[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 144
๘. ภัลลาติยชาดก
ว่าด้วยอายุของกินนร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 61]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 144
๘. ภัลลาติย๑ชาดก
ว่าด้วยอายุของกินนร
[๒๑๕๓] ได้มีพระราชาทรงพระนามว่า ภัลลา ติยะ ทรงละรัฐสีมา เสด็จประพาสป่า ล่ามฤค ท้าวเธอเสด็จไปถึงคันธมาทน์วรคิรี มีพรรณดอกไม้ บานสะพรั่ง ซึ่งกินนรเลือกเก็บอยู่เนืองๆ กินนร สองผัวเมีย ยืนคลึงเคล้ากันอยู่ ณ ที่ใด ท้าวเธอ ประสงค์จะตรัสถาม จึงทรงห้ามหมู่สุนัข และเก็บ แล่งธนูเสีย แล้วเสด็จเข้าไปใกล้ ณ ที่นั้น ดำรัสว่า ล่วงฤดูเหมันต์แล้ว ไยเล่าเจ้าทั้งสองจึงมายืนกระซิบ กระซาบกันอยู่เนืองๆ ที่ริมฝั่งเหมวดีนทีนี้ เราขอ ถามเจ้าทั้งสองผู้มีเพศเหมือนร่างมนุษย์ ชนทั้งหลาย ในมนุษยโลก รู้จักเจ้าทั้งสอง ว่าเป็นอะไร.
[๒๑๕๔] ข้าแต่ท่านพรานผู้สหาย เราทั้งสอง เป็นมฤค มีเพศพรรณปรากฏเหมือนมนุษย์ เที่ยวอยู่ ตามแม่น้ำเหล่านี้ คือ มาลาคิรีนที ปัณฑรกนที ติกูฏนที ซึ่งมีน้ำใสเย็นสนิท ชาวโลกรู้จักเราทั้งสองว่าเป็น กินนร.
[๒๑๕๕] เจ้าทั้งสองเหมือนได้รับความทุกข์ร้อน เสียเหลือเกิน ปริเทวนาการอยู่ เจ้าทั้งสองรักกัน ได้สวมกอดกัน สมความรักแล้ว ดูก่อนกินนรทั้งสอง
๑ อรรถกถาเป็น ภัลลาติกะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 145
ผู้มีเพศพรรณเหมือนกายมนุษย์ เราขอถามเจ้าทั้งหลาย เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงร้องไห้อยู่ในป่านี้ ไม่สร่างซาเลย เจ้าทั้งสองเหมือนได้รับความทุกข์ร้อนเสียเหลือเกิน ปริเทวนาการอยู่ เจ้าทั้งสองรักใคร่กัน ก็ได้สวมกอด กัน สมความรักแล้ว ดูก่อนกินนร ผู้มีเพศพรรณเหมือน กายมนุษย์ เราขอถามเจ้าทั้งหลาย เหตุไรเจ้าทั้งสองจึง มาบ่นเพ้ออยู่ในป่านี้ ไม่สร่างซาเลย เจ้าทั้งสองเหมือน ได้รับความทุกข์ร้อนเสียเหลือเกิน ปริเทวนาการอยู่ เจ้าทั้งสองรักใคร่กัน ก็ได้สวมกอดกันสมความรักแล้ว ดูก่อนกินนร ผู้มีเพศพรรณเหมือนกายมนุษย์ เราขอ ถามเจ้าทั้งหลาย เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงเศร้าโศกอยู่ใน ป่านี้ไม่สร่างซาเลย.
[๒๑๕๗] (นางกินรีทูลตอบว่า) ข้าแต่ท่านนาย พราน เราทั้งสองไม่อยากจะจากกัน ก็ต้องจากกัน แยกกันอยู่สิ้นราตรีหนึ่ง เมื่อมาระลึกถึงกันและกัน เดือดร้อนเศร้าโศกถึงกันตลอดราตรีหนึ่ง ที่ล่วงไป นั้นว่า ราตรีนั้นจักไม่มีอีก.
[๒๑๕๗] (พระราชาดำรัสถามว่า) เจ้าทั้งสอง คิดถึงทรัพย์ที่หายไปหรือ หรือว่าคิดถึงมารดาบิดาผู้ ล่วงลับไปแล้ว จึงได้เดือดร้อนอยู่สิ้นราตรีหนึ่ง เรา ขอถามเจ้าทั้งสอง ผู้มีเพศพรรณดังกายมนุษย์ เหตุไร เจ้าทั้งสองจึงต้องจากกันไป.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 146
[๒๑๕๘] (นางกินรีทูลว่า) ท่านเห็นนทีนี้แห่งใด มีกระแสเชี่ยว ไหลมาในระหว่างหุบผา ปกคลุมไป ด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ ในฤดูฝนกินนรสามีสุดที่รัก ของดิฉัน ได้ข้ามแม่น้ำนั้นไปด้วยสำคัญว่า ดิฉันจะ ติดตามมาข้างหลัง.
ส่วนดิฉันมัวเลือกเก็บดอกปรู ดอกลำดวน ดอกมะลิซ้อน และดอกคัดค้าวที่บานสล้าง ด้วยคิดว่า สามีของเราจักได้ทัดทรงดอกไม้ ส่วนเราก็จักได้สอด แซมดอกไม้ เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น
อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกบานไม่รู้โรย ดอกราชพฤกษ์ ดอกแคฝอย ดอกย่านทราย ด้วยคิดว่า สามีที่รักของเรา จักทัดทรงดอกไม้ ส่วนเราก็จักได้ สอดแซมดอกไม้ เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น.
อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาลพฤกษ์ ซึ่งกำลัง บานสล้าง ร้อยเป็นพวงมาลัย ด้วยคิดว่า สามีที่รัก ของเราจักสวมใส่พวงมาลัย ส่วนเราก็จักได้สวมใส่ พวงมาลัย เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น.
อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาลพฤกษ์ ซึ่งกำลัง บานสล้าง แล้วร้อยทำเป็นพวงมาลัย ด้วยคิดว่า คืน วันนี้ เราทั้งสองจะอยู่ ณ ที่ใด พวงมาลัยที่ทำไว้ นี้แหละจักเป็นเครื่องปูลาด สำหรับเราทั้งสอง ณ ที่นั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 147
อนึ่ง ดิฉันมัวเลินเล่อ บดกฤษณาดำ และ จันทน์แดงด้วยศิลา ด้วยคิดว่า สามีที่รักของเราจักได้ ประพรมร่างกาย ส่วนเราประพรมร่างกายแล้ว จะเข้า ไปนอนแนบชิดสามีที่รักนั้น.
ครั้งนั้น กระแสน้ำเชี่ยวไหลมา พัดเอาดอก สาลพฤกษ์ ดอกสน ดอกกรรณิการ์ ที่ดิฉันเก็บมา วางไว้ไปหมดสิ้น โดยกาลประมาณครู่เดียวเท่านั้น น้ำก็ขึ้นเต็มฝั่ง ถึงเวลาเย็น ดิฉันก็ข้ามไปไม่ได้.
คราวนั้น เราทั้งสองอยู่กันคนละฝั่งน้ำ มอง เห็นหน้ากันก็หัวเราะครั้งหนึ่ง มองไม่เห็นหน้ากันก็ ร้องไห้อีกครั้งหนึ่ง คืนนั้น ได้ผ่านเราทั้งสองไป โดยยาก.
ข้าแต่นายพราน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า เราทั้งสองข้ามแม่น้ำอันยุบแห้ง มาสวมกอดกันแลกัน ร้องไห้อยู่คราวหนึ่ง หัวเราะอยู่คราวหนึ่ง.
ข้าแต่นายพรานผู้ภูมิบาล เมื่อครั้งก่อนเราทั้งสอง ได้พรากกันอยู่นาน ถึง ๖๙๗ ปี ชีวิตของท่านนี้มีกำหนด เพียง ๑๐๐ ปี อนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าหนอ ในที่นี้ จะพึงอยู่ ปราศจากภรรยาสุดที่รักได้.
[๒๑๕๙] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนสหาย อายุ ของพวกท่านมีประมาณเท่าไร ถ้าท่านทั้งสองรู้ก็จง บอกอายุของพวกท่านแก่เรา ขอท่านทั้งหลายอย่าได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 148
บิดพลิ้ว จงบอกอายุของพวกท่านแก่เรา ตามที่ได้ยิน ได้ฟังมาจากวุฒบุคคล หรือจากตำรับตำรา.
[๒๑๖๐] (นางกินรีทูลตอบว่า) ข้าแต่นายพราน อายุของเราทั้งสอง ประมาณ ๑,๐๐๐ ปี อนึ่ง ใน ระหว่างอายุนั้น โรคร้ายย่อมไม่มี มีความทุกข์น้อย มีแต่ความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เราทั้งสองยังรักกันไม่ จืดจาง ก็ต้องมาละทิ้งชีวิตไป.
[๒๑๖๑] พระเจ้าภัลลาติยะ ได้ทรงสดับถ้อยคำ ของกินนรทั้งสองนี้แล้ว ทรงพระดำริว่า ชีวิตเป็น ของน้อย จึงเสด็จกลับ ไม่เสด็จล่าเนื้อ ได้ทรง บำเพ็ญทาน เสวยราชสมบัติสืบมา.
[๒๑๖๒] (พระบรมศาสดาตรัสว่า) มหาบพิตร ทั้งสองทรงสดับเรื่องราวของกินนรทั้งหลาย อันมิใช่ มนุษย์นี้แล้ว จงทรงเบิกบานพระทัย อย่าได้ทรงทำ การทะเลาะกันเลย กรรมอันเป็นโทษของตน อย่าได้ ทำให้มหาบพิตรทั้งสองต้องเดือดร้อน เหมือนกรรม อันเป็นโทษของตน ทำให้กินนรสองสามีภรรยา เดือดร้อนอยู่ราตรีหนึ่ง ฉะนั้น.
มหาบพิตรทั้งสอง ทรงสดับเรื่องราวของกินนร ทั้งหลาย อันมิใช่มนุษย์นี้แล้ว จงทรงเบิกบานพระทัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 149
อย่าได้ทำความวิวาทบาดหมางกันเลย กรรมอันเป็น โทษของตน อย่าทำให้มหาบพิตรทั้งสองต้องเดือดร้อน เหมือนกรรมอันเป็นโทษของตน ทำให้กินนรสองสามี ภรรยา เดือดร้อนอยู่ราตรีหนึ่ง ฉะนั้น.
[๒๑๖๓] (พระนางมัลลิกาทูลว่า) หม่อมฉันมี ใจเลื่อมใส ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ที่พระองค์ทรงแสดงประกอบไปด้วยเหตุต่างๆ ประกอบไปด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะ ดับความกระวนกระวายใจของ หม่อมฉันได้ ข้าแต่พระสมณเจ้า ผู้ทรงนำความสุข มาให้หม่อมฉัน ขอพระองค์จงทรงมีชนมชีพยืนนาน เถิด.
จบภัลลาติยชาดกที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 150
อรรถกถาภัลลาติกชาดก
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระ ปรารภพระนางมัลลิกาเทวี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ภลฺลาติโก นาม อโหสิ ราชา ดังนี้.
ได้ยินว่า วันหนึ่งอาศัยเหตุที่พระนางมัลลิกาเทวี บรรทมร่วมกับ พระเจ้าโกศลราช จึงเกิดวิวาทบาดหมางกันขึ้น. พระราชาทรงกริ้ว ถึงกับไม่ ทอดพระเนตรเหลียวแลพระนางมัลลิกาอัครมเหสี พระนางจึงทรงพระดำริว่า พระตถาคตเจ้า จะไม่ทรงทราบเรื่องที่พระราชาทรงกริ้วเราหรือหนอ? พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้น จึงวันรุ่งขึ้น แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไป บิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ทรงดำเนินไปถึงประตูพระราชวัง. พระราชา จัดการรับเสด็จ ทรงรับบาตรแล้วทูลเสด็จสู่ปราสาท อาราธนาภิกษุสงฆ์ให้นั่ง โดยลำดับแล้ว ถวายน้ำทักษิโณทก ทรงอังคาสด้วยพระกระยาหารอันประณีต เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาตรัสถามว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร เหตุไรหนอ พระนางมัลลิกาบรมราชเทวี จึงทรง หายไปไม่ปรากฏ เมื่อท้าวเธอทูลตอบว่า เพราะพระนางเพลิดเพลินมัวเมาใน ความสุขส่วนตัวเสีย จึงตรัสว่าดูก่อนมหาบพิตร ในชาติก่อนพระองค์ทรงบังเกิด ในกำเนิดกินนร พลัดจากนางกินรีไปหนึ่งราตรี ต้องเที่ยวปริเทวนาการอยู่ถึง เจ็ดร้อยปีมิใช่หรือ? พระราชาทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าภัลลาติกราช เสวยราชสมบัติอยู่ใน พระนครพาราณสี ทรงพระดำริว่า เราจักบริโภคเนื้อย่างสุกด้วยถ่าน จึง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 151
ทรงมอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์แล้วทรงสะพักราชปัญจาวุธ แวดล้อมด้วยหมู่ โกเลยยสุนัขที่ฝึกหัดดีแล้ว เสด็จออกจากพระนครไปยังหิมวันตประเทศ เสด็จ ถึงแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง ไม่สามารถจะข้ามฝั่งน้ำไปได้ ทอดพระเนตรเห็น แม่น้ำที่มีกระแสไหลผ่านลงคงคาแห่งหนึ่ง จึงพระราชดำเนินเลียบไปตามกระแส น้ำนั้น ทรงฆ่ามฤคและสุกรเป็นต้นแล้ว เสวยเนื้อย่างสุกด้วยถ่านเพลิง พลาง เสด็จขึ้นยังที่เนินอันสูง ณ บนที่ราบสูงนั้นมีแม่น้ำน้อยๆ เป็นที่น่ารื่นรมย์. ยามที่น้ำเต็มบริบูรณ์ นทีธารนั้นจะมีส่วนลึกประมาณราวนมไหลผ่านอยู่เสมอ ในเวลาอื่น จะมีน้ำลดลงประมาณแค่แข้งและเข่า มีปลาและเต่าแหวกว่ายไปมา อยู่ดาษดื่น. ที่ชายหาดมีทรายสะอาดขาวราวกับแผ่นเงิน สองฟากฝั่งมีพรรณ หมู่ไม้สะพรั่ง สล้างไปด้วยดอกแลผลนานาชนิด หมู่วิหคและภมรมากมาย ที่หลงใหลในดอกผลและรส ต่างพากันมาคลึงเคล้า ทั้งหมู่พิพิธมฤคามฤคีเล่า ก็เข้าเสพอาศัย ร่มเงาต้นไม้ก็เย็นสนิท. ที่ฝั่งน้ำเหมวดีนทีน่ารื่นรมย์อย่างนี้ มีกินนรสองตัวผัวเมียคลอเคลียจุมพิตซึ่งกันและกัน แล้วร้องไห้คร่ำครวญ อยู่โดยนานัปการ. เมื่อพระราชาเสด็จขึ้นภูเขาคันธมาทน์ ทางฝั่งนทีนั้น ทอดพระเนตรเห็นกินนรเหล่านั้น แล้วทรงพระดำริว่า เพราะเหตุไรเล่าหนอ กินนรทั้งคู่นี้จึงมาปริเทวนาการอยู่อย่างนี้ เราจักถามดู จึงดีดพระหัตถ์ ขึง พระเนตรดูหมู่สุนัข โกเลยยสุนัขที่ฝึกหัดดีแล้วทั้งหลาย พากันวิ่งเข้าซ่อนยัง พุ่มไม้ หมอบราบติดดินอยู่โดยสัญญานั้น พระราชาทรงทราบว่าสุนัขเหล่านั้น แอบซ่อนแล้ว ทรงวางแล่งธนูและอาวุธอื่นพิงไว้กับต้นไม้ ไม่ทำเสียงพระบาท ให้ดัง ค่อยๆ เสด็จไปยังสำนักกินนรเหล่านั้น แล้วตรัสถามกินนรทั้งสองว่า เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสองจึงพากันร้องไห้.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 152
ได้มีพระราชาทรงพระนามว่า ภัลลาติยะ ทรงละ รัฐสีมา เสด็จประพาสป่า ล่ามฤค ท้าวเธอเสด็จไปถึง คันธมาทน์วรคิรี มีพรรณดอกไม้ บานสะพรั่ง ซึ่ง กินนรเลือกเก็บอยู่เนืองๆ.
กินนรสองผัวเมียยืนคลึงเคล้ากันอยู่ ณ ที่ใด ท้าวเธอประสงค์จะตรัสถามจึงทรงห้ามหมู่สุนัข และ เก็บแล่งธนูเสีย แล้วเสด็จเข้าไปใกล้ ณ ที่นั้นตรัส ว่า
ล่วงฤดูเหมันต์แล้ว ไยเล่าเจ้าทั้งสอง จึงมายืน กระซิบกระซาบกันอยู่เนืองๆ ที่ริมฝั่งเหมวดีนทีนี้ เราขอถามเจ้าทั้งสองผู้มีเพศพรรณเหมือนร่างมนุษย์ ชนทั้งหลายในมนุษยโลกรู้จักเจ้าทั้งสองว่าเป็นอะไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาลูรสงฺฆํ ได้แก่ หมู่แห่งสุนัข. บทว่า หิมจฺจเย ความว่า ล่วงเดือนในฤดูเหมันต์ทั้งสี่ไปแล้ว. บทว่า เหมวตาย ความว่า ที่ฝั่งแห่งแม่น้ำเหมวดีนี้.
กินนรได้สดับพระราชดำรัสถามแล้วก็นิ่งเสีย ฝ่ายนางกินรีจึงกราบทูล โต้ตอบพระราชาว่า
ข้าแต่ท่านพรานผู้สหาย เราทั้งสองเป็นมฤค มี เพศพรรณปรากฏเหมือนมนุษย์ เที่ยวอยู่ตามแม่น้ำ เหล่านี้ คือ มาลาคิรีนที ปัณฑรกนที ติกูฏนที ซึ่งมีน้ำใสเย็นสนิท ชาวโลกรู้จักเราทั้งสองว่าเป็น กินนร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 153
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มลฺลคิรึ ความว่า ท่านนายพรานผู้สหาย เราทั้งหลายเที่ยวอยู่ตามแม่น้ำเหล่านี้ คือ มัลลคิรีนที ปัณฑรกนที ติกูฏนที. ปาฐะเป็น มาลาคิรึ ดังนี้ก็มี. บทว่า นิภาสวณฺณา ความว่า มีเพศผิวพรรณ คือ มีอวัยวะร่างกายปรากฏ (เหมือนมนุษย์).
ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถา ความว่า
เจ้าทั้งสองเหมือนได้รับความทุกข์ร้อนเสียเหลือเกิน ปริเทวนาการอยู่ เจ้าทั้งสองรักกัน ได้สวมกอด กันสมความรักแล้ว ดูก่อนกินนรทั้งสองผู้มีเพศพรรณ เหมือนกายมนุษย์ เราขอถามเจ้าทั้งหลาย เหตุไรเจ้า ทั้งสองจึงร้องไห้อยู่ในป่านี้ไม่สร่างซาเลย เจ้าทั้งสอง เหมือนได้รับความทุกข์เสียเหลือเกิน ปริเทวนาการอยู่ เจ้าทั้งสองมีความรักกัน ได้สวมกอดกัน สมความรัก แล้ว ดูก่อนกินนรผู้มีเพศพรรณเหมือนกายมนุษย์ เรา ขอถามเจ้าทั้งหลาย เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงมาบ่นเพ้ออยู่ ในป่านี้ ไม่สร่างซาเลย.
เจ้าทั้งสองเหมือนได้รับความทุกข์ร้อนเสียเหลือเกิน ปริเทวนาการอยู่ เจ้าทั้งสองรักใคร่กัน ก็ได้สวม กอดกันสมความรักแล้ว ดูก่อนกินนรผู้มีเพศพรรณ เหมือนกายมนุษย์ เราขอถามเจ้าทั้งหลาย เหตุไรเจ้า ทั้งจึงเศร้าโศกอยู่ในป่านี้ ไม่สร่างซาเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุกิจฺฉรูปํ ความว่า มีอาการเหมือนมี ทุกข์เดือดร้อนเหลือขนาด. บทว่า อาลิงฺคิโต จาสิ ปิโย ปิยาย ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 154
ความที่เจ้ารักกัน ก็เป็นอันได้สวมกอดกันสมความรักแล้ว. ปาฐะว่า อาลงฺคิโย จาสิ ดังนี้ก็มี เนื้อความก็อย่างเดียวกันนี้. บทว่า กิมิธา วเน ความว่า เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสอง จึงคลึงเคล้าจุมพิตกัน กล่าววาจาน่ารักต่อกัน ในระหว่างๆ แล้วพากันร้องไห้ ในป่านี้อีกมิได้สร่าง.
ต่อจากนี้ไป เป็นคาถาแสดงการปราศรัยโต้ตอบกันระหว่างพระราชา กับนางกินรีทั้งสอง ดังต่อไปนี้
(นางกินรีทูลตอบว่า) ข้าแต่ท่านนายพราน เรา ทั้งสองไม่อยากจะจากกัน ก็ต้องจากกัน แยกกันอยู่ สิ้นราตรีหนึ่ง เมื่อมาระลึกถึงกันและกัน ก็เดือดร้อน เศร้าโศกถึงกันตลอดราตรีหนึ่งที่ล่วงไปนั้นว่า ราตรี นั้นจักไม่มีอีก.
(พระราชาตรัสถามว่า) เจ้าทังสองคิดถึงทรัพย์ ที่หายไปหรือ หรือว่าคิดถึงมารดาบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้เดือดร้อนอยู่สิ้นราตรีหนึ่ง เราขอถามเจ้าทั้งสอง ผู้มีเพศพรรณดังกายมนุษย์ เหตุไรเจ้าทั้งสองจึงต้อง จากกันไป.
(นางกินรีทูลว่า) ท่านเห็นนทีนี้แห่งใด มีกระแสเชี่ยว ไหลมาในระหว่างหุบผา ปกคลุมไปด้วยหมู่ ไม้นานาพรรณ ในฤดูฝน กินนรสามีสุดที่รักของดิฉัน ได้ข้ามแม่น้ำนั้นไปด้วยสำคัญว่า ดิฉันจะติดตามมา ข้างหลัง.
ส่วนดิฉันมัวเลือกเก็บดอกปรู ดอกลำดวน ดอกมะลิซ้อน และดอกคัดค้าวที่บานสล้าง ด้วยคิดว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 155
สามีของเรารักได้ทัดทรงดอกไม้ ส่วนเราก็จักได้ สอดแซมดอกไม้ เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น.
อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกบานไม่รู้โรย ดอก ราชพฤกษ์ ดอกแคฝอย ดอกย่านทราย ด้วยคิดว่า สามีที่รักของเราจักทัดทรงดอกไม้ ส่วนเราก็จักได้ สอดแซมดอกไม้ เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น.
อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาลพฤกษ์ ซึ่งกำลัง บานสล้าง ร้อยเป็นพวงมาลัย ด้วยคิดว่า สามีที่รัก ของเราจักสวมใส่พวงมาลัย ส่วนเราก็จักได้สวมใส่ พวงมาลัย เข้าไปนอนแนบสามีที่รักนั้น.
อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาลพฤกษ์ ซึ่งกำลัง บานสล้าง แล้วร้อยทำเป็นพวงมาลัย ด้วยคิดว่า คืน วันนี้ เราทั้งสองจะอยู่ ณ ที่ใด พวงมาลัยที่ทำไว้นี้ แหละ จักเป็นเครื่องปูลาด สำหรับเราทั้งสอง ณ ที่นั้น.
อนึ่ง ดิฉันมัวเลินเล่อ บดกฤษณาดำ และ จันทน์แดงด้วยศิลา ด้วยคิดว่า สาทีที่รักของเราจักได้ ประพรมร่างกาย ส่วนเราประพรมร่างกายแล้ว จะเข้า ไปนอนแนบชิดสามีที่รักนั้น.
ครั้งนั้น น้ำมีกระแสเชี่ยวไหลมา พัดเอาดอก สาลพฤกษ์ ดอกสน ดอกกรรณิการ์ ที่ดิฉันเก็บมา วางไว้ไปหมดสิ้น โดยกาลประมาณครู่เดียวเท่านั้น น้ำก็ขึ้นเต็มฝั่ง ถึงเวลาเย็นดิฉันก็ข้ามไปไม่ได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 156
คราวนั้นเราทั้งสองอยู่กันคนละฝั่งน้ำ มองเห็น หน้ากัน หัวเราะครั้งหนึ่ง มองไม่เห็นหน้ากัน ก็ ร้องไห้อีกครั้งหนึ่ง คืนนั้นได้ผ่านเราทั้งสองไปโดยยาก.
ข้าแต่นายพราน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า เรา ทั้งสองข้ามแม่น้ำอันยุบแห้งมาสวมกอดกันและกัน ร้องไห้อยู่คราวหนึ่ง หัวเราะอยู่คราวหนึ่ง.
ข้าแต่นายพรานผู้ภูมิบาล เมื่อครั้งก่อน เราทั้งสองได้พรากกันอยู่นานถึง ๖๙๗ ปี ชีวิตของท่านนี้มี กำหนดเพียง ๑๐๐ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ใครเล่าหนอ ในที่นี้ จะพึงอยู่ปราศจากภรรยาสุดที่รักได้.
(พระราชาตรัสถามว่า) ดูก่อนสหาย อายุของพวก ท่านมีประมาณเท่าไร ถ้าท่านทั้งสองรู้ ก็จงบอกอายุ ของพวกท่านแก่เรา ขอท่านทั้งหลายอย่าได้บิดพลิ้ว จงบอกอายุของพวกท่านแก่เรา ตามที่ได้ยินได้ฟังมา จากวุฒบุคคล หรือจากตำรับตำรา.
(นางกินรีทูลตอบว่า) ข้าแต่นายพราน อายุ ของเราทั้งสองประมาณ ๑,๐๐๐ ปี อนึ่ง ในระหว่าง อายุนั้น โรคร้ายย่อมไม่มี มีความทุกข์น้อย มีแต่ ความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เราทั้งสองยังรักกันไม่จืดจาง ก็ต้องมาละทิ้งชีวิตไป.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มเยกรตฺตํ ตัดบทเป็น มยํ เอกรตฺตํ ความว่า เราทั้งสองต้องจากกันชั่วราตรีหนึ่ง. บทว่า วิปฺปวสิมฺห ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 157
เราต้องพรากจากกันอยู่. บทว่า อนุตปฺปมาณา ความว่า ทั้งๆ ที่เรา ทั้งสองไม่ปรารถนาจะจากกัน ราตรีหนึ่งก็ได้ผ่านพ้นไป เราทั้งสองก็เฝ้าแต่ ครุ่นคิดถึงราตรีเดียวนั้นอยู่. บทว่า ปุน น เหสฺสติ ความว่า ราตรีนั้น จักไม่มีคือจักไม่ย่างมาอีก.
บทว่า ธนํว นฏฺํ ปิตรญฺจ เปตํ ความว่า เจ้าทั้งสองคิดถึง ทรัพย์ที่หายไปแล้ว หรือคิดถึงมารดาบิดาที่ละโลกนี้ไปแล้ว ด้วยเหตุไร จึง ได้แยกกันตลอดราตรีหนึ่งนั้น จงบอกเหตุนั้นแก่เราเถิด. บทว่า ยมิมํ ตัดบท เป็น ยํ อิมํ แปลว่า นี้ใด. บทว่า เสลกุลํ ความว่า ไหลมาในระหว่าง หุบผาทั้งสอง บทว่า วสฺสกาเล ความว่า นางกินรีกล่าวว่า ในเวลาที่เมฆ ก้อนหนึ่งตั้งขึ้นฝนตก แม้ยามที่เราทั้งสองย่ำราตรี ท่องเที่ยวไปในไพรสณฑ์นี้ เมฆกอันหนึ่งตั้งขึ้น ลำดับนั้น กินนรผู้สามีสุดที่รักของดิฉัน สำคัญว่าดิฉัน ตามมาข้างหลัง จึงข้ามนทีนี้ไป. บทว่า อหญฺจ ความว่า ก็ดิฉันหาได้ ทราบว่า สามีของตนข้ามไปฝั่งโน้นแล้วไม่ มัวเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายมี ดอกปรูเป็นต้น ที่บานสะพรั่งอยู่แล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺตลิโยธิกญฺจ ความว่า ก็เมื่อข้าพเจ้า เลือกเก็บดอกลำดวน และดอกมะลิซ้อน ก็ด้วยเหตุที่ว่า สามีที่รักของเราจัก ทัดทรงระเบียบดอกไม้ ส่วนเราก็จักสอดแซมระเบียบดอกไม้นอนแนบสามีนั้น. บทว่า อุทฺทาลกา ปาตลี สินฺธุวาริตา ความว่า นางกินรีกล่าวว่า แม้ ดอกไม้เหล่านี้ ก็เป็นอันข้าพเจ้าเลือกเก็บแล้วทีเดียว. บทว่า โอเจยฺย แปลว่า เลือกเก็บแล้ว. บทว่า อคฺคลุํ จนฺทนญฺจ ได้แก่ กฤษณาดำและจันทน์แดง. บทว่า โรสิตงฺโค ความว่า มีสรีระร่างกายลูบไล้แล้ว. บทว่า โรสิตา แปลว่า ประพรมสรีระแล้ว. บทว่า อชฺฌุเปสฺสํ ความว่า จักเข้าไปแนบชิดบน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 158
ที่นอน. บทว่า นุทํ สาเล สลเล กณฺณิกาเร ความว่า พัดพาเอาดอกไม้ เหล่านี้ ที่ดิฉันเลือกเก็บแล้ววางไว้ริมฝั่งไปจนหมด.
บทว่า สุทุตฺตรา ความว่า ก็ในเวลาที่นางกินรีนั้นยืนอยู่ที่ฝั่งฟากนี้ นั้นเอง น้ำในแม่น้ำท่วมท้นขึ้นมา ทั้งในขณะนั้นพระอาทิตย์ก็อัสดงคตไปแล้ว สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบ ธรรมดาว่า กินนรทั้งหลายย่อมกลัวน้ำ เพราะฉะนั้น นางกินรีนั้น จึงไม่สามารถจะข้ามไปฝั่งโน้นได้ ด้วยเหตุนั้น นางจึงกล่าวว่า ในเวลายามเย็น ข้าพเจ้าข้ามน้ำไปไม่ได้. บทว่า สมฺปสฺสนฺตา ความว่า มองเห็นกันในเวลาฟ้าแลบ. บทว่า โรทาม ความว่า ในเวลามืดมองไม่เห็น กันก็ร้องไห้ ในเวลาฟ้าแลบมองเห็นหน้ากันก็หัวเราะ. บทว่า สมฺพรี แปลว่า ราตรี. บทว่า จตุกฺกํ แปลว่า ว่างเปล่าหรือยุบแห้ง. บทว่า อุตฺตริยาน แปลว่า ข้ามไป. บทว่า ติหูนกํ ความว่า เป็นเวลาหกร้อยเก้าสิบเจ็ดปี.
บทว่า ยมิธ มยํ ความว่า นางกินรีกล่าวว่า เราทั้งสองต้องจาก พรากกันอยู่ในที่นี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้นั้น เป็นเวลานานถึงเจ็ดร้อยหย่อน สามปี. บทว่า วสฺเสกิมํ ตัดบทเป็น วสฺสํ เอกํ อิมํ ความว่า นางกินรี กล่าวว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านนี้ มีกำหนดเพียงร้อยปีหนึ่งเท่านั้น. บทว่า โกนีธ ความว่า นางกินรีกล่าวว่า เมื่อชีวิตความเป็นอยู่มีเล็กน้อยอย่างนี้ ใครเล่าจะพรากจากภรรยาที่รักใคร่ได้ หรือไม่บังควรที่จะพลัดพรากจากภรรยา สุดที่รักเลย. บทว่า กีวตโก นุ ความว่า พระราชาทรงสดับถ้อยคำของ นางกินรีแล้ว ทรงดำริว่า เราจักถามประมาณอายุของกินนรเหล่านั้น กะนาง กินรีดู จึงตรัสถามว่า อายุของพวกท่านมีประมาณเท่าใด. บทว่า อนุสฺสวา ความว่า ถ้าเมื่อจะมีใครๆ บอกกล่าวแก่พวกท่าน หรือว่าตำนับตำรา มีอยู่ ในสำนักมารดาบิดาหรือผู้เฒ่าผู้แก่ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอย่าบิดพลิ้วเลย จงบอกประมาณแห่งอายุ จากที่ได้ยินได้ฟังมา หรือจากตำรับตำรา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 159
บทว่า น จนฺตรา ความว่า อายุของเราทั้งหลายประมาณหนึ่งพันปี และในระหว่างนั้น โรคภัยอันเลวร้ายซึ่งจะทำอันตรายแก่ชีวิต ก็ไม่มีแก่พวก เราเลย. บทว่า อวีตราคา ความว่า เราทั้งหลายมิใช่ผู้ปราศจากความรักใคร่ กันและกันเลย.
พระเจ้าภัลลาติกราช ทรงสดับถ้อยคำของนางกินรี แล้วทรงดำริว่า น่าอัศจรรย์ กินนรเหล่านั้นเป็นสัตว์เดียรัจฉาน พลัดพรากจากกันชั่วราตรีเดียว ยังเที่ยวร่ำไห้ถึงกันตลอดเวลา ๗๐๐ ปี ส่วนเราเองละเลยมหาสมบัติ ในความ เป็นพระราชา มีอาชญาแผ่ไปถึง ๓๐๐ โยชน์ มาอยู่ในป่า น่าอนาถ เราได้ ทำกิจที่ไม่ควรทำ ดังนี้แล้ว เสด็จนิวัตน์จากอรัญประเทศนั้นสู่พระนคร พาราณสี อันหมู่มุขอำมาตย์ทูลถามว่า ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์ทรง ทอดพระเนตรเห็นอะไร เป็นสิ่งอัศจรรย์ในหิมวันตประเทศ จึงตรัสบอกเหตุ ทั้งปวงที่ทรงประสบมา แล้วทรงบำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น เสวยราชสมบัติ นับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเจ้าภัลลาติยะ ได้ทรงสดับถ้อยคำของกินนร ทั้งสองนี้แล้ว ทรงพระดำรู้ว่า ชีวิตเป็นของน้อย จึง เสด็จกลับ ไม่เสด็จล่าเนื้อ ได้ทรงบำเพ็ญทาน เสวยราชสมบัติสืบมา.
พระบรมศาสดาครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว เมื่อจะทรงโอวาทซ้ำอีก ได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถา ความว่า
มหาบพิตรทั้งสอง ทรงสดับเรื่องราวของกินนร ทั้งหลายมิใช่มนุษย์นี้แล้ว จงทรงเบิกบานพระทัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 160
อย่าได้ทรงทำความทะเลาะกันเลย กรรมอันเป็นโทษ ของตน อย่าได้ทำให้มหาบพิตรทั้งสองต้องเดือดร้อน เหมือนกรรมอันเป็นโทษของตน ทำให้กินนรสองสามี ภรรยาเดือดร้อนอยู่ราตรีหนึ่ง ฉะนั้น.
มหาบพิตรทั้งสอง ทรงสดับเรื่องราวของกินนร ทั้งหลายมิใช่มนุษย์นี้แล้ว จงทรงเบิกบานพระทัย อย่าได้ทรงทำความวิวาทบาดหมางกันเลย กรรมอัน เป็นโทษของตน อย่าได้ทำให้มหาบพิตรทั้งสองต้อง เดือดร้อน เหมือนกรรมอันเป็นโทษของตน ทำให้ กินนรสองสามีภรรยาเดือดร้อนอยู่ราตรีหนึ่ง ฉะนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมานุสานํ ได้แก่ กินนรทั้งหลาย. บทว่า อตฺตกมฺมาปราโธ ได้แก่ กรรมโทษของตน. บทว่า กึปุริเสกรตฺตํ ความว่า กรรมโทษของตนอันทำให้พรากกันราตรีหนึ่ง ทำกินนรเหล่านั้น ให้เดือดร้อน ฉันใด กรรมโทษของตนอย่าให้มหาบพิตรทั้งสองต้องเดือดร้อน ฉันนั้นเลย.
พระนางมัลลิกาเทวี ทรงสดับพระธรรมเทศนาของพระตถาคตจ้าแล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงประคองอัญชลี เมื่อจะทรงชมเชยพระทศพล จึง ตรัสคาถาสุดท้ายความว่า
หม่อมฉันมีใจเลื่อมใส ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ของพระองค์ ที่พระองค์ทรงแสดงประกอบไปด้วย เหตุต่างๆ ประกอบไปด้วยประโยชน์ พระองค์ทรง เปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะ ดับความกระวนกระวาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 161
ใจของหม่อมฉันได้ ข้าแต่พระสมณะเจ้า ผู้ทรงนำ ความสุขมาให้หม่อมฉัน ขอพระองค์จงทรงมีชนมชีพ ยืนนานเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวิธ อธิมนา สุณามิหํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กระหม่อมฉันเป็นผู้ชื่นชมยินดี มีจิตเลื่อมใส ฟัง พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง ประดับประดาไปด้วยเหตุต่างๆ. บทว่า วจนปถํ ความว่า ทํานองคลองพระพุทธพจน์ ประกอบไปด้วยประโยชน์ อันพระองค์ตรัสแล้วนั้นๆ. บทว่า มุญฺจํ คิรํ นุทเสว เม ทรํ ความว่า เมื่อพระองค์ทรงเปล่งมธุรพจน์ อันเสนาะโสต ชื่อว่าบรรเทาแล้ว คือนำไป แล้วทีเดียว ซึ่งความกระวนกระวาย คือความเศร้าโศกในหทัยของหม่อมฉัน. บทว่า สมณ สุขาวห ชีว เม จิรํ ความว่า ข้าแต่พระมหาสมณะผู้พุทธเจ้า ผู้เจริญ ผู้ทรงนำทิพยมานุษยโลกิยสมบัติ และโลกุตรสมบัติมาให้ ผู้เป็น เจ้าของกระหม่อมฉัน ผู้เป็นพระธรรมราชา ขอพระองค์จงทรงเจริญพระชนมชีพยืนนานเถิด.
จำเดิมแต่นั้นมา พระเจ้าโกศลราชก็ทรงอยู่ร่วมสมัครสโมสร กับ พระนางมัลลิการาชเทวี.
พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม ชาดกว่า กินนรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเจ้าโกศลราช ในบัดนี้ กินรี ได้มาเป็นพระนางมัลลิการาชเทวี ส่วนพระเจ้าภัลลาติกราช ได้มาเป็น เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาภัลลาติกชาดก