ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดยคุณย่าสงวน สุจริตกุล
เพราะฉะนั้น ถ้าจะอบรม สั่งสอนบุตรหลานแต่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ โทสมูลจิตก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของ "โทสะ" ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นรู้ชัดว่าเป็น "ลักษณะ" ของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง"ไม่ใช่ตัวตน" ไม่ต้องไปห่วงว่า "ไม่อยากให้โทสะเกิด" จะทำยังไงได้ ในเมื่อยังไม่ได้ดับโทสะเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว "สติ"ระลึกรู้ ในลักษณะที่ "ไม่ใช่ตัวตน"
ท่านผู้ฟัง เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ถ้าผู้ที่เจริญสติแล้วการเฆี่ยนตีบุตรหลานนั้น ก็อาจจะลดน้อยลงได้บ้าง เพราะว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วนั้น ถือว่าการเฆี่ยนตีบุตรหลานนั้น ไม่ใช่วิธีที่ประเสริฐ วิธีที่ประเสริฐ ที่จะอบรมสั่งสอนนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้วทรงอบรมสั่งสอน สัตว์โลก กับผู้ที่ควรอบรมนั้น พระองค์ ไม่ทรงเฆี่ยนตีใครเลย ผู้ที่เจริญสติ ถ้าขณะสติเกิด ก็เฆี่ยนไม่ลงหรอกครับ ทีนี้ ผมสงสัย คำโบราณว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ถ้ามาเทียบเคียงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว กระผมไม่แน่ใจว่า ลักษณะนี้ที่คนทั่วไปถือว่าเป็นสุภาษิต แต่ความเป็นจริงเป็นสุภาษิตหรือทุภาษิต
ท่านอาจารย์ กำลังจะเป็นปัญหาว่า ควรจะตีเด็กหรือไม่ตีเด็ก ในการอบรมสั่งสอน อันนี้แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่บุคคล ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว แต่ว่า จะต้องพิจารณาสภาพธรรม เฉพาะกาลๆ และที่ว่า ถ้าสติเกิดจะไม่ตีเลยนั่นนะคะ สติเกิดแล้วหยุดเลย มือค้างเลยหรือยังไงคะ ท่านผู้ฟังกล่าวว่า อาจจะไม่ตีหรือตีค่อย หรืออาจจะตีเบาลงนี่ เป็นเรื่องคาดคะเน
ขอให้เหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นจริงๆ เถอะค่ะ ไม่มีใครเดาได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น ในขณะนั้น คิดว่าจะไม่ตี ขอให้เกิดขึ้นก่อนเถอะค่ะ แล้วก็ดูเอาเองว่า จะตีหรือไม่ตี ขอให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ เสียก่อน เพราะไม่มีใครจะสามารถรู้ได้เลย ว่า ขณะนั้น อะไรจะเกิดขึ้น.
ทุกขณะนี้ อะไรจะเกิดขึ้น สุดวิสัยที่ใครจะรู้ได้ ทุกท่านนั่งอยู่ที่นี่ ทราบไหมคะ ว่าขณะต่อไปจะได้ยินเสียงอะไร จะมีความสุข ทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ ไม่มีใคร สามารถที่จะรู้ เหตุการณ์แม้ชั่วขณะ ที่ต่อจาก ขณะนี้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เพราะฉะนั้น ที่ว่าผู้ที่มีสติจะตี (เด็ก) น้อยลง ก็เป็นลักษณะที่ว่าตีน้อยลง เพราะไม่ได้ตีด้วยความโกรธ หรือตีเบาลง เพราะไม่ได้ตีด้วยความโกรธ เพราะว่าขณะนั้นสติเกิด แต่ส่วนที่ว่าจะตี หรือไม่ตี ต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ คาดคะเน ไม่ได้
ท่านผู้ฟัง ผมไม่เชื่อหรอกครับ ตีลูกไม่มีโทสะ ก็อนุสัยกิเลส พระอนาคามีถึงจะละได้ตีลูกโดยไม่โกรธแล้วสั่งสอน ไม่จริงหรอกครับ สุภาษิตที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ไม่เข้าท่าเลย เอาที่ไหนมา รักวัวให้ผูกทำลายอิสรภาพเขา แล้วรักลูกให้ตี มันตรงกันข้าม พูดคล้ายกับว่าฉันไม่เคืองแกหรอก แต่ขอลองเตะแกสักหน่อย วิธีอื่นมีถมไป พระพุทธองค์ ท่านตรัสโอวาทไว้ท่านพร่ำสอน หลายๆ หน เช่นมีเรื่องหนึ่งว่า นายสารถี ไปเฝ้าท่าน ท่านตรัสถาม วิธีฝึกของสารถี สารถีก็กราบทูลว่า เฆี่ยนตีไปตามเรื่อง ส่วนพระองค์ ตรัสสอน ด้วยวาจาศิลป์
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ ท่านน่ะ รักลูก แน่นอนใช่ไหมคะ
ท่านผู้ฟัง ก็มันฉิว ถึงได้ตี
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ ถ้าไม่รักลูกจะตีไหมคะ
ท่านผู้ฟัง ไม่รักก็ตี บางทีมันซนเหลือขอ คือตีอย่างนี้ครับ ถ้ารัก ตีน้อยหน่อย ถ้าเกลียด ตีแรงหน่อย ปุถุชนจะพ้นโทสะไปได้ยังไง
ท่านอาจารย์ เวลาตี เพราะ โกรธทุกที หรือ รู้ว่าต้องตี
ท่านผู้ฟัง ก็มันโกรธ ทุกที
ท่านอาจารย์ แต่ ในขณะที่ตีนั้น มีเหตุผลคือ ใคร่ที่จะอบรมสั่งสอน
ท่านผู้ฟัง วิธีการ ที่ไม่ต้องตี มันมี
ท่านอาจารย์ แต่ในขณะเดียวกัน ท่านผู้ฟังก็รักลูกและท่านก็ตีลูก แล้วก็มีเหตุผลในการตี ข้อสำคัญที่สุดคือ "เป็นผู้ที่มีเหตุผล" ในการตี
ท่านผู้ฟัง คือมันอย่างนี้ครับ. การที่จะตีนี่ ขอประทานโทษ ผมจะเล่านอกเรื่องสักหน่อย สมเด็จพุฒาจารย์วัดระฆัง มีลูกศิษย์ของท่านเอาก้อนอิฐ ไปขว้างหัวลูกชาวบ้าน ลูกชาวบ้านก็มาฟ้อง ว่า "ลูกศิษย์หลวงพ่อ เอาอิฐมาขว้างหัวผม" ท่านก็ว่า "ก็เอ็งไปขว้างเขาก่อนนี่" เด็กคนนั้นก็ยืนยันว่า ไม่ได้ไปขว้างนี่ๆ ๆ ท่านบอกว่า "ชาติก่อนขว้าง"
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ขึ้นอยู่กับเจตนา แม้แต่การที่จะอบรมบุตร ธิดา แต่ละท่านก็ต้องมีวิธีวิธีเฉพาะบุคคลนั้นๆ และเฉพาะเหตุ การณ์นั้นๆ ด้วย แต่การที่จะ "วางกฎ" ไปเลยว่าไม่ตีถึงจะดี หรือต้องตีถึงจะดี นั่นก็เป็นเรื่องยากแก่การที่จะใช้ (วิธีนั้น) ถ้าไม่พิจารณาใน "เหตุผล" เฉพาะเหตุการณ์นั้น และบุคคลนั้นจิตเกิดดับ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น สติเกิดไหม ที่จะระลึกรู้ "ลักษณะ" ของนามธรรม คือ จิตที่ประกอบด้วยโทสะ ในขณะนั้น โทสะเกิดแต่กุศลจิตเกิดต่อสลับกันได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะที่พิจารณา "เหตุผล" (ในการกระทำนั้นๆ )
ขออนุโมทนา
แม้แต่บุตร ธิดา อันเป็นที่รักยิ่งยังขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นบุคคลอื่น ที่ไม่เป็นที่รักจะขนาดไหน หาก "ขาดสติและเหตุผล" ในการกระทำ และการกระทำนั้น ประกอบไปด้วย ความโกรธที่มีเหตุปัจจัย ที่เป็นอนัตตา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขออนุโมทนาค่ะ
ตี ด้วยอะไร
ไม่ตี ด้วยอะไร
คนถูกตี...ไม่รู้
แต่คนตี
ย่อมรู้
ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ
ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นอาจารย์สอนวิชาทางโลก มีลูกศิษย์คนหนึ่งไปขโมยเม็ดงาของหญิงคนหนึ่ง ภายหลังพระโพธิสัตว์รู้ก็ลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีเพื่อสั่งสอนเขา ต่อมาเขาก็เป็นคนดีค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ขึ้นอยู่กับเจตนา แม้แต่การที่จะอบรมบุตรธิดา แต่ละท่านก็ต้องมีวิธี วิธีเฉพาะบุคคลนั้นๆ และเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย แต่การที่จะ "วางกฏ" ไปเลยว่า ไม่ตีถึงจะดี หรือต้องตีถึงจะดี นั่นก็เป็นเรื่องยาก แก่การที่จะใช้ (วิธีนั้น) ถ้าไม่พิจารณาใน "เหตุผล" เฉพาะเหตุการณ์นั้นและบุคคลนั้น จิตเกิดดับหรือเปล่าคะ เพราะฉะนั้น สติเกิดไหม.? ที่จะระลึกรู้ "ลักษณะ" ของนามธรม คือ จิต ที่ประกอบด้วยโทสะ ในขณะนั้นโทสะเกิด แต่กุศลจิตเกิดต่อสลับกันได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะที่พิจารณา "เหตุผล" (ในการกระทำนั้นๆ) ลึกซึ้ง ชัดเจน
ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และ ขอขอบพระคุณคุณปริศนาครับ
สาธุ
ขออนุญาตเสริมความเห็นที่ 4 ครับ
[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่
๒. ติลมุฏฐิชาดก
การเฆี่ยนตีเป็นการสั่งสอน
[๓๕๕] การที่ท่านให้จับแขนเราไว้แล้วเฆี่ยนตีเราด้วยซีกไม้ไผ่เพราะเหตุเมล็ดงากำมือหนึ่งนั้น ยังฝังอยู่ในใจของเราจนทุกวันนี้.
[๓๕๖] ดูก่อนพราหมณ์ ชะรอยท่านจะไม่ยินดีในชีวิตของตนแล้วสินะ จึงได้มาจับแขนแล้วเฆี่ยนตีเราถึง ๓ ครั้ง วันนี้ท่านจะได้เสวยผลของกรรมนั้น.
[๓๕๗] อารยชนใด ย่อมข่มขี่คนที่ไม่ใช่อารยชน ผู้ทำกรรมชั่วด้วยอาชญากรรมของอารยชนนั้น เป็นการสั่งสอนหาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้แล.
ข้าแต่มหาราช ชื่อว่าการเฆี่ยนตีกีดกันบุตรธิดาหรือศิษย์ ผู้กระทำสิ่งไม่ควรทำด้วยอาการอย่างนี้ เป็นการสั่งสอนในโลกนี้ คือ เป็นการพร่ำสอน เป็นโอวาท หาใช่เป็นการก่อเวรไม่
ถ้าแม้ข้าพระองค์จักไม่ได้ให้พระองค์ทรงสำเนียกอย่างนี้แล้ว ต่อไปภายหน้า พระองค์ลักขนม น้ำตาลกรวดแลผลไม้ เป็นต้น ติดในโจรกรรมทั้งหลาย จะทำการตัดช่องย่องเบา ฆ่าคนในหนทางและฆ่าชาวบ้าน เป็นต้น โดยลำดับ ถูกจับพร้อมทั้งของกลาง ว่าโจรผู้ผิดต่อพระราชาแล้ว แสดงต่อพระราชา จักได้รับภัยคืออาญา โดยพระดำรัสว่า พวกท่านจงไปลงอาญาอันสมควรแก่โทษของโจรนี้ สมบัติเห็นปานนี้ จักได้มีแก่พระองค์มาแต่ไหน พระองค์ได้ความเป็นใหญ่โดยเรียบร้อย เพราะอาศัยข้าพระองค์มิใช่หรือ อาจารย์ได้ทำให้พระราชายินยอม ด้วยประการดังกล่าวมานี้
ตี หรือ ไม่ตี ขึ้นอยู่กับเหตุผลและเจตนา แต่การตีที่ประเสริฐสูงสุด คือการให้เขาได้ฟังพระสัทธรรมจนเกิดอาวุธ คือปัญญาที่สามารถตีจนชนะกิเลสของตนเอง
...ขออนุโมทนาครับ...
ขออนโมทนาคะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
โดยธรรมชาติของสัตว์โลก พ่อแม่ย่อมรักลูกที่เกิดมา และย่อมต้องการให้ลูกเป็นคนดีเป็นความภูมิใจ พระพุทธเจ้ายังต้องใช้ไม้แข็งในการฝึกเวไนยสัตว์ สัตว์โลกบางจำพวกจึงต้องใช้ไม้แข็ง พ่อแม่เมื่อตีลูกก็ ไม่พ้นความหวังที่จะให้ลูกได้ดีเป็นคนดี ความหวังที่จะให้ได้ดีเป็นคนดีเป็นเจตนา เจตนาเป็นกรรม เพราะฉะนั้นกรรมที่ตีจึงเป็นกรรมดี การตีบางครั้งอาจมีโลภะ โทสะ แต่แท้ที่จริงถูกขับเคลื่อนด้วยเจตนาดี การตีอาจมีเจตนาที่ไม่ดีก็ได้ ถ้าเช่นนั้นก็จบ
ผมสังเกตว่าลูกที่ฉลาดส่วนมากต้องซนและเคยถูกตีมาก่อน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป
สำคัญที่เจตนาครับ ซึ่งวิธีแต่ละวิธีก็ตามความเหมาะสม บางคนเหมาะกับวิธีนี้ บางคนเหมาะกับวิธีอีกวิธีหนึ่ง แต่ที่สำคัญ มุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ
ขออนุโมทนาครับ
ท่านอาจารย์ แต่ในขณะเดียวกัน ท่านผู้ฟังก็รักลูก และท่านก็ตีลูกแล้วก็ มีเหตุผลในการตี ข้อสำคัญที่สุดคือ "เป็นผู้ที่มีเหตุผล" ในการตี จิตเกิดดับหรือเปล่าคะ เพราะฉะนั้น สติเกิดไหม.? ที่จะระลึกรู้ "ลักษณะ" ของนามธรม คือจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ในขณะนั้น. โทสะเกิดแต่กุศลจิตเกิดต่อสลับกันได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะที่พิจารณา "เหตุผล" (ในการกระทำนั้นๆ)
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ที่บรรยายให้เห็นธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบัน
สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละขณะไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น จึงควรพิจารณาด้วยเหตุผลแม้ขณะที่ตีหรือไม่ตี ก็ใคร่ที่จะอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขออนุโมทนาครับ