูนอวิชชาไม่ให้รู้สิ่งนั้นไม่ให้รู้สิ่งนี้ ก็ยังคงไม่รู้ต่อไป
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 83