ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย
การที่กล่าวว่าได้เห็นความไม่สำรวมของพระสงฆ์คือ
๑. พระสงฆ์ท่านหยอกล้อกับแม่ค้าที่คอยรับของบิณฑบาตรที่ท่านส่งให้
๒. มีพระสงฆ์ที่บวชใหม่ให้คุณแม่ขับรถมารับท่านและของกลับวัดหลังบิณฑบาตรเสร็จ
๓. พระสงฆ์ ๒ รูป หลังบิณฑบาตรเสร็จเดินสนทนากันระหว่างกลับวัด
๔. พระสงฆ์เห็นญาติโยมถวายปัจจัย รีบเดินมาหา
๕. พระสงฆ์รับของถวายจำนวนมากแล้วหาที่เก็บของพักไว้ แล้วเดินรับบิณฑบาตรต่อ
๖. เณรเดินตีบาตร เหมือนตีกลองตอนกลับวัด
พระสงฆ์ที่ไม่สำรวม ทำลายภาพพจน์ที่ดีของพระศาสนา ทำให้ญาติโยมไม่เลื่อมใส ซึ่งทำให้พระสงฆ์ที่สำรวม พลอยมัวหมองไปด้วย ถ้าญาติโยม ไม่รู้จักแบ่งแยก เพราะส่วนใหญ่ มักจะเหมารวมๆ กันไปน่ะค่ะ
ขอรบกวนขอความเห็นของทุกท่านด้วยค่ะ ด้วยความขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ควรทราบว่า พระภิกษุสามเณร ก็คือลูกหลานชาวบ้านธรรมดานี่เอง เมื่อเข้าไปบวชและยังไม่ได้รับการอบรมจากอุปัชฌาจารย์ ย่อมมีความประพฤติเช่นนั้น แต่ถ้าท่านได้รับการอบรมตามพระธรรมวินัย ย่อมมีมารยาท ทางกายทางวาจาดีขึ้น เพราะพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติสมควรแล้ว เป็นเนื้อนาบุญอันดีของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ไม่ว่าจะเป็นพระรูปใด มีกิริยาอาการอย่างไร ก็แล้วแต่ความเข้าใจ ย่อมน้อมระลึกถึง พระสงฆ์สาวก คือพระอริยสงฆ์ได้ เพราะเราไม่ได้เคารพตัวภิกษุบุคคล แต่เราเคารพพระอริยเจ้า ดังเช่น ผ้าที่ท่านใส่ก็เหมือนธงชัยของพระอรหันต์ เป็นตัวแทนของพระอริยสงฆ์ครับ แต่กว่าจะพิจารณาได้อย่างนี้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม จนเข้าใจ และธรรมก็จะทำหน้าที่เอง ให้น้อมระลึกถึงสงฆ์ มิใช่ภิกษุบุคคลครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
การเคารพไม่เลือกภิกษุบุคคล แม้จะทุศีล [ทุติยอุคคสูตร]
เรื่อง การเคารพไม่เลือกภิกษุบุคคล
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 422
ข้อความบางตอนจาก
ปฐมอุคคสูตร
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเข้าไปหาภิกษุรูปใด กระผมก็ เข้าไปหาด้วยความเคารพทีเดียว ไม่ใช่เข้าไปหาด้วยความไม่เคารพ นี้แลเป็นที่น่าอัศจรรย์ ฉันไม่เคยมี
มาข้อที่ ๕ ของกระผมที่มีอยู่.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
หน้าที่ของคฤหัสถที่พึงปฏิบัติต่อพระสงฆ
๑) . จะทําสิ่งใด ก็ทําด้วยเมตตา
๒) . จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓) . จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔) . ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕) . อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔
ให้ทำใจครับท่าน เพราะท่านเหล่านั้นยังเป็นพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ ยังติดนิสัยฆราวาสอยู่ แต่ถ้ามีพระผู้ใหญ่เข้ามาเห็นปัญหานี้ สมควรมีหน่วยรับเรื่องร้องทุกข์จากพี่น้องพุทธศาสนิกชน เพื่อช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาครับ พวกเราพุทธบริษัทสี่ต้องช่วยกันครับ ไม่ควรเพิกเฉยหรือบอกว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ไม่ได้แล้วครับ ขอบคุณ คุณตุลาที่เข้ามาตั้งโจทย์ครับ วันหน้าเข้ามาบ่อยๆ นะครับ เป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านครับ ธรรมะสวัสดี
ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย
ขอขอบคุณ และขออนุโมทนา กับความคิดเห็นของทุกท่านค่ะ
ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เป็นหน้าที่ของ "เรา" หรือเป็นหน้าที่ของ "พระธรรม" ที่จะขัดเกลากิเลสที่ท่านมี เพราะถ้าเหตุปัจจัยที่สั่งสมมาที่จะเห็นประโยชน์ของการออกบวชโดยอาศัยพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของท่านยังไม่มากเพียงพอในการขัดเกลากิเลส อกุศลกรรมบถทางกาย วาจาที่ไม่งามก็ย่อมเกิดได้ครับ และไม่ใช่แค่เพียงพระบวชใหม่เท่านั้น อกุศลกรรมบถก็เกิดได้ทั้งกับบรรพชิตและฆราวาสผู้ที่กำลังศึกษาพระธรรมได้เช่นกัน ถ้าอกุศลเกิดมาก ก็เป็นอกุศล เกิดน้อยก็ต้องเป็นอกุศล
ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม อกุศลก็ไม่เลือกว่าจะเกิดกับจิตของใครมากหรือน้อยกว่ากัน และก็เกิดได้ทั้งกับบรรพชิตและฆราวาสครับ อะไรที่จะเป็นทางให้เกิดกุศลได้ เช่น ถ้าเรารู้จักพระอุปัชฌาจารย์ ของพระภิกษุหรือสามเณรนั้น ก็สามารถแจ้งให้ท่านทราบด้วยกุศลเจตนาที่ดี เป็นการบอกทางอ้อม และควรระวังจิตของเราเอง ที่จะน้อมไปในการเพ่งโทษของท่านให้มากๆ ครับ
เพราะเหตุว่า การแพ้การเล่นพนันจนหมดตัว ก็ยังให้โทษน้อยกว่า การติเตียนพระอริยเจ้า
ขอเชิญอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกครับ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒๑
ผู้ใดย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์ พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย การที่ยังใจ ให้ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ เป็นโทษใหญ่กว่า (การพนัน) ผู้ที่ตั้งวาจาและใจอันบาปไว้ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสน สามสิบหกนิรัพพุททะและห้าอัพพุททะฯ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตอันประกอบไปด้วย "เมตตา"
สมัยก่อน ดิฉันก็เป็นค่ะ ที่เห็นพระภิษุสงฆ์ไม่สำรวม แล้วคิดตำหนิพระ แต่ปัจจุบัน หลังจากที่ได้ศึกษาธัมมะ และฟังธรรม เข้าใจแล้ว ก็ไม่คิดอะไร เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 7 ค่ะ
ในอนาคตกาลจะมีภิกษุที่ทุศีลมาก จะมีเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นภิกษุเพียงผ้ากาสาวะห้อยหู ถ้าบุคคลมีจิตนอบน้อม ถวายทานด้วยความเคารพยำเกรงในสงฆ์ แม้ภิกษุนั้นจะทุศีล ก็ยังมีอานิสงส์ เพราะเรามุ่งตรงต่อสงฆ์ค่ะ
ขอเชิญอ่านข้อความในพระไตรปิฎกเพิ่มเติม ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับกระทู้ที่คุณ ตุลา ตั้งขึ้น ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
อาจารย์และอันเตวาสิก [มหาวรรค]
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
อาจารย์และอันเตวาสิก [มหาวรรค] (ต่อ)
อย่าลืมว่า กว่าที่พระธรรมจะขัดเกลานิสัยที่ไม่ดีๆ ของเราแต่ละอย่างๆ ได้ ก็ไม่ใช่แต่เพียงตอนที่เริ่มฟัง หรือศึกษาเพียงวัน สัปดาห์ หรือเดือน แต่เป็นเวลาถึงปี ถึงหลายปี ไปจนกว่าจะจากโลกนี้ แล้วพระภิกษุสามเณรซึ่งท่านบวชใหม่ไม่นาน และไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยได้ศึกษาพระธรรม ตามแนวทางความเห็นถูกมาก่อน เมื่อท่านบวชด้วยเหตุผลอื่นๆ ท่านก็ต้องค่อยๆ ได้รับการพร่ำสอน คือ การให้นิสัย (ที่ดีงามเกิดขึ้น) จากพระอุปัชฌาจารย์ ซึ่งบวชมาก่อน และบวชมานานกว่า ๑๐ พรรษา คอยให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ เหตุนี้เราจึงควรที่จะคิดเมตตากับท่าน และกระทำการที่ไม่เกินหน้าที่อันดีของ อุบาสก อุบาสิกา ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตอันประกอบไปด้วยเมตตา
แม้แต่พระอรหันต์ผู้ซึ่งดับกิเลสได้โดยไม่เหลือก็ยังมีกายและวาจาที่ไม่งาม เพราะท่านยังละวาสนาไม่ได้ ดังนั้นกิจที่ควรทำคือ หมั่นพิจารณาสภาพจิตของตน ดีกว่าไปเพ่งโทษคนอื่น
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
ปริสวรรคที่ 5 [สูตรที่ ๓ ว่าด้วยบริษัทที่ไม่มีอัครบุคคล และมีอัครบุคล]
ควรเข้าใจด้วยปัญญาว่าที่ให้เพราะอะไร และไม่ให้เพราะอะไร
ขออนุโมทนาทุกท่าน ที่มีกุศลจิตประกอบด้วยเมตตา และคุณ natnicha ด้วยครับ ดีมากเลย อนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนา กับ คุณ natnicha (ความเห็นที่ 15) นะครับ
ผมได้ถอดคำพูดของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาให้อ่านกัน อีกทีครับ
"เห็นประโยชน์ของพระวินัยไหมว่า แม้คฤหัสถ์ก็ควรที่จะได้ทราบ มิฉะนั้นก็อาจคิดว่า พระวินัยเป็นเรื่องของพระภิกษุ เมื่อเป็นพระวินัยแล้ว พุทธบริษัททั้ง 4 ในสมัยโน้น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พร้อมเพรียงกันที่จะศึกษา ช่วยเหลือซึ่งกันและกันถ้าคฤหัสถ์ ไม่รู้พระวินัยเลยนี่ สามารถที่จะรู้ได้ไหมว่า สิ่งใดที่พระภิกษุกระทำเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่เมื่อรู้แล้ว หน้าที่ของคฤหัสถ์คืออะไร คฤหัสถ์คงไม่มีหน้าที่ ไปติเตียนพระภิกษุแน่นอนใช่ไหมคะ
เพราะเหตุว่าโดยเพศ โดยฐานะ พระภิกษุ เป็นประธาน เป็นประมุข ของพุทธบริษัท ด้วยเหตุนี้ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะรู้ว่าภิกษุรูปใด เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย คือประพฤติตามพระวินัย หรือภิกษุรูปใดไม่ได้ประพฤติตามพระวินัย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ศึกษาเลย เราก็จะไม่รู้นะคะ เราก็อาจจะคิดว่าผู้ที่อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพยกย่อง แต่อุปสมบทแล้ว ต้องประพฤติตามพระวินัย ถ้าประพฤติผิดพระวินัย สมควรแก่การยกย่องไหม
แต่แม้ว่ารู้แล้วว่าท่านไม่ประพฤติตามพระวินัย ก็ควรมีเมตตาต่อท่าน ไม่ใช่เป็นการลบหลู่ และการเมตตานี่ ก็แล้วแต่ว่า บุคคลนั้น สามารถที่จะเกื้อกูลท่านได้โดยสถานใด"
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาทุกท่าน ที่พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกันในธรรมค่ะ
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1781
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1782