[คำที่ ๔๖๗] ปุคฺคลเสรี
โดย Sudhipong.U  6 ส.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32630

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปุคฺคลเสรี”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ปุคฺคลเสรี อ่านตามภาษาบาลีว่า ปุก - คะ - ละ - เส - รี มาจากคำว่า ปุคฺคล (บุคคล) กับคำว่า เสรี (อิสระ, ไม่เป็นทาสของกิเลส) รวมกันเป็น ปุคฺคลเสรี เขียนเป็นไทยได้ว่า บุคคลเสรี แปลว่า บุคคลผู้เสรีคือผู้เป็นอิสระจากกิเลส, บุคคลผู้ไม่เป็นทาสของกิเลส

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จนถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ค่อยๆ เป็นอิสระคือไม่เป็นทาสของกิเลสไปตามลำดับขั้น จนถึงสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น เป็นบุคคลผู้เสรี (คือ อิสระจากกิเลส) ได้อย่างแท้จริง ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส แสดงความเป็นจริงของบุคคลเสรี ไว้ดังนี้

ชื่อว่า เสรี ได้แก่ เสรี ๒ อย่าง คือ ธรรมเสรี ๑ บุคคลเสรี ๑

ธรรมเสรี เป็นไฉน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ชื่อว่า ธรรมเสรี

บุคคลเสรี เป็นไฉน บุคคลใดประกอบด้วยธรรมเสรีนี้ บุคคลนั้นท่านกล่าวว่า บุคคลเสรี

จริงอยู่ โลกุตตรธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า เสรี เพราะไม่ไปสู่อำนาจของกิเลส และ บุคคลชื่อว่าเสรี เพราะประกอบด้วยโลกุตตรธรรมเหล่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองมากไปด้วยกิเลสเพียงใด เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมา เต็มไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะตัณหาหรือโลภะ ความยินดีติดข้อง ติดข้องทั้งในภายใน คือ ในตนเอง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ได้แก่ รักตัวเอง รักรูปตัวเอง คิ้ว ตา จมูก ปาก ผม ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตนเอง เป็นไปด้วยความรักตัวเอง ติดข้องในภายในยังไม่พอ ยังติดข้องในภายนอกอีก ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ก็ดี ที่ประสบในชีวิตประจำวันซึ่งไม่พ้นไปจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเอง มีความอยาก มีความปรารถนา มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกเกี่ยวโยง ยึด ผูกพันอย่างแน่นหนากับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ถูกตัณหารึงรัด ผูกพันไว้ เกี่ยวประสานไว้ไม่ให้พ้นไปได้เลย และไม่ยอมปล่อยให้เป็นกุศลด้วย เพราะเหตุว่าในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นนั้น กุศลใดๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ถ้าถูกความติดข้องยินดีพอใจครอบงำแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง ความติดข้องยินดีพอใจที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจของโลภะโดยตลอด สำหรับบุคคลผู้มีความติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ แม้ว่าจะได้ทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด ก็ยังไม่พอแก่กำลังของความติดข้องยินดีพอใจ ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับความติดข้องยินดีพอใจ ยังต้องการอยู่ตลอด ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีความติดข้องยินดีพอใจอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของอกุศลธรรมประเภทนี้ได้ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของอกุศลธรรมคือความติดข้องยินดีพอใจ ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับความติดข้องยินดีพอใจได้อย่างเด็ดขาด ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ตนเองว่า มีกิเลสมากเพียงใด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งภายในทั้งภายนอกที่เกิดอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เป็นประจำ ตามปกติตามความเป็นจริงอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สามารถดับกิเลสได้เลย ผู้ที่จะดับหรือจะละกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

ในชีวิตของแต่ละคน ไม่ได้มีกิเลสเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้น ยังมีมากกว่านั้น ทั้งโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด อวิชชา ความไม่รู้ มานะ ความสำคัญตน เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่สามารถเข้าใจถูกได้เลยว่า ตนเองมากไปด้วยกิเลสจริงๆ เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อมีกิเลสมากมายอย่างนี้ จะเป็นอิสระ คือ พ้นจากกิเลสทั้งหลายได้อย่างไร? ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น อย่างเช่นพระอริยสงฆ์สาวกในสมัยครั้งพุทธกาล บางท่านก็มีความติดข้องอย่างมาก แต่พอได้เข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ที่ท่านได้สะสมมาก็ทำให้ได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง บรรลุธรรมขั้นสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นได้ หรือบางท่านเป็นคนที่มักโกรธ โกรธง่ายมาก ใครทำอะไรให้หน่อยก็โกรธ ขัดเคือง ไม่พอใจ แต่พอได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีความโกรธทุกระดับเกิดขึ้นอีกเลย ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่ด้วยการไปทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ หรือ ด้วยความเป็นตัวตน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่งให้เป็นผู้ไม่ประมาท ในชีวิต ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเองได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่า พระองค์ทรงชี้ให้เห็นกิเลสและโทษของกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะเห็นได้ พร้อมทั้งทรงแสดงให้เห็นถึงคุณของปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก ตามความเป็นจริง, ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่สำคัญมากในพระธรรมวินัยนี้ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ไม่เกิดอีกเลย สามารถจะข้ามพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้ จึงกล่าวได้ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เป็นผู้อิสระจากกิเลสจริงๆ นั้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ ที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็จะสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด เป็นบุคคลเสรีอย่างแท้จริง เมื่อเป็นผู้อิสระจากกิเลสแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะมีความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสใดๆ อีกเลย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 2    โดย arin  วันที่ 11 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ  อธิบายได้ดีมาก ครับ แต่ยังไม่เข้าใจคำที่ว่า' ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน'