ศึกษาพระธรรมเท่าไรจึงจะพอ
โดย Sam  25 ก.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 9371

การบัญญัติพระธรรมวินัยเป็นพุทธวิสัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สุดวิสัยของพวกเราที่จะศึกษาตามและเข้าใจได้ทั้งหมด ขอเรียนถามว่าจะต้องศึกษาปริยัติเท่าไรจึงจะเพียงพอครับ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 27 ก.ค. 2551

การศึกษาพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นการศึกษาที่มีประโยชน์มาก เป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจ เพื่อความเห็นถูกเป็นอริยทรัพย์ เป็นอุดมมงคล เป็นสิกขานุตตริยะ เป็นบุญญกิริยาวัตถุ ฯ ดังนั้นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ ยิ่งศึกษามากก็ยิ่งดี ไม่มีจำกัดว่าเท่าไหร่ ต้องศึกษาตลอดชีวิตเท่าที่จะศึกษาได้ แต่จะให้รู้ทั่วแทงตลอดทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือจุดประสงค์ต้องตรงและถูก ผู้ศึกษาจึงจะได้รับประโยชน์หรือสาระจากศึกษาพระธรรม เพราะถ้าจุดประสงค์ไม่ตรงแล้วย่อมมีโทษเช่นกัน..


ความคิดเห็น 2    โดย ajarnkruo  วันที่ 27 ก.ค. 2551

ถ้าศึกษาถูกทางก็จะรู้ว่า ถ้ายังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมด ศึกษาเท่าไรก็ยังไม่พอครับ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินกำลังจนเกินไป ที่จะได้ศึกษาในสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ควรจะรู้ เพราะพระธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไรก็ดี ไม่ควรลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมทั้งหมดว่า เป็นไปเพื่อการละครับ ถ้าหากกิเลสยังมีอยู่ ยังละไม่ได้ ยังดับไม่ได้ แล้วใครมาบอกเราว่า ศึกษาเท่านั้นเท่านี้พอ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับความจริงเลย เพราะที่จะรู้ว่าพอจริงๆ ต้องรู้ด้วยปัญญาของผู้ที่ไม่มีกิเลสทุกประ-การแล้วเท่านั้นครับ


ความคิดเห็น 3    โดย prakaimuk.k  วันที่ 27 ก.ค. 2551

ศึกษาเท่าไรก็ไม่พอค่ะ ควรให้การศึกษาพระธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันเลยค่ะ เพราะกิเลสที่เราสะสมมามีมากมาย แถมหยั่งรากลึกมาก ยากที่ละให้หมดไปได้ง่ายๆ และโอกาสที่จะได้มาศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องเช่นนี้ก็หาได้ยากมาก แล้วจะทิ้งโอกาสที่จะสะสมสิ่งที่อันหายากนี้ไปง่ายๆ หรือ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 27 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อะไรคือคำว่าพอแล้ว อะไรคือคำว่าไม่พอ

พอแล้วในการศึกษาธรรมคืออะไร ในข้อความพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อ ความเป็นอย่างนี้มิได้มี "

นั่นแสดงว่าพรหมจรรย์คือ การอบรมปัญญาจนถึงความเป็นพระอรหันต์ กิจคือการดับกิเลสขั้นต่างๆ จนหมดกิเลส นี่คือ พอแล้วในการศึกษาพระธรรม ดังนั้นเมื่อยังไม่ดับกิเลสก็ชื่อว่ายังไม่เสร็จกิจ ยังไม่พอ ยังจะต้องศึกษาพระธรรม


ความคิดเห็น 5    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 27 ก.ค. 2551

ความหมายของการศึกษาพระธรรม

ศึกษาหรือสิกขาในพระธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบทางโลกที่รู้มากๆ แล้วไปสอบหรือเพื่อสนองความต้องการของตนเอง แต่การศึกษาพระรรม (สิกขา) นั้น เป็นไปเพื่อละตั้งแต่ต้น ดังนั้น การศึกษาที่ถูกต้องไม่ว่าจะศึกษาพระธรรมจากส่วนใดก็ตามก็เพื่อเข้าใจความจริง ความจริงอะไร ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะถ้าหากไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่ถูกต้องนี้แล้ว ก็จะเป็นการจำชื่อและก็เข้าใจ ผิดในการปฏิบัติด้วย และย่อมเพิ่มพูนกิเลสมากขึ้น ไม่เป็นไปเพื่อการละ ดังนั้นสิกขาคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ก็คือการเข้าใจสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ครับ


ความคิดเห็น 6    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 27 ก.ค. 2551

ปริยัติและปฏิบัติต้องสอดคล้องกัน

การศึกษาธรรม ไม่มีคำว่าพอ แต่ถ้าศึกษาผิดก็ไม่มีทางถึงคำว่าพอแล้ว (ดับกิเลส) ดังนั้นการศึกษาปริยัติก็เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติ ปฏิบัติคือ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ดังนั้นปริยัติที่ศึกษาแม้จะมีพระธรรมมากมาย ก็เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ปริยัติต้องสอดคล้องกับปฏิบัติ ไปในทางเดียวกันเพื่อรู้ รู้จึงละ ละความเป็นเราเป็นสัตว์ บุคคลก่อน จากขั้นการฟังว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือปริยัตินำไปสู่ปฏิบัติครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 27 ก.ค. 2551

ปุถุชนรวมทั้งพระอริยบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ยังต้องศึกษาค่ะ แต่พระอรหันต์

เป็นผู้ดับกิเลสแล้ว ทำกิจที่ทำเสร็จแล้ว ชื่อว่าไม่ต้องศึกษา แต่ท่านยังเผยแพร่ธรรมะ

เพื่อดำรงศาสนาให้สืบต่อไปค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย พุทธรักษา  วันที่ 27 ก.ค. 2551


จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ค่ะ.


ความคิดเห็น 9    โดย จิต89หรือ121  วันที่ 28 ก.ค. 2551

ขณะฟัง (หรืออ่าน) พระธรรม แล้วมีความเข้าใจพระธรรม

ความเข้าใจ คือปัญญาเจตสิก เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

ปัญญาทำหน้าที่เข้าใจพระธรรม ไม่ใช่ตัวเราที่เข้าใจพระธรรม ครับ


ความคิดเห็น 10    โดย Sam  วันที่ 29 ก.ค. 2551

ขอสรุปเป็นความเข้าใจของตัวเองว่า ควรศึกษาพระปริยัติจนกว่าจะบรรลุจุดประสงค์ของการศึกษาจึงจะเพียงพอ และจุดประสงค์ฯที่ถูกต้องคือเพื่อการดับกิเลส

ขอบคุณทุกความเห็นครับ สาธุ


ความคิดเห็น 11    โดย narisornpl  วันที่ 30 ก.ค. 2551

การศึกษาทุกอย่างมีคำว่าพอ คำว่าพอในที่นี้คือบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้และประสบผลที่ตัวเองประสงค์

ก่อนอื่น

การศึกษาเรียนรู้ที่ถูกต้องนั้นจะต้องหาเป้าหมายในตัวเองให้เจอก่อน โดยการถามตัวของตัวเองก่อนว่าเป้าหมายที่ต้องการคืออะไร และตั้งมั้นขึ้นเอามาเป็นโจทย์ไว้

ตัวอย่างเช่น ต้องการสุขภาพดีเป็นเป้าหมายของเรา

โจทย์ของเรา คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสุขภาพที่ดี

ดังนั้น วิธีการที่เราจะเข้าไปสู่เป้าหมายตรงนี้ก็คือ เราจะต้องหาวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เราสุขภาพดี อย่างเช่น การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์, การพักผ่อนให้เพียงพอ, การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น

การศึกษาเพื่อให้เข้าสู่นิพพาน

เป้าหมายของพุทธศาสนิกชนทุกคน คือต้องการที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยกันทั้งนั้น แต่ การที่จะเข้าไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น ทำอย่างไร

ก่อนอื่น เราจะต้องตั้งโจทย์เรื่องทำอย่างไรจึงจะไปให้ถึงซึ่งนิพพานซะก่อน

"พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ พวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บอกเราแล้วว่าให้ใช้อริยสัจ ๔ ในการไปให้ถึงซึ่งนิพพาน

ดังนั้น การที่เราจะเข้าไปสู่นิพพานนั้น เราจะต้องรู้จักใช้อริยสัจ ๔ ให้เป็น โดย เราจะต้องใช้ การให้ความสนใจ "สมาธิ", การคิด "สติ", ความรู้สึกเข้าใจ "สัมปชัญญะ" ในการทำความเข้าใจอริยสัจ ๔ โดยมองให้เห็นว่าอะไรเป็น ทุกข์,สมุทัย,นิโรจน์,และมรรค

ทุกข์ หรือ ที่เราสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าปัญหา

สมุทัย หรือ ที่เราสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าสาเหตุแห่งปัญหา

นิโรจน์ หรือ ที่เราสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าวิธีการแก้ปัญหา (ทฤษฎี)

มรรค หรือ ที่เราสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าวิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาโดยการใช้วิธีการที่ดีมาปฏิบัติแก้ไข (สัมมา)

เริ่มกันเลยดีกว่า

อริยสัจ ๔ เพื่อการไปสู่นิพพาน

ทุกข์ หรือ ปัญหา คือ ยังไปไม่ถึงนิพพาน

สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้ไปยังไม่ถึงนิพพาน ซึ่งก็คือ สังโยชน์ ๑๐ ซึ่งประกอบด้วย ๑ สักกายทิฏฐิ, ๒ วิจิกิจฉา, ๓ สีลัพพตปรามาส, ๔ กามราคะ, ๕ ปฏิฆะ, ๖ รูปราคะ, ๗ อรูปราคะ, ๘ มานะ, ๙ อุทธัจจะ, ๑๐ อวิชชา

นิโรจน์ คือ วิธีการแก้ปัญหา (ทฤฏี) ซึ่งปัญหาของเราก็คือ สังโยชน์ ๑๐ เราจะต้องหาวิธีการในการแก้ไขสังโยชน์แต่ละข้อออกมา (มีเยอะมาก ข้าพเจ้าจะสรุปรวบรวมและอธิบายอีกครั้ง)

มรรค คือ การปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหา เป็นการปฏิบัติโดยการนำทฤฎีที่ได้ (จากนิโรจน์) มาลองใช้ดู ซึ่งเมื่อเรานำมาใช้ เราก็จะรู้ได้ว่าวิธีไหนเหมาะกับเรา อันไหนที่เราทำแล้วได้ผล หรือ ไม่ได้ผล

มรรค ประกอบด้วย ๘ ข้อ


ความคิดเห็น 12    โดย เมตตา  วันที่ 3 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ และขอยกข้อความจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป

การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๓ ขั้น คือ ขั้นปริยัติ

ขั้นปฎิบัติ และขั้นปฎิเวธ พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคตหมายถึงการเห็นธรรมรู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฎิเวธการเห็นธรรมขั้นปฎิเวธเป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฎิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฎิบัติต้องอาศัยขั้นปริยัติ

ด้วยเหตุนี้ ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัยจึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฎิบัติและขั้นปฎิเวธ เป็นลำดับไป ..


ความคิดเห็น 13    โดย ป้าจาย  วันที่ 3 ส.ค. 2551

คำว่า เท่าไรจึงจะพอ คล้ายกับจะถามหาเป้าหมายปลายทาง ตั้งขีดคั่นเอาไว้อย่างนั้น เท่าไรก็ไม่เคยพอ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น คำถามลักษณะนี้ จะหมดไปจากความสงสัยของเราเองค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย majweerasak  วันที่ 6 ส.ค. 2551

เข้าใจว่า แม้แต่พระอรหันหากท่านยังไม่ปรินิพพาน ท่านก็ยังศึกษาธรรมะนะครับแต่ท่านไม่ได้ศึกษาเพื่อละกิเลส ดังนั้น หากการศึกษาธรรมมีประโยชน์ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะหยุดศึกษาพระธรรมครับ ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวครับ