สุขและสงบจากความไม่รู้
โดย nattawan  2 ก.ย. 2567
หัวข้อหมายเลข 48394

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

☆ธรรมที่ควรรู้คือทุกข์ ธรรมที่ควรละคือความติดข้อง

☆☆ขณะใดที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นจะรู้สึกปีติและเป็นสุข แต่ถ้ากำลังรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ขณะนั้นสุขและสงบจากความไม่รู้

☆ชอบอยู่ในโลกของความลวง แต่ไม่ชอบอยู่ในโลกของความรู้ เพราะโลกของความลวงเป็นโลกของโลภะ แต่โลกของความรู้เป็นโลกของปัญญา

☆☆อยากไม่รู้จบ เพราะยังมีเหตุให้อยากอยู่คือโลภะ รู้ความจริงเพื่อละความอยากไม่ดีกว่าหรือ

บ้านธัมมะ ๑๒ ก.ย. ๕๕

รายการบ้านธัมมะ 12 กันยายน 2555

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง



ความคิดเห็น 1    โดย nattawan  วันที่ 2 ก.ย. 2567

พระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อประมวลมาแล้วก็มีเพียง ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และ พระปัญญาคุณ แต่เมื่อจะกล่าวโดยละเอียด ไม่มีใครที่จะนับ ไม่มีใครที่จะประมาณได้

"พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วและทรงให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามด้วยพระองค์ทรงพ้นแล้วและทรงยังผู้อื่นให้พ้นด้วย พระองค์ทรงข้ามแล้วและทรงยังผู้อื่นให้ข้ามด้วย"

พระคุณของพระพุทธเจ้า ไม่มีใครที่จะประมาณได้


ความคิดเห็น 2    โดย nattawan  วันที่ 2 ก.ย. 2567

สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป คือ ไป ไป ไป ไปหมดเลย ไม่เหลือเลยสักนิดเดียว ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่เกิดปรากฏแล้วจะไม่หมด เพราะฉะนั้นเราก็จะอยู่กับสิ่งที่ว่างเปล่า คือ คอยติดตามสิ่งที่เพียงแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ หมดไปเรื่อยๆ

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2022


ความคิดเห็น 3    โดย nattawan  วันที่ 2 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การได้ฟังพระธรรมเป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่ได้มีบุญที่กระทำไว้แล้วในชาติปางก่อน จะไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย และถ้าไม่ได้สะสมศรัทธาและความเห็นที่ถูกต้องว่าฟังเพื่อเข้าใจความจริง คนนั้นก็จะได้ยินได้ฟังแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้คิดเลยว่าสิ่งที่กำลังได้ฟังนั้นเป็นความจริงซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย จึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งสะสมมาแตกต่างกัน

บุคคลผู้ที่ปฏิสนธิโดยที่ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลยนั้น และ ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๒ ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ส่วนติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุคือ ปัญญา บุคคลประเภทนี้สามารถอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ได้บรรลุธรรม ต้องปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ (ปัญญา) แต่ประเด็นที่น่าพิจารณา ต่อ คือ แม้จะปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องบรรลุธรรมเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ท่านพระเทวทัต ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ แต่เป็นผู้ถูกลาภสักการะครอบงำ กระทำอนันตริยกรรม ไปเกิดในอเวจีมหานรก

เราไม่สามารถทราบได้ว่าเราปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ ๓ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ล่วงเลยไป ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมปัญญาต่อไป เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เวลาของการฟังพระธรรม ในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

www.dhammahome.com
Photo cr. Path to Peace


ความคิดเห็น 4    โดย nattawan  วันที่ 2 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฌาปนสถาน ก็คือ ที่เผาศพ ในสมัยก่อนก็ใช้เชิงตะกอน นำฟืนมากองรวมกัน แล้วเอาศพวางไว้ข้างบน แล้วก็ทำการเผา สมัยนี้บางพื้นที่ก็ยังมีการกระทำอย่างนั้นบ้าง (สมัยนี้จะเป็น เมรุ เสียเป็นส่วนใหญ่) สถานที่เผาศพไม่ควรอยู่ในวัด จะเห็นได้ว่าในพระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน ไม่มีที่เผาศพ ก็มีสถานที่ที่เหมาะควรในการเผา แม้ในชาดก อย่างเช่นใน อุรคชาดก ที่พระโพธิสัตว์เผาลูกชายที่ถูกงูกัด ก็เผาในที่นาตรงนั้นเลย

การเผาศพควรจะเป็นกิจของคฤหัสถ์ ไม่ใช่กิจของพระภิกษุ เพราะเป็นไปกับความไม่สงบ และ ยังมีส่วนที่เกี่ยวกับเงินทองด้วย เป็นเหตุให้ต้องอาบัติ หลายอย่าง และที่น่าพิจารณา คือ การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ใช่การสวดพระอภิธรรม เพราะไม่ได้เป็นไปกับความเข้าใจอะไรเลย ฟังไม่รู้เรื่อง ดังนั้น การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ด้วยความดีทั้งหลาย ทั้งในเรื่องของการให้ทาน หรือแม้กระทั่งการฟังพระธรรม ก็สามารถอุทิศส่วนกุศได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของผู้ที่เข้าใจธรรม ที่จะตั้งต้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ไม่มีการสวดพระอภิธรรม ก็ทำความดีอย่างอื่น อุทิศส่วนกุศลได้

www.dhammahome.com
Photo cr. My story


ความคิดเห็น 5    โดย nattawan  วันที่ 2 ก.ย. 2567

ไม่มีคำสอนในพุทธศาสนาแม้แต่บทเดียว ที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความอยากความต้องการ การศึกษาพระธรรมก็เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสอกุศล โดยเฉพาะเพศบรรพชิต ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ ออกบวชเพื่ออบรมเจริญปัญญา ด้วยความตั้งใจว่าจะสามารถดับกิเลสอกุศลได้จนหมดสิ้น
การบวชจึงเป็นเรื่องของผู้ที่มีศรัทธา มีความจริงใจต่อพุทธศาสนา ภิกษุผู้มีความเข้าใจธรรม เปรียบประดุจเป็นบุตรเกิดจากปัญญาของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ประเสริฐที่จะยังธรรมจักร รักษาพระธรรมวินัยให้สืบต่อเป็นไป ดังนั้น ไม่ว่าภิกษุใดทั้งสิ้นไม่ยกเว้น ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ต้องศึกษาพระธรรม เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ก็จะไม่อาจประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้ถูกต้อง เป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา และผู้นั้น ย่อมไม่ใช่บุตรที่เกิดจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

www.dhammahome.com
Photo cr. Path to Peace


ความคิดเห็น 6    โดย nattawan  วันที่ 2 ก.ย. 2567

ธรรมะว้นนี้ สี่คำ

#อภิสมัย สมัยที่ยิ่งใหญ่ คือ กาลเวลาที่ถึงพร้อมที่จะตรัสรู้ความจริง

#บูชา การแสดงออกถึงความเคารพนอบน้อมด้วยจิตที่เป็นกุศล

#สัปบุรุษ ผู้สงบจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

#สาวก ผู้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วมีความเข้าใจพระธรรม น้อมประพฤติตามพระธรรม

บ้านธัมมะ
www.dhammahome.com
Photo cr. Earth laughs In flowers


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 2 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ