๒. ปฐมวาตสูตร ว่าด้วยเวทนา ๓ เปรียบด้วยลมต่างชนิด
โดย บ้านธัมมะ  22 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 37397

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 29

๒. ปฐมวาตสูตร

ว่าด้วยเวทนา ๓ เปรียบด้วยลมต่างชนิด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 29

๒. ปฐมวาตสูตร

ว่าด้วยเวทนา ๓ เปรียบด้วยลมต่างชนิด

[๓๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปแม้ในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลมทิศใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมอ่อนบ้าง ลมแรงบ้าง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิด ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

[๓๙๖] เปรียบเหมือนลมมากมายหลายชนิด พัดไปในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลมทิศใต้บ้าง มีธุลีบ้าง ไม่มีธุลีบ้าง บางครั้งลมหนาว บางครั้งก็ลมร้อน บางครั้งลมแรง บางครั้งก็ลมอ่อน ลมมากมายพัดไป ฉันใด เวทนา ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง เมื่อใดภิกษุมีความเพียร รู้สึกอยู่ เข้านิโรธ เมื่อนั้น


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 30

เธอผู้เป็นบัณฑิตย่อมกำหนดรู้เวทนาได้ทุกอย่าง ภิกษุนั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ตั้งอยู่ในธรรม เรียนจบพระเวทในปัจจุบัน เพราะกายแตกย่อมไม่เข้าถึงซึ่งบัญญัติ.

จบ ปฐมวาตสูตรที่ ๒

อรรถกถาปฐมวาตสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมวาตสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้

บทว่า ปุถู วายนฺติ มาลุตา ได้แก่ ลมเป็นอันมาก ย่อมพัดไป. คำที่เหลือ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น. เว้นคาถาทั้งหลายเสีย ตรัสตามอัธยาศัยของพวกบุคคลผู้รู้อยู่.

จบ อรรถกถาปฐมวาตสูตรที่ ๒