[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 107
๑๐. นันทิขยสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 107
๑๐. นันทิขยสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์
[๑๐๔] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูปตามความเป็นจริง เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคายและพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูปตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่ายในรูป เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าหลุดพ้นดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำไว้ในใจซึ่งเวทนาโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสัญญาโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสังขารโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งวิญญาณโดยอุบายอันแยบคายและจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งวิญญาณโดยอุบายอันแยบคายและพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าหลุดพ้นดีแล้ว.
จบ นันทิขยสูตรที่ ๒
จบ อัตตทีปวรรคที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 108
อรรถกถานันทิขยสูตรที่ ๑ - ๒
ในสูตรที่ ๑ - ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
คำว่า นนฺทิกฺขยา ราคกฺขโย, ราคกฺขยา นนฺทิกฺขโย เพราะความเพลิดเพลินสิ้นไป ราคะก็สิ้นไป. เพราะราคะสิ้นไป ความเพลิดเพลินก็สิ้นไปนี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อกระทำให้ต่างจากอรรถแห่งคำเหล่านี้ว่า นนฺทิ หรือว่า ราโค. อนึ่ง บุคคลเมื่อเบื่อหน่ายด้วยนิพพิทานุปัสสนา ชื่อว่าย่อมละนันทิความเพลิดเพลิน เมื่อคลายความกำหนัดด้วยวิราคานุปัสสนาชื่อว่าย่อมละราคะ.
ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้วิปัสสนาจบลงแล้ว ทรงแสดงมรรคจิตในที่นี้ว่า เพราะราคะสิ้นไป นันทิก็สิ้นไป ดังนี้แล้วแสดงผลจิตว่า เพราะนันทิราคะสิ้น จิตหลุดพ้นแล้วแล.
จบ อรรถกถานันทิขยสูตรที่ ๑ - ๒
จบ อัตตทีปวรรค
จบ อรรถกถามูลปัณณาสก์
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัตตทีปสูตร ๒. ปฏิปทาสูตร ๓. อนิจจสูตรที่ ๑ ๔. อนิจจสูตรที่ ๒ ๕. สมนุปัสสนาสูตร ๖. ปัญจขันธสูตร ๗. โสณสูตรที่ ๑ ๘. โสณสูตรที่ ๒ ๙. นันทิขยสูตรที่ ๑ ๑๐. นันทิขยสูตรที่ ๒.
จบ มูลปัณณาสก์
รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์นี้ คือ
๑. นกุลปิตุวรรค ๒. อนิจจวรรค ๓. ภารวรรค ๔. นตุมหากวรรค ๕. อัตตทีปวรรค.